HACCP คืออะไร
HACCP : Hazard Analysis and Critical Control Point คือ ระบบวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤตที่ต้องควบคุม เป็นเครื่องมือในการชี้เฉพาะเจาะจง ประเมินและ ควบคุมอันตรายที่มีโอกาสเกิดขึ้นในผลิตภัณฑ์อาหาร ระบบนี้ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางจากนานาประเทศถึงประสิทธิภาพ การประกันความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับผู้บริโภค เนื่องจากระบบ HACCP เป็นระบบที่ออกแบบมาเพื่อควบคุมอันตราย ณ จุดหรือขั้นตอนการผลิตที่อันตรายเหล่านั้นมีโอกาสเกิดขึ้นในกระบวนการผลิต ของโรงงานอาหาร จึงสามารถประกันความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ได้ดีกว่าการตรวจสอบผลิตภัณฑ์สุดท้ายหรือการควบคุมคุณภาพที่ใช้กันอยู่เดิม ซึ่งมีข้อจำกัดของขนาดตัวอย่างที่สุ่มนอก จากนั้นระบบ HACCP ยังมีศักยภาพในการระบุบริเวณ หรือขั้นตอนการผลิตที่มีโอกาสเกิดความผิดพลาดขึ้นได้ แม้ว่าจุดหรือในขั้นตอนดังกล่าวจะยังไม่เคยเกิดอันตรายมาก่อน ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการดำเนินงาน
ทำไมจึงต้องใช้ HACCP
คณะกรรมการอาหารระหว่างประเทศ FAO / WHO (Codex Alimentarius Commission) ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2505 ได้พัฒนา มาตรฐานอาหาร แนวทางและข้อแนะนำต่าง ๆ ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติทางการค้าที่เป็นธรรม และเพื่อคุ้มครองสุขภาพของผู้บริโภคจากการบริโภคผลิตภัณฑ์อาหาร ซึ่งในปัจจุบัน องค์กรการค้าโลก (WTO) ได้ใช้เป็นหลักอ้างอิงในการดำเนินการทางการค้าระหว่างประเทศในส่วนของ การรับรอง ความปลอดภัย ด้านสุขภาพของผู้บริโภค และการคุ้มครองการกีดกันทางการค้า
Codex จึงได้จัดทำ ข้อกำหนด หลักการของ ระบบ HACCP และข้อแนะนำในการนำไปใช้ เพื่อให้ประเทศต่าง ๆ ได้นำไปใช้ในการพัฒนา อุตสาหกรรมอาหาร และประเทศไทยได้นำมาประกาศใช้ในประเทศแล้ว เพื่อสนับสนุนและอำนวยความสะดวกในการดำเนินการค้าระหว่างประเทศ ระบบ HACCP มี หลักการ 7 ข้อ ที่ต้องปฏิบัติตาม ที่ระบุในมาตรฐานระหว่างประเทศ และประเทศสมาชิกได้ยึดถือเป็นแนวทางประยุกต์ใช้โดยสอดคล้องกันทั่วโลก ดังนี้
1) ดำเนินการ วิเคราะห์อันตราย (Conduct a hazard analysis)
2) หา จุดวิกฤต ที่ต้องควบคุม (Determine the Critical Control Points : CCP s)
3) กำหนด ค่าวิกฤต (Establish critical Limit : s)
4) กำหนดระบบเพื่อ ตรวจติดตาม การควบคุม จุดวิกฤต ที่ต้องควบคุม (Establish a system to monitor control of the CCP)
5) กำหนด วิธีการแก้ไข เมื่อตรวจพบว่า จุดวิกฤต ที่ต้องควบคุมเฉพาะจุดใดจุดหนึ่งไม่อยู่ภายใต้การควบคุม (Establish the corrective action to be taken when monitoring indicates that particular CCP is not under control)
6) กำหนดวิธีการทวนสอบ เพื่อยืนยันประสิทธิภาพการดำเนินงานของระบบ HACCP (Establish procedures for verification to confirm that the HACCP system is working effectively)
7) กำหนด วิธีการจัดเก็บเอกสาร ที่เกี่ยวข้องกับวิธีปฏิบัติและบันทึกข้อมูลต่าง ๆ ที่เหมาะสม ตามหลักการเหล่านี้ และการประยุกต์ใช้ (Establish documentation concerning all procedures and records appropriate to these principles and their application)
ประโยชน์ของ HACCP
Ø สร้างความมั่นใจต่อความปลอดภัยในการบริโภคผลิตภัณฑ์
Ø เป็นเครื่องมือที่ช่วยในการป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นในผลิตภัณฑ์อาหารอย่างมีประสิทธิภาพ
Ø ลดต้นทุนการผลิต
Ø อำนวยความสะดวกในการดำเนินการค้าระหว่างประเทศ
Ø สอดคล้องกับข้อกำหนดของประเทศคู่ค้า
ใครควรทำระบบ HACCP
ผู้ประกอบการ ด้านอาหาร ทุกประเภท และทุกขนาด แม้ว่าระบบ HACCP จะมีบทบาทสำคัญใน การตรวจควบคุม ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่อง การส่งออก และ นำเข้า ผลิตภัณฑ์อาหาร โดยเฉพาะในประเทศผู้นำเข้าสำคัญ อาทิ สหรัฐอเมริกา ประชาคมยุโรป แต่การนำระบบ HACCP มาใช้ของภาคอุตสาหกรรมทุกขนาดธุรกิจ จะช่วยให้เกิดผลดีต่อสุขภาพอนามัยของผู้บริโภค ทั้งภายในประเทศและลูกค้าต่างประเทศ นอกจากทำให้ผู้บริโภคได้รับอาหารที่มี ความปลอดภัย ต่อการบริโภค ยังช่วยลดการสูญเสียในด้านเศรษฐกิจเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลผู้ ป่วยจากอาการอาหารเป็นพิษ
องค์กรที่นำ มาตรฐาน HACCP ไปปฏิบัติยังสามารถขอให้ หน่วยงานรับรอง ให้ การรับรอง ระบบ HACCP ซึ่งทำให้องค์กรนั้นสามารถนำผล การรับรอง ไปใช้ในการโฆษณา และประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมสนับสนุนภาพลักษณ์ และความเชื่อถือในผลิตภัณฑ์ขององค์กรให้ดีขึ้น ทำแล้วได้อะไร
1. บริหารจัดการด้านความปลอดภัยของอาหารอย่างมีระบบ
2. สร้างความมั่นใจต่อความปลอดภัยในการบริโภคผลิตภัณฑ์อาหาร
3. เกิดภาพพจน์ที่ดีต่อองค์กร และผลิตภัณฑ์
4. ลดภาระค่าใช้จ่ายในการผลิตที่ไม่เป็นไปตามข้อกำหนด โดยเฉพาะคุณภาพด้านความปลอดภัย เช่น ลดจำนวนตัวอย่างที่สุ่ม ลดค่าใช้จ่ายเนื่องจากการทำลายผลิตภัณฑ์ที่ไม่เป็นไปตามข้อกำหนด เป็นต้น
5. เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการตลาด และอำนวยความสะดวกในการดำเนินการค้าระหว่างประเทศ
6. เป็นระบบคุณภาพด้านความปลอดภัยของอาหารที่สามารถขอรับการรับรองได้
7. เป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาสู่ระบบคุณภาพ ISO 9000
from http://www.siamhrm.com/?name=management&file=readnews&max=295
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น