Pages

Pages

26 กันยายน 2552

Mr.Market (Benjamin Graham)


Mr.Market

อาทิตย์ที่แล้วคุณมนตรีได้กล่าวถึง “นายตลาด” หรือ Mr.Market ไปคร่าวๆ บทความคราวนี้เรามาดูกันว่า ”นายตลาด” มีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง
“นายตลาด” หรือ Mr.Market เป็นคำที่อาจารย์เบนจามิน เกรแฮม บิดาแห่งการลงทุนแบบเน้นคุณค่าได้บัญญัติขึ้นมาในหนังสือนักลงทุนผู้ชาญฉลาด (Intelligent Investor) ที่เขียนขึ้นเมื่อกว่าห้าสิบปีมาแล้ว

ในหนังสือคลาสสิกเล่มนี้ อ.เกรแฮม เขียนเอาไว้ในบทที่เกี่ยวกับความผันผวนของตลาดไว้ว่า “ลองสมมติว่าคุณเป็นเจ้าของหุ้นในบริษัทส่วนตัวบริษัท และคุณมีหุ้นส่วนคนหนึ่งชื่อ “นายตลาด” ทุกๆ วันเขาจะมาเสนอซื้อหรือเสนอขายหุ้นให้กับคุณ
บางครั้งความคิดของเขาเกี่ยวกับราคาหุ้นที่เขาบอกมานั้นก็ดูมีเหตุมีผล แต่ในบางครั้ง ราคาหุ้นที่เขาเสนอมาดูเหมือนจะเป็นราคาที่ดูโง่เขลาในสายตาของคุณ
นักลงทุนที่แท้จริงจะสามารถหาประโยชน์จากราคาซื้อขายหุ้นรายวันของนายตลาด หรืออาจจะปล่อยไว้เฉยๆ ก็ได้ แล้วแต่ความเข้าใจและวิจารณญาณของตนเอง
โดยทั่วไปแล้ว ความผันผวนของราคาหุ้นมีความหมายเพียงอย่างเดียวสำหรับนักลงทุนที่แท้จริง นั่นก็คือเป็นโอกาสที่จะซื้อหุ้นเมื่อราคาลดลง และเป็นโอกาสในการขายหุ้นเมื่อราคาเพิ่มขึ้นอย่างมาก
โดยส่วนใหญ่แล้ว นักลงทุนจะทำผลตอบแทนได้ดีขึ้น ถ้าเขาเลิกสนใจตลาดหุ้น และหันไปให้ความสนใจกับเงินปันผลและผลประกอบการของบริษัทมากกว่า”
นักลงทุนควรมองตลาดหุ้นเหมือน ”นายตลาด” ผู้ที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ ราคาที่เขาเสนอซื้อหรือเสนอขายในตลาดหุ้นทุกวันนั้น จะเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาตามแรงกรรมของความโลภและความกลัว วันไหนที่ ”นายตลาด” อารมณ์ดีก็จะมาให้ราคาหุ้นในราคาที่สูง วันไหนที่เขาอารมณ์ไม่ดี เขาก็จะเทขายหุ้นอย่างกับไม่มีวันพรุ่งนี้
ดังนั้น นักลงทุนสามารถหาประโยชน์จากนายตลาดได้ ไม่ใช่ให้นายตลาดมาชี้นำเรา
ถ้ามาดู ”นายตลาด” ให้ใกล้ๆ ก็จะพบว่า นายตลาดมักจะมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
หนึ่ง อารมณ์แปรปวน
“นายตลาด” มักจะมีอารมณ์ไม่ค่อยคงที่ สาเหตุอาจจะเนื่องมาจากเป็นคนไม่อยู่กับร่องกับรอย ส่วนใหญ่มักจะมีอารมณ์ฉุนเฉียว เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย แปรเปลี่ยนไปตามอารมณ์ แต่ถ้าวันไหนอารมณ์ดีๆ ก็จะมาให้ราคาหุ้นสูงๆ ราวกับว่ากลัวจะไม่มีของให้ซื้อ
ถ้าสังเกตดูตลาดหุ้นจะพบกับความแปรปรวนของ”นายตลาด”ได้เป็นอย่างดี บางวันตลาดก็ผันผวนไปมา บางวันดัชนีก็ลดลงทะลุแนวต้านไปเฉยๆ บางวันก็พุ่งขึ้นเหมือนกระดี่ได้น้ำ
ใครอยู่ใกล้ ”นายตลาด” บ่อยๆ จะเริ่มเคยชินและมีนิสัยเหมือนนายตลาดเข้าไปทุกที สุดท้ายก็จะกลายเป็นพวกของนายตลาดเสียอีก
วิธีสังเกตง่ายๆ ว่า ใครเป็นสาวกของ ”นายตลาด” บ้างก็สังเกตได้ง่ายๆ คือ ถ้าวันไหนตลาดหุ้นดีก็จะอารมณ์ดีเป็นพิเศษ
แต่ถ้าวันไหนตลาดหุ้นตก จะหน้านิ่วคิ้วขมวด ไม่อยากให้ใครเข้าใกล้ ใครพูดจาไม่เข้าหูอาจถูกตะเพิดออกมาได้
ใครมีอาการดังกล่าวแสดงว่าถูก”นายตลาด”ชักจูงไปเรียบร้อยแล้ว
สอง ไม่สนใจในมูลค่า
สิ่งสำคัญที่สุดในความเห็นของนายตลาดก็คือ “ราคาหุ้น” ดังนั้นถ้าวันไหน นายตลาดอารมณ์ดีก็จะมาให้ราคาหุ้นในราคาสูง แต่ถ้าวันไหนอารมณ์ไม่ดีก็จะขายหุ้นให้ในราคาถูกๆ
นายตลาดไม่ค่อยได้สนใจใน ”มูลค่าหุ้น” มากนัก เพราะนายตลาดมักจะมี ”สายตาสั้น” มองแค่ใกล้ๆ เพียงแค่ไม่กี่ชั่วโมง ไม่กี่วัน ดังนั้น ”มูลค่า” ของนายตลาดก็คือ “ราคาหุ้น” ที่อยู่บนกระดานนั่นเอง
สาม ตกใจง่าย
คุณสมบัติอีกประการหนึ่งของนายตลาดก็คือ ขี้ตกใจ เป็นคนขวัญอ่อน เห็นอะไรก็ตกใจไปหมด ไม่ว่าจะเป็นราคาน้ำมันขึ้น ราคาน้ำมันลง จีดีพีเพิ่ม จีดีพีลด เงินเฟ้อ เงินฝืด ฯลฯ เรียกว่า มีข่าวอะไรก็มีผลกระทบกับจิตใจ ”นายตลาด” ทั้งนั้นเลย
สังเกตดูจะพบว่า บางครั้งข่าวที่เกิดขึ้นอาจจะไม่ค่อยมีสาระเท่าไหร่ นายตลาดก็ยังเอาไปขวัญผวาได้บ่อยๆ ทั้งๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวกับธุรกิจสักเท่าไหร่เลย
สี่ มีสัญชาตญาณหมู่
“นายตลาด” ไม่ชอบอยู่คนเดียว เรียกว่าเป็นคนชอบเข้าสังคม เพื่อนเฮไปไหนก็จะเฮไปนั่น ดูๆ ไปแล้วบางทีอาจจะเข้าข่ายชอบตามกระแส ไม่ค่อยได้ดูว่าทิศทางจะไปทางไหน จะไปดีไปร้ายไม่รู้ รู้แต่ว่าถ้า ”ขาใหญ่” ไปทางไหน จะตามไปทุกที่ ฝรั่งเขาเรียกกันว่า พวกหนูเลมมิ่ง ที่แห่ตามกันไปเรื่อย สุดท้ายก็ตกทะเลตายกันหมด ถึงแม้จะเห็นว่าเพื่อนกำลังกระโดดน้ำตาย เจ้าพวกเลมมิ่งก็ไม่กลัว เลยกระโดดน้ำตายตามเพื่อนไปด้วย
ทั้งอารมณ์แปรปรวน ตกใจง่าย ทำตามคนหมู่มาก รวมทั้งไม่สนใจในมูลค่าหุ้นล้วนเป็นคุณสมบัติของนายตลาด ดังนั้นหลังจากที่เราได้รู้จักคุณสมบัติของ ”นายตลาด” ไปแล้ว บทความคราวหน้าเรามาดูว่าเราจะหาประโยชน์จาก ”นายตลาด” ได้อย่างไร
หรือถ้าไม่อยากตกอยู่ใต้อำนาจของนายตลาดต้องทำอย่างไรบ้าง

from www.thaivi.com


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น