Pages

Pages

08 พฤศจิกายน 2552

โมเดลธุรกิจ...จากใจ โดย หนูดี วนิษา เรซ

โมเดลธุรกิจ...จากใจ โดย หนูดี วนิษา เรซ

เวลาคุยกับนักธุรกิจหรือคนที่ทำอาชีพที่ดูเคร่งเครียดเรื่องตัว เลข ยอดขาย การปิดบัญชี ใครก็มักหันมาหาคนอย่างหนูดีแล้วบอกว่า “อยากป็นครูบ้างจัง

คนจำนวนมากก็มักคิดว่าธุรกิจการศึกษา เป็นเรื่องสบาย เบา ที่เข้ามาเพื่อพักผ่อนสมองจากโลกธุรกิจภาคอื่นที่แข่งขันกันแบบเอาเป็นเอาตาย

วันนี้ หนูดีจะขอพาทุกท่านเข้ามาสู่โลกการศึกษาของ มนุษย์ตัวเล็กที่มองจากภายนอกแล้วดูเหมือนว่าเขาเอาแต่เล่นกันทั้งวัน แถมยังได้นอนหลับหลังอาหารกลางวันอีก คนเป็นครูก็แสนสบายเพราะพอเด็กหลับเราก็ได้พัก ได้คุยกันเล่น รอจนเด็กตื่น ก็ค่อยแต่งตัวแล้วส่งกลับบ้าน

ตรงกันข้าม โลกของชาวโรงเรียนไม่ได้ง่ายเช่นนั้นเลยค่ะ ค่าจ้างของพวกเรานอกเหนือจากเงินเดือนครูก็พอใช้ได้เลยถ้าบริหารเป็น เรายังได้โบนัสเพิ่มเติมอีกด้วยคือ แก้มหอมๆ ตัวอ้วนๆน่าฟัด และคำหวานว่า “รักครูที่สุดในโลกเล้ยยย”

นี่ยังไม่รวมถึงความรู้สึกที่ว่า พวกเรากำลังมีส่วนร่วมในการสร้างโลกยุคต่อไป ที่เงินเท่าไหนก็จ่ายราคานี้ได้ยาก

เวลาเห็นคนเข้ามาเป็น “นักธุรกิจการศึกษา” ที่เอาคำว่าธุรกิจนำ หนูดีก็มักจะรู้สึกเสียใจที่มองเห็นค่าการศึกษาเทียบเท่ากับเงิน แต่พอเห็น “นักการศึกษา” ที่ไม่เป็นธุรกิจแล้ว ทำสถานศึกษาดีที่ไม่ทำกำไร จนในที่สุดเขาแบกรับภาวะตัวแดงต่อเนื่องไม่ไหวต้องยุบกิจการไปพร้อมหัวใจที่ ซึมเศร้าแล้ว หนูดีก็เสียดายไปอีกแบบ

ในโลกการศึกษานั้น ถ้าเรามีนักวิชาการที่ดีบวกกับความเป็นนักธุรกิจที่เก่งกาจ เราก็จะได้โรงเรียนที่ดีและอยู่ได้คงทนนาน สร้างสรรค์ประชากรเก่งได้รุ่นแล้วรุ่นเล่า

หนูดีมีรุ่นพี่ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดท่านหนึ่ง เรียนจบด้านการศึกษาและร่วมหุ้นกับเพื่อนที่จบด้านการศึกษาเช่น กันจากออกซ์ฟอร์ด เปิดกิจการ ทำซอฟท์แวร์สำหรับให้ครูประถมใช้บันทึกคะแนนเด็กในห้องเรียน ตอนแรกใช้วิธีเขียนขอทุนจากองค์กรใหญ่มาพัฒนาซอฟท์แวร์เพื่อให้โรงเรียนใช้ ฟรี ขอได้บ้างไม่ได้บ้าง ต้องใช้โรงรถเป็นออฟฟิศ

ผ่านไปสองปีในที่สุดทั้งสองคนบอกว่า เราคงต้องเลิกโมเดลธุรกิจแบบไม่แสวงหากำไรแบบนี้แล้ว และเริ่มต้นทำเป็น “ธุรกิจปกติ” แบบจริงจังเลยดีกว่า และแม้ทั้งสองคนจะเริ่มต้นด้วยความ “รังเกียจ” การเป็นนักธุรกิจเพราะ ยังยึดติดกับความคิดที่ว่า “ครูดีต้องจน” แต่เขาก็อยากให้ซอฟท์แวร์ของตัวเองพัฒนาและช่วยครูได้จำนวนมากขึ้น จึงต้องก้าวข้ามความเชื่อเดิมของตัวเองให้ได้

เชื่อไหมคะว่า พอเขาเขียนโมเดลธุรกิจใหม่ และตั้งราคาขายผลิตภัณฑ์ของตัวเองในราคาตลาดที่เป็นกลางและยุติธรรม (ติดจะถูกเสียด้วยซ้ำ) และเริ่มทำการตลาดอย่างจริงจัง ภายในปีแรกเท่านั้นเขาก็มีเงินมากพอที่จะเช่าออฟฟิศทั้งชั้นกลางเมือง นิวยอร์คและเพิ่มจำนวนพนักงานจากสิบสองคนเป็นเกือบสองร้อยคน เติบโตกันแบบก้าวกระโดดจนเจ้าของสองคนต้องปรับตัวกันพอควร

วันที่ได้เจอรุ่นพี่มาพูดถึงประสบการณ์นี้ที่ฮาร์วาร์ดก่อนหนูดีเรียนจบ ทั้งสองคนยังแซวกันเล่นว่า นี่ยังไม่ชินกับการเปลี่ยนจากยีนส์และเป้มาเป็นชุดสูทและกระเป๋าแลปทอปหนัง สีดำเท่าไรเลย ที่น่าทึ่งก็คือ ยิ่งเขาขายได้ดีเท่าไร เขาก็ยิ่งช่วยเหลือครูและเด็กได้จำนวนมากเท่านั้น และปริมาณเงินที่เขาทำได้ ก็แค่เป็นตัวแปรตามของปริมาณคนที่เขาช่วยได้เท่านั้นเอง

ทุกวันนี้รุ่นพี่ทั้งสองคงเลิกรู้สึกผิดที่ “รวย” แล้วค่ะ และคงเปลี่ยนความคิดไปเป็นว่า ครูดีๆ ก็ไม่ต้องจนเสมอไป ความจนไม่ใช่มาตรวัดว่าคุณเป็นครูดีแค่ไหนเสียหน่อย

หนูดีว่า ธุรกิจสายนี้เป็นธุรกิจสายพิเศษ เพราะโมเดลทางธุรกิจนั้น ต้องตั้งอยู่บนใจที่คิดจะช่วย คิดที่จะรัก คิดจะพัฒนาให้ประชากรรุ่นต่อไปเติบโตได้อย่างมีคุณภาพที่สุด แล้วครูที่เดินเข้ามาด้วยใจแบบนี้ และมีทักษะความเป็นนักธุรกิจที่ มีคุณภาพเพิ่มขึ้นอีกเพียงนิดเดียว เขาก็จะเปลี่ยนแปลงโลกได้โดยที่เขาจะรวยทั้งเรื่องเงิน และรวยซ้ำซ้อน เป็นความรู้สึกอิ่มอุ่นในใจว่า

เขาได้ทำในสิ่งที่มีความหมายอย่างแท้จริง

from http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/life-style/health/20091031/84131/%E0%B9%82%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%A5%E0%B8%98%E0%B8%B8%E0%B8%A3%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%88...%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B9%83%E0%B8%88.html


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น