Pages

Pages

15 กุมภาพันธ์ 2553

เซเว่นอีเลฟเว่น(7-11) ธุรกิจแฟรนไชส์ของคนรักงานบริการ

เซเว่นอีเลฟเว่น(7-11) ธุรกิจแฟรนไชส์ของคนรักงานบริการ

ร้านสะดวกซื้อหรือร้านค้าปลีก ธุรกิจที่เติบโตควบคู่กับสังคมไทยมานาน และเป็นอีกหนึ่งในธุรกิจที่หลายคนอยากเป็นเจ้าของ แต่ด้วยรายละเอียดของธุรกิจที่มีมากมาย ทำให้คนที่ลงทุนเปิดร้านเองอาจไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่ตั้งใจ

แต่วันนี้ฝันของหลายๆ คนจะเป็นจริงได้ง่ายขึ้น เมื่อเซเว่นอีเลฟเว่น แฟรนไชส์ร้านสะดวกซื้อที่มีอัตราการเติบโตสูงที่สุดได้เปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนเลือกเป็นเจ้าของร้านเซเว่นอีเลฟเว่น โดยทางบริษัทแม่เตรียมทุกอย่างพร้อมให้ทั้งหมด ทั้งทำเล การฝึกอบรม ระบบการบริหารร้าน ฯลฯ

คุณณัฐพิชญ์ รัตนพาณิชย์ หนึ่งในแฟรนไชส์ซี่ที่ได้เข้าร่วมเป็นเจ้าของร้านเซเว่นอีเลฟเว่นเปิดเผยความรู้สึกหลังจากตัดสินใจเข้าร่วมธุรกิจว่า “ก่อนที่จะหันมาทำธุรกิจนี้ ดิฉันทำงานกับสถาบันการเงินมาก่อน ทำมาพักหนึ่งเกิดภาวะฟองสบู่แตก เลยเปลี่ยนมาทำงานบริษัทเอกชนอยู่ 5 ปี ตอนนั้นลูกสาวอายุ 3 ขวบ เราคิดว่าพอลูก 4 ขวบก็ต้องให้เข้าโรงเรียน เลยอยากมีกิจการอะไรสักอย่างหนึ่งที่เราดูแลกิจการนั้นได้โดยที่ไม่ต้องไปทำงานแบบตอกบัตรเข้างาน 8 โมง เลิกงาน 5 โมง เราอยากกำหนดวิถีชีวิตของเราเอง เลยคิดถึงธุรกิจแฟรนไชส์ขึ้นมา ก่อนตัดสินใจลงทุนกับเซเว่นฯ ก็ศึกษาแฟรนไชส์อื่นอยู่หลายที่ จุดที่ทำให้ตัดสินใจคือ วันหนึ่งที่บริษัทปูนซิเมนท์ไทยที่สามีทำงานอยู่ เขาก็สัมมนาเรื่องการค้าปลีกแล้วมีการเชิญบริษัท ซี.พี. เซเว่นอีเลฟเว่น มาร่วมพูดคุยในเรื่องการค้าปลีกว่าจะทำให้ประสบความสำเร็จได้อย่างไร ตอนแรกคิดว่า การเป็นเจ้าของร้านเซเว่นฯ ต้องมีเงิน 5 ล้านถึงจะทำได้ แต่สามีมาบอกว่าเซเว่นฯ เขามีนโยบายใหม่ที่เปิดโอกาสให้กับแฟรนไชส์ซี่ได้เข้ามาทำเพื่อจะได้ขยายธุรกิจให้มากขึ้น ดิฉันจึงโทรไปสอบถาม ปรากฏว่าใช้ทุนเพียง 5 แสน และอีก 1 ล้านบาทสำหรับค้ำประกัน เราก็คิดว่าน่าจะไหว และที่ตัดสินใจลงทุนอีกประการหนึ่งก็เป็นเพราะธุรกิจเซเว่นฯ เป็นธุรกิจที่มีชื่อเสียงมานาน เป็นธุรกิจค้าปลีกเกี่ยวกับอาหารการกิน สบู่ ผงซักฟอก ซึ่งเป็นสิ่งที่คนเราต้องกินต้องใช้ ดิฉันก็มองว่าธุรกิจร้านค้าปลีกเป็นธุรกิจที่ไม่มีวันตาย

“พอดิฉันตัดสินใจที่จะทำธุรกิจนี้ ขั้นแรกเราก็ต้องเข้าไปฟังการอบรมสัมมนา เป็นกลุ่มใหญ่ประมาณ 50 – 100 คนได้ บริษัทก็บอกคร่าวๆ ว่าการเป็นเจ้าของร้านเซเว่นฯ ต้องทำอะไรบ้าง หลังจากนั้นเขาจะโทรมาถามว่าเราทำได้ไหม เพราะมันเป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อน แล้วขั้นตอนต่อไปคือการเข้าไปคุยที่บริษัท เขาก็จะมีรายละเอียดมากกว่านั้นว่าเราจะต้องทำอย่างไรบ้าง ถ้าสนใจลงทุนก็ต้องมีการเซ็นสัญญามัดจำในการเข้าอบรม อบรมทั้งหมด 45 วัน ทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ หลังจากนั้นก็จะมีการคุยกัน ถ้าคุณสามารถทำได้จริงและผ่านการอบรม เงินมัดจำก็จะหักเข้าไปอยู่ในเงินทุน และการลงทุนของดิฉันจะเป็นในรูปแบบของการโอนร้านที่เปิดดำเนินการอยู่แล้ว ซึ่งทางบริษัทจะเลือกร้านมาเสนอให้ว่าร้านไหนเหมาะสม ใกล้บ้าน ทำเลโอเค จากนั้นดิฉันก็จะตัดสินใจเลือกมา 1 ร้านค่ะ”

“สิ่งที่ดิฉันได้รับจากเซเว่นฯ คือ ได้รับการอบรมขั้นตอนการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ แม้ว่าเราจะไม่มีความรู้ด้านการตลาดและค้าปลีก เราก็สามารถเข้ามาบริหารร้านเซเว่นฯ ได้ เพราะทางบริษัทเขาจะมีเจ้าหน้าที่คอยให้ความรู้เราตลอด บริษัทจะเข้ามาดูแลและให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด ในส่วนของพนักงาน เราสามารถส่งให้กับบริษัทอบรมโดยไม่มีค่าใช้จ่าย และถ้ามีอุปกรณ์ร้านใหม่ๆ เข้ามาที่ร้าน ทางบริษัทก็จะมีการอบรมการใช้อุปกรณ์ใหม่เช่นกัน นอกจากนี้ยังมีการประชุมให้ความรู้กับแฟรนไชส์ซี่ตลอด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการตลาดในช่วงนั้นว่า เราควรจะเน้นเรื่องใด เช่น ช่วงนี้เป็นหน้าร้อน ต้องเน้นเครื่องดื่ม โดยเฉพาะเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ เขาก็จะสอนให้ว่าจะมีวิธีสั่งของอย่างไรไม่ให้ขาด แล้วบริษัทก็จะทำการวางแผนการตลาดให้เราตั้งแต่ต้นปีถึงปลายปี เช่น เทศกาลสงกรานต์ ก็จะทำการจัดอุปกรณ์สงกรานต์มาให้ขาย ปิดเทอมเด็กจะเข้าร้านเยอะก็มีโปรโมชั่นอาหารหรือขนมที่เด็กๆ ชอบ เป็นต้น ซึ่งตรงนี้เป็นข้อดีและเป็นจุดเด่นของแฟรนไชส์เซเว่นฯ

“ดิฉันอยากฝากถึงคนที่ต้องการเข้ามาในธุรกิจนี้ว่า ต้องเป็นคนที่รักในงานบริการจริงๆ ต้องเปิดใจให้กว้างพร้อมที่จะเปิดรับกับสิ่งใหม่ๆ เพราะเซเว่นจะมีสิ่งใหม่ๆ เข้ามาในร้านตลอด และต้องพร้อมรับกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาเพราะร้านเปิด 24 ชั่วโมง“

คุณอัมไพ วิญญาภาพ อีกหนึ่งผู้ประกอบการที่ผันตัวเองมาจากผู้รับเหมาก่อสร้าง มาเป็นเจ้าของร้านเซเว่นฯ กล่าวถึงธุรกิจนี้ว่า “ดิฉันเป็นคนชอบค้าขาย ก็มองว่าจะทำธุรกิจอะไรดี คิดว่าการซื้อแฟรนไชส์น่าจะง่ายกว่าการเริ่มธุรกิจเอง อีกทั้งความเสี่ยงยังน้อยกว่าด้วย และที่เลือกลงทุนกับแฟรนไชส์เซเว่นฯ เพราะดูแล้วว่าเป็นธุรกิจที่จะไปได้ดี มีความมั่นคง โดยก่อนที่จะตัดสินใจลงทุนก็ได้มีการศึกษาข้อมูลธุรกิจร้านสะดวกซื้ออื่นมาหลายตัว แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจเลือกเซเว่นอีเลฟเว่น เพราะเป็นธุรกิจที่แค่เปิดประตูร้านก็มีลูกค้ามาแล้ว เราไม่ต้องไปวิ่งขาย ไม่ต้องไปเสนอสินค้าให้ใคร เพียงแค่ทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุดก็จะประสบความสำเร็จได้แล้ว และแฟรนไชส์เซเว่นฯ จะแตกต่างจากแฟรนไชส์อื่นๆ ที่ดิฉันเคยลงทุนมาก่อน เพราะแฟรนไชส์รายอื่นจะไม่ได้บริการใดๆ มากเท่าที่ควรและเราต้องทำตลาดเอง แต่แฟรนไชส์เซเว่นฯ จะทำตลาดให้ครบทุกอย่าง โดยบริษัทจะมีโปรโมชั่นส่งมาให้ตลอด“

“ส่วนรูปแบบแฟรนไชส์เซเว่นฯ ของดิฉัน คือ มีร้านเซเว่นฯ อยู่แล้ว แล้วดิฉันเข้ามารับโอนเป็นผู้บริหารร้าน โดยจ่ายเงินครั้งเดียวตอนเซ็นต์สัญญา เงินส่วนหนึ่งเป็นเงินค้ำประกัน ที่พอครบสัญญาทางบริษัทจะคืนเงินส่วนนี้ให้ สำหรับเรื่องจุดคุ้มทุนก็ขึ้นอยู่กับการบริหารของเราด้วยว่าเรามีความใส่ใจดูแลร้านมากน้อยแค่ไหน ถ้าดี คุณก็จะได้คืนทุนเร็ว แต่ถ้ามีลงเงินอย่างเดียวแล้วตัวเราไม่ได้เข้ามาบริหาร ก็อาจไม่ประสบความสำเร็จอย่างสาขาอื่นๆ ได้ โดยร้านดิฉันใช้ระยะเวลาคืนทุนไม่เกิน 4 ปี อย่างปีแรกจะยังไม่เห็นผลอะไร แต่พอปีที่ 2 – 3 ก็ดีขึ้น คือเราเริ่มจะรู้เทคนิค เริ่มรู้ว่าทำอย่างไรถึงจะได้ยอดขาย ทำอย่างไรให้ลูกค้าเข้าร้าน และตอนนี้ดิฉันก็เพิ่งเปิดสาขาที่ 2 ไปได้ประมาณ 2 เดือนเอง ในอนาคตก็อยากเปิดสาขาต่อๆ ไปค่ะ“

คุณอัมไพได้ฝากถึงผู้ที่สนใจจะมาลงทุนในธุรกิจนี้ว่า ”แฟรนไชส์เซเว่นฯ เป็นงานที่ละเอียดอ่อนเพราะเป็นงานบริการ ถ้าเราไม่ใส่ใจก็ไม่ประสบความสำเร็จ ดังนั้นเราต้องพร้อมทั้งการเงิน เวลา ครอบครัว ถ้าพูดถึงครอบครัวนี่ก็สำคัญ เพราะร้านของเราเปิด 24 ชั่วโมง ครอบครัวต้องเข้าใจถึงสภาพการทำงาน และสุดท้ายคือความรักที่จะบริการ ลูกค้าต้องมาก่อนและต้องถูกเสมอ“

สนใจร่วมธุรกิจแฟรนไชส์เซเว่นอีเลฟเว่นสามารถรับฟังข้อมูลจริงก่อนตัดสินใจได้ที่ ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์ธุรกิจแฟรนไชส์ 0-2711-7800 ( 24 ช.ม. ) หรือที่ www.7eleven.co.th

from http://www.tangtuamag.com/index.aspx?ContentID=ContentID-070405145906337


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น