กองทุนรวมหุ้นระยะยาว หรือ Longterm Equity Fund (LTF) คือ กองทุนรวมที่จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมให้คนไทยมีวินัยในการลงทุน โดย บลจ ที่ออก LTF จะนำเงินไปลงทุนในหุ้นภายในประเทศ (กฎหมายกำหนดไว้ที่ 65% ขึ้นไป) เพื่อส่งเสริมตลาดทุนในประเทศ และเงิน 35% ส่วนที่เหลือ อาจจะมีการลงทุนในตราสารหนี้, หุ้นกู้, เงินฝากธนาคาร, หุ้นต่างประเทศ หรือ หุ้นในประเทศ ก็ได้ ขึ้นอยู่กับนโยบายการลงทุนของ บลจ และผู้ที่ซื้อ LTF จะได้สิทธิ์ในการลดหย่อนภาษี
ข้อดีของการซื้อ LTF
- ได้สิทธิ์ในการลดหย่อนภาษี ตามฐานภาษีของแต่ละคน
- ซื้อได้สูงสุด 15% ของรายได้ทั้งปีที่ต้องเสียภาษี แต่ห้ามเกิน 500,000 บาท เช่น
- ตัวอย่างที่ 1 นาย ก มีรายได้เดือนละ 30,000 บาท และสิ้นปีได้โบนัสอีก 40,000 บาท รายได้ทั้งปีของนาย ก คือ (12 x 30,000) + 40,000 = 400,000 บาท ดังนั้น นาย ก ซื้อ LTF ได้สูงสุด 400,000 x 15 / 100 = 60,000 บาท
- ตัวอย่างที่ 2 นาย ข มีรายได้เดือนละ 1 ล้านบาท ไม่มีโบนัส รายได้ทั้งปีคือ 12 ล้าน 15%ของ 12 ล้าน คือ 1.8 ล้าน ซึ่งเกินเพดาน 500,000 บาท ดังนั้น นาย ข สามารถซื้อ LTF ได้ 500,000 บาท
- มีโอกาสได้รับผลตอบแทนจากการเพิ่มขึ้นของเงินลงทุน(capital gain) ในกรณีที่หุ้นขึ้น แต่ในทางกลับกันก็มีโอกาสขาดทุนเช่นกัน ในกรณีที่หุ้นลง
- บางกองทุน มีการจ่ายปันผลให้กับผู้ลงทุน (ดูนโยบายการจ่ายปันผลได้จากหนังสือชี้ชวน) ทำให้มีรายได้จากเงินปันผลทุกปีแม้ไม่ได้ขายกองทุน
- เป็นการลงทุนที่ใช้เงินลงทุนไม่สูง (หลักพันบาท)
ข้อกำหนดของ LTF
ผู้ที่ซื้อ LTF จะต้องถือ LTF ไว้อย่างน้อย 7 ปีปฏิทิน เช่น ถ้าซื้อ ปี 2559 จะสามารถขายได้ตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป (ไม่ระบุเดือน เดือนไหนก็ได้) เช่น
- ซื้อ ธันวาคม 2559 ขาย มกราคม 2565 ได้ (ระยะเวลาถือจริง ประมาณ 5 ปี)
กองทุน LTF สามารถจำแนกตามลักษณะความเสี่ยงได้ 3 ประเภทคือ
- เสี่ยงสูงมาก คือ กองทุนจะลงทุนหุ้นไทย 70 - 80% และส่วนที่เหลือจะลงทุนในหุ้นต่างประเทศ กองทุนชนิดนี้จะมีความผันผวนสูงมาก และมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินด้วย ตัวอย่างกองทุนประเภทนี้เช่น กองทุน LT4 ของ บลจ ไทยพาณิชย์
- เสี่ยงสูง คือ กองทุนจะเน้นลงทุนหุ้นไทย 100% กองทุนชนิดนี้จะมีความผันผวนสูง ตัวอย่างกองทุนประเภทนี้เช่น กองทุน LT2, LT3, LTT ของ บลจ ไทยพาณิชย์
- เสี่ยงปานกลาง คือ กองทุนจะลงทุนในหุ้นประมาณ 70% และที่เหลือจะลงทุนในตราสารหนี้ หุ้นกู้ เงินฝาก กองทุนชนิดนี้จะมีความผันผวนปานกลาง ตัวอย่างกองทุนประเภทนี้เช่น กองทุน LT1 ของ บลจ ไทยพาณิชย์
- เสี่ยงต่ำ คือ กองทุนจะมีการลงทุนในตราสารอนุพันธ์เพื่อป้องกันความเสี่ยง เสมือนว่ากองทุนนั้นๆ ลงทุนในหุ้นเพียงแค่ประมาณ 0-20 % กองทุนชนิดนี้จะมีความผันผวนต่ำ หรือ แทบจะคงที่ถ้ากองทุนนั้นลงทุนในตราสารอนุพันธ์เต็มจำนวน (ขึ้นอยู่กับนโยบายการลงทุน) ตัวอย่างกองทนประเภทนี้ เช่น กองทุน LTS ของ บลจ ไทยพาณิชย์ (ปัจจุบัน กฏหมายไม่อนุญาตให้ใช้ตราสารอนุพันธ์ กับกองทุน LTF แล้ว ดังนั้น กองทุนประเภทนี้ จะไม่มีแล้ว)
เทคนิคเบื้องต้นในการเลือกซื้อกองทุน LTF
- ควรซื้อแบบถัวเฉลี่ยทุกเดือน (Dollar Cost Averaging) มากกว่าซื้อครั้งเดียวปลายปี เพราะจะได้ราคาระดับเฉลี่ยที่ไม่เสี่ยงจนเกินไป ถ้าไปซื้อปลายปีครั้งเดียวอาจจะได้ราคาที่ยอดดอย (รายละเอียดหลักการ Dollar Cost Average: http://piggyman007.blogspot.com/2011/05/dollar-cost-averaging.html)
- ควรเปรียบเทียบหลายๆ บลจ โดยดูนโยบายการลงทุนว่าตรงตามที่เราต้องการไหม ดูค่าบริหารจัดการว่าแพงไปไหม ดูว่ามีปันผลให้ไหม(สำหรับคนชอบปันผล)
- กองทุนที่จ่ายเงินปันผลให้เรา เงินนั้นจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% เช่น
- กองทุน A จ่ายปันผล 10,000 บาท เราจะได้รับเงินจริงๆ 9,000 บาท (โดนหักภาษี 10%) เสมือน เราเสียเงินฟรีๆ 1,000 บาท ดังนั้น ถ้าไม่ต้องการโดนหักภาษี ควรเลือกกองทุนที่ไม่มีนโยบายจ่ายเงินปันผล
- บาง บลจ อนุญาตให้เราสามารถสลับกองทุนภายใน บลจ เดียวกันได้ เช่น ถ้าเรามีกอง LTS แล้วคิดว่าหุ้นน่าจะขึ้น เราสามารถสลับไปเป็นกอง LT2 ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดใด ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีสำหรับคนซื้อ
การค้นหา LTF ผ่านทางเว็บไซต์ morningstarthailand
กองทุน LTF ในประเทศไทยมีหลากหลายกองมาก และแต่ละกองก็มีผลการดำเนินงานที่แตกต่างกัน ดังนั้นการเลือกลงทุนใน LTF ก็ควรจะมีเครื่องมือช่วยในการตัดสินใจ เพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถเลือกกองทุนที่มีคุณภาพได้ ซึ่งเว็บไซต์ morningstarthailand ก็เป็นหนึ่งในเครื่องมือในการคัดกรองกองทุนที่สนใจและใช้งานได้ไม่ยาก ซึ่งมีวิธีการใช้งานพื้นฐานดังนี้
- เข้าไปที่เว็บไซต์ http://tools.morningstarthailand.com/th/fundquickrank/default.aspx?Site=th&LanguageId=th-TH
- เลือก "กองทุนประหยัดภาษี" เป็น LTF แล้วกดปุ่ม "ค้นหา" ดังรูปที่ 2 ด้านล่าง
- คลิก "Morningstar Rating Overall" เพื่อเรียงลำดับกองทุนผ่านทาง rating ดังรูป 3 หลังจากนั้นผู้ลงทุนก็สามารถเลือกดูรายละเอียดของกองทุนที่ rating สูงๆ ได้
คำเตือน
- rating เป็นการวัดผลการดำเนินงานในอดีตเทียบกับ benchmark ของกองทุนนั้นๆ ซึ่งไม่การันตีผลการดำเนินงานในอนาคต
- กองทุนที่ rating ดีกว่า ไม่จำเป็นที่จะต้องมีผลการดำเนินงานในอนาคตดีกว่า
- rating เป็นเพียงตัวช่วยในการตัดสินใจเท่านั้น ยังมีอีกหลายปัจจัยที่ผู้ลงทนต้องทำการบ้านด้วยตัวเอง เช่น นโยบายการจ่ายปันผล ค่าบริหารจัดการ นโยบายการลงทุน
รูป 2 เลือก LTF แล้วคลิกปุ่ม "ค้นหา"
รูป 3 เรียงตาม "Morningstar Rating Overall"
ถามหน่อยครับ ถ้าผมซื้อวันนี้ 18/7/53 ตามกฏหมาย ผมขายได้ 1/1/57 ถึงไม่เสียประโยชน์ทางภาษี
ตอบลบแล้วถ้าผมซื้อวันนี้ก้อนนึง แล้วไปซื้ออีกที 2/2/54 ในกองเดียวกัน
การซื้อครั้งที่สองของผม ทำให้ผมต้องเลื่อนไปขายปี 58 ไหม?
สมมติซื้อกองทุน A ครั้งแรกหนึ่งหมื่นบาท ปี 2009
ตอบลบซื้อกอง A อีกสองหมื่นบาทปี 2010
ณ ปี 2014 จะสามารถขายส่วนของที่ซื้อปี 2009 ได้ครับ
ณ ปี 2015 ก็สามารถขายส่วนสองหมื่นที่ซื้อปี 2010 ได้
บลจ เขาจะมีการแทร็ก statement ได้ครับ เช่น ณ ปี 2014 nav มีค่า 33,000 บาท แบ่งได้เป็น ณ ซื้อครั้งแรก 11,000 ซื้อครั้งที่สอง 22,000
เวลาอยากขาย ตอนปี 2014 ก็บอกทาง บลจ ครับ เขาจะดูให้ว่าเราสามารถขายได้กี่บาทครับ
ไม่แน่ใจว่า ตอบตรงคำถามหรือเปล่าครับ
ตอบลบขอบคุณมากนะคะ ตอบได้เข้าใจง่ายดีแล้วค่ะ
ตอบลบผมเข้าใจว่าเราสามารถขายของกอง 2009 ได้ในปี 2013 นะครับ ส่วนกองของ 2010 ก็สามารถขายได้ในปีถัดมา
ตอบลบ