ทฤษฎี VI (2) ดร นิเวศน์ เหมวชิรวรากรณ์
หุ้นที่ถูกสำหรับ VI ก็คือหุ้นที่มีค่า PE หรือค่า PB ต่ำกว่าค่า PE หรือค่า PB เฉลี่ยของตลาดหรือมีค่า DP สูงกว่าค่า DPเฉลี่ยของตลาด VI ส่วนใหญ่มักจะดูค่า PE เป็นตัวหลักและดูค่า PB และDP เป็นตัวประกอบ ประเด็นสำคัญก็คือ ค่า E หรือกำไรนั้น จะนำมาใช้ได้ก็ต่อเมื่อกิจการมีความสม่ำเสมอของผลประกอบการเท่านั้น ส่วนบริษัทที่มีกำไรที่ไม่สม่ำเสมอนั้น จะต้องใช้กำไรเฉลี่ยในระยะ 3-4 ปีที่ผ่านมา หรือใช้กำไรในปีที่ต่ำที่สุดในช่วง 3-4 ปีมาแทนกำไรในปีปัจจุบัน และในเกือบทุกกรณี ค่าของ Market Cap. จะเป็นตัวที่ใช้ตรวจสอบว่ามูลค่าตลาดของกิจการนั้นสมเหตุสมผลหรือไม่ ซึ่งก็จะต้องมองดูขนาดของธุรกิจและศักยภาพของกิจการในอนาคตเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม การดู Market Cap. นั้นค่อนข้างเป็นศิลปที่ต้องอาศัยประสบการณ์มาก
ในกรณีที่หุ้นเป็นกิจการที่มีคุณภาพสูง ค่า PE หรือ PB ที่จะบอกว่าหุ้นถูกอาจจะเพิ่มสูงขึ้นได้จากค่าเฉลี่ยของตลาด โดยที่คุณสมบัติของกิจการที่มีคุณภาพสูงอาจจะแสดงได้โดยตัวเลขหรือลักษณะการ ดำเนินการของกิจการดังต่อไปนี้คือ 1) กิจการนั้นมี ROE หรือผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นสูงกว่าปกติ เช่นมากกว่า 20% ต่อปีอย่างต่อเนื่องยาวนาน 2) กิจการมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสูงกว่ากำไรทางบัญชีของบริษัท 3) บริษัทเป็น Dominant Firm หรือเป็นบริษัทที่มีขนาดใหญ่กว่าอันดับสองมากอย่างน้อยกว่า 2-3 เท่าขึ้นไป 4) บริษัทสามารถขยายงานได้โดยใช้เงินลงทุนน้อยมาก ข้อนี้จะพบมากในบริษัทที่ขายทรัพย์สินทางปัญญาหรือบริการที่ไม่ต้องมี อุปกรณ์หรือเครื่องจักรใหม่มาก 5) บริษัทสามารถปรับราคาขายสินค้าตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้ทันทีโดยไม่สูญเสีย ลูกค้าไป และสุดท้ายที่สำคัญก็คือ 6) บริษัทมีการเจริญเติบโตเร็ว อย่างน้อยเป็น 3 เท่าของการอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ
Premium หรือค่า PE ที่สูงขึ้นของกิจการที่มีคุณภาพสูงนั้น จะสูงขึ้นได้เท่าไรเป็นเรื่องที่บอกได้ยาก แต่ยิ่งบริษัทมีคุณภาพสูงขึ้นเนื่องจากมีคุณสมบัติที่ดีหลาย ๆ ข้อดังกล่าวข้างต้น ค่า PE ก็มักจะมีค่าสูงทบทวีขึ้นไปมากขึ้น ในบางช่วงโดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ภาวะเศรษฐกิจและตลาดหุ้นเอื้ออำนวย ค่า PE ของกิจการที่เป็น “Super Company” สามารถขึ้นไปสูงได้อย่างไม่น่าเชื่อและเกินกว่าราคาที่ Value Investor ส่วนใหญ่จะรับได้ อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไป ในกรณีที่กิจการเป็นบริษัทที่โตเร็ว VI บางคนก็จะยอมรับค่า PE ที่สูงขึ้นได้โดยมีเงื่อนไขว่า ค่า PE ที่สูงนั้นต้องไม่เกินอัตราการเจริญเติบโตของบริษัทโดยเฉลี่ยในระยะ 3-4 ปีข้างหน้า นั่นก็คือ ค่า PEG ต้องไม่มากกว่า 1 เท่า
การซื้อหุ้นของ VI นั้นเป็นเรื่องที่สำคัญมากกว่าการขายหุ้น สำหรับคนที่ลงทุนในกิจการที่ดีเลิศแบบ Super Company อย่าง วอเร็น บัฟเฟตต์นั้น เขาบอกว่าถ้าซื้อหุ้นถูกตัวแล้ว ไม่จำเป็นต้องขายหุ้นเลย อย่างไรก็ตาม เวลาที่ซื้อหุ้นของ VI ก็คือเมื่อเขาพบหุ้นที่มีมูลค่าที่แท้จริงสูงกว่าราคาหุ้นในตลาดมาก ตัวเลขชัดเจนนั้นขึ้นอยู่กับแต่ละคนและแต่ละหุ้นแต่โดยทั่วไปน่าจะไม่น้อย กว่า 20-30% และความแตกต่างนี้เรียกว่า Margin Of Safety ซึ่ง VI เชื่อว่าจะเป็นส่วนที่ “เผื่อ” เอาไว้ว่าถ้าเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดหรือมีอะไรผิดพลาด หุ้นที่ซื้อโดยมี Margin Of Safety สูงก็ยังคงรักษามูลค่าของมันไว้ได้ พูดง่าย ๆ ถ้าหุ้นตกลงไปจากราคาที่ซื้อ เราก็สามารถถือยาวและในที่สุดมันก็จะฟื้นตัวกลับมาได้
เวลาขายหุ้นสำหรับ VI นั้น ก็เช่นเดียวกับการซื้อหุ้น คือไม่ได้อิงกับภาวะเศรษฐกิจหรือตลาดหุ้น และโดยทั่วไป การถือหุ้นมักจะเป็นระยะเวลาค่อนข้างยาวแม้ว่านิยามของคำว่ายาวของ VI แต่ละคนอาจจะต่างกันมาก เวลาของการขายหุ้นของ VI นั้นไม่ได้กำหนดว่าจะเป็นเมื่อไรและจะขายเมื่อกำไรหรือขาดทุนเท่าไร แต่หลัก ๆ แล้วเขาจะขายในกรณีดังต่อไปนี้ 1) ตระหนักว่ากิจการหรือหุ้นที่ซื้อมานั้นตนเองวิเคราะห์ผิดพลาดเนื่องจาก ข้อมูลใหม่ที่ได้รับรู้มา 2) พื้นฐานของกิจการเปลี่ยนไปเนื่องมาจากเหตุผลต่าง ๆ ที่คาดไม่ถึง อย่างไรก็ตาม ข้อนี้ต้องระวังว่าไม่ใช่เรื่องที่เราเข้าใจผิดถึงพื้นฐานมาตั้งแต่แรก เพราะโดยทั่วไปพื้นฐานของกิจการนั้น มักเป็นเรื่องที่เปลี่ยนยาก ว่าที่จริง คำว่า “พื้นฐาน” ก็แปลว่า “เปลี่ยนยาก” อยู่แล้ว 3) ราคาหุ้นขึ้นไปเกินมูลค่าพื้นฐานแล้ว ซึ่งไม่ได้แปลว่าหุ้นขึ้นไปมากแล้ว เพราะการที่หุ้นขึ้นไปมากนั้นก็อาจจะไม่เกินพื้นฐานก็ได้ เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ มูลค่าพื้นฐานของกิจการก็อาจจะเพิ่มขึ้นด้วยทำให้ราคาไม่เกินพื้นฐานแม้ราคา หุ้นจะขึ้นไปมาก 4) มีหุ้นตัวอื่นที่น่าสนใจและมี Margin Of Safety สูงกว่ามากและเราไม่มีเงินสดเหลือ เราจึงต้องขายหุ้นตัวเดิมเพื่อนำเงินไปซื้อหุ้นตัวใหม่ 5) ภาวะเศรษฐกิจการเมืองและสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไปมากจนทำลายพื้นฐานของกิจการ นี่ไม่ใช่เรื่องที่เศรษฐกิจถดถอยไปบ้างหรือการเมือง “วุ่นวาย” แต่น่าจะเป็นเรื่องของวิกฤติเศรษฐกิจหรือเป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงระบบ เศรษฐกิจไปในแนวทางที่ไม่ใช่ระบบตลาดเสรี เป็นต้น
from http://portal.settrade.com/blog/nivate/2009/09/26/633
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น