ความสุขไม่ใช่ของต้องหา วนิษา เรซ
ผู้บริหารบริษัท อัจฉริยะสร้างได้ จำกัด ยอมรับว่า มีหลายเรื่องที่เธอไม่รู้ ภายนอกที่ถูกมองว่าเป็นผู้หญิงฉลาด เป็นเพราะเธอ "รู้ดี" ในสาขาที่เรียนเท่านั้น แต่ไม่ได้ฉลาดไปกว่าคนอื่น
"หนูดีว่า ทุกคนในโลกควรลงทุนอะไรอย่างหนึ่งให้ตัวเอง ลงทุนทำตัวให้เก่งที่สุดในสาขาที่ตัวเองเลือก ทันทีที่คุณเก่งที่สุดเรื่องหนึ่ง คุณจะกล้าพอที่จะโง่ในทุกเรื่องที่เหลือในโลก ตรงกันข้ามมันเปิดโอกาสให้เราเรียนรู้อะไรเยอะมาก"
ความโง่ของหนูดีเธอหมายถึง ความรู้ในเรื่องใหม่เรื่องหนึ่งเท่ากับ "ศูนย์"
เธอยกตัวอย่าง เมื่อไม่นานมานี้ไปเรียนเรื่องแฟชั่นที่กรุงปารีส เมืองหลวงของแฟชั่นโลก เธอบอกว่า ความรู้เรื่องแฟชั่นของเธอเท่ากับ "ศูนย์" และบอกกับอาจารย์ตรงๆ ว่าไม่มีความรู้เรื่องแฟชั่น
"ถ้าหนูดีไปเรียน หรือไปสถานที่ใหม่ และไปเจอในสิ่งที่ตัวเองไม่รู้ หนูดีไม่กลัวที่จะถามว่า 'ขอโทษนะคะ หนูดีไม่รู้เรื่องนี้เลย มันทำยังไง มันเป็นยังไง อธิบายให้หนูดีฟังหน่อยค่ะ'
ปกติ ถ้าอยู่เมืองไทยเธอจะได้รับการอธิบายให้เข้าใจในสิ่งที่ไม่รู้ แต่ที่นี่คือ ปารีสแห่งฝรั่งเศส เมืองแฟชั่นที่ใครจะมาทำตาแป๋วอินโนเซ้นต์บอกไม่รู้
เรื่องไม่ได้เด็ดขาด การเดินทางไปเที่ยวกึ่งแสวงหาประสบการณ์ใหม่ออกจาก 'comfort zone' ที่ปารีสเมื่อไม่นานมานี้เลยได้ความรู้ใหม่เพิ่มมาอีกอย่าง
"เราอยู่เมืองไทยเราก็คิดแบบผู้หญิงไทย ไปอยู่อเมริกาก็พูดคิดอย่างคนอเมริกัน คุณพ่อเป็นอเมริกัน แต่สองประเทศนี้ไม่ใช่ทั้งโลก มันแค่สอง ไปอยู่ฝรั่งเศสหนึ่งเดือนได้พิสูจน์ให้เห็นว่า เราแทบจะไม่พร้อมเลยสำหรับเมืองหลวงแห่งแฟชั่นโลก" หนูดีพูดเสียงเน้นหนักแน่น
วันแรกที่วนิษา เรซ เข้าคลาสเรียนแฟชั่น เธอต้องตะลึงกับเพื่อนร่วมชั้นเรียนที่แต่งตัวมาอย่างเต็มที่ ขณะที่หนูดีสวมเสื้อยืดสีขาวกับกางเกงยีนส์ และทุกคนล้วนมีความรู้แฟชั่นติดพกมากันทั้งนั้น
"เราก็งงว่า ทำไมไม่มีใครพูดกับเราเลย เพื่อนไม่ค่อยพูด ครูก็ไม่คุยกับเรา เลยไปถามเพื่อนที่อยู่ปารีสมานาน เพื่อนบอกว่า อยู่ปารีส หนึ่งเราต้องแต่งตัว สองเราต้องบอกว่าเรารู้อะไร พอวันรุ่งขึ้นเราก็แต่งตัวไปเต็มที่ เพื่อนร่วมชั้นก็เริ่มมาพูดด้วย ครูก็พูดด้วย
วิธีการคิดของเขาคือ คนที่ไม่แต่งตัวคือคนไม่ให้เกียรติตัวเอง ถ้าคุณไม่ให้เกียรติตัวเอง ก็จะไม่มีใครให้เกียรติคุณ คุณไม่พูดว่าคุณเก่งอะไรมา คนอื่นจะรู้ได้ยังไงว่าคุณเก่งอะไร หนูดีบอกว่า มันเป็นวิธีคิดที่เราไม่ชินเลย
ถึงจะบอกว่าให้ลงทุนสร้างความเก่งที่สุดในเรื่องหนึ่ง เธอยังแนะว่า ควรเปิดโอกาสให้ตัวเองได้ลองทำอะไรหลายอย่าง เพราะมันเป็นหนึ่งในกระบวนการที่ทำให้เรารู้จักตัวเองมากขึ้น ถ้าไม่ได้ลองอะไรหลายอย่างจะไม่มีวันรู้อะไรเพิ่มขึ้น
"หนูดีมักบอกผู้ปกครองว่าให้ลูกไปลองหลายเวทีนะคะ และดูว่าอันไหนเหมาะกับเขามากที่สุด เขาอาจไม่ชอบทุกอัน หนูดีก็ไม่ชอบทุกอัน หนูดีเกลียดเปียโน แต่หนูดีก็ต้องเรียน เพราะอยู่ในเส้นทางที่คุณแม่วางไว้ หนูดีไปเรียนเทควันโดก็ชอบ แต่เหนื่อยหนูดีก็ไม่ไปอีก คุณแม่ให้ไปเรียนการละคร หนูดีก็ไม่ชอบ แต่ดูสิ มันมีประโยชน์ต่อชีวิตปัจจุบันมาก"
เธอบอกว่า เรื่องที่เธอเกลียดที่สุดอีกเรื่องหนึ่งคือ การพูดต่อหน้าที่ชุมชน เรียกว่าเกลียดเข้ากระดูกดำ แต่ยอมรับด้วยเสียงเริงร่าว่า ทุกวันนี้มันคือเครื่องมือหาเลี้ยงชีพของเธอ และจะไม่มีวันรู้เลยถ้าไม่ได้ลอง
หลายเรื่องถึงจะไม่ชอบ แต่เธอบอกว่าไม่เคยต่อต้าน เพราะโดยนิสัยไม่ใช่เด็กต่อต้านอยู่แล้ว ยิ่งกว่านั้น คุณแม่มีวิธีทำให้ไม่ต่อต้าน คือมีเงื่อนไขที่มีเหตุผลว่า ถ้าเรียนแล้วไม่ชอบก็ไม่ต้องเรียนต่อ แต่ขอให้ลองทุกอย่างในโลกนี้
"คุณแม่บอกว่า ชีวิตหนู หนูจะปฏิเสธอะไรสักอย่างหนูต้องรู้ว่าหนูปฏิเสธอะไรอยู่" หนูดีเล่าสิ่งดีที่ได้จากแม่
นิสัยเปิดรับโอกาสกลายเป็นส่วนหนึ่งของตัวหนูดี และเธอนำมาใช้กับชีวิตประจำวันเวลารับงาน ทำให้เธอต้องดูรายละเอียดทั้งหมดก่อนจะตอบรับหรือปฏิเสธ ไม่ใช่แค่ดูชื่อเรื่อง ดูองค์กร ก่อนกล่าวปฏิเสธหรือตกลง เธอจำเป็นต้องรู้จักรายละเอียดทุกสิ่งทุกอย่างที่เข้ามาในชีวิตก่อนปฏิเสธ มัน
ในฐานะนักวิชาการด้านสมองและอัจฉริยภาพ เธอมองว่าเป็นเรื่องยากมาก ที่จะบอกว่าใครเป็นอัจฉริยะหรือไม่ใช่ เนื่องจากเกณฑ์ตัดสินดังกล่าวยังยืนอยู่กับสถานการณ์ด้วย สำหรับเธอมองว่า สมองมนุษย์เป็นแค่เครื่องมือที่ใช้พยายามจัดการกับสภาพแวดล้อมให้มีชีวิตรอด ได้ดีที่สุด ได้นานที่สุด
" หนูดีไม่ชอบจำกัดความว่าอัจฉริยะคืออะไร ถึงแม้หนูดีจะ เขียนหนังสืออัจฉริยะสร้างได้ ถ้ามองภาพกว้างโลกนี้มีชาติพันธุ์อยู่มากมาย ทุกสปีชีส์ก็มีสมองของตัวเอง แต่บังเอิญสมองมนุษย์มีความยืดหยุ่นสูงมาก และมีศักยภาพในการแก้ปัญหาเยอะมาก มันก็เลยทำให้เราพยายามคิดจัดกลุ่มว่า สปีชีส์ของมนุษย์มีกลุ่มที่ฉลาดที่สุด ฉลาดปานกลาง ฉลาดน้อยที่สุด"
ตัวเธอเองกลับมองความฉลาด ปัญญา และอัจฉริยะในทางสร้างสรรค์ต่อมนุษยชาติมากกว่า การสร้างอัจฉริยะเฉพาะตนเพียงคนหนึ่ง หนึ่งหน่วยหนึ่ง
"หนูดีว่า ต้องดูภาพรวมทั้งหมดว่า ความฉลาดมวลรวมของโลกมันทำให้โลกนี้ดีขึ้นไหม น่าอยู่ขึ้นไหม อารยธรรมของเราจะอยู่ต่อไปนานไหม จะมีคนฉลาดเพียงหนึ่งคน หรือสิบคนก็ไม่ช่วยแต่ต้องเป็นมวลรวมทั้งหมดที่จะพาให้องค์กรใหญ่ขับเคลื่อน ไปได้"
เธอบอกว่า โชคดีมีครูหลายท่านที่เวลาสอนไม่ได้มองที่ความฉลาดของลูกศิษย์ในห้อง หรือคนแค่คนเดียว ยกตัวอย่าง เช่น ดร.โฮเวิร์ด การ์เนอร์ ที่เขียนหนังสือเรื่องความฉลาดห้าประการ ที่กล่าวว่า ความฉลาดประการสุดท้ายคือ Ethical Mind เป็นการรับผิดชอบต่อสังคมองค์รวม การ์เนอร์เห็นว่า สถานการณ์ปัจจุบัน ฉลาดคนเดียว หรือองค์กรเดียวไม่พอแล้ว สังคมจะไปไม่รอด
เธอเล่าว่า มีโอกาสได้ฟังบรรยายของอาจารย์อีกท่านหนึ่ง ชื่อ จาเร็ด ไดมอนด์ เจ้าของหนังสือเชิงมานุษยวิทยาหลายเล่ม หนึ่งในนั้น ได้รางวัลพูลิเซอร์ชื่อ Guns, Germs and Steel
หนังสือเล่มดังกล่าว สืบสาวถึงปัจจัยที่ช่วยให้คนผิวขาวถึงครองโลก โดยสืบสวนข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์มนุษยชาติจนพบว่า คนขาวไม่ได้ฉลาดกว่าคนเอเชีย หรือคนชาติอื่น แต่คนขาวไปอยู่ในจุดที่เป็นแหล่งกำเนิดเหล็ก และไปอยู่ในจุดที่เอาสัตว์มาเลี้ยงในบ้านเลยติดเชื้อโรคจากสัตว์ทำให้มีภูมิ ต้านทานขึ้นมา สุดท้าย คนขาวเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรคได้ดีที่สุดโดยไม่รู้ตัว
"ต่อมา คนขาวจากยุโรปจะไปยึดทวีปอเมริกา ปรากฏว่าคนพื้นเมืองที่มาต่อสู้กับคนขาวเกิดติดเชื้อโรคตายเกือบ 90% เหลืออยู่แค่ 10%ก็ไม่มีจิตใจสู้แล้ว เขาเลยบอกว่าคนขาวไม่ได้ฉลาดที่สุด แต่คนขาวโอกาสดีกว่ามีปืน มีเหล็กเอามาทำปืนได้ "
หนูดียัง ได้อ่านหนังสือเล่มล่าสุดของไดมอนด์ที่ชื่อว่า Collapse เป็นเรื่องของการล่มสลายของอารยธรรมต่างๆ โดยเล่าถึงสาเหตุของการล่มสลายว่าเป็นเพราะมนุษย์ในสังคมและคิดว่าตนเองฉลาด ที่สุด แต่กลับทำในสิ่งที่ทำร้ายตัวเองมากที่สุดภายใต้ความคิดว่าตนเองฉลาด
หนังสือเล่มดังกล่าว ยังบอกว่าอารยธรรมมนุษย์ปัจจุบันก็จะล่มเพราะอย่างนี้ เพราะเราคิดว่า เราฉลาดมาก แต่ความฉลาดของเราไม่ใช่ความฉลาดมวลรวม มันเป็นความฉลาดของสังคมหนึ่ง องค์กรหนึ่ง คนรวยที่สุดรอด
"ความคิดของไดมอนด์เชื่อว่า อารยธรรมโลกปัจจุบันล่มสลายแน่ในอีก 100-200 ปีข้างหน้า เพราะความฉลาดของคนปัจจุบันเป็นความฉลาดเฉพาะตัว ตัวเขารอด แต่สังคมไม่รอด ในอดีตเป็นอย่างนี้หมด ถ้าเราเข้าไปดูในแต่ละอารยธรรมไม่ว่าจะเป็นอินคา อีสเตอร์ไอสแลนด์ ล่มเพราะอย่างนี้ ล่ม เพราะคนรวยรอดแต่คนในสังคมทั้งหมดไม่รอด เพราะฉะนั้นถ้ามันไม่ใช่ความฉลาดมวลรวม สังคมก็จะล่มสลาย" หนูดีย่อหนังสือให้ฟัง
หนังสือ Collapse ของไดมอนด์มองว่า ทุกอารยธรรมมีจุดที่สามารถย้อนกลับไปแก้ไขทุกสิ่งทุกอย่างได้ กระนั้น มีจุดหนึ่งที่เป็นเส้นตาย ที่หากก้าวข้ามไปแล้วทุกอย่างมันจะดำเนินไปถึงจุดอวสาน จะย้อนกลับไปแก้ไขไม่ได้ และสรุปว่า สังคมมนุษย์ก้าวผ่านเส้นนี้ไปแล้ว เขาคิดว่าในเด็กในอีกสองรุ่นต่อไปต้องเห็น ได้อยู่ และเป็นพยานต่อการล่มสลาย
นี่คือความเชื่อของเขา ถึงจะมองโลกลบสุดขั้ว แต่ก็ยังไม่สิ้นหวังเสียทีเดียว เพราะไดมอนด์เชื่อว่า มีอยู่ 5-6 วิธีที่ทำได้เพื่อหยุดกระบวนการนี้และย้อนกลับไปหยุดจุดจบอารยธรรมได้ ทว่า ใน 5-6 วิธีการดังกล่าว ทุกคนต้องร่วมมือกัน ทุกคนทุกสังคมในโลกต้องร่วมมือกัน ผู้นำทุกประเทศต้องคุยต้องประชุมกัน และต้องทำให้ประชาชนของตนเองทุกคนต้องร่วมมือกันเพื่อแก้ปัญหานี้
"พอเรามีโอกาสได้รับรู้ข้อมูลพวกนี้ เราก็มานั่งคิดว่า อืม... ในชั่วชีวิตของเรา เรามองตัวเองเหมือนกับนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวโลกคงไม่อยู่จนถึงจุดจบก็ได้ แต่ระหว่างนี้เราทำอะไรได้บ้างที่ช่วย อย่างน้อยถอยกระบวนการนี้กลับไปอีกนิด หรืออย่างน้อยถ้ามันต้องถึงจุดนั้นจริง
หนูดีมี อาจารย์ที่สอนปฏิบัติธรรมแทบทุกคนเชื่อว่า มันไม่ทันแล้วเหมือนกัน ท่านเลยสอนให้เราเตรียมใจ ทำตัวให้ดีที่สุด เตรียมใจ ถ้ามันถึงจุดที่เราไม่มีอาหารกิน หรือถึงจุดที่ทุกคนในสังคมแย่งชิงกัน เราเอาใจให้รอด ถ้าจะตายก็ให้ตายอย่างใจสงบ
มันก็ดีนะคะ เพราะมันทำให้เราไม่ยึดติดในคำจำกัดความใดๆ มากเกินไป และมีความสุขให้มากที่สุด ทำให้ดีที่สุด ทุกข์ให้น้อยที่สุด อะไรพวกนี้แหละคะ แม้จะยอมรับ และฟังอย่างปลงอนิจจัง แต่เนื่องจากเธอถูกสอนมาให้กลับมามองพื้นฐานความจริง ทำให้บางครั้งเธอแย้งกับแนวคิดที่ให้แสวงหาความสุขอยู่ตลอดเวลา เธอเล่าว่า จำคำพูดหนึ่งของอาจารย์ที่สอน Positive Phychology ที่บอกว่า "คนที่คาดหวังจะมีความสุขอยู่ตลอดเวลา จะเป็นคนที่มีความทุกข์มากในที่สุด"
"อาจารย์บอกเลยคะว่า คุณไม่สามารถมีความสุขอยู่ตลอดเวลา เพราะมันเป็นการใช้ชีวิตอยู่บนพื้นฐานที่ไม่เป็นจริง พอความจริงเข้ามากระทบเดี๋ยวก็ทุกข์ ขับรถไปรถก็ติด มีปัญหานู่น นี่ นั่น คุณก็จะทุกข์เป็นสองเท่า หากเข้าใจเสียว่า การพบกับความทุกข์ หรือผิดหวังเป็นเรื่องปกติ พอเข้าใจว่า ทุกข์ก็ปกติ สุขก็ปกติ ชีวิตก็จะไม่สุดโต่งไปทางใดทางหนึ่ง หนูดีชอบวิธีคิดแบบนี้มากกว่า"
เธอบอกว่า หากกลัวความทุกข์น้อยลงคนเราจะมีความสุขมากขึ้น ตัวเธอเองนึกอยู่เสมอว่า ชีวิตคนมันมีคอขวดอยู่ พอเจอคอขวดชีวิตเริ่มตัน เธอเองยอมรับว่าชีวิตเธอก็มีคอขวดเหมือนกัน เป็นเพราะตลอดชีวิตมีคนบอกให้หาความสุข แต่มันไม่ใช่คำตอบสำหรับเธอ
หนูดียก คำสอนของอาจารย์ ติช นัท ฮันห์ ที่สอนว่า A path leading to non fear กล่าวคือ สิ่งที่มนุษย์เรากลัวที่สุดคือ ความทุกข์ หากกล้าเดินไปเผชิญหน้ากับความทุกข์ และรับมือกับความทุกข์ได้ ความสุขมันมาเอง ความสุขไม่ใช่ของต้องหา
"ชีวิตนี้ถ้าไม่กลัวความทุกข์ มันมีอะไรอีกให้กลัว มันไม่มีอะไรให้กลัวเลย" หนูดี เจ้าของผลงานอัจฉริยะสร้างสุขว่า
from http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/life-style/health/20090928/78851/%E0%B8%A7%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%A9%E0%B8%B2-%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%8B-:-%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%82%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B9%83%E0%B8%8A%E0%B9%88%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%95%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%AB%E0%B8%B2.html
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น