28 ตุลาคม 2552

แผนการตลาด Amway

แผนการตลาด Amway

http://www.pantip.com/cafe/wahkor/topic/X7440749/X7440749.html
ละเอียดดี


เคล็ดองค์กรพันล้านกิฟฟารีน

เคล็ดองค์กรพันล้านกิฟฟารีน

ท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจของประเทศไทยหลายต่อหลายครั้ง แม้ในบางช่วงเวลาที่ยากลำบากของการทำธุรกิจ

แต่เมื่อสอบถามไปยัง คุณหมอนลินี หรือ พ.ญ.นลินี ไพบูลย์ ผู้สร้างอาณาจักร "กิฟฟารีน" กลับได้คำตอบว่า "ยังเติบโต"

ความสำเร็จที่เกิดขึ้นนับจากจุดสตาร์ทในปี 2539 กับยอดขาย 348 ล้านบาท และทะยานขึ้นเป็น 1,500 ล้านบาท ในปี 2540 ปีที่ใครๆ ก็ออกปากว่า เหนื่อย และยากยิ่งต่อการนำพาองค์กรให้เติบโต แต่สำหรับ นลินี กลับพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ความสำเร็จที่ได้มานั้นไม่ใช่ด้วยความบังเอิญ แต่เกิดจากบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ และเดินไปในแบบฉบับของตัวเอง

การเป็นองค์กรขายตรงทำให้ต้องทำงานกับคนหมู่มาก 600 คน ที่เป็นพนักงานประจำในส่วนออฟฟิศ และอีก 800 คน ที่ประจำในโรงงานผลิต นับรวมถึงนักธุรกิจอิสระ ผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าใช้เอง ไม่นับรวมถึงคู่ค้า ล้วนเป็นกลุ่มคนจำนวนมากที่ นลินี ต้องทำงานด้วย

เมื่อต้องทำงานกับคนหมู่มาก สิ่งหนึ่งที่ นลินี นำติดตัวมาตั้งแต่ครั้งเป็นสูตินรีแพทย์ คือ พยายามคิดตลอดเวลาว่าคนที่อยู่ด้วยต้องการอะไร และเราจะตอบสนองด้วยวิธีใดได้บ้าง

"อาจจะเพราะเป็นหมอ วิเคราะห์คนไข้ อ่านใจคนไข้จนเป็นนิสัย ทำให้เราพยายามอยู่ในมุมของคนอื่นมากกว่าจะอยู่ในมุมของตัวเอง ดังนั้น การปกครองจึงไม่ค่อยเหมือนนักธุรกิจคนอื่น เพราะไม่ได้มองเรื่อง Benefit แต่มองเรื่องความสุขของการอยู่ร่วมกันมากกว่า เรียกว่าเป็นสุขนิยมก็ได้"

เพราะเชื่อว่า ความสุขขององค์กรจะนำมาซึ่งตัวเงิน นลินี จึงใช้กระบวนคิดและการจัดการหลายอย่าง เพื่อเป้าหมายสร้างสุขให้เกิดขึ้นในองค์กร

องค์กรแม้จะมีคนอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ถูกจัดโครงสร้างตามลำดับชั้น เพื่อให้เกิดความคล่องตัว และที่สำคัญ นลินี บอกว่า เปิดกว้างให้ทุกคนเข้ามาปรึกษา พูดคุย พร้อมกับบ่นให้ฟังถึงปัญหาในการทำงานได้ตลอดเวลา

เธอ บอกว่า ด้วยความเป็นคนอารมณ์ดีทำให้ไม่ใช่เรื่องยากที่ลูกน้องตั้งแต่ระดับกลางถึง ระดับล่างจะกล้าเข้ามาพูดคุยด้วย เพื่อสร้างบรรยากาศการมีส่วนร่วม และใกล้ชิดระหว่างผู้บริหารกับพนักงาน

"ทำงานจะมอนิเตอร์ตลอด เป็นคนที่คุยกับลูกน้องแต่ละแผนก ฟังความคิดเห็นของเค้า เวลาเจอพนักงานระดับกลางและล่างก็กล้าพูด แสดงความคิดเห็น กล้าบ่นให้ฟัง เพราะเราอยู่แบบครอบครัว น้องๆ จะรู้ว่าไม่ใช่คนดุ แต่จะเป็นคนที่รับฟัง"

นอกจากระบบที่เปิดกว้าง การสร้างขวัญและกำลังใจให้กับ "คน" ในองค์กร เป็นอีกกลไกสำคัญที่ นลินี ให้ความสำคัญและพัฒนาอย่างต่อเนื่องให้เป็นวัฒนธรรมหลักแห่ง "กิฟฟารีน" ให้ได้ นั่นคือ ความรู้สึกเป็นเจ้าของ

สิ่งที่ นลินี ย้ำกับคนในองค์กรมาตลอดนับตั้งแต่ก่อตั้ง คือ ทำให้ทุกคนเชื่อว่า เขาคือส่วนหนึ่งขององค์กร เขาคือเจ้าของ นี่ต่างหากที่เป็นกลยุทธ์หลักของกิฟฟารีน

"บอกทีมงานว่าทำขึ้นเพื่อพัฒนากิฟฟารีน นี่คือ บ้านของพนักงาน บ้านของสมาชิก เพราะคนที่คิดว่าตัวเองเป็นเจ้าของธุรกิจแล้ว จะทำงานต่างกับลูกจ้าง"

เธอ ยกตัวอย่าง นักธุรกิจอิสระเมื่อเสร็จสิ้นการประชุมที่ศูนย์ จะช่วยกันปิดไฟ เก็บเก้าอี้กันเอง เพื่อไม่ให้เป็นภาระกับแม่บ้าน นี่เป็นวัฒนธรรมของเรา

ถึงวันนี้ นลินี บอกว่า กิฟฟารีน เข้มแข็งอย่างมากเรื่องความจงรักภักดีของคนต่อองค์กร และมีอัตราการเทิร์นโอเวอร์ต่ำมาก เรียกว่าแทบจะไม่มีคนใครออก

นอกจากการสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าขององค์กร การจะมีสุขในการทำงานได้ยังต้องทำควบคู่ไปกับการพัฒนาคน และกำหนดผลตอบแทนในระดับที่พึงพอใจด้วย

นลินี บอกว่า ทุกครั้งที่มีอบรมสัมมนาดีๆ จะมีพนักงานกิฟฟารีนเข้าไปเป็นหนึ่งในนั้นด้วย เพราะตัวเธอเองเชื่อในเรื่องของการพัฒนาคน

ที่สำคัญ "คนที่ทำงานที่นี่ นอกจากทำงานแล้ว ยังมีหน้าที่ต้องทำให้ตัวเองเก่งขึ้นด้วย"

ในส่วนของผลตอบแทน นลินี บอก วัดได้จากตัวกิฟฟารีนเองจะมีมาร์จินไม่เยอะมาก ขณะที่ทุกคน หมายถึงพนักงาน สมาชิก นักธุรกิจอิสระ ฯลฯ มีรายได้ดีหมด ยกเว้นบริษัท

การสร้างบรรยากาศการทำงานให้เกิดเป็นวัฒนธรรมที่ดีในองค์กรนั้นยังคงเป็น สิ่งที่ นลินี บอก "ต้องทำอย่างต่อเนื่อง" ท่ามกลางการทำงานในปีนี้ที่ต้องเข้มข้น และรอบคอบขึ้นกว่าเดิม

แนวทางบริหารต้นทุนให้เกิดประสิทธิภาพ ก้าวขึ้นมาอยู่ในลำดับต้นๆ ของการบริหารธุรกิจกิฟฟารีนในปีนี้ หลัง นลินี ประเมินสถานการณ์โดยรวม และกำลังซื้อของประชาชนแล้ว ว่า มีแนวโน้มหดตัว

"ที่เป็นจริงแล้วคือกำลังซื้อหดตัว ผู้ประกอบการจะเพิ่มยอดขายอัตราการเติบโตแบบพรวดพราดไม่ได้ จึงต้องหันมามองถึงต้นทุนเป็นหลัก"

หลังประเมินตลาดในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา สิ่งที่ นลินี ค้นพบ กลับสวนทางจากสิ่งที่เคยคิดไว้ตั้งแต่ต้น

แรกๆ คิดว่ากำลังซื้อที่หดตัวลงจะทำให้สินค้าที่มีราคาสูงขายยากกว่าสินค้าที่มี ราคาขายต่ำกว่าร้อยบาท แต่ตรงกันข้าม สินค้าราคาต่ำกว่าร้อยบาทกลับขายได้น้อยลง ขณะที่สินค้าราคา 200-300 ขึ้นไป กลับขายได้จำนวนชิ้นมากขึ้น แสดงให้เห็นถึงผลกระทบจากเศรษฐกิจจะส่งผลตรงถึงกำลังซื้อในระดับรากหญ้า มากกว่า แต่สำหรับคนชั้นกลางยังอยู่ในขั้นดีอยู่

เมื่อกำลังซื้อส่งสัญญาณ นลินี เริ่มที่จะแอ็คชั่นแล้วกับการเดินหน้าทำแผนกระตุ้นตลาดรากหญ้าที่เริ่มหดตัว ให้กลับมามีชีวิตชีวาในการจับจ่าย ในภาวะเช่นนี้ที่เห็นผลน่าจะเป็นการลดแลกแจกแถม

ส่วนคนชั้นกลางซึ่งเป็นตลาดที่กำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ก็อยู่ระหว่างทำแผนโปรโมทถึงคนกลุ่มนี้ให้ขึ้นมากขึ้น โดยเน้นเนื้อหาให้เห็นถึงคุณค่าของสินค้าที่จะไปตอบโจทย์ความต้องการเป็น หลัก

ปัจจุบัน กิฟฟารีน มีฐานการบริโภคในระดับคนชั้นกลาง 40% รายได้น้อย 30-40% และผู้บริโภคที่สมัครสมาชิก เพื่อซื้อใช้เองอีก 20%

เมื่อเศรษฐกิจที่ถดถอยส่อเค้าถึงกำลังซื้อ นอกจากโฟกัสถึงลูกค้าแต่ละกลุ่มแล้ว การจะเพิ่มยอดขายให้โตกว่า 4,160 ล้านบาทที่ทำได้ในสิ้นปี 2551 ยังต้องพึ่งพาฐานสมาชิกใหม่ ที่คาดว่าจะต้องทำเพิ่มให้ได้อีก 10-20% ในปีนี้ จาก 4.9 แสนรหัส ในปี 2551 โดยที่จำนวนนี้มีนักธุรกิจที่แอ็คทีฟยอดขายทั้งสิ้น 3 แสนราย

"แม้กำลังซื้อจะลดลง แต่ในปัจจุบันถือว่าค่อนข้างดีอยู่ เพราะยิ่งวิกฤติ คนจะสนใจหารายได้พิเศษมากขึ้น ทำให้เราประคองอัตราการเติบโตได้"

แม้จะทำในหลายส่วนคู่ขนานกันไปกับการตลาด และหาฐานสมาชิกเพิ่ม แต่มีอีกสิ่งที่ นลินี เน้นย้ำ คือ Internal Branding

"นอกจากกระตุ้นให้ทุกคนรักองค์กรแล้ว ในการคุมคอร์สที่ไม่จำเป็นก็เป็นเรื่องสำคัญ ที่ผ่านมาเราไม่โฟกัสมาก เรียกว่า สุรุ่ยสุร่ายด้วยซ้ำ แต่ครั้งนี้บอกเพื่อให้ทุกคนร่วมมือ เชื่อว่าต้นทุนจะลดลงได้มาก หลังเริ่มทำตั้งแต่ 2 เดือนที่แล้ว"

นลินี บริการต้นทุนใหม่ตั้งแต่ ต้นทุนเทรนนิ่ง ซึ่งถือว่าอยู่ในสัดส่วนที่สูงสำหรับธุรกิจขายตรง แต่เพียงปรับมุมมองใหม่ด้วยการปรับเนื้อหาบางอย่างที่ไม่จำเป็น กรณีที่เคยใช้โรงแรมก็หันมาใช้พื้นที่ในสำนักงานแทน หรือให้หลายๆ ส่วนที่เคยต่างคนต่างอบรมมาเป็นอบรมที่ศูนย์เดียว เพื่อลดต้นทุนวิทยากร เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ทุกส่วนของการปรับลดต้นทุน นลินี เลือกใช้วิธีดึงพนักงานในทุกส่วนงานให้เข้ามามีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น และพร้อมใจที่จะปรับลดค่าใช้จ่ายในงานของตัวเองลง

วิธีนี้นอกจากระดมสมอง และสร้างความมีส่วนร่วม นลินี ยังย้ำว่า ที่แน่ๆ ทุกคนพอใจ และไม่กระทบกับความสุขในการทำงาน และรายได้ที่เคยได้รับ

ภาพรวมแล้ว นลินี มีเป้าหมายในใจต้องการลดคอร์สลงให้ได้ 20% จากค่าใช้จ่ายเดิมทั้งหมด

เธอว่า "ที่ผ่านมา เราไม่เคยทำเรื่องคอร์ส จะบอกว่าเมื่อก่อนเราสุรุ่ยสุร่ายด้วยซ้ำไป แต่ถึงวันนี้คงไม่ได้แล้ว" แนวทางการปรับลดต้นทุนดังกล่าว นลินี บอกว่า ยังไม่เคร่งเครียดเกินไปนักสำหรับ กิฟฟารีน เพราะเป็นเพียงการเข้าไปดูแล และจัดการเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดเท่านั้น

ในความเป็นจริงแล้ว ยังมีอีกหลายงบที่ยังไม่ตัด หากสถานการณ์เศรษฐกิจและกำลังซื้อถดถอยลงกว่าเดิม ยังมีอีกหลายส่วนที่สามารถตัดลดงบประมาณลงได้โดยที่ธุรกิจไม่ได้รับผลกระทบ เพียงแต่ว่าขณะนี้ สถานการณ์ยังเดินไปไม่ถึงจุดนั้น

"จะพยายามไม่เสี่ยง และไม่เอากิฟฟารีนไปอยู่ในจุดอันตราย"

นลินี กล่าวแสดงความมั่นใจ เพราะนับแต่ปี 2540 ถึงวันนี้ เรียกได้ว่า กิฟฟารีน ยังไม่เคยเจอ crisis โดยมีการวางรากฐานการเงินที่มั่นคงไว้ตั้งแต่แรกเริ่ม

"เราเข้มแข็ง และไม่มีปัญหาทางการเงิน เพราะไม่เคยกู้เงินนับตั้งแต่เริ่มทำธุรกิจ"

นลินี บริหารความเข้มแข็งทางการเงิน และบริหารความเสี่ยงแบบเป็น 0% เพราะเธอเอง บอกว่า ไม่เก่งเรื่องตัวเลข การเลี่ยงที่จะกู้เงิน และบริหารเงินเพื่อชำระดอกเบี้ย จึงเป็นเรื่องยากและเสี่ยงเกินไป คิดแค่เพียงใช้เงินเท่าที่มีให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยใช้สถิติปัญญา และความสามารถ

เงินหลักพันล้านจึงเป็นเพียงการเริ่มต้น แต่การขยับขยายธุรกิจ การสร้างโรงงาน และอื่นๆ จึงมาจากกระแสเงินสดล้วนๆ

"ผลกำไรจากการทำธุรกิจในปีที่ผ่านมา จะถูกนำมาทำธุรกิจในปีนี้ โดยจะไม่นำเงินในอนาคตมาใช้"

การเดินอยู่บนหลักการทำอะไรไม่เกินตัว และไม่เสี่ยง

เมื่อผนึกกับความเชื่อที่ว่า คนมีสุขจะส่งผลให้งานดี และความสุขจะสร้างความยั่งยืนได้

ก่อเป็นพลังที่ นลินี ขับเคลื่อน กิฟฟารีน ไปถึงเป้าหมายยอดขาย 5 พันล้านบาท ในปี 2554 เป้าหมายที่ดีเลย์ออกไปจากปี 2553 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกในปีนี้

และคาดว่าไม่เกินปี 2559 กิฟฟารีนทำสถิติถึง 10,000 ล้านบาทได้ ถ้าไม่มีอะไรมาทำให้ต้องสะดุดลง

from http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/business/business/20090215/16219/%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B8%A5%E0%B9%87%E0%B8%94%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B9%8C%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%9E%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%9F%E0%B8%9F%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%99.html


27 ตุลาคม 2552

ผลวิจัยสหรัฐเตือน ยาสีฟันดัง เจอสารก่อมะเร็ง

ผลวิจัยสหรัฐเตือน ยาสีฟันดัง เจอสารก่อมะเร็ง

เตือนให้ระวังยาสีฟัน -สบู่-น้ำยาบ้วนปาก เจือปนสารก่อมะเร็ง นักวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย เทค เผยผลวิจัยสินค้าหลายยี่ห้อ อาทิ คอลเกต เดนทอล เซนโซดายน์ ระบุมีสารไทรโคซานผสมอยู่ ซึ่งจะมีปฏิกิริยากับน้ำคลอรีน ก่อให้เกิดก๊าซคลอโรฟอร์ม ถ้าร่างกายคนเราได้รับก๊าซชนิดนี้เข้าไปมากๆ จะทำให้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า โรคตับ หรือร้ายแรงถึงขั้นเป็นมะเร็ง เรียกร้องให้รัฐบาลทั่วโลกตรวจสอบและออกกฎระเบียบควบคุมสารเคมีตัวนี้

เมื่อ วันที่ 16 เม.ย. หนังสือพิมพ์อีฟนิ่ง สแตนดาร์ด นิวส์ ประเทศอังกฤษ รายงานว่า นักวิทยาศาสตร์ในสหรัฐอเมริกาเตือนรัฐบาลทั่วโลกเร่งตรวจสอบสินค้าอุปโภค ประเภทยาสีฟัน น้ำยาบ้วนปาก น้ำยาล้างจาน และสบู่ซึ่งมีส่วนผสมของสารต่อต้านแบคทีเรีย "ไทรโคซาน" ภายหลังจากวิจัยแล้วพบว่าสารไทรโคซานที่ผสมอยู่ในยาสีฟันและน้ำยาบ้วนปาก ยี่ห้อดังๆ เช่น คอลเกต เดนทอล เซนโซดายน์ และอควาเฟรช เมื่อทำปฏิกิริยากับน้ำประปาผสมคลอรีนในประเทศอังกฤษจะส่งผลทำให้เกิดก๊าซ คลอโรฟอร์ม ซึ่งถ้าร่างกายคนเราได้รับก๊าซชนิดนี้เข้าไปมากๆ จะทำให้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า โรคตับ หรือร้ายแรงถึงขั้นเป็นมะเร็ง

รายงาน ข่าวอีฟนิ่ง สแตนดาร์ด ระบุว่า สารไทรโคซานมีคุณสมบัติในการต่อต้านแบคทีเรีย และบริษัทผลิตผลิตภัณฑ์เครื่องอุปโภคทำความสะอาดร่างกายและทำความสะอาด เครื่องใช้ต่างๆ มักนำมาใช้เป็นส่วนผสม โดยผลิตภัณฑ์ยี่ห้อดังๆ ตามท้องตลาดที่พบว่ามีส่วนผสมของสารไทรโคซาน เช่น
- ยาสีฟันคอลเกต โทเทิล เฟรช (Colgate Total Fresh)
- ยาสีฟันคอลเกต โทเทิล (Colgate Total)
- ยาสีฟันเซนโซดายน์ โทเทิล แคร์ (Sensodyne Total Care)
- น้ำยาบ้วนปากเดนทอล (Dentyl mouthwash)
- ยาสีฟันอควาเฟรช (Aquarfresh)
- ยาสีฟันของห้างเทสโก้
- รวมทั้งน้ำยาล้างจาน น้ำยาล้างมือ และสบู่อีกหลายยี่ห้อที่มีไทรโคซานเป็นส่วนผสม

ศาสตราจารย์ ปีเตอร์ ไวเคสแลนด์ นักวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย เทค ประเทศสหรัฐอเมริกา นำผลิตภัณฑ์ผสมสารไทรโคซานเหล่านี้ไปทดลองในห้องปฏิบัติการและพบว่าเมื่อสาร ไทรโคซานในผลิตภัณฑ์ทำปฏิกิริยากับน้ำประปาผสมคลอรีนในประเทศอังกฤษ จะทำให้เกิดก๊าซคลอโรฟอร์ม ซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคขึ้นมา โดยถ้าร่างกายได้รับคลอโรฟอร์มในปริมาณมากๆ อย่างต่อเนื่องผ่านการหายใจหรือผ่านการดูดซึมทางผิวหนังอาจเป็นสาเหตุทำให้ เกิดโรคซึมเศร้า โรคตับ หรือร้ายแรงถึงขั้นเป็นมะเร็ง

"นี่คืองาน วิจัยชิ้นแรกที่ชี้ให้เรารู้ว่าสินค้าอุปโภค เช่น สบู่ต่อต้านแบคทีเรีย สามารถทำให้เกิดก๊าซคลอโรฟอร์มขึ้นมาได้ในระดับหนึ่ง ผมขอเรียกร้องให้รัฐบาลทั่วโลกตรวจสอบและออกกฎระเบียบควบคุมสารเคมีตัวนี้ อย่างใกล้ชิด" ศาสตราจารย์ไวเคสแลนด์กล่าว

ด้านนายไจล์ส วัตสัน นักพิษวิทยาประจำกองทุนเพื่อสัตว์ป่า (WWF) เตือนผู้บริโภคว่า แม้การทำปฏิกิริยาระหว่างสารไทรโคซานกับน้ำคลอรีนจะก่อให้เกิดก๊าซ คลอโรฟอร์มในปริมาณไม่มากนักและผลกระทบต่อร่างกายจากก๊าซตัวนี้ยังไม่มี ข้อมูลยืนยันชัดเจน แต่ร่างกายผู้บริโภคอาจค่อยๆ สะสมสารตัวนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ในกรณีที่ใช้สินค้าเป็นระยะเวลานานๆ ดังนั้น ถ้าผู้บริโภคยังไม่แน่ใจในความปลอดภัยควรตรวจดูฉลากส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ก่อน จะซื้อว่ามีส่วนผสมของสารไทรโคซานหรือไม่ ถ้ามีก็ควรหลีกเลี่ยง

วัน เดียวกัน ภก.ภักดี โพธิศิริ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) กล่าวถึงการใช้สารไทรโคซานในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดร่างกายในประเทศไทย ว่าขณะนี้ยังมีการอนุญาตให้ใช้อยู่ จัดอยู่ในประเภทเครื่องสำอาง ส่วนใหญ่มักจะเป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ประเภทสบู่ยา ส่วนยาสีฟันพบว่ามีใช้บ้างแต่น้อย เพียง 1-2 ยี่ห้อเท่านั้น ทั้งนี้ เนื่องจากข้อมูลที่ระบุว่าเป็นสารก่อให้เกิดมะเร็งนั้น มีการรายงานเข้ามาเป็นระยะๆ แต่ยังไม่สามารถหาข้อสรุปที่ชัดเจนได้ว่าสารดังกล่าวก่อให้เกิดมะเร็งจริง จึงยังคงอนุญาตให้ใช้ แม้แต่ประเทศในกลุ่มอียูก็ยังอนุญาตให้ใช้สารดังกล่าวอยู่ เนื่องจากหลักฐานไม่ชัดเจน แต่ในส่วนของอย.ได้ติดตามข้อมูลทางวิชาการในเรื่องนี้มาโดยตลอด และได้สั่งให้ตรวจสอบข้อมูลการใช้สารดังกล่าวในประเทศไทยแล้วว่ามีผลิตภัณฑ์ ใดบ้างที่ใช้สารตัวนี้ เบื้องต้นจากการทบทวนข้อมูลต่างๆ แล้ว พบว่ายังไม่น่าตกใจเท่าไร

Ref. http://www.matichon.co.th/khaosod/khaosod.php?sectionid=0301&searchks=''&sk=''&s_tag=03p0102170448&day=2005/04/17&show=1

from http://www.pantown.com/board.php?id=5170&name=board1&topic=89&action=view


บัญญัติ 10 ประการ สำหรับนักลงทุนเน้นคุณค่า ดร นิเวศน์ เหมวชิรวรากรณ์

บัญญัติ 10 ประการ สำหรับนักลงทุนเน้นคุณค่า ดร นิเวศน์ เหมวชิรวรากรณ์

บัญญัติ 10 ประการ สำหรับนักลงทุนเน้นคุณค่า มีดังต่อไปนี้

Idea 1. อย่าคิดว่าการซื้อหุ้นคือการซื้อกระดาษเพียงหนึ่งแผ่น
ดร. ท่านบอกในเชิงว่า เราควรคิดว่าเราซื้อหุ้นตัวนี้ เพราะว่าเราอยากเป็นส่วนหนึ่งของกิจการนั้นๆ อยากเติบโตไปพร้อมๆกัน
อย่าไปคิดว่ามันเป็นเพียงหุ้นกระดาษเพียงหนึ่งใบ มันจะทำให้เรามองไม่เห็นคุณค่าของกิจการนั้นๆ เราไม่ได้ลงทุนด้วยใจ

ดร. ท่านเน้นย้ำว่า อย่าไปสนใจราคาที่ผันผวนในระยะสั้น เพราะสุดท้ายแล้ว ราคาจะวิ่งเข้าหา "มูลค่าที่เหมาะสม" ของตัวมัน
นั่นคือ หากบริษัทสามารถทำกำไรได้อย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง สุดท้ายแล้วปัจจัยหลักที่จะทำให้ราคาเคลื่อนตัวก็คือ "กำไร"


Idea 2. ต้องรู้ว่าบริษัทนั้นประกอบกิจการอะไร ต้องเข้าใจตัวธุรกิจได้ง่าย
ดร. ท่านบอกในเชิงว่า เราควรรู้ว่าบริษัทนี้ดำเนินธุรกิจหลัก ที่นำมาซึ่งรายได้ คืออะไร เช่น หากเรารู้ว่าบริษัทนี้ผลิตขนมปัง
หรือว่าบริษัทนี้ขายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ... อย่างนี้คือเราสามารถเข้าใจในตัวกิจการได้
แต่ถ้าเป็นพวกกิจการโรงงานน้ำมัน หรืออุตสาหกรรมปิโตรเคมี ... เรามีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับตัวธุรกิจมากน้อยแค่ไหน
ความเสี่ยงในการลงทุนจะแปรผันตรงตาม "ความไม่เข้าใจ" ในตัวธุรกิจนั้นๆ


Idea 3. ต้องลงทุนในกิจการที่ดี ราคาไม่แพง
คำว่า "กิจการที่ดี" อาจจะเป็นคำที่ดูคลุมเคลือ มันไม่ใช่ตัวเลข ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับแต่ละคนในการ "ตีความ"
ว่ากิจการที่ดีเป็นอย่างไร ? ส่วนราคาไม่แพง นั่นก็คือยึกหลักว่า ก่อนตัดสินใจซื้อหุ้น ควรเผื่อค่า MOS ไว้ให้เพียงพอ
เพื่อป้องกันความเสี่ยงหากเกิดสภาวะไม่ปกติ เหมือนเช่นที่ผ่านมา เป็นต้น


Idea 4. ควรมีการกระจายความเสี่ยงของหุ้น แต่อย่ามากจนเกินไป
ดร. ท่านบอกว่า ไม่ควรลงทุนในหุ้นเพียงตัวใดตัวหนึ่ง เพราะเราอาจ "คาดการณ์" ตัวธุรกิจนั้นๆพลาดได้ ความเสี่ยงจะเกิดขึ้นทันที
ท่านแนะนำว่า อย่างน้อยถือไว้สัก 4-5 ตัว จะเป็นการกระจายความเสี่ยงที่สมเหตุสมผล มันจะช่วย balance ความเสี่ยงได้มากขึ้น
อย่าถือจำนวนหุ้นมากเกินไป เพราะเราจะดูแลได้ไม่ทั่วถึง การ focus ต่อหุ้นแต่ละตัวจะทำได้ไม่ดีพอ


Idea 5. ห้ามให้พอร์ทของหุ้นว่างเปล่า
ข้อนี้ต้องฟังกันดีๆ ดร. ท่านบอกในเชิงว่า หากเราตั้งใจไว้แล้วว่าจะลงทุนในหุ้นทั้งหมด 60% จากพอร์ทเงินทั้งหมด
เราก็ต้องมีหุ้นอยู่ในพอร์ทในอัตราส่วน 60% ตลอดเวลา ... ไม่ควรเพิ่ม และ ไม่ควรลดลง ให้มากหรือน้อยไปกว่านี้
60% ของพอร์ทไม่ได้หมายความว่า คุณต้องกอดหุ้นตัวนั้นตลอดไป ห้ามขาย
ดร. ท่านบอกไว้ว่า เราสามารถ "เปลี่ยน" ตัวหุ้นได้ แต่อย่าเปลี่ยน 60% นั้นให้กลายเป็นเงินสด แต่ให้เปลี่ยนเป็นหุ้นตัวอื่นแทน


Idea 6. ถือหุ้นที่ปลอดภัยแม้ว่าเศรษฐกิจจะตกต่ำ
"หุ้นที่ปลอดภัย" เราจะตีความได้อย่างไรดี ?
บริษัทอะไรที่จะได้รับผลกระทบน้อยที่สุด เมื่อยามเศรษฐกิจตกต่ำ ใช่บริษัทที่ผลิตเกี่ยวกับสินค้าอุปโภค บริโภคหรือเปล่า ?
คำตอบของข้อนี้ขึ้นอยู่กับ "มุมมอง" และ "ประสบการณ์" ของแต่ละคนครับ


Idea 7. อย่าซื้อๆ ขายๆ (ซื้อหุ้นไม่ควรหวังค่ากับข่าว แต่ควรหวังค่าบ้าน
ตรงตัวเลยครับ อย่าซื้อๆ ขายๆ ก่อนซื้อควรศึกษาหุ้นให้ดี ทำการบ้านเยอะๆ หากคิดว่าตัดสินใจถูกต้องแล้วก็ซื้อ แล้วถือยาวเลยครับ
" ซื้อหุ้นไม่ควรหวังค่ากับข้าว แต่ควรหวังค่าบ้าน " ทำได้ไหมครับ อิอิ

= =


Idea 8.ผลการดำเนินงานไม่จำเป็นต้องดีขึ้นทุกปี แต่โดยเฉลี่ยควรดีขึ้นเรื่อยๆ
ดร. ท่านบอกว่า ไม่จำเป็นว่าผมประกอบการในไตรมาสต่อไป ต้องมีผลประกอบการที่ดีขึ้นเรื่อยๆ (ไม่ต้อง fix มากขนาดนั้น)
ขอเพียงแค่ผลกำไร "เกาะกลุ่ม" กับในช่วงเวลาที่ผ่านมา บริษัทมีกำไรอยู่ในอัตราการเติบโตที่สม่ำเสมอ
อาจจะไม่เพิ่มขึ้นอย่างหวือหวา แต่ขอให้กำไรไม่ผันผวน สามารถคาดการณ์กำไรในอนาคตได้
โดยวัดจากอดีตที่บริษัทสามารถทำกำไรได้อย่างสม่ำเสมอ เท่านี้ก็ถือว่า โอเคแล้ว


Idea 9. ติดตามผลการดำเนินงานในภาคสนาม (ตลาดจริง) อย่าไปดูราคาหุ้นมาก
ดร. ท่านบอกว่า เราควรหมั่นไปดูการดำเนินงานของบริษัทนั้นจริงๆบ้างว่า ตอนนี้เป็นอย่างไรบ้างในเรื่องของผลประกอบการ
มันไม่ได้ยากจนเกินไป เช่น หากเราซื้อหุ้นเกี่ยวกับสินค้าบริโภคตัวหนึ่ง หน้าที่ของเราก็ควรจะไปเดินดูตลาดที่ขายสินค้านั้น
ดูว่าขายดีไหม คนซื้อเขามีความเห็นอย่างไร หากเทียบกับสินค้าคู่แข่งแล้ว สินค้าเรามี "จุดเด่น/จุดด้อย" อย่างไร
ต้องมาเปรียบเทียบกัน

ยกเว้นกรณีเป็นบริษัทที่ผลิตสินค้าที่ค่อนข้างไกลตัว (หรือดูยาก) เช่น โรงงานผลิตเหล็กรีดร้อน , ชิ้นส่วน electronic
อย่างนี้ก็ลำบากหน่อยในการติดตามความเคลื่อนไหว


Idea 10. เป้าหมายสูงสุดของการลงทุนคือ การถือหุ้นอยู่ในพอร์ทแล้วติดตามดูการเติบโต ในรูปของเงินปันผลที่ได้รับ
ข้อนี้ผมพึ่งคิดได้เหมือนกัน หลังจากที่ได้ฟัง ดร.ท่านพูด แล้วกลับมานั่งคิด .......... " เออ จริงด้วย(ว่ะ) "
ดร. ท่านบอกว่า จุดสูงสุดของการลงทุนก็คือ การที่คุณถือหุ้นได้อย่างสบายใจ โดยได้รับ "เงินปันผล" เป็นสิ่งตอบแทนในทุกๆปี
ดร. ท่านบอกว่า ถึงแม้ในบางช่วงเวลา ราคาหุ้นอาจจะมีการสวิงตัวบ้าง แต่สิ่งที่นักลงทุนได้รับกลับคืนมาแน่ๆ นั่นคือเงินปันผล

ดร. ท่านยกตัวอย่างให้ฟังว่า
ในปีแรกเราลงทุนด้วยเงินจำนวนก้อนหนึ่ง สิ้นปีผ่านไปได้รับเงินปันผล (สมมติ) 10,000 บาท
ในปีต่อมา (ด้วยจำนวนทุนเท่าเดิม) สิ้นปี เราอาจจะได้เงินปันผลเพิ่มเป็น 15,000 บาท
บางครั้งอาจเพิ่มเป็น 20,000 หรือ 30,000 บาท และนั่นคือสิ่งที่นักลงทุนเน้นคุณค่าทุกคน " ต่างรอคอย "

ดร. ท่านสรุปทิ้งท้ายไว้ว่า มันมีทางเป็นไปได้ที่ เงินปันผลจะให้ผลตอบแทน "เท่ากับ" เงินต้นที่เราได้ลงทุนลงไป
... มันมีทางเป็นไปได้นะครับ


26 ตุลาคม 2552

ทฤษฎี VI (3) ดร นิเวศน์ เหมวชิรวรากรณ์

ทฤษฎี VI (3) ดร นิเวศน์ เหมวชิรวรากรณ์

เรื่องของ EQ หรือความสามารถทางอารมณ์เป็นคุณสมบัติที่สำคัญของการเป็น VI ที่ดี ว่าที่จริง EQ นั้น น่าจะสำคัญกว่า IQ หรือความสามารถในการคิดวิเคราะห์ด้วยซ้ำ ประเด็นสำคัญของการลงทุนในตลาดหุ้นก็คือ เราต้องมีทัศนะคติที่ถูกต้อง มีอารมณ์ที่มั่นคง และมีความกล้าที่จะตัดสินใจ เฉพาะอย่างยิ่งก็คือ ในการลงทุนนั้น เราต้องกล้าในยามที่คนส่วนใหญ่ในตลาดกำลังกลัว และกลัวในยามที่นักลงทุนส่วนใหญ่กำลังฮึกเหิม

ในมุมมองของ VI นั้น ตลาดหุ้นเป็นเสมือนคนที่มีอารมณ์ “แปรปรวน” และทำการซื้อขายหุ้นในราคาที่บ่อยครั้งไม่มีเหตุผล เช่นถ้าวันนั้น “นายตลาด” มีอารมณ์ดีเป็นพิเศษ เขาก็จะเสนอซื้อหุ้นจากเราในราคาที่สูงลิ่วเกินมูลค่าของธุรกิจไปมาก แต่ในวันที่เขารู้สึกหดหู่ เขาก็พร้อมที่จะเสนอขายหุ้นให้เราในราคาที่ต่ำติดดินทั้ง ๆ ที่มันก็คือกิจการเดียวกับที่เขาเสนอซื้อในราคาสูงลิ่วจากเราในวันก่อน หน้าที่ของเราก็คือ “เอาเปรียบ” เขาเมื่อเขาเสนอโอกาสมาให้ แต่อย่าไป “ตามเขา”

ประเด็นเรื่องความเสี่ยงของการลงทุนในหลักการของ VI นั้น ถือเป็นเรื่องสำคัญมากที่สุดเรื่องหนึ่ง วอเร็น บัฟเฟตต์ ถึงกับพูดว่า กฏของการลงทุนข้อที่หนึ่งคือ อย่าขาดทุน และกฏการลงทุนข้อสองก็คือ ให้กลับไปอ่านข้อหนึ่ง นั่นก็คือ สำหรับ VI แล้ว การรักษาเงินต้นคือภารกิจสำคัญที่สุด มากกว่าผลตอบแทนที่อาจจะมากแต่มีความเสี่ยงว่าจะขาดทุน

ความเสี่ยงสำหรับ VI นั้น ไม่ใช่ความผันผวนของราคาหุ้น แต่เป็นเรื่องที่ราคาหุ้นที่ซื้อไว้จะ “ลดลงอย่างถาวร” นั่นแปลว่าถ้าซื้อหุ้นแล้วราคาหุ้นตกลงมาในระยะสั้น แบบนี้ไม่ใช่ความเสี่ยงถ้าเราวิเคราะห์แล้วพบว่ามูลค่าพื้นฐานยังสูงเหมือน เดิม ตรงกันข้าม กลับเป็นโอกาสในการซื้อเพิ่มขึ้น และความเสี่ยงในการซื้อหุ้นตัวนั้นกลับลดลงเพราะเรามี Margin Of Safety มากขึ้น

ในการควบคุมความเสี่ยงนั้น VI มีวิธีการหลัก ๆ ดังต่อไปนี้คือ 1) รู้จักธุรกิจที่จะลงทุนเป็นอย่างดี ความเสี่ยงนั้นคือการที่เรา “ไม่รู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่” 2) ลงทุนในสิ่งที่มี Margin Of Safety สูง 3) หลีกเลี่ยงการเก็งกำไร นั่นคือ อย่าลงทุนในกิจการที่ไม่ได้สร้างเงินให้กับผู้ที่ถือมัน เหตุผลก็คือ ความแน่นอนของผลตอบแทนจะมีน้อยและมีความเสี่ยงที่เงินต้นอาจจะลดลง ตัวอย่างเช่น ทอง หรือตราสารอนุพันธุ์ต่าง ๆ เป็นต้น 4) มีการ Diversify หรือกระจายความเสี่ยงของการถือครองทรัพย์สินอย่างเหมาะสม เช่น มีการถือพันธบัตร หุ้น เงินสด หรือทรัพย์สินอื่น รวมกันเป็นพอร์ตโฟลิโอในอัตราส่วนที่เหมาะสม เช่นเดียวกัน ในหลักทรัพย์แต่ละประเภทก็ต้องมีการกระจายความเสี่ยงโดยการถือหลาย ๆ ตัวด้วย เฉพาะอย่างยิ่งก็คือหุ้นนั้น เราควรถืออย่างน้อย 5-6 ตัวขึ้นไปในหลากหลายอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม อย่ากระจายการถือครองมากตัวเกินไป เพราะเราจะไม่สามารถวิเคราะห์และติดตามได้อย่างทั่วถึงและจะทำให้เราลงทุน ผิดพลาดได้

ประเด็นอื่น ๆ ที่ VI คำนึงถึงค่อนข้างมากเรื่องแรกก็คือ ผู้บริหารของกิจการที่เราจะลงทุน เราเน้นว่าจะต้องเป็นผู้ที่ซื่อสัตย์สุจริตและมีจรรยาบรรณซึ่งเป็นเรื่องที่ สำคัญกว่าฝีมือการบริหารงาน เรื่องต่อมาก็คือ เราอยากได้ผู้บริหารที่มองผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นทุกคนเป็นเรื่องที่สำคัญ และผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นนั้นก็คือการที่เราจะได้ปันผลในอัตราที่ยุติธรรม และเหมาะสม นอกจากนั้นเราอยากให้หุ้นมีราคาเพิ่มขึ้นเพื่อว่าถ้าเราจะขายเราก็จะได้กำไร หรือผลตอบแทนที่ดี ดังนั้น ผู้บริหารที่พูดว่าราคาหุ้นไม่เกี่ยวกับเขา จึงไม่ใช่ผู้บริหารที่ดีในสายตาของ VI

VI นั้นต้องการให้ผู้บริหารดูแลราคาหุ้นแต่ไม่ใช่เข้าไปซื้อขายหุ้นทำราคาหรือ ให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ผู้บริหารที่ดีนั้นจะต้องสร้างสิ่งที่มีคุณค่าให้กับบริษัทที่จะทำให้ราคา หุ้นเพิ่มขึ้น โดยคำว่าคุณค่านั้น รวมถึงผลประกอบการ โครงสร้างทางการเงินและความแข็งแกร่งของตัวกิจการ การจัดสรรกำไรและเงินสดคืนให้กับผู้ถือหุ้นอย่างเหมาะสม ประเด็นที่เป็นปัญหาบ่อย ๆ ก็คือ ผู้บริหารบางคนที่บริหารงานแล้วบริษัทมีกำไรพอใช้ได้ มีกระแสเงินสดดี แต่ราคาหุ้นกลับไม่ไปไหนและราคาหุ้นก็ค่อนข้างต่ำมาก เขาก็ไม่ทำอะไรเพราะคิดว่าเรื่องราคาหุ้นไม่ใช่เรื่องของเขา แต่ข้อเท็จจริงก็คือ ที่ราคาหุ้นต่ำอาจจะเป็นเพราะว่าเขาไม่ยอมจัดสรรกำไรให้กับผู้ถือหุ้นอย่าง ที่ควรเป็นต่างหาก

ประเด็น อื่น ๆ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับ VI ก็คือเรื่องความผิดพลาดของ VI สิ่งที่ต้องระวังมากก็คือ การซื้อหุ้นหรือบริษัทที่มีคุณภาพต่ำในยามที่ธุรกิจดีและในเวลาที่ราคาหุ้น ปรับตัวขึ้นไปสูง เพราะเมื่อธุรกิจเริ่มแย่ลงตามภาวะ ราคาหุ้นจะตกลงมามาก อีกเรื่องหนึ่งซึ่งคล้ายคลึงกันก็คือ การเข้าใจผิดว่ากำไรดีในปัจจุบันนั้นเป็นเรื่องเดียวกับ “ความสามารถในการทำกำไร” ซึ่งเป็นเรื่องที่คงทนและเป็นเรื่องระยะยาวกว่ามาก ดังนั้น เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงความผิดพลาดเหล่านี้ VI จะต้องมองผลประกอบการของบริษัทย้อนหลังหลายปีและต้องมองระยะยาวไปข้างหน้า หลายปีเช่นกัน
สุด ท้าย ก่อนที่จะจบ “ทฤษฎี VI” ฉบับย่อที่สุดก็คือ VI นั้นเป็นเรื่องของความคิดปรัชญาและการกระทำ และเป็นเรื่องของคนที่ทำ นั่นก็คือ คนที่ยึดปรัชญาความคิดนั้นเราเรียกเขาว่า Value Investor มันไม่ใช่สิ่งของ หลักทรัพย์ หรือตัวหุ้น เพราะสิ่งเหล่านั้น สามารถเปลี่ยนแปลงไปได้เรื่อย ๆ หุ้นตัวหนึ่งบางช่วงอาจจะเป็นหุ้นปั่นแต่บางช่วงอาจเป็นหุ้นที่คุ้มค่า สำหรับการลงทุนของ VI ตรงกันข้าม หุ้นของกิจการที่ดีสุดยอดบ่อยครั้งก็ไม่เข้าข่ายที่ VI จะซื้อลงทุนเพราะมันอาจจะมีราคาสูงเกินไปจนไม่คุ้มที่จะลงทุน ประเด็นก็คือ การที่จะเป็น VI นั้น สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ เราต้องคิดอย่างมีเหตุผลและเป็นอิสระจาก “อารมณ์ของฝูงชน” เสร็จแล้วก็ต้องมีความกล้าที่จะลงมือทำ หรือมีใจหนักแน่นพอที่จะอยู่เฉย ๆ และนั่นทำให้ VI เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ที่ต้องใช้ทั้งการศึกษาและประสบการณ์ในการลงทุนจริง

http://portal.settrade.com/blog/nivate/2009/10/03/638


ทฤษฎี VI (2) ดร นิเวศน์ เหมวชิรวรากรณ์

ทฤษฎี VI (2) ดร นิเวศน์ เหมวชิรวรากรณ์

การหามูลค่า ที่แท้จริงของกิจการหรือที่ภาษานักวิชาการเรียกว่า Intrinsic Value นั้น สำหรับ VI แล้ว มันน่าจะเป็นช่วงมากกว่าเป็นตัวเลขที่แน่นอนเพียงตัวเดียว หรือถ้าจะพูดให้ถูกต้องขึ้นไปอีกก็คือ เราไม่พูดว่ามันควรมีค่ากี่บาทถึงกี่บาท แต่เรามักพูดว่ามันถูกหรือถูกมาก หรือมันแพงหรือแพงมาก การวัดความถูกความแพงของหุ้นนั้น ข้อมูลที่ VI นิยมใช้มากที่สุดน่าจะรวมถึงค่า PE หรือราคาหุ้นเมื่อเทียบกับกำไรของกิจการ ค่า PB หรือราคาหุ้นเมื่อเทียบกับมูลค่าทางบัญชีของหุ้น ค่า DP หรือปันผลเมื่อเทียบกับราคาหุ้นหรือที่เรียกว่า Dividend Yield และสุดท้ายก็คือมูลค่าตลาดของหุ้นทั้งหมดของกิจการหรือค่า Market Cap. นอกจากนั้น VI บางคนก็ยังใช้ค่า PEG ซึ่งก็คือค่า PE หารด้วยอัตราการเจริญเติบโตของกำไรของบริษัทด้วย

หุ้นที่ถูกสำหรับ VI ก็คือหุ้นที่มีค่า PE หรือค่า PB ต่ำกว่าค่า PE หรือค่า PB เฉลี่ยของตลาดหรือมีค่า DP สูงกว่าค่า DPเฉลี่ยของตลาด VI ส่วนใหญ่มักจะดูค่า PE เป็นตัวหลักและดูค่า PB และDP เป็นตัวประกอบ ประเด็นสำคัญก็คือ ค่า E หรือกำไรนั้น จะนำมาใช้ได้ก็ต่อเมื่อกิจการมีความสม่ำเสมอของผลประกอบการเท่านั้น ส่วนบริษัทที่มีกำไรที่ไม่สม่ำเสมอนั้น จะต้องใช้กำไรเฉลี่ยในระยะ 3-4 ปีที่ผ่านมา หรือใช้กำไรในปีที่ต่ำที่สุดในช่วง 3-4 ปีมาแทนกำไรในปีปัจจุบัน และในเกือบทุกกรณี ค่าของ Market Cap. จะเป็นตัวที่ใช้ตรวจสอบว่ามูลค่าตลาดของกิจการนั้นสมเหตุสมผลหรือไม่ ซึ่งก็จะต้องมองดูขนาดของธุรกิจและศักยภาพของกิจการในอนาคตเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม การดู Market Cap. นั้นค่อนข้างเป็นศิลปที่ต้องอาศัยประสบการณ์มาก

ในกรณีที่หุ้นเป็นกิจการที่มีคุณภาพสูง ค่า PE หรือ PB ที่จะบอกว่าหุ้นถูกอาจจะเพิ่มสูงขึ้นได้จากค่าเฉลี่ยของตลาด โดยที่คุณสมบัติของกิจการที่มีคุณภาพสูงอาจจะแสดงได้โดยตัวเลขหรือลักษณะการ ดำเนินการของกิจการดังต่อไปนี้คือ 1) กิจการนั้นมี ROE หรือผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นสูงกว่าปกติ เช่นมากกว่า 20% ต่อปีอย่างต่อเนื่องยาวนาน 2) กิจการมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสูงกว่ากำไรทางบัญชีของบริษัท 3) บริษัทเป็น Dominant Firm หรือเป็นบริษัทที่มีขนาดใหญ่กว่าอันดับสองมากอย่างน้อยกว่า 2-3 เท่าขึ้นไป 4) บริษัทสามารถขยายงานได้โดยใช้เงินลงทุนน้อยมาก ข้อนี้จะพบมากในบริษัทที่ขายทรัพย์สินทางปัญญาหรือบริการที่ไม่ต้องมี อุปกรณ์หรือเครื่องจักรใหม่มาก 5) บริษัทสามารถปรับราคาขายสินค้าตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้ทันทีโดยไม่สูญเสีย ลูกค้าไป และสุดท้ายที่สำคัญก็คือ 6) บริษัทมีการเจริญเติบโตเร็ว อย่างน้อยเป็น 3 เท่าของการอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ

Premium หรือค่า PE ที่สูงขึ้นของกิจการที่มีคุณภาพสูงนั้น จะสูงขึ้นได้เท่าไรเป็นเรื่องที่บอกได้ยาก แต่ยิ่งบริษัทมีคุณภาพสูงขึ้นเนื่องจากมีคุณสมบัติที่ดีหลาย ๆ ข้อดังกล่าวข้างต้น ค่า PE ก็มักจะมีค่าสูงทบทวีขึ้นไปมากขึ้น ในบางช่วงโดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ภาวะเศรษฐกิจและตลาดหุ้นเอื้ออำนวย ค่า PE ของกิจการที่เป็น “Super Company” สามารถขึ้นไปสูงได้อย่างไม่น่าเชื่อและเกินกว่าราคาที่ Value Investor ส่วนใหญ่จะรับได้ อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไป ในกรณีที่กิจการเป็นบริษัทที่โตเร็ว VI บางคนก็จะยอมรับค่า PE ที่สูงขึ้นได้โดยมีเงื่อนไขว่า ค่า PE ที่สูงนั้นต้องไม่เกินอัตราการเจริญเติบโตของบริษัทโดยเฉลี่ยในระยะ 3-4 ปีข้างหน้า นั่นก็คือ ค่า PEG ต้องไม่มากกว่า 1 เท่า

การซื้อหุ้นของ VI นั้นเป็นเรื่องที่สำคัญมากกว่าการขายหุ้น สำหรับคนที่ลงทุนในกิจการที่ดีเลิศแบบ Super Company อย่าง วอเร็น บัฟเฟตต์นั้น เขาบอกว่าถ้าซื้อหุ้นถูกตัวแล้ว ไม่จำเป็นต้องขายหุ้นเลย อย่างไรก็ตาม เวลาที่ซื้อหุ้นของ VI ก็คือเมื่อเขาพบหุ้นที่มีมูลค่าที่แท้จริงสูงกว่าราคาหุ้นในตลาดมาก ตัวเลขชัดเจนนั้นขึ้นอยู่กับแต่ละคนและแต่ละหุ้นแต่โดยทั่วไปน่าจะไม่น้อย กว่า 20-30% และความแตกต่างนี้เรียกว่า Margin Of Safety ซึ่ง VI เชื่อว่าจะเป็นส่วนที่ “เผื่อ” เอาไว้ว่าถ้าเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดหรือมีอะไรผิดพลาด หุ้นที่ซื้อโดยมี Margin Of Safety สูงก็ยังคงรักษามูลค่าของมันไว้ได้ พูดง่าย ๆ ถ้าหุ้นตกลงไปจากราคาที่ซื้อ เราก็สามารถถือยาวและในที่สุดมันก็จะฟื้นตัวกลับมาได้

เวลาขายหุ้นสำหรับ VI นั้น ก็เช่นเดียวกับการซื้อหุ้น คือไม่ได้อิงกับภาวะเศรษฐกิจหรือตลาดหุ้น และโดยทั่วไป การถือหุ้นมักจะเป็นระยะเวลาค่อนข้างยาวแม้ว่านิยามของคำว่ายาวของ VI แต่ละคนอาจจะต่างกันมาก เวลาของการขายหุ้นของ VI นั้นไม่ได้กำหนดว่าจะเป็นเมื่อไรและจะขายเมื่อกำไรหรือขาดทุนเท่าไร แต่หลัก ๆ แล้วเขาจะขายในกรณีดังต่อไปนี้ 1) ตระหนักว่ากิจการหรือหุ้นที่ซื้อมานั้นตนเองวิเคราะห์ผิดพลาดเนื่องจาก ข้อมูลใหม่ที่ได้รับรู้มา 2) พื้นฐานของกิจการเปลี่ยนไปเนื่องมาจากเหตุผลต่าง ๆ ที่คาดไม่ถึง อย่างไรก็ตาม ข้อนี้ต้องระวังว่าไม่ใช่เรื่องที่เราเข้าใจผิดถึงพื้นฐานมาตั้งแต่แรก เพราะโดยทั่วไปพื้นฐานของกิจการนั้น มักเป็นเรื่องที่เปลี่ยนยาก ว่าที่จริง คำว่า “พื้นฐาน” ก็แปลว่า “เปลี่ยนยาก” อยู่แล้ว 3) ราคาหุ้นขึ้นไปเกินมูลค่าพื้นฐานแล้ว ซึ่งไม่ได้แปลว่าหุ้นขึ้นไปมากแล้ว เพราะการที่หุ้นขึ้นไปมากนั้นก็อาจจะไม่เกินพื้นฐานก็ได้ เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ มูลค่าพื้นฐานของกิจการก็อาจจะเพิ่มขึ้นด้วยทำให้ราคาไม่เกินพื้นฐานแม้ราคา หุ้นจะขึ้นไปมาก 4) มีหุ้นตัวอื่นที่น่าสนใจและมี Margin Of Safety สูงกว่ามากและเราไม่มีเงินสดเหลือ เราจึงต้องขายหุ้นตัวเดิมเพื่อนำเงินไปซื้อหุ้นตัวใหม่ 5) ภาวะเศรษฐกิจการเมืองและสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไปมากจนทำลายพื้นฐานของกิจการ นี่ไม่ใช่เรื่องที่เศรษฐกิจถดถอยไปบ้างหรือการเมือง “วุ่นวาย” แต่น่าจะเป็นเรื่องของวิกฤติเศรษฐกิจหรือเป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงระบบ เศรษฐกิจไปในแนวทางที่ไม่ใช่ระบบตลาดเสรี เป็นต้น

from http://portal.settrade.com/blog/nivate/2009/09/26/633


ทฤษฎี VI (1) ดร นิเวศน์ เหมวชิรวรากรณ์

ทฤษฎี VI (1) ดร นิเวศน์ เหมวชิรวรากรณ์

Value Investment คืออะไร? นั่นเป็นคำถามที่เกิดขึ้นอยู่เรื่อย ๆ คำตอบที่ได้รับนั้นมักจะแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับ “Value Investor” แต่ละคน ส่วนใหญ่แล้วคำตอบนั้นมักจะเป็นส่วนหนึ่งของแนวความคิด “แบบ VI” ผมคิดว่าไม่มีคำตอบไหนที่จะอธิบายความหมายของ VI ได้อย่างสมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะว่าแท้ที่จริงแล้ว VI นั้นเป็น “ปรัชญา” ที่อาจจะมีพื้นฐานจากแนวความคิดของ เบน เกรแฮม แต่หลังจากนั้นก็มีนักคิดและนักปฏิบัติคนอื่นที่ช่วยกันเสนอแนวความคิดเพิ่ม เติมหลากหลาย บางเรื่องก็แย้งกับแนวทางเดิมก็มี อย่างไรก็ตาม โดยภาพรวมแล้วก็พอจะบอกได้ว่าแนวทางแบบใดเป็นแบบ VI และแนวไหนไม่ใช่ และต่อไปนี้ก็คือความพยายามของผมที่จะรวบรวมแนวความคิดหลัก ๆ ของ VI ที่จะช่วยให้คนที่ยังสับสนว่าอะไรคือ VI และการลงทุนแบบ VI นั้นทำอย่างไร ผมอยากเรียกมันว่า “ทฤษฎี VI”

ทฤษฎี VI ของผมจะเริ่มจาก “โครงร่าง” ที่จะครอบคลุมประเด็นหลัก ๆ ของ VI ดังต่อไปนี้คือ ข้อแรก VI มองการลงทุนในหุ้นว่าคือการลงทุนในธุรกิจ พูดง่าย ๆ ซื้อหุ้นก็คือซื้อธุรกิจหรือถ้าจะให้ถูกต้องจริง ๆ ก็คือ ซื้อส่วนหนึ่งของธุรกิจ ไม่ใช่ซื้อกระดาษใบหนึ่งที่มีราคาขึ้นลงได้ ดังนั้น การวิเคราะห์หุ้นก็คือการวิเคราะห์ว่าธุรกิจนั้นเป็นอย่างไร ข้อสอง ต้องหามูลค่าที่แท้จริงของหุ้น ซึ่งก็คือการหามูลค่าของธุรกิจ นี่คือมูลค่าที่เกิดขึ้นจากการที่ธุรกิจสามารถสร้างกระแสเงินสดให้เราได้ ไม่ใช่มูลค่าที่มีคนมาเสนอซื้อจากเรา ข้อสาม ซื้อหรือขายหุ้นเมื่อมีส่วนต่างระหว่างมูลค่าที่แท้จริงกับราคาหุ้นในตลาด โดยที่ส่วนต่างนั้นมีมากพอ หรือเรียกว่ามี Margin Of Safety ข้อสี่ VI นั้นจะต้องมี EQ หรืออารมณ์ที่มั่นคง ไม่ถูกชักนำโดยจิตวิทยาสังคมหรือสภาวะของตลาดหลักทรัพย์ ข้อห้า ต้องควบคุมความเสี่ยง หรือเสี่ยงในระดับที่เหมาะสม สุดท้ายก็คือ ประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในมุมมองของ VI

ข้อแรกในเรื่องของธุรกิจนั้น VI จะพยายามแยกหุ้นออกเป็นกลุ่ม ๆ เพื่อให้รู้ว่าคุณสมบัติทางธุรกิจของหุ้นนั้นเป็นอย่างไร การแยกแยะนั้นจะช่วยให้เราสามารถวิเคราะห์และคาดการณ์อนาคตของกิจการได้ อย่างถูกต้องแม่นยำขึ้น

การแบ่งกลุ่มของหุ้นที่ค่อนข้างกว้างก็คือแนวที่บัฟเฟตต์เรียกว่า กลุ่มหุ้น “ก้นบุหรี่” กับกลุ่มหุ้น “Super Company” โดยที่หุ้นก้นบุหรี่ก็คือหุ้นของบริษัทที่ไม่มีความสามารถโดดเด่นในการแข่ง ขัน ซึ่งทำให้ราคาของหุ้นอาจจะถูกมากจนอาจทำให้คุ้มค่าที่จะซื้อ ในขณะที่หุ้น Super Company นั้นเป็นหุ้นของกิจการที่มีความแข็งแกร่งมากและมี “ความได้เปรียบในการแข่งขันที่ยั่งยืน” ซึ่งทำให้บริษัทสามารถทำกำไรดีกว่าปกติได้อย่างต่อเนื่องยาวนาน หุ้นแบบหลังนี้ ถ้าเราสามารถซื้อได้ในราคาที่เหมาะสม มันก็จะให้ผลตอบแทนการลงทุนที่ดีได้เป็นเวลานาน

VI ชื่อดังอย่าง ปีเตอร์ ลินช์ เองได้เสนอการแบ่งกลุ่มบริษัทให้ละเอียดขึ้นเพื่อให้สามารถวิเคราะห์กิจการ ได้แม่นยำขึ้น เขาแบ่งกิจการออกเป็น 6 กลุ่มด้วยกัน คือ กลุ่มแรก หุ้นโตช้า ซึ่งเขาบอกว่าไม่น่าสนใจลงทุน นี่น่าจะเป็นกลุ่มที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า “ตะวันตกดิน” กลุ่มสอง หุ้นแข็งแกร่ง นี่คือหุ้นของกิจการขนาดใหญ่ที่เข้มแข็ง เป็นหุ้นที่นักลงทุนเรียกว่าเป็น หุ้น “Blue Chip” หุ้นเหล่านี้จะโตไม่มากแล้ว คนลงทุนควรจะเน้นว่ามันจ่ายปันผลในอัตราที่ดีจึงจะน่าสนใจที่จะซื้อลงทุน กลุ่มที่สาม คือหุ้นโตเร็ว นี่คือหุ้นที่มักจะมีขนาดเล็กลงมาแต่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว เป็นกิจการที่ยังมีความเสี่ยงและอาจจะไม่เข้มแข็งมาก แต่การลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้โดยรวมมักจะให้ผลตอบแทนที่ดีเพราะราคาหุ้นจะปรับ ตัวไปสูงมากและเป็นเวลานาน กลุ่มที่สี่ คือหุ้นวัฏจักร นี่คือกิจการที่มีผลประกอบการขึ้นและลงเป็นรอบ ๆ ที่ถ้าเราเข้าใจก็สามารถลงทุนซื้อและขายหุ้นในช่วงเวลาที่ถูกต้องได้ กลุ่มที่ห้า คือกลุ่มหุ้นฟื้นตัว นี่คือหุ้นของกิจการที่ประสบปัญหาหนักแต่กำลังฟื้นตัวหรือจะฟื้นตัวได้ เนื่องจากเหตุผลบางประการเช่นบริษัทมีเงินสดมาก การซื้อหุ้นแบบนี้ก็จะให้ผลตอบแทนที่ดีมากเมื่อกิจการฟื้นตัวแล้ว สุดท้าย หุ้นกลุ่มทรัพย์สินมาก นี่คือหุ้นของกิจการที่มีทรัพย์สินมากกว่ามูลค่าหุ้นของบริษัทและทรัพย์สิน นั้นมีค่าจริง การลงทุนในหุ้นมีทรัพย์สินมากมักจะมีความปลอดภัยสูง

การแบ่งกลุ่มบริษัทนั้น สำหรับ VI คงไม่มีข้อจำกัด ขึ้นอยู่กับว่าเขาเข้าใจธุรกิจมากน้อยแค่ไหน ตัวอย่างที่ดูเหมือนจะเป็นข้อถกเถียงมากว่าเป็นแนวของ VI หรือไม่ก็คือในกรณีของ บิล มิลเลอร์ ซึ่งประกาศตัวว่าเป็น VI คนหนึ่ง แต่เขาลงทุนในหุ้นกลุ่มไฮเท็คมากและประสบความสำเร็จอย่างสูง ทั้ง ๆ ที่หุ้นไฮเท็คนั้น สำหรับ VI ส่วนใหญ่จะมองว่าเป็นหุ้นในกลุ่มของ Growth Investor ซึ่งไม่ค่อยคำนึงถึงเรื่องของราคาถูกแพงของหุ้นซึ่งขัดกับแนวความคิดหลักของ VI ที่เน้นว่าต้องซื้อเฉพาะหุ้นที่มีราคาต่ำกว่าพื้นฐานเสมอ อย่างไรก็ตาม บิล มิลเลอร์ เถียงว่า หุ้นที่เขาลงทุนนั้น แท้ที่จริงแล้วไม่ได้แพงเลยเมื่อมองถึงกระแสเงินสดในอนาคตที่กิจการเหล่า นั้นจะทำได้ในอนาคตที่อาจจะไกลออกไปหน่อยแต่ก็เป็นกระแสเงินสดที่มากและน่า จะคาดการณ์ได้เมื่อคำนึงถึงธรรมชาติของธุรกิจของหุ้นไฮเท็คที่เขาซื้อเหล่า นั้น
หัวใจสำคัญของการวิเคราะห์กิจการนั้น นอกจากการที่ต้องพยายามจัดกลุ่มแล้ว เราต้องเข้าใจว่าบริษัทนั้น “หากิน” อย่างไร อะไรเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อผลประกอบการของบริษัททั้งในระยะสั้นและระยะ ยาวและปัจจัยเหล่านั้นมีการเปลี่ยนแปลงได้เร็วและมากน้อยแค่ไหน การเข้าใจตัวธุรกิจเป็นเงื่อนไขสำคัญมากของการลงทุนแบบ VI และก่อนที่จะลงทุนนั้น นักลงทุนจะต้องสามารถบอกเล่าเรื่องราวสั้น ๆ ที่ครอบคลุมหัวใจสำคัญของการดำเนินงานของธุรกิจหรือ “Story” ว่าทำไมหุ้นตัวนั้นถึง “น่าลงทุน”

from http://portal.settrade.com/blog/nivate/2009/09/19/628


บทความยอดนิยม (ล่าสุด)

บทความยอดนิยม (1 ปีย้อนหลัง)