ทฤษฎี VI (3) ดร นิเวศน์ เหมวชิรวรากรณ์
เรื่องของ EQ หรือความสามารถทางอารมณ์เป็นคุณสมบัติที่สำคัญของการเป็น VI ที่ดี ว่าที่จริง EQ นั้น น่าจะสำคัญกว่า IQ หรือความสามารถในการคิดวิเคราะห์ด้วยซ้ำ ประเด็นสำคัญของการลงทุนในตลาดหุ้นก็คือ เราต้องมีทัศนะคติที่ถูกต้อง มีอารมณ์ที่มั่นคง และมีความกล้าที่จะตัดสินใจ เฉพาะอย่างยิ่งก็คือ ในการลงทุนนั้น เราต้องกล้าในยามที่คนส่วนใหญ่ในตลาดกำลังกลัว และกลัวในยามที่นักลงทุนส่วนใหญ่กำลังฮึกเหิมในมุมมองของ VI นั้น ตลาดหุ้นเป็นเสมือนคนที่มีอารมณ์ “แปรปรวน” และทำการซื้อขายหุ้นในราคาที่บ่อยครั้งไม่มีเหตุผล เช่นถ้าวันนั้น “นายตลาด” มีอารมณ์ดีเป็นพิเศษ เขาก็จะเสนอซื้อหุ้นจากเราในราคาที่สูงลิ่วเกินมูลค่าของธุรกิจไปมาก แต่ในวันที่เขารู้สึกหดหู่ เขาก็พร้อมที่จะเสนอขายหุ้นให้เราในราคาที่ต่ำติดดินทั้ง ๆ ที่มันก็คือกิจการเดียวกับที่เขาเสนอซื้อในราคาสูงลิ่วจากเราในวันก่อน หน้าที่ของเราก็คือ “เอาเปรียบ” เขาเมื่อเขาเสนอโอกาสมาให้ แต่อย่าไป “ตามเขา”
ประเด็นเรื่องความเสี่ยงของการลงทุนในหลักการของ VI นั้น ถือเป็นเรื่องสำคัญมากที่สุดเรื่องหนึ่ง วอเร็น บัฟเฟตต์ ถึงกับพูดว่า กฏของการลงทุนข้อที่หนึ่งคือ อย่าขาดทุน และกฏการลงทุนข้อสองก็คือ ให้กลับไปอ่านข้อหนึ่ง นั่นก็คือ สำหรับ VI แล้ว การรักษาเงินต้นคือภารกิจสำคัญที่สุด มากกว่าผลตอบแทนที่อาจจะมากแต่มีความเสี่ยงว่าจะขาดทุน
ความเสี่ยงสำหรับ VI นั้น ไม่ใช่ความผันผวนของราคาหุ้น แต่เป็นเรื่องที่ราคาหุ้นที่ซื้อไว้จะ “ลดลงอย่างถาวร” นั่นแปลว่าถ้าซื้อหุ้นแล้วราคาหุ้นตกลงมาในระยะสั้น แบบนี้ไม่ใช่ความเสี่ยงถ้าเราวิเคราะห์แล้วพบว่ามูลค่าพื้นฐานยังสูงเหมือน เดิม ตรงกันข้าม กลับเป็นโอกาสในการซื้อเพิ่มขึ้น และความเสี่ยงในการซื้อหุ้นตัวนั้นกลับลดลงเพราะเรามี Margin Of Safety มากขึ้น
ในการควบคุมความเสี่ยงนั้น VI มีวิธีการหลัก ๆ ดังต่อไปนี้คือ 1) รู้จักธุรกิจที่จะลงทุนเป็นอย่างดี ความเสี่ยงนั้นคือการที่เรา “ไม่รู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่” 2) ลงทุนในสิ่งที่มี Margin Of Safety สูง 3) หลีกเลี่ยงการเก็งกำไร นั่นคือ อย่าลงทุนในกิจการที่ไม่ได้สร้างเงินให้กับผู้ที่ถือมัน เหตุผลก็คือ ความแน่นอนของผลตอบแทนจะมีน้อยและมีความเสี่ยงที่เงินต้นอาจจะลดลง ตัวอย่างเช่น ทอง หรือตราสารอนุพันธุ์ต่าง ๆ เป็นต้น 4) มีการ Diversify หรือกระจายความเสี่ยงของการถือครองทรัพย์สินอย่างเหมาะสม เช่น มีการถือพันธบัตร หุ้น เงินสด หรือทรัพย์สินอื่น รวมกันเป็นพอร์ตโฟลิโอในอัตราส่วนที่เหมาะสม เช่นเดียวกัน ในหลักทรัพย์แต่ละประเภทก็ต้องมีการกระจายความเสี่ยงโดยการถือหลาย ๆ ตัวด้วย เฉพาะอย่างยิ่งก็คือหุ้นนั้น เราควรถืออย่างน้อย 5-6 ตัวขึ้นไปในหลากหลายอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม อย่ากระจายการถือครองมากตัวเกินไป เพราะเราจะไม่สามารถวิเคราะห์และติดตามได้อย่างทั่วถึงและจะทำให้เราลงทุน ผิดพลาดได้
ประเด็นอื่น ๆ ที่ VI คำนึงถึงค่อนข้างมากเรื่องแรกก็คือ ผู้บริหารของกิจการที่เราจะลงทุน เราเน้นว่าจะต้องเป็นผู้ที่ซื่อสัตย์สุจริตและมีจรรยาบรรณซึ่งเป็นเรื่องที่ สำคัญกว่าฝีมือการบริหารงาน เรื่องต่อมาก็คือ เราอยากได้ผู้บริหารที่มองผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นทุกคนเป็นเรื่องที่สำคัญ และผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นนั้นก็คือการที่เราจะได้ปันผลในอัตราที่ยุติธรรม และเหมาะสม นอกจากนั้นเราอยากให้หุ้นมีราคาเพิ่มขึ้นเพื่อว่าถ้าเราจะขายเราก็จะได้กำไร หรือผลตอบแทนที่ดี ดังนั้น ผู้บริหารที่พูดว่าราคาหุ้นไม่เกี่ยวกับเขา จึงไม่ใช่ผู้บริหารที่ดีในสายตาของ VI
VI นั้นต้องการให้ผู้บริหารดูแลราคาหุ้นแต่ไม่ใช่เข้าไปซื้อขายหุ้นทำราคาหรือ ให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ผู้บริหารที่ดีนั้นจะต้องสร้างสิ่งที่มีคุณค่าให้กับบริษัทที่จะทำให้ราคา หุ้นเพิ่มขึ้น โดยคำว่าคุณค่านั้น รวมถึงผลประกอบการ โครงสร้างทางการเงินและความแข็งแกร่งของตัวกิจการ การจัดสรรกำไรและเงินสดคืนให้กับผู้ถือหุ้นอย่างเหมาะสม ประเด็นที่เป็นปัญหาบ่อย ๆ ก็คือ ผู้บริหารบางคนที่บริหารงานแล้วบริษัทมีกำไรพอใช้ได้ มีกระแสเงินสดดี แต่ราคาหุ้นกลับไม่ไปไหนและราคาหุ้นก็ค่อนข้างต่ำมาก เขาก็ไม่ทำอะไรเพราะคิดว่าเรื่องราคาหุ้นไม่ใช่เรื่องของเขา แต่ข้อเท็จจริงก็คือ ที่ราคาหุ้นต่ำอาจจะเป็นเพราะว่าเขาไม่ยอมจัดสรรกำไรให้กับผู้ถือหุ้นอย่าง ที่ควรเป็นต่างหาก
ประเด็น อื่น ๆ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับ VI ก็คือเรื่องความผิดพลาดของ VI สิ่งที่ต้องระวังมากก็คือ การซื้อหุ้นหรือบริษัทที่มีคุณภาพต่ำในยามที่ธุรกิจดีและในเวลาที่ราคาหุ้น ปรับตัวขึ้นไปสูง เพราะเมื่อธุรกิจเริ่มแย่ลงตามภาวะ ราคาหุ้นจะตกลงมามาก อีกเรื่องหนึ่งซึ่งคล้ายคลึงกันก็คือ การเข้าใจผิดว่ากำไรดีในปัจจุบันนั้นเป็นเรื่องเดียวกับ “ความสามารถในการทำกำไร” ซึ่งเป็นเรื่องที่คงทนและเป็นเรื่องระยะยาวกว่ามาก ดังนั้น เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงความผิดพลาดเหล่านี้ VI จะต้องมองผลประกอบการของบริษัทย้อนหลังหลายปีและต้องมองระยะยาวไปข้างหน้า หลายปีเช่นกัน
สุด ท้าย ก่อนที่จะจบ “ทฤษฎี VI” ฉบับย่อที่สุดก็คือ VI นั้นเป็นเรื่องของความคิดปรัชญาและการกระทำ และเป็นเรื่องของคนที่ทำ นั่นก็คือ คนที่ยึดปรัชญาความคิดนั้นเราเรียกเขาว่า Value Investor มันไม่ใช่สิ่งของ หลักทรัพย์ หรือตัวหุ้น เพราะสิ่งเหล่านั้น สามารถเปลี่ยนแปลงไปได้เรื่อย ๆ หุ้นตัวหนึ่งบางช่วงอาจจะเป็นหุ้นปั่นแต่บางช่วงอาจเป็นหุ้นที่คุ้มค่า สำหรับการลงทุนของ VI ตรงกันข้าม หุ้นของกิจการที่ดีสุดยอดบ่อยครั้งก็ไม่เข้าข่ายที่ VI จะซื้อลงทุนเพราะมันอาจจะมีราคาสูงเกินไปจนไม่คุ้มที่จะลงทุน ประเด็นก็คือ การที่จะเป็น VI นั้น สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ เราต้องคิดอย่างมีเหตุผลและเป็นอิสระจาก “อารมณ์ของฝูงชน” เสร็จแล้วก็ต้องมีความกล้าที่จะลงมือทำ หรือมีใจหนักแน่นพอที่จะอยู่เฉย ๆ และนั่นทำให้ VI เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ที่ต้องใช้ทั้งการศึกษาและประสบการณ์ในการลงทุนจริง
http://portal.settrade.com/blog/nivate/2009/10/03/638
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น