Pages

Pages

26 ตุลาคม 2552

ทฤษฎี VI (2) ดร นิเวศน์ เหมวชิรวรากรณ์

ทฤษฎี VI (2) ดร นิเวศน์ เหมวชิรวรากรณ์

การหามูลค่า ที่แท้จริงของกิจการหรือที่ภาษานักวิชาการเรียกว่า Intrinsic Value นั้น สำหรับ VI แล้ว มันน่าจะเป็นช่วงมากกว่าเป็นตัวเลขที่แน่นอนเพียงตัวเดียว หรือถ้าจะพูดให้ถูกต้องขึ้นไปอีกก็คือ เราไม่พูดว่ามันควรมีค่ากี่บาทถึงกี่บาท แต่เรามักพูดว่ามันถูกหรือถูกมาก หรือมันแพงหรือแพงมาก การวัดความถูกความแพงของหุ้นนั้น ข้อมูลที่ VI นิยมใช้มากที่สุดน่าจะรวมถึงค่า PE หรือราคาหุ้นเมื่อเทียบกับกำไรของกิจการ ค่า PB หรือราคาหุ้นเมื่อเทียบกับมูลค่าทางบัญชีของหุ้น ค่า DP หรือปันผลเมื่อเทียบกับราคาหุ้นหรือที่เรียกว่า Dividend Yield และสุดท้ายก็คือมูลค่าตลาดของหุ้นทั้งหมดของกิจการหรือค่า Market Cap. นอกจากนั้น VI บางคนก็ยังใช้ค่า PEG ซึ่งก็คือค่า PE หารด้วยอัตราการเจริญเติบโตของกำไรของบริษัทด้วย

หุ้นที่ถูกสำหรับ VI ก็คือหุ้นที่มีค่า PE หรือค่า PB ต่ำกว่าค่า PE หรือค่า PB เฉลี่ยของตลาดหรือมีค่า DP สูงกว่าค่า DPเฉลี่ยของตลาด VI ส่วนใหญ่มักจะดูค่า PE เป็นตัวหลักและดูค่า PB และDP เป็นตัวประกอบ ประเด็นสำคัญก็คือ ค่า E หรือกำไรนั้น จะนำมาใช้ได้ก็ต่อเมื่อกิจการมีความสม่ำเสมอของผลประกอบการเท่านั้น ส่วนบริษัทที่มีกำไรที่ไม่สม่ำเสมอนั้น จะต้องใช้กำไรเฉลี่ยในระยะ 3-4 ปีที่ผ่านมา หรือใช้กำไรในปีที่ต่ำที่สุดในช่วง 3-4 ปีมาแทนกำไรในปีปัจจุบัน และในเกือบทุกกรณี ค่าของ Market Cap. จะเป็นตัวที่ใช้ตรวจสอบว่ามูลค่าตลาดของกิจการนั้นสมเหตุสมผลหรือไม่ ซึ่งก็จะต้องมองดูขนาดของธุรกิจและศักยภาพของกิจการในอนาคตเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม การดู Market Cap. นั้นค่อนข้างเป็นศิลปที่ต้องอาศัยประสบการณ์มาก

ในกรณีที่หุ้นเป็นกิจการที่มีคุณภาพสูง ค่า PE หรือ PB ที่จะบอกว่าหุ้นถูกอาจจะเพิ่มสูงขึ้นได้จากค่าเฉลี่ยของตลาด โดยที่คุณสมบัติของกิจการที่มีคุณภาพสูงอาจจะแสดงได้โดยตัวเลขหรือลักษณะการ ดำเนินการของกิจการดังต่อไปนี้คือ 1) กิจการนั้นมี ROE หรือผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นสูงกว่าปกติ เช่นมากกว่า 20% ต่อปีอย่างต่อเนื่องยาวนาน 2) กิจการมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสูงกว่ากำไรทางบัญชีของบริษัท 3) บริษัทเป็น Dominant Firm หรือเป็นบริษัทที่มีขนาดใหญ่กว่าอันดับสองมากอย่างน้อยกว่า 2-3 เท่าขึ้นไป 4) บริษัทสามารถขยายงานได้โดยใช้เงินลงทุนน้อยมาก ข้อนี้จะพบมากในบริษัทที่ขายทรัพย์สินทางปัญญาหรือบริการที่ไม่ต้องมี อุปกรณ์หรือเครื่องจักรใหม่มาก 5) บริษัทสามารถปรับราคาขายสินค้าตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้ทันทีโดยไม่สูญเสีย ลูกค้าไป และสุดท้ายที่สำคัญก็คือ 6) บริษัทมีการเจริญเติบโตเร็ว อย่างน้อยเป็น 3 เท่าของการอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ

Premium หรือค่า PE ที่สูงขึ้นของกิจการที่มีคุณภาพสูงนั้น จะสูงขึ้นได้เท่าไรเป็นเรื่องที่บอกได้ยาก แต่ยิ่งบริษัทมีคุณภาพสูงขึ้นเนื่องจากมีคุณสมบัติที่ดีหลาย ๆ ข้อดังกล่าวข้างต้น ค่า PE ก็มักจะมีค่าสูงทบทวีขึ้นไปมากขึ้น ในบางช่วงโดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ภาวะเศรษฐกิจและตลาดหุ้นเอื้ออำนวย ค่า PE ของกิจการที่เป็น “Super Company” สามารถขึ้นไปสูงได้อย่างไม่น่าเชื่อและเกินกว่าราคาที่ Value Investor ส่วนใหญ่จะรับได้ อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไป ในกรณีที่กิจการเป็นบริษัทที่โตเร็ว VI บางคนก็จะยอมรับค่า PE ที่สูงขึ้นได้โดยมีเงื่อนไขว่า ค่า PE ที่สูงนั้นต้องไม่เกินอัตราการเจริญเติบโตของบริษัทโดยเฉลี่ยในระยะ 3-4 ปีข้างหน้า นั่นก็คือ ค่า PEG ต้องไม่มากกว่า 1 เท่า

การซื้อหุ้นของ VI นั้นเป็นเรื่องที่สำคัญมากกว่าการขายหุ้น สำหรับคนที่ลงทุนในกิจการที่ดีเลิศแบบ Super Company อย่าง วอเร็น บัฟเฟตต์นั้น เขาบอกว่าถ้าซื้อหุ้นถูกตัวแล้ว ไม่จำเป็นต้องขายหุ้นเลย อย่างไรก็ตาม เวลาที่ซื้อหุ้นของ VI ก็คือเมื่อเขาพบหุ้นที่มีมูลค่าที่แท้จริงสูงกว่าราคาหุ้นในตลาดมาก ตัวเลขชัดเจนนั้นขึ้นอยู่กับแต่ละคนและแต่ละหุ้นแต่โดยทั่วไปน่าจะไม่น้อย กว่า 20-30% และความแตกต่างนี้เรียกว่า Margin Of Safety ซึ่ง VI เชื่อว่าจะเป็นส่วนที่ “เผื่อ” เอาไว้ว่าถ้าเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดหรือมีอะไรผิดพลาด หุ้นที่ซื้อโดยมี Margin Of Safety สูงก็ยังคงรักษามูลค่าของมันไว้ได้ พูดง่าย ๆ ถ้าหุ้นตกลงไปจากราคาที่ซื้อ เราก็สามารถถือยาวและในที่สุดมันก็จะฟื้นตัวกลับมาได้

เวลาขายหุ้นสำหรับ VI นั้น ก็เช่นเดียวกับการซื้อหุ้น คือไม่ได้อิงกับภาวะเศรษฐกิจหรือตลาดหุ้น และโดยทั่วไป การถือหุ้นมักจะเป็นระยะเวลาค่อนข้างยาวแม้ว่านิยามของคำว่ายาวของ VI แต่ละคนอาจจะต่างกันมาก เวลาของการขายหุ้นของ VI นั้นไม่ได้กำหนดว่าจะเป็นเมื่อไรและจะขายเมื่อกำไรหรือขาดทุนเท่าไร แต่หลัก ๆ แล้วเขาจะขายในกรณีดังต่อไปนี้ 1) ตระหนักว่ากิจการหรือหุ้นที่ซื้อมานั้นตนเองวิเคราะห์ผิดพลาดเนื่องจาก ข้อมูลใหม่ที่ได้รับรู้มา 2) พื้นฐานของกิจการเปลี่ยนไปเนื่องมาจากเหตุผลต่าง ๆ ที่คาดไม่ถึง อย่างไรก็ตาม ข้อนี้ต้องระวังว่าไม่ใช่เรื่องที่เราเข้าใจผิดถึงพื้นฐานมาตั้งแต่แรก เพราะโดยทั่วไปพื้นฐานของกิจการนั้น มักเป็นเรื่องที่เปลี่ยนยาก ว่าที่จริง คำว่า “พื้นฐาน” ก็แปลว่า “เปลี่ยนยาก” อยู่แล้ว 3) ราคาหุ้นขึ้นไปเกินมูลค่าพื้นฐานแล้ว ซึ่งไม่ได้แปลว่าหุ้นขึ้นไปมากแล้ว เพราะการที่หุ้นขึ้นไปมากนั้นก็อาจจะไม่เกินพื้นฐานก็ได้ เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ มูลค่าพื้นฐานของกิจการก็อาจจะเพิ่มขึ้นด้วยทำให้ราคาไม่เกินพื้นฐานแม้ราคา หุ้นจะขึ้นไปมาก 4) มีหุ้นตัวอื่นที่น่าสนใจและมี Margin Of Safety สูงกว่ามากและเราไม่มีเงินสดเหลือ เราจึงต้องขายหุ้นตัวเดิมเพื่อนำเงินไปซื้อหุ้นตัวใหม่ 5) ภาวะเศรษฐกิจการเมืองและสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไปมากจนทำลายพื้นฐานของกิจการ นี่ไม่ใช่เรื่องที่เศรษฐกิจถดถอยไปบ้างหรือการเมือง “วุ่นวาย” แต่น่าจะเป็นเรื่องของวิกฤติเศรษฐกิจหรือเป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงระบบ เศรษฐกิจไปในแนวทางที่ไม่ใช่ระบบตลาดเสรี เป็นต้น

from http://portal.settrade.com/blog/nivate/2009/09/26/633


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น