25 กุมภาพันธ์ 2553

ROE vs. ROA


ROE vs. ROA part 1

ในการวิเคราะห์ทางปัจจัยพื้นฐาน หลายต่อหลายครั้งที่มักจะเกี่ยวข้องกับอัตราส่วนต่างๆ ที่อยู่มากมาย จนในบางครั้งอาจทำให้เกิดความสับสน Fun Fund ในสัปดาห์นี้จึงขอเสนอเรื่องของ อัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) และ อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (ROA) ซึ่งอัตราส่วนยอดนิยมทั้งสองนี้ หากมองเผินๆแล้วอาจดูเหมือนว่าไม่แตกต่างกัน เนื่องจากว่าทั้งคู่เป็นการวัดอัตราผลตอบแทนและใช้ในการประเมินความสามารถของบริษัทในการสร้างผลกำไรจากเงินที่บริษัทได้ลงทุนไป แต่หากดูกันให้ลึกๆ แล้วจะเห็นได้ว่าอัตราส่วนทั้งสองนี้มิได้เหมือนกันเสียทุกอย่างไป ซึ่งเราจะมาดูกันว่าความแตกต่างที่ว่านั้นอยู่ที่ตรงไหน

อัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) เป็นเครื่องทดสอบถึงประสิทธิผลในการใช้เงินที่ได้จากผู้ถือหุ้นของผู้บริหารของบริษัท ทั้งนี้ ROE สามารถคำนวณได้ ดังนี้

Return on Equity = Annual Net Income / Average Shareholders’ Equity

ยกตัวอย่าง การคำนวณหา ROE สำหรับปี 2547 ของบริษัทแห่งหนึ่งในหมวดพาณิชย์ โดยสมมติชื่อว่า บริษัท A Commerce จำกัด (มหาชน) ซึ่งในปี 2547 A Commerce มีกำไรสุทธิทั้งปีประมาณ 381 ล้านบาท ในขณะที่ส่วนของผู้ถือหุ้น ณ สิ้นปี 2546 และ 2547 อยู่ที่ 1,316 ล้านบาท และ 1,610 ล้านบาท ตามลำดับ จากข้อมูลเหล่านี้ สามารถคำนวณหา ROE ได้ที่ 26.0% ซึ่งบอกให้ผู้ลงทุนทราบว่า ในปี 2547 A Commerce สามารถสร้างผลตอบแทนได้ในอัตรา 26% จากทุกๆบาทที่ผู้ถือหุ้นได้ลงทุนไป ซึ่งถือว่าเป็นอัตราผลตอบแทนที่น่าประทับใจทีเดียว

ทีนี้ ลองมาดูที่ อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (ROA) ซึ่งให้อีกมุมมองหนึ่งของความมีประสิทธิผลของผู้บริหาร โดยที่ ROA จะแสดงให้เห็นถึงอัตราผลกำไรที่บริษัทได้รับจากทุกๆบาทของสินทรัพย์ของบริษัท โดยสูตรคำนวณ ROA เป็นดังนี้

Return on Assets = Annual Net Income / Average Total Assets

กลับมาที่ A Commerce อีกครั้งหนึ่ง จากงบดุลของบริษัทมีสินทรัพย์รวม ณ สิ้นปี 2546 และ 2547 อยู่ที่ 4,415 ล้านบาท และ 6,209 ล้านบาท ตามลำดับ ด้วยตัวเลขกำไรสุทธิตัวเดียวกันกับที่ใช้ในการคำนวณ ROE สามารถคำนวณหา ROA ออกมาได้ที่ 7.2% ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ในปี 2547 A Commerce ได้รับผลกำไรประมาณ 7% จากสินทรัพย์ทั้งหมดที่บริษัทเป็นเจ้าของอยู่

ประเด็นที่น่าสนใจคือทำไม ROE กับ ROA ของบริษัทเดียวกันจึงได้แตกต่างกันถึงเพียงนี้ ซึ่งตัวแปรสำคัญที่ก่อให้เกิดความแตกต่างนี้ก็คือการ leverage ทางการเงิน หรือระดับหนี้สินของบริษัทนั่นเอง จากสมการพื้นฐานของงบดุล (สินทรัพย์ = หนี้สิน + ส่วนของผู้ถือหุ้น) จะเห็นได้ว่าหากบริษัทไม่มีหนี้สิน ส่วนของผู้ถือหุ้นก็จะเท่ากับสินทรัพย์รวม และ ROE ก็จะเท่ากับ ROA แต่ถ้าหากว่าบริษัทมีการ leverage ทางการเงินหรือกู้เงินมาเพื่อใช้ในการดำเนินกิจการ ROE ก็ จะมีค่าสูงกว่า ROA ทั้งนี้ ในตัวอย่างที่นำมาใช้นั้น เมื่อพิจารณางบดุลของ A Commerce จะพบว่าบริษัทมีหนี้สินอยู่เป็นปริมาณค่อนข้างสูง โดย ณ สิ้นปี 2547 A Commerce มีหนี้สินรวมเกือบ 4,600 ล้านบาท หรือเกือบ 3 เท่าของส่วนของ ผู้ถือหุ้น ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ ROE มีค่าสูงกว่า ROA มาก สรุปว่า ROE ที่มีค่าสูง เนื่องจากบริษัทมีหนี้สินมาก มิใช่ว่าจะเป็นสิ่งที่ไม่ดีเสมอไป ถ้าประสิทธิภาพและความสามารถในการสร้างผลกำไรของบริษัทยังดีอยู่ นักลงทุนทั้งหลายก็ไม่น่าต้องกังวล เพียงแต่ต้องตีความของอัตราส่วนทั้งหลายให้แตกเท่านั้นเอง

from http://www.one-asset.com/AMClub/FunFundDetail_t.asp?id=44


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความยอดนิยม (ล่าสุด)

บทความยอดนิยม (1 ปีย้อนหลัง)