“วอร์เรน บัฟเฟตต์ คนเล่นหุ้นที่รวยที่สุดในโลก” สำหรับคอลัมน์ มองบุคคลโลก หนังสือพิมพ์โพสต์ ทูเดย์
ผมมองว่าสังคมโลกยุคปัจจุบันเราพบว่า หากใครก็ตามที่ดำเนินธุรกิจอยู่และต้องการระดมทุนเพื่อนำมาขยายธุรกิจ ตลาดหุ้นเป็นเสมือนขุมทรัพย์ที่นักธุรกิจต้องการ ตามการเติบโตและพัฒนาของโลกอย่างไร้ขอบเขต จนทำให้หลาย ๆ ประเทศมีขนาดของตลาดหุ้นเท่ากับขนาดของเศรษฐกิจของประเทศ มีเงินหมุนเวียนจำนวนมหาศาลทุกวัน เมื่อเราดูข่าวไม่ว่าจะผ่านสื่อใด ๆ จะต้องมีการนำเสนอถึงความเป็นไปของตลาดหุ้นไปพร้อม ๆ กันจนสามารถถือได้ว่าตลาดหุ้นเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันไปโดยปริยาย และกลายเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจโลกที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้เลย ผมมองว่าตลาดหุ้นเป็นเสมือนบ่อนการพนันที่ถูกกฎหมายไปและได้รับการยอมรับ อย่างสูง เพราะมีหลายต่อหลายคนกลายเป็นมหาเศรษฐีจากการลงทุนในตลาดหุ้น ในขณะเดียวกันก็มีมหาเศรษฐีหลาย ๆ คน ที่เดินออกมาจากตลาดหุ้นในฐานะยาจก มีคนจำนวนมากมีชีวิตอยู่กับตลาดหุ้นจนลืมทุกสิ่งทุกอย่าง และอยู่ในตลาดหุ้นทั้งที่รู้ว่าบางครั้งมันเป็นเหมือนสวรรค์และเหวนรกในเวลา เดียวกันสิ่งนี้เป็นสัจธรรม
สำหรับผมก็เหมือนคนเล่นหุ้นทั่วไป เพราะโดยส่วนตัวมีหุ้นของบมจ. อมตะในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยผมเก็บหุ้นของตัวเองไว้ ไม่เคยขายหุ้นของตัวเองออกไปเลยแม้แต่หุ้นหนี่ง บางช่วงที่ผมมีกำไรจากการทำธุรกิจผมกลับนำเงินนั้นมาซื้อหุ้นของอมตะเพิ่ม ขึ้นเสียอีก ปัจจุบันนี้ผมมั่นใจจนสามารถบอกกับคนอื่นได้ว่า ผมไม่เคยขายหุ้นอมตะออกจากบัญชีของผมเลย เพราะผมไม่ใช่คนเล่นหุ้น เป็นแต่เพียงคนลงทุนในตลาดหุ้นเท่านั้น เป็นเรื่องบังเอิญมากเมื่อผมมาได้ทราบวิธีการของวอร์เรน บัฟเฟตต์ที่เขาลงุทนนั้นช่างมีความคล้ายคลึงกับหลักการ วิธีทำของผมเพราะเขาเป็นนักลงทุนที่มีหลักการ ซึ่งแนวทางการลงทุนที่ว่านี้ผมมองว่า
อันที่จริงแล้วก็ไม่ใช่หลักการที่ยากนัก เพียงแต่เรามองดูผู้บริหารองค์กรนั้น ๆ ว่าบริหารงานอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรมและซื้อสัตย์ดีพอหรือไม่ และองค์กรนั้นจะต้องมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และเป็นธุรกิจที่มีความต้องการของตลาดสูง ไม่ใช่ธุรกิจที่ซับซ้อนเข้าใจยาก หรือหวือหวาอย่างธุรกิจสินค้าไฮเทค การลงทุนสำหรับหุ้นตัวนี้ จะเป็นเหมือนการลงทุนระยะยาว เพราะลักษณะนี้เป็นการลงทุนอย่างชญฉลาด เพราะเป็นการพิจารณาจากตัวหุ้นโดยตรง
วอร์เรน บัฟเฟตต์เป็นผู้หนึ่งที่ใช้วิธีการลงทุนแบบที่ผมกล่าวมาข้างต้น และด้วยระยะเวลา 49 ปีนับจากวันแรกที่เขาเริ่มเล่นหุ้น จนถึงปัจจุบันนี้ เขาได้กลายมาเป็นเศรษฐีที่ร่ำรวยจากการเล่นหุ้นมากที่สุดของโลกได้ เป็นเพราะเขามีหลักการในการเล่นหุ้นอย่างเป็นขั้นตอน มีเหตุมีผล และด้วยการตัดสินใจที่ดีของตัวเขาเอง ด้วยวัย 76 ปีในปัจจุบัน ชายคนนี้ได้นำทรัพย์สินกว่า 3,700 ล้านเหรียญของเขาบริจาคให้กับสาธารณะกุศล เพราะเขามั่นใจว่าเงินที่เขาบริจาคนี้ จะเกิดประโยชน์มากกว่าการที่เขาจะมอบให้กับลูก ๆ ของเขา และเขาก็มั่นใจในตัวคนที่เขามอบเงินให้ว่าจะสามารถทำในสิ่งที่เขาปราถนาและ ตามเจตนารมย์ที่เขาตั้งไว้ เพราะเขาเชื่อว่าเงินที่เขาได้มาก็มาจากสังคม และเมื่อเขาประสบความสำเร็จและมีเงินมากมายมหาศาลก็ควรที่จะคืนให้กับสังคม
วอร์เรน บัฟเฟตต์ คิดเสมอว่าเขาอายุมากแล้ว คงจะใช้เงินไปอีกไม่ได้มาก เขายังมีเงินเหลือเก็บอีกเยอะและพร้อมที่จะนำเงินที่เหลือใช้ไปก่อให้เกิด ประโยชน์แก่สาธารณะชนก่อนที่เขาจะจากโลกนี้ไป เพื่อทำให้เขารู้สึกภูมิใจว่า ในชีวิตนี้ของเขา เขาได้ทำประโยชน์ให้กับโลกใบนี้ นับว่าเป็นมหาเศรษฐีที่เศรษฐีน้อยเศรษฐีใหญ่ที่เหลือในโลกนี้ควรเอาเยี่ยง อย่างนะครับ
ประวัติ
วอร์เรน บัฟเฟตต์ มีชื่อเต็มว่า วอร์เรน เอ็ดเวิร์ด บัฟเฟตต์ เขาเกิดเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 1930 (ค.ศ. 1930) ที่เมืองโอแมฮา ในรัฐเนแบรสกา พ่อของเขาชื่อโฮเวิร์ด บัฟเฟตต์ เป็นวุฒิสมาชิกสังกัดพรรครีพับลิกัน และยังเป็น Stock Broker อีกด้วย ส่วนมารดาของเขามีชื่อว่าไลล่า บัฟเฟตต์ เขามีพี่น้องอยู่ 2 คน คือดอริส และเบอร์ตี้ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ชอบหมกมุ่นกับตัวเลขตั้งแต่อายุยังน้อย และมีความจำอันดีเลิศ เขาสามารถจดจำจำนวนประชากรของเมืองใหญ่ในสหรัฐได้อย่างมากมาย
ไม่เพียงเท่านั้น ในตอนที่เขาอายุ 6 ขวบ เขาได้จ่ายเงิน 25 เซนต์ซื้อโค๊กจำนวน 6 แพ็ค และนำมาขาย ในราคา กระป๋องละ หนึ่งเหรียญ และเมื่ออายุ 11 ขวบ เขาทำหน้าที่เป็นเด็กจดกระดานในบริษัทหุ้นของพ่อของเขา และในปีเดียวกันนั้น เขาเริ่มซื้อหุ้นเป็นครั้งแรก ด้วยเงินอันน้อยนิด เขาสามารถซื้อได้แค่ 3 หุ้น หุ้น Cities Service Preferred ในราคาหุ้นละ 38 เหรียญ เมื่อซื้อแล้วราคาได้ตกมา 27 เหรียญ แต่เมื่อหุ้นกลับขึ้นมาอีกที เขาก็ขายไปที่ 40 เหรียญ นั่นเป็นการทำกำไรครั้งแรกในชีวิต ของเขา ได้มาเน็ต ๆ แค่ 5 เหรียญ หลังจากนั้นต่อมาไม่ทราบว่าใช้เวลานานนานเท่าไร หุ้นนั้นทะยานไปถึงหุ้นละ 200 เหรียญ
นอกจากการเล่นหุ้นแล้ว เขายังทำงานพิเศษอื่น ๆ ควบคู่ไปด้วย ไม่ว่าจะเป็น การเร่ขายของเคาะประตูตามบ้าน ส่งหนังสือพิมพ์ จนเมื่อเขาอายุได้ 14 ปี เขาสามารถเก็บหอมรอมริบได้ เงินจำนวนถึง 1200 เหรียญ ซึ่งถือว่าเป็นเงินจำนวนมากเลยทีเดียวในสมัยนั้น และเขาได้ทำเงินก้อนนี้ไปซื้อที่ดินราว ๆ 100 ไร่ เพื่อให้คนเช่าทำการเกษตร
ต่อมาเขาได้เข้าเรียนระดับมัธยมที่ Woodrow Wilson High School ในกรุงวอชิงตันดีซี และเรียนระดับมหาวิทยาลัยที่วิทยาลัยการเงินวอร์ตัน ของมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ระหว่างปี 1947 – 1949 แต่จากนั้นก็ย้ายมาเรียนที่มหาวิทยาลัยเนแบรสกา ซึ่งที่นี่เองที่เขาได้มีความสนใจด้านการลงทุนเพราะได้แรงบันดาลใจจากการ อ่านหนังสือของ Benjamin Graham ที่มีชื่อว่า The Intelligent Investor หนังสือเล่มนี้เปรียบเสมือนคัมภีร์ของ value investors และเขาก็ได้รับความรู้มากมายจากหนังสือเล่มนี้
เมื่อจบการศึกษาระดับปริญญาตรี เขาได้ศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย และได้เรียนหนังสือกับปรมาจารย์ในใจเขาคือ Benjamin Graham และเขาได้รับปริญญาโททางด้านเศรษฐศาสตร์ในปี ค.ศ. 1951
หลังจากเรียนจบ เขาก็กลับบ้านเกิดและเข้าทำงานเป็นเซลล์แมนในบริษัทของพ่อตัวเอง ระหว่างปี 1951 – 1954 พอมาปี 1954 – 1956 เขาก็ทำงานเป็นนักวิเคราะห์ความเสี่ยงของบริษัท Graham-Newman Corp. ที่กรุงนิวยอร์ก
ในปี 1957 เขากลับมาถิ่นเกิดอีกครั้ง และเริ่มก่อตั้งบริษัทลงทุนที่มีชื่อว่า Buffett Partnership, Ltd. มีนักธุรกิจมากมายใส่เงินร่วมทุน จุดประสงค์ของเขาก็คือต้องการเอาชนะดัชนีดาวโจนส์ ซึ่งเขาก็ทำได้ผลในปี 1969 อัตรากำไรที่บริษัทเขาทำได้นั้นสูงถึง 29.5 % เปรียบเทียบกับดัชนีดาวโจนส์ แค่ 7.4 % เท่านั้น
ในปี 1962 เขาได้เข้าไปซื้อกิจการของบริษัทสิ่งทอ Berkshire Hathaway ในราคาไม่ถึง 8 เหรียญต่อหุ้น เขาได้ขายโรงทอผ้าทิ้งไป แปลงโฉมบริษัทเป็น Holding Company และนี่เองที่เป็นเหมือนจุดเริ่มต้นของบริษัทที่ต่อมายิ่งใหญ่ที่สุดในโลก และในขณะเดียวกันเขาก็ได้แต่งงานกับ ซูซาน ทอมป์สันในปี ค.ศ. 1952 และมีลูก 3 คน คือซูซี่ โฮเวิร์ด และปีเตอร์ แต่ชีวิตสมรสของทั้งคู่ก็ต้องแยกกันอยู่ตั้งแต่ปี 1977 โดยที่ไม่มีการหย่าร้าง และภรรยาของเขาก็เพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อปี 2004
ชีวิตส่วนตัวของเขาเรียบง่ายและสมถะมาก เขายังคงขับรถเก่าๆ ไปทำงาน บ้านที่อยู่ก็บ้านเก่า และเขาก็ยังอาศัยอยู่ในบ้านหลังเดิมในเมืองโอมาฮา เนบราสกา ซึ่งเป็นบ้านที่เขาซื้อมาด้วยราคา 31,500 เหรียญ เมื่อปี ค.ศ. 1958 หรือตั้งแต่ 49 ปีที่แล้ว อาหารที่กินประจำยังเป็นแมคโดนัลด์กับโค้ก ซึ่งเขากินวันละหลายๆ กระป๋องประมาณ 15 กระป๋องต่อวัน เนื่องจากเป็นสินค้าของกิจการที่เขาลงทุนอยู่ มูลค่าหุ้นของเขาเป็นล้านล้านบาท แต่เขากลับจ่ายเงินเดือนให้กับตัวเองเพียงปีละ 1-2 แสนดอลลาร์เท่านั้นเอง และไม่เคยขายหุ้นของตัวเองเลยตลอดชีวิต เขาขับรถเก่ายี่ห้อ Lincoln Town ไปทำงานเอง ไม่มีเลขาหน้าห้อง บนโต๊ะทำงานไม่เคยมีเครื่องคอมพิวเตอร์ดูราคาหุ้น ชอบใช้ชีวิตในแบบเดิมๆ และคิดถึงผู้ถือหุ้นเป็นอันดับแรก และยังชอบเล่นไพ่บริดจ์กับบิลล์ เกตส์ อยู่เสมอๆ
เงินที่เขาหาได้ เขาเอามาใช้น้อยมาก ความสุขของเขาอยู่ที่การลงทุน เขาไม่ต้องการเอาเงินไปทำอย่างอื่นที่ไม่ให้ผลตอบแทนหรือให้ผลตอบแทนน้อย เขาคิดว่าเงินถ้าอยู่กับเขาแล้วจะโตเร็วมากและมีประโยชน์กว่า เพราะฉะนั้น เขาจึงไม่ได้บริจาคเงินเพื่อการกุศลมากนัก แต่ในที่สุดเขาก็บริจาคเงินให้กับมูลนิธิบิล –มิรินดา เกตส์เพื่อนของเขา เขาถือเป็นแบบอย่างของคนที่รู้จักความพอดีในการใช้ชีวิต รู้และสำนึกได้ด้วยตัวเองว่า จุดความพอดีของตัวเองนั้นอยู่ที่ไหน และเมื่อไหร่ที่จะปล่อยวางจากทุกสิ่งทุกอย่าง
ความร่ำรวยส่วนใหญ่ของเขานั้นสั่งสมในบริษัทเบิร์กเชียร์แฮทเวย์ ซึ่งมีผลกำไรหลากหลายนับจากธุรกิจการประกันภัย อสังหาริมทรัพย์ พลังงานและการเช่าเครื่องบิน และบริษัทเบอร์กไชร์ ฮาธาเวย์ ของเขาไม่มีสินค้าอะไรเลย ไม่มีการขายสินค้า ไม่มีการผลิตการบริการใดๆ รายได้จำนวนมากมายมหาศาล ทั้งหมดมาจากการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ได้รับฉายาว่าเป็นนักลงทุนที่เก่งที่สุดในโลก เขาสามารถเพิ่มราคาหุ้นกองทุน Berkshire ของเขาถึง 3600 เท่า และเน้นย้ำเฉพาะการลงทุนแบบ Value Investor เท่านั้น
หุ้นของเบอร์กไชร์นั้นจดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้นนิวยอร์ก และเป็นหุ้นตัวใหญ่ที่แปลกประหลาด นอกจากไม่มีการผลิตสินค้าและบริการใดๆ เลย ซื้อขายหุ้นอย่างเดียว ยังเป็นหุ้นที่ไม่เคยมีการจ่ายปันผลมาหลายสิบปี ทั้งๆ ที่มีกำไรมหาศาลทุกปี ทำให้บริษัทมีสินทรัพย์มากขึ้นเรื่อยๆ ราคาหุ้นของเบอร์กไชร์ทะลุหลักล้านบาทไปแล้ว คนที่ถือหุ้นบริษัทเขาตั้งแต่วันแรก ก็ยังถือมาจนถึงปัจจุบัน พวกเขาเชื่อในตัวบัฟเฟตต์มากๆ หุ้นบริษัทเขาจึงมีสภาพคล่องต่ำมาก ซึ่งเป็นผลดีกับกิจการ เนื่องจากจะไม่มีคนที่เล่นหุ้นวันต่อวันมาป่วนราคา บริษัทของเขาจะเลือกลงทุนในหุ้นในกิจการที่เยี่ยมยอดเพียงไม่กี่ตัว โดยซื้อเมื่อตอนราคาถูกและยุติธรรม แล้วเก็บไว้ให้นานที่สุด หรือเก็บไปตลอดชีวิตเลย
สำหรับพอร์ทการลงทุนของเขาจะมีแต่กิจการที่ดีของโลก เช่น บริษัทโค้ก ยิลเลท ดิสนีย์แลนด์ เป็นต้น หุ้นที่เขาจะซื้อ จะต้องมีพื้นฐานกิจการที่ดี และเขาจะต้องรู้จักและเข้าใจว่ากิจการสามารถสร้างรายได้มาได้อย่างไร เพราะฉะนั้น หุ้นกลุ่มไฮเทค จะไม่ได้รับความสนใจจากเขาเลย แม้แต่ไมโครซอฟต์ เพราะเขาบอกว่า ถ้าเขาไม่รู้ว่าอีก 5-10 ปีข้างหน้า บริษัทนั้นจะเป็นอย่างไร เขาก็จะไม่ซื้อหุ้นบริษัทนั้น ซึ่งหุ้นไฮเทคจะมีการเปลี่ยนแปลงที่เร็วมาก จึงไม่อยู่ในข่ายลงทุน
สิ่งที่บัฟเฟตต์ยึดถือในการลงทุน นอกจากคุณค่าของกิจการแล้วคือ ผู้บริหารต้องมีความซื่อสัตย์ ยึดผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นรายย่อยเป็นหลัก ฉะนั้นการบริหารงานของบัฟเฟตต์จึงทำอย่างโปร่งใส และยึดถือประโยชน์ของทุกคนเป็นที่ตั้ง เขาไม่เคยเอาเปรียบผู้ถือหุ้นรายย่อยแม้แต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่นการบริจาคเงินของบริษัท
หลักการเลือกลงทุนของ วอร์เรน บัฟเฟตต์:
1. เป็นธุรกิจหรือบริษัทที่ไม่ซับซ้อน กิจการประเภทง่ายๆ ไม่วุ่นวายนี้ จะสามารถบริหารจัดการได้อย่างง่ายๆ ไม่ต้องใช้เทคนิคบุคคลากรพิเศษมากมายนัก
2. เป็นธุรกิจที่ได้รับความนิยมแข็งแกร่ง เช่นมียี่ห้อหรือตราสินค้าที่แข็งแกร่ง มีการบริการเป็นพิเศษที่หาจากที่อื่นไม่ได้
3. สามารถคาดเดาได้ คือสามารถคาดเดาผลการดำเนินงานได้ค่อนข้างแน่นอน เนื่องจากการที่ไม่ซับซ้อนของธุรกิจนี่เอง
4. ผลตอบแทนจากส่วนของเงินลงทุนสูง (ROE) อย่างน้อย 12 %
5. มีกระแสเงินสดที่ดี
6. มีผู้บริหารที่ดี เห็นแก่ผลตอบแทนของผู้ถือหุ้นเป็นสำคัญ ธุรกิจที่ดี มีธรรมชาติของธุรกิจที่ดี
จากการศึกษาวอร์เรน บัฟเฟตต์ เขาให้ความสนใจลงทุนในธุรกิจ 5 กลุ่มด้วยกัน คือ
1) ธุรกิจเครื่องดื่ม เช่น โค้ก
2) กลุ่มการเงินที่เกี่ยวกับรายย่อย เช่น บริษัทอเมริกันเอ็กเพรส
3) กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค
4) กลุ่มธนาคารพาณิชย์ เช่น ธนาคารของแคลิฟอร์เนีย
5) หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์
กรณีหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์วอร์เรน บัฟเฟต เข้าลงทุนเมื่อ 1974 จำนวน 11 ล้านเหรียญสหรัฐ 30 ปีผ่านไปได้ผลตอบแทน 1.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ และเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่จำนวน 15% ที่ผ่านมาเขามีหนังสือออกมาสามเล่มด้วยกัน คือ 101 เหตุผลที่คุณจะเป็นเจ้าของกิจการ เล่มที่ 2 ชื่อ บัฟเฟตต์ ซีอีโอ แต่ด้วยเนื้อหาที่ต้องมีการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มขึ้น ทำให้ ต้องมีเล่มที่สาม ซึ่งใช้ชื่อว่า “WARREN BUFFETT WEALTH” หรือ วอร์เรน บัฟเฟต ผู้มั่งคั่ง สำหรับหนังสือเล่มที่ 3 นี้จะใช้ภาษาเขียนที่เข้าใจง่ายยิ่งขึ้น มีการยกตัวอย่างประกอบ ซึ่งเนื้อหาได้มาจากการศึกษาเกี่ยวกับนายวอร์เรน บัฟเฟต และบริษัทของเขา ตลอดจนได้มีการสอบถามจากผู้ใกล้ชิดของเขา และล่าสุดชื่อ The New Buffetology ซึ่งมีชื่อเป็นไทยว่า ลงทุนอย่าง...วอร์เรน บัฟเฟตต์ ซึ่งรายละเอียดในหนังสือนั้นที่สำคัญคือ The Warren Buffett Way ที่เป็นเหมือนกลยุทธ์การลงทุนพื้นฐานสไตล์บัฟเฟตต์
อย่างไรก็ตาม ข่าวคราวที่สร้างความโด่งดังให้แก่วอร์เรน บัฟเฟตต์ มากที่สุดในชีวิตของเขาก็คือการที่เขายกทรัพย์สินถึง 85 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณสามหมื่นเจ็ดพันล้านเหรียญ ให้แก่มูลนิธิบิลล์และเมลินดา เกตส์ ซึ่งก่อตั้งขึ้นมาโดยสองสามีภรรยาเกตส์เพื่อนเก่าแก่ของวอร์เรน บัฟเฟตต์ ยังผลให้มูลนิธินี้กลายเป็นมูลนิธิที่ร่ำรวยที่สุดในโลก นับว่าเป็นการรวมตัวทางการเงินเพื่อทำการกุศลยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ บิล เกตส์ และเมอลินดา ภริยา บอกว่า มูลนิธิหวังจะใช้ของขวัญล้ำค่าชิ้นนี้ไปใช้วิจัยหาวัคซีนสยบโรคเอดส์ ร่วมกับอีก 20 โรคร้ายแรง ที่คร่าชีวิตคนทั่วโลกปีละไม่รู้กี่ล้าน ซึ่งส่วนใหญ่ยังไม่มียารักษา
เงินจำนวนนี้ถือเป็นเงินบริจาคที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลกที่เคยมีมา เงินนี้วอร์เรน บัฟเฟตต์หามาเองเกือบทั้งสิ้นตลอดชีวิตการลงทุนที่ประสบความสำเร็จที่สุดใน โลก และได้รับการยกย่องว่าเป็นนักธุรกิจตัวอย่าง ที่เปี่ยมด้วยคุณธรรม และไม่ฟุ้งเฟ้อ เขาเชื่อว่าเงินที่เขาได้มานั้น เขาต้องการที่จะทำในสิ่งที่มีประโยชน์และทำให้เขารู้สึกภูมิใจ และเขายังคาดหวังว่า การตัดสินใจบริจาคทรัพย์สมบัติครั้งนี้ จะเป็นแบบอย่างแก่บรรดาเศรษฐีทั้งหลายให้ทำบุญสร้างกุศล โดยการบริจาคให้มูลนิธิต่าง ๆ ที่มีอยู่ โดยไม่ต้องแข่งกันตั้งมูลนิธิขึ้นมาใหม่ ส่วนการที่เขาบริจาคให้กับมูลนิธิของบิล เกตส์ เพราะเชื่อมั่นในนโยบายช่วยเหลือคนด้อยโอกาสจริง ๆ
บัฟเฟตต์พูดอยู่เสมอว่าเขาเป็นคนที่โชคดีมากเขากล่าวไว้ว่า “ผมรู้สึกอยู่เสมอว่าควรจะตอบแทนสังคม และครอบครัวของผมก็เห็นด้วยกับผม คำถามก็คือว่า จะตอบแทนอย่างไร” และ“ผมไม่ใช่คนที่ปรารถนาในความมั่นคั่งอย่างราชา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อทางเลือกหนึ่งยังมีคนอีกจำนวน 6,000 ล้านคน ยังจนกว่าที่เรามีอยู่มาก”
โดยวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานมูลนิธิอมตะ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น