25 ธันวาคม 2552

มนุษย์ Multitasking โดย หนูดี วนิษา เรซ

มนุษย์ Multitasking โดย หนูดี วนิษา เรซ

หนูดี-วานิษามีโอกาสไปประชุมเรื่องสมองที่บอสตัน และรับฟังงานวิจัยใหม่หลายชิ้น ที่อธิบายพฤติกรรมหนุ่มสาวออฟฟิศที่ว่า บีซี่ แท้จริงหรืออะไร

เคยเห็นคนที่ทำได้หลายอย่างพร้อมกันไหมคะ พิมพ์งานไปด้วย คุยโทรศัพท์ไปด้วย แถมยังรับประทานอาหารกลางวันไปด้วยก็ยังได้ หรือ ขับรถไปคุยงานไป หรือแม้กระทั่งเรื่องในครอบครัวของการนั่งที่โต๊ะอาหารเช้า กับสมาชิกในครอบครัวและอ่านหนังสือพิมพ์ไปด้วย เป็นภาพที่คุ้นชินในละครหลายเรื่อง

ดูเหมือนคนที่ใช้เวลาคุ้มค่า ทำได้หลายอย่างพร้อมกัน เพราะในห้วงเวลาหนึ่งแทนที่จะทำงานเสร็จได้แค่งานเดียวกลับทำได้ตั้งสามสี่งาน

ใครเป็นคนเมืองยุคใหม่ที่มีประโยคติดปากเวลาใครทักว่า “ช่วงนี้เป็นไงบ้าง” คำตอบคือ “งานยุ่งงงงมากกกก” ก็คงฝึกทักษะนี้จนชินและทำได้เป็นธรรมชาติมาหลายปีแล้ว

หนูดีก็ฝึกจนเก่ง และทำได้โดยไม่รู้สึกประหลาดอะไรเลย เพราะใครก็ทำกัน คนที่ไม่ทำสิ ถึงจะประหลาด แถมบางครั้งยังดูเท่ด้วยซ้ำ เพราะดูเป็นคน “บีซี่” ตลอดเวลา ดูเหมือนใครก็ต้องการเวลาของเรา

บางคนค่อนแคะว่าเป็น "คนเสพติดงาน” ไม่ใช่หรอกค่ะ หนูดีคิดว่า นี่เป็นการ “เสพติดสภาวะยุ่ง” มากกว่า เสพติดงานนะคะ

แล้วสภาวะนี้ ทำให้คุณภาพการทำงานของสมองลดลงอย่างไรบ้าง บอกได้เลยว่า ลดลงมากค่ะ

ปีนี้หนูดีเพิ่งกลับจากการไปประชุมเรื่องสมองที่บอสตันมา และงานวิจัยใหม่หลายชิ้นให้ความสนใจกับวิถีชีวิตปัจจุบันของคนรุ่นพวกเรา ที่ทำงานยุ่ง เที่ยวเยอะ ออกกำลังกายน้อย (กว่าที่ควร) ทำงานหลายงานพร้อมกัน จัดเวลาได้ไม่ดีเท่าที่ควรเป็น และเฝ้าหน้าจอมากไปนิดหนึ่ง

คุณหมอท่านหนึ่งบรรยายในหัวข้อ “Overbooked, overstretched, and how to handle a crazy busy lifestyle!” เป็นการบรรยายงานวิจัยเรื่องความยุ่งวุ่นวายที่บรรดาผู้เข้าฟังปรบมือและส่งเสียงเฮเป็นระยะ เพราะพูดได้ถูกใจคนงานยุ่งเป็นอย่างยิ่ง

คุณหมอท่านนี้ชื่อ ดร. ฮอลโลเวล เคยสอนที่ภาควิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ก่อนออกมาตั้งศูนย์บำบัดเด็ก ADD ของตัวเอง คุณหมอพูดไว้น่าสนใจว่า ผู้ใหญ่ปัจจุบันเป็นโรค “ADD เทียม” กันเยอะมาก จากสภาพแวดล้อมอันแสนยุ่งเหยิงรอบตัว

เรื่องหนึ่งที่คุณหมอรวมถึงนักวิจัยท่านอื่นเน้นในปีนี้ก็คือ การทำงานหลายอย่างพร้อมกันไม่เคยเกิดขึ้นจริงในโลกนี้ มันเป็นไปไม่ได้สำหรับสมองของเราค่ะ สิ่งที่เราทำโดยไม่รู้ตัวก็คือการสลับไปมาระหว่างสองงาน สามงาน หรือ สี่งานที่เรากำลังทำอยู่

มันจะไม่เป็นไร และไม่เป็นอันตรายหากงานเหล่านั้นไม่สำคัญหรือว่าน่าเบื่อมาก จนเราต้องทำพร้อมกันเพื่อให้กระบวนการนั้นสนุกขึ้น แต่เชื่อเถอะค่ะว่า เรา “หลุด” แน่ๆ ในกระบวนการ เช่นถ้าเราคุยกับคนสี่คนพร้อมกัน แน่นอนว่า เราต้องหลุดข้อความสำคัญแน่ หรือ ดูโทรทัศน์สี่จอพร้อมกัน ถ้าเราบอกว่า ทำได้ หมายความว่า เราเก่งมากในเรื่องการแทรกข้อมูลที่หายไปด้วยตัวเราเอง

แต่ถ้างานนั้นสำคัญ มีความจำเป็นต้องลงรายละเอียดลึกซึ้ง หรือต้องใช้ความคิดมากเป็นพิเศษ การ “มัลติกาสก์” ไม่ควรจะเกิดขึ้นเลยค่ะ

เหมือนที่ ดร.ฮอลโลเวล เล่าว่าภรรยาเขาเป็นจิตแพทย์และมีคนไข้เป็นทนาย เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เขาช่วยให้ลูกความสรุปข้อตกลงทางกฎหมายที่ได้เปรียบอีกฝ่ายมากอย่างไม่น่าเชื่อ จนทุกคนต้องถามเขาว่า “ทำได้อย่างไร” ทนายคนนั้นบอกว่า “ไม่เห็นยากเลย ก็ผมเป็นคนเดียวในห้องประชุมนั้นที่ไม่ได้ใช้แบล็คเบอรี่ตลอดเวลาที่เราคุยข้อตกลงกัน”

การ “มัลติทาสก์” ดูเหมือนดีค่ะ แต่เป็นแค่ระดับผิวเผินเท่านั้น แต่ทุกครั้งที่เราทำ เราเสียมากกว่าได้เสมอหากงานนั้นต้องการสมองของเราอย่างลึกซึ้ง โลกยุคใหม่สะดวกก็จริง แต่ก็มีหลุมพรางเยอะให้เราเดินไปตกโดยไม่รู้ตัว ถึงไม่เป็นอันตรายถึงชีวิตแต่ก็เสียสมองเปล่าไปโดยไม่มีประโยชน์แท้จริงขึ้นมา

วันนี้ใครยังภูมิใจกับการทำอะไรได้หลายอย่างพร้อมกัน ลองเปลี่ยนมาเป็นทำทีละอย่างให้เสร็จโดยให้ความสนใจสิ่งนั้นอย่างเต็มร้อยไหมคะ แล้วจะพบว่า ชีวิตเรามีคุณภาพขึ้นอีกมากมาย


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความยอดนิยม (ล่าสุด)

บทความยอดนิยม (1 ปีย้อนหลัง)