Pages

Pages

28 กุมภาพันธ์ 2553

การสร้างแรงบันดาลใจเพื่อไปสู่ความสำเร็จ

การสร้างแรงบันดาลใจเพื่อไปสู่ความสำเร็จ

บทความนี้สามารถนำไปใช้ได้ทั้งในเรื่องการเรียน การทำงาน และการพัฒนาชีวิต หากอ่านแล้วไม่นำไปปฏิบัติ ก็ไม่อาจทำให้ชีวิตเปลี่ยนแปลงได้ ต้องลงมือปฏิบัติอย่างยืนหยัด ต่อเนื่อง และสม่ำเสมอเท่านั้น จึงจะสามารถสร้างนิสัยแห่งความสำเร็จ และช่วยให้ผู้ปฏิบัติประสบความสำเร็จในชีวิตได้

ตอนเริ่มต้น: เราจะเป็นอย่างที่เราคิด

ความสำเร็จเป็นผลของ เจตคติ เจตคติคือ นิสัยการคิด นิสัยไม่ใช่สัญชาตญาณ หากแต่เป็นปฏิกิริยาที่เกิดจากการทำซ้ำ ดังนั้น การคิดดี พูดดี ทำดี ซ้ำแล้วซ้ำเล่าจะกลายเป็นนิสัยที่ดี ซึ่งเป็นนิสัยแห่งความสำเร็จ นักคิดผู้ยิ่งใหญ่ล้วนคิดตรงกันในประเด็นที่ว่า เราจะเป็นอย่างที่เราคิด อาทิ

พระวจนะหนึ่งของ พระพุทธเจ้า คือ จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว

โซโลม่อน กล่าวว่า เพราะมนุษย์คิด ในหัวใจของเขา เขาจึงเป็นเช่นนั้น

มาร์คัส ออเรลีอุส เขียนไว้ว่า ชีวิตของมนุษย์คือ สิ่งที่ความคิดของเขาสร้างขึ้น

ราฟ วัลโด อีเมอร์สัน ก็ยืนยันว่า คนผู้หนึ่งคือ สิ่งที่เขาเฝ้าวนเวียนคิดอยู่ตลอดวัน

คนเราจึงเป็นในสิ่งที่เรา โปรแกรม สมองเราไว้ คนที่ประสบความสำเร็จ คือ คนที่โปรแกรมเรื่องราวของความสำเร็จไว้ในสมองของเขาหรือเธอ ส่วนคนที่น่าสังเวชจะนำเอาแต่เรื่องแย่ๆ ใส่สมอง ดังนั้น ขอให้นักศึกษาจงเป็น โปรแกรมเมอร์ เพื่อพัฒนาโปรแกรมด้วยตนเอง โดยพัฒนาแต่สิ่งดีๆ ไว้ในสมอง และหลีกเลี่ยงการนำเรื่องแย่ๆ ใส่สมอง โปรดจำไว้ว่า เราจะเป็นอย่างที่เราคิด

ดังนั้น จงตั้งใจให้แน่วแน่ในการนำเอาหลักการที่นำเสนอนี้มาปรับปรุงตนเอง เพื่อมุ่งไปสู่ความสำเร็จในชีวิต ตั้งแต่วินาทีนี้




ตอน 1 นักศึกษาคือ ผู้สร้างโลกของตัวเอง

ความคิดเป็นตัวสร้างโลกของนักศึกษา ดังบทสรุปที่ยิ่งใหญ่ของทุกศาสนา ทุกปรัชญา อภิปรัชญา และจิตวิทยา ที่ว่า

... คุณจะเป็นอย่างที่คุณคิดเกือบตลอดเวลา โลกภายนอกของคุณ คือ ภาพสะท้อนโลกภายในของคุณ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงสิ่งที่คุณคิด ทุกอย่างที่คุณคิดจะโผล่ออกมาในความเป็นจริงของคุณอย่างต่อเนื่อง ... (ไบรอัน เทรซี่, 2003: 8).

การแปลความ หากนักศึกษาคิดว่าตัวเองโง่ เรียนสู้คนอื่นไม่ได้ จะต้องสอบตก และจะต้องรีไทร์ (โลกภายใน) หากคิดเช่นนี้บ่อยครั้ง ความคิดเหล่านี้จะไปตอกย้ำความล้มเหลว และสิ่งที่สะท้อนออกมาให้เห็นก็คือ ความท้อแท้ ความห่อเหี่ยว และหมดกำลังใจที่จะต่อสู้ (โลกภายนอก) ในที่สุดก็จะประสบความล้มเหลวจริงๆ ทั้งในเรื่องการเรียนและการทำงาน เพราะนั่นคือ การสาปแช่งตัวเอง วาจาของตนศักดิ์สิทธิ์ยิ่งกว่าวาจาของคนอื่น ในทางตรงข้าม หากนักศึกษารักและนับถือตนเอง นักศึกษาก็จะตอกย้ำแต่สิ่งดีๆ ให้กับตนเอง ให้พรตัวเอง มีความเชื่อว่า เราต้องทำได้ เพราะคนจำนวนมากที่ประสบความสำเร็จนั้น เขามีพื้นฐานทั่วไปแทบไม่แตกต่างจากเราเลย ให้นักศึกษานึกถึงภาพแห่งความสำเร็จของตนเองในวิชาที่เรียน แล้วตั้งเกรดที่ต้องการไว้ จากนั้นวางแผนเพื่อนำไปสู่เกรดคาดหมายที่ตั้งไว้นั้น

กฎสู่ความสำเร็จข้อหนึ่งคือ ไม่สำคัญว่านักศึกษาจะมาจากไหน ที่สำคัญคือ นักศึกษาจะไปไหน และที่ที่นักศึกษาจะไปนั้นถูกกำหนดด้วยตัวนักศึกษาหรือไม่ นั่นคือ นักศึกษาเป็นผู้ตั้งเป้าหมายนั้นหรือไม่ เพราะ.. เป้าหมาย คือ เชื้อเพลิงในเตาหลอมแห่งความสำเร็จ

การดำเนินชีวิตโดยปราศจากเป้าหมายที่ชัดเจนเปรียบเสมือนการขับรถท่ามกลางหมอกหนาทึบ ไม่ว่ารถของนักศึกษาจะมีประสิทธิภาพดีเพียงใดก็ตามและแม้จะขับบนถนนที่เรียบที่สุด นักศึกษาก็ยังต้องขับช้าๆ อย่างหวาดกลัว ส่วนการดำเนินชีวิตที่มีเป้าหมายชัดเจนนั้น เปรียบเสมือนการขับรถที่ปราศจากหมอกควันมาบดบัง จึงสามารถเหยียบคันเร่งแห่งชีวิตให้ทะยานไปข้างหน้าเพื่อมุ่งไปสู่ความสำเร็จได้อย่างรวดเร็วและมั่นคง




ตอน 2 อานิสงส์ของการมีเป้าหมายที่ชัดเจน

ระหว่างปี ค.ศ. 1979 ถึง 1989 นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาดได้ทำการศึกษาพบว่า การตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนส่งผลให้นักศึกษาประสบความสำเร็จด้านรายได้ โดยในปี ค.ศ. 1979 นักวิจัยได้ถามนักศึกษาที่สำเร็จ MBA กลุ่มหนึ่งว่า "คุณตั้งเป้าหมายอนาคตของคุณที่ชัดเจนโดยเขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษรและวางแผนที่จะทำมันให้สำเร็จหรือเปล่า" ผลปรากฏดังนี้

3% ตอบว่า ได้เขียนเป้าหมายเป็นลายลักษณ์อักษร และมีการวางแผนไว้

13% ตอบว่า มีเป้าหมาย แต่ไม่ได้เขียนเป็นลายลักษณ์อักษร

84% ตอบว่า ไม่มีเป้าหมาย

จากนั้นสิบปีต่อมาคือ ในปี ค.ศ.1989 นักวิจัยได้สัมภาษณ์นักศึกษากลุ่มนั้นอีกครั้ง ผลปรากฏดังนี้ กลุ่ม 13% ที่ตอบว่ามีเป้าหมายแต่ไม่ได้เขียนเป็นลายลักษณ์อักษรนั้นกำลังหาเงินได้โดยเฉลี่ยเป็น 2 เท่าของนักศึกษากลุ่ม 84% ที่ตอบว่าไม่มีเป้าหมาย แต่ที่น่าประหลาดใจมากที่สุดคือ กลุ่ม 3% ที่ตอบว่าได้เขียนเป้าหมายเป็นลายลักษณ์อักษรและมีการวางแผนไว้นั้น สามารถหาเงินได้โดยเฉลี่ยเป็น 10 เท่าของนักศึกษาทั้งสองกลุ่มที่เหลือ ...นี้คือ อานิสงส์ของการมีเป้าหมายที่ชัดเจน

ดังนั้นนักศึกษาที่กำหนดเกรดคาดหมายไว้ล่วงหน้า เขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษรและมีแผนการที่จะบรรลุมันก็น่าจะประสบความสำเร็จได้เช่นเดียวกันกับกลุ่ม 3% ข้างต้น เพราะการเขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษรคือ การให้พันธะสัญญาไว้กับตัวเอง




ตอน 3 การกินช้างหรือการเดินทางหนึ่งพันลี้

พูดถึงการกินช้างหรือการเดินทางหนึ่งพันลี้ สำหรับคนที่ไม่ประสบความสำเร็จอาจร้องยี้เพราะนึกถึงการกลืนช้างหรือความไกลของระยะทาง แต่สำหรับคนที่ประสบความสำเร็จแล้วจะมองเป็นเรื่องปกติ เพราะมีความอดทนสูง เทคนิคการกินช้างก็คือ การกัดทีละคำ ส่วนเทคนิคการเดินทางหนึ่งพันลี้ก็คือ การเริ่มต้นด้วยก้าวแรก (ขงจื๊อ)

ดังนั้น การทำแบบฝึกความพร้อมก่อนสอบให้ได้ทั้ง 30 ข้อก็เริ่มต้นเพียงข้อเดียว จากนั้นก็ทำต่อทีละหนึ่งข้อเท่านั้น คนที่ประสบความสำเร็จจะนึกถึงวิธีการแก้ไขปัญหาตลอดเวลา ส่วนคนที่ไม่ประสบความสำเร็จจะนึกถึงอุปสรรคเกือบตลอดเวลา




ตอน 4 อานิสงส์ของการมีทักษะ

สมมติว่านักศึกษาต้องการหาหนังสือเล่มหนึ่งในห้องสมุด แต่ไม่ทราบว่าอยู่ตรงไหน นักศึกษาอาจใช้เวลาค้นหาเป็นชั่วโมงในครั้งแรก แต่ในครั้งต่อๆไป นักศึกษาจะใช้เวลาหาหนังสือเล่มเดิมเพียงไม่กี่นาที เปรียบเสมือนการแก้ปัญหาโจทย์เลขบางข้ออาจใช้เวลานานกว่าจะทำเสร็จ แต่เมื่อพบโจทย์เลขทำนองเดียวกันอีกในครั้งต่อไป ก็จะใช้เวลาทำเพียงไม่กี่นาทีเพราะนักศึกษามีทักษะในการแก้ปัญหาโจทย์เลขลักษณะนั้นๆแล้ว การแก้ปัญหาโจทย์เลขเป็นทักษะที่ฝึกฝนได้ การฝึกความพร้อมก่อนสอบจะช่วยให้นักศึกษาเกิดทักษะและสามารถทำข้อสอบได้ทันเวลา นี่คือ อานิสงส์ของการมีทักษะ

ตอน 5 อุปสรรคของความสำเร็จ




คนส่วนใหญ่ยอมแพ้ตั้งแต่ก่อนที่จะพยายามในครั้งแรกด้วยซ้ำ เหตุผลที่เขายอมแพ้ก็เพราะกลัวอุปสรรคและความล้มเหลว ความจริงก็คือ ทุกเส้นทางสู่ความสำเร็จล้วนมีอุปสรรคและคนที่ประสบความสำเร็จมักจะล้มเหลวบ่อยกว่าคนที่ไม่ประสบความสำเร็จ แต่คนที่ประสบความสำเร็จจะมีความพยายามมากกว่า โปรดจำว่า ไม่มีใครเกิดมา ล้มเหลว มีแต่ ล้มเลิก เสียก่อน

โจทย์เลขข้อหนึ่ง ๆ อาจมีวิธีการแก้ปัญหาได้หลายวิธี หากนักศึกษามีความพยายามที่เพียงพอแล้ว ย่อมจะหาหนทางในการแก้ปัญหาโจทย์นั้น ๆ ได้ในที่สุด คนที่ประสบความสำเร็จจะมีความคิดว่า ทุกปัญหามีทางแก้ แต่คนที่ไม่ประสบความสำเร็จมักจะมีความคิดว่า ทุกทางแก้มีปัญหา




ตอน 6 การผัดวันประกันพรุ่งอย่างสร้างสรรค์

กฎ 80/20 บอกว่า 20% ของกิจกรรมจะเป็นตัวกำหนดคุณค่าของกิจกรรมอีก 80% ที่เหลืออยู่ นั่นคือ ถ้านักศึกษามีงาน 10 อย่างที่ต้องทำให้เสร็จ จะมีงานเพียง 2 อย่างที่มีค่ามากกว่างาน 8 อย่างที่เหลือรวมกัน ถ้านักศึกษาไม่สามารถทำงานทุกอย่างได้หมดก็ควร ผัดวันประกันพรุ่งในงาน 8 อย่าง เรียกว่า การผัดวันประกันพรุ่งอย่างสร้างสรรค์และฝึกวิธีการทำงานตามหลัก ABCDE ต่อไปนี้

A คือ งานที่สำคัญมาก และมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความสำเร็จ

B คือ งานที่สำคัญรองลงมา หากไม่ทำจะมีผลกระทบน้อยกว่า A

C คือ งานที่น่าทำ หากไม่ทำก็ไม่เป็นไร เช่น การอ่านหนังสือพิมพ์ เป็นต้น

D คือ งานที่อาจมอบให้คนอื่นทำแทนได้ เพื่อนำเวลาไปทำงาน A

E คือ งานที่ไม่สำคัญ หากไม่ทำก็ไม่มีผลกระทบใดๆเกิดขึ้น

คนที่ประสบความสำเร็จจะทำงาน A ก่อนเสมอ หากงาน A มีหลายอย่างก็ทำทีละอย่าง โดยเลือกงานที่ใช้เวลาที่สั้นที่สุดก่อน เพื่อเป็นรางวัลและให้กำลังใจสำหรับการทำงานสำคัญที่สุดชิ้นต่อไป การผัดวันประกันพรุ่งงาน A คือ การล่อลวงตัวเองให้พ้นจากเส้นทางแห่งความสำเร็จ ยกเว้นการผัดวันประกันพรุ่งอย่างสร้างสรรค์เท่านั้นจึงจะเป็นบันไดพานักศึกษาไปสู่ความสำเร็จได้




ตอน 7 ความท้อแท้ที่หัดจนเป็นนิสัย

คนที่ท้อแท้จนเป็นนิสัยจะรู้สึกว่าตัวเองไม่สามารถบรรลุเป้าหมายหรือพัฒนาชีวิตให้ดีกว่าเดิมได้ ไม่ว่าจะเริ่มต้นด้วยการทำอะไรก็ตาม มักจะคิดก่อนเสมอว่า ฉันทำไม่ได้ ฉันทำไม่เป็น ฉันไม่มีเวลา ฉันไม่...ฉันไม่...ฉันไม่... และจะมีเหตุผลมาสนับสนุนโรคท้อแท้ของตัวเองเสมอ เรียกว่า ความท้อแท้ที่หัดจนเป็นนิสัย ซึ่งมักจะเกิดกับคนที่ชอบสาปแช่งตัวเอง

วิธีเอาชนะนิสัยท้อแท้เรื่องการเรียนก็คือ ให้ตั้งเกรดคาดหมายระดับ D และวางแผนทำแบบฝึกความพร้อมก่อนสอบให้ได้อย่างน้อย 15 ข้อจาก 30 ข้อ เมื่อทำได้ระดับนี้แล้ว ต่อไปก็ตั้งเกรดคาดหมายให้สูงขึ้นและวางแผนทำแบบฝึกความพร้อมก่อนสอบให้ได้มากขึ้นตามไปด้วย นาน ๆ เข้าความท้อแท้ก็จะอ่อนกำลังลง และความมั่นใจก็จะเพิ่มขึ้นมาแทน จงนึกถึงคำตอบของการกินช้าง นักศึกษาจะเดินไปสู่เป้าหมายด้วยการก้าวทีละก้าว เพิ่มทักษะทีละอย่าง และพัฒนาไปทีละขั้น



ตอน 8 ความพากเพียรคือเครื่องหมายของความสำเร็จ

ความพากเพียรเป็นสิ่งที่รับประกันได้ว่าจะนำพานักศึกษาไปสู่ความสำเร็จ แม้พรสวรรค์หรือความอัจฉริยะก็ไม่อาจสู้ความพากเพียรได้

ไมเคิล จอร์แดน นักบาสเกตบอลที่มีความสามารถคนหนึ่ง เคยกล่าวไว้ว่า ทุกคนมีพรสวรรค์ แต่ความสามารถต้องอาศัยความพากเพียร

จอห์น ดี ร็อกกีเฟลเลอร์ บุรุษที่ร่ำรวยที่สุดคนหนึ่งของโลก ได้เขียนไว้ว่า ผมไม่คิดว่าจะมีคุณสมบัติอื่นใดที่สำคัญต่อความสำเร็จมากเท่ากับความพากเพียร มันเอาชนะได้แทบทุกอย่างแม้แต่ธรรมชาติ

ขงจื๊อ เคยกล่าวไว้เมื่อสองพันกว่าปีมาแล้วว่า ชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเราไม่ใช่อยู่ที่การไม่เคยล้ม แต่อยู่ที่การลุกขึ้นทุกครั้งที่เราล้ม

โธมัส เอดิสัน ผู้ที่ล้มเหลวในการทดลองมากกว่าคนอื่น ๆ เคยกล่าวไว้ว่า เมื่อผมตัดสินใจเต็มร้อยว่าผลลัพธ์นั้นควรค่าต่อการไขว่คว้า ผมจะมุ่งไปหามันและทำการทดลองครั้งแล้วครั้งเล่าจนกว่าจะประสบความสำเร็จ

ดังนั้น คุณสมบัติเดียวที่รับประกันความสำเร็จทั้งในเรื่องการเรียน และการทำงานของนักศึกษาก็คือ ความพากเพียรหรือความตั้งใจที่จะเกาะติดอยู่กับเป้าหมายอย่างเด็ดเดี่ยว



ตอน 9 การลงทุนเวลาเพื่อเกรด A

การได้เกรด A ต้องลงทุนด้วยเวลา โดยเกรด A มาจากการทำข้อสอบให้ได้อย่างน้อย 27 ข้อจาก 30 ข้อ ข้อหนึ่งๆ หากนักศึกษามีทักษะแล้วจะใช้เวลาทำ 2 - 3 นาที แต่ถ้าขาดทักษะแล้วก็อาจจะต้องใช้เวลาทำข้อละ 10 - 30 นาที ดังนั้น 30 ข้อก็ใช้เวลา 5 - 15 ชั่วโมง หากมีเวลาฝึกวันละ 1 ชั่วโมงก็ใช้เวลา 5 - 15 วัน และหากมีเวลาฝึกวันละ 2 ชั่วโมงก็ใช้เวลา 3 - 7 วัน และเวลาที่ใช้ในการฝึกยังขึ้นอยู่กับพื้นความรู้เดิมของนักศึกษาแต่ละคนด้วย สำหรับการลงทุนเพื่อเกรด B, C, D ก็ใช้แนวทางเดียวกันนี้ สำหรับเกรด F ไม่ต้องลงทุนด้วยเวลาเลย

ดังนั้น การรู้เวลาในการลงทุนจะประกันให้นักศึกษาต้องเตรียมตัวทั้งร่างกายและจิตใจ โปรดจำว่า เกรด A ไม่ได้ได้มาโดยบังเอิญแบบถูกหวย แต่ได้มาจากความพากเพียรของตัวนักศึกษาเอง




ตอน 10 การพัฒนาชีวิต

Keep Open Mind to Learn ฟ้ามิได้แบ่ง ยอดคน กับ คนธรรมดา ออกจากกัน ยอดคนจะปรากฏขึ้นเสมอ แต่นั้นมิใช่เพราะ ฟ้ากำหนด การที่ยอดคนปรากฏขึ้นมาได้เพราะเขาผ่านการ ฝึกฝน และ เรียนรู้ ที่จะเป็นยอดคน

อัจฉริยะ ไม่ใช่สัตว์ประหลาดที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่เป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมา ไม่มีใครเก่งมาตั้งแต่กำเนิด แต่ต้องได้รับการฝึกฝน เฉกเช่นม้าดีต้องมีคนขี่มาฝึกฝน และนักกีฬาที่ดีต้องมีโค้ชที่ดีมาฝึกฝน

Don't Look Down Yourself ไม่สำคัญว่าในอดีตเราเป็นใคร สำคัญที่ว่าวันนี้เราต้องการเป็นใคร จงเคารพนับถือในความสามารถของตัวเอง ยกย่องและให้เกียรติตัวเอง สมองของคนเราเหมือนพื้นดินที่ว่างเปล่า เมื่อเราปลูกอะไรลงไปเราก็จะได้ผลเป็นอย่างนั้น จงปลูกฝังแต่สิ่งดีๆ ลงไปในสมอง คำพูดใดๆ ที่เราเคยได้ยินซ้ำๆ ซากๆ เกิน 37 ครั้ง มันจะกลายเป็น อุปนิสัย ของเราทันที ดังนั้น จงปลูกฝังแต่สิ่งดี ๆ ลงไปในสมองของเราจนเป็นนิสัย

สิ่งที่น่ากลัวที่สุดในโลกคือ สิ่งแวดล้อม ที่เป็นพิษ อย่าปล่อยให้ความคิดหรือคำพูดของใครบางคนมาตัดสินชีวิตของเรา ในโลกนี้ไม่มีใครมีอิทธิพลกับตัวเรานอกจากตัวเราเอง ชีวิตไม่ใช่เกมกีฬา ไม่มีเวลาพักครึ่ง ไม่มีการขอเวลานอก และที่สำคัญคือ เป็นกีฬาที่เปลี่ยนตัวผู้เล่นไม่ได้ โปรดจำว่า ไม่มีใครเกิดมา ล้มเหลว มีแต่ ล้มเลิก เท่านั้น

เพียงนักศึกษาคิดว่าตัวเองทำได้ นักศึกษาก็ทำได้ตั้งแต่คิดแล้ว แต่หากนักศึกษาคิดว่าตัวเองทำไม่ได้ นักศึกษาก็ทำไม่ได้ตั้งแต่ที่คิด สิ่งที่เลวร้ายที่สุดของมนุษย์คือ การตอกย้ำตัวเองว่าทำไม่ได้ แม้แต่ คิด ยังไม่กล้าที่จะคิด แล้วชีวิตจะประสบความสำเร็จได้อย่างไร? จงกล้าที่จะเผชิญความล้มเหลว เพราะความล้มเหลวคือ ครูที่ทดสอบความสำเร็จของเรา

มนุษย์ คือจุดศูนย์กลางของเส้นรอบวงที่ไม่มีขีดจำกัด ทำไมเป็นมนุษย์เหมือนกันจึงประสบความสำเร็จไม่เท่ากัน นั่นเป็นเพราะมนุษย์แต่ละคนได้รับโอกาส ทางความคิดที่แตกต่างกัน คนที่สำเร็จ มองปัญหาเป็นโอกาส แต่คนที่ล้มเหลวมองโอกาสเป็นปัญหา คนสำเร็จจะปรับตัวเองไปหาโลกภายนอก แต่คนล้มเหลวจะรอให้โลกภายนอกปรับตัวเข้าหาตัวเอง

ความรู้ เป็นเพียง พลังอำนาจแฝง ชนิดหนึ่ง ความรู้จะกลายเป็นพลังอำนาจที่ยิ่งใหญ่ได้ก็ต่อเมื่อมันถูกนำไปใช้อย่างชาญฉลาดเท่านั้น

ฟังแต่ไม่ได้ยิน ได้ยินแต่ไม่เข้าใจ เข้าใจแต่ไม่ลึกซึ้ง ลึกซึ้งแต่ไม่แตกฉาน แตกฉานแต่นำไปใช้ไม่เป็น จงนำศักยภาพและอัจฉริยภาพที่ซ่อนเร้นในตัวนักศึกษาออกมาใช้อย่างชาญฉลาด


ตอนจบ คนที่ประสบความสำเร็จเป็นระดับผู้บริหารหรือผู้นำขององค์กรต่างๆ ในโลกนี้ กว่า 85% ล้วนแล้วแต่มิใช่คนเก่ง แต่เป็น คนดี ทั้งสิ้น คนเก่งมักจะมี อัตตา จะไม่ยอมปรับตัวเข้าหาโลก ไม่รับฟังความคิดเห็นของคนอื่น ไม่ยอมรับการพัฒนาความรู้และสิ่งใหม่ๆ ปกครองคนไม่ได้ คนเก่งอาจใช้เวลาไม่กี่ปีก็สอนให้เก่งได้ แต่ ความดี ต้องใช้เวลาสอนกัน ชั่วชีวิต คนเก่งมักจะขาดความจงรักภักดี ไม่มีความกตัญญูรู้คุณ มหาวิทยาลัยกรุงเทพเน้นทั้ง ความรู้ และ ความดี ควบคู่กันไป จึงใช้คำขวัญว่า ความรู้คู่ความดี ขอให้นักศึกษาตระหนักถึงคำขวัญนี้ และจงนำไปใช้ประกอบการดำเนินชีวิตต่อไป

from
http://www.thaifranchisecenter.com/document/show.php?docuID=157
http://www.thaifranchisecenter.com/document/show.php?docuID=158


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น