Pages

Pages

20 มีนาคม 2553

ประเทศไทย ของดีที่ถูกมองข้าม โดย หนูดี วนิษา เรซ


ประเทศไทย ของดีที่ถูกมองข้าม โดย หนูดี วนิษา เรซ

โอกาสในการก้าวข้ามวิกฤติเศรษฐกิจของประเทศไทยครั้งนี้ หลายคนอาจมองเป็นสิ่งที่ไกล และใหญ่เกินที่จะกำลัง แต่สาระสำคัญนั้นเราไม่ต้องรอรัฐบาลหรือองค์กรขนาดใหญ่ที่ไหนเริ่มต้นก่อน ประชาชนแค่หนึ่งคน ก็สามารถลงมือเพื่อทำให้ปัจจุบัน ซึ่งถือเป็นเวลาที่สำคัญที่สุดดีได้ ส่วนอนาคตเป็นเรื่องที่ยังมาไม่ถึง

โดยส่วนตัวหนูดี ได้ลงมือทำไปแล้วในฐานะประชาชนคนหนึ่ง ซึ่งเมื่อได้ทำเต็มกำลังแล้ว ทำให้ที่ผ่านมา จึงไม่ค่อยได้ตั้งคำถามในระดับใหญ่บ่อยนัก รวมทั้งไม่ค่อยกระวนกระวายใจกับสถานการณ์และอนาคตของประเทศ เพราะสบายใจว่า สิ่งที่อยู่ในอำนาจตัวเองนั้นได้ทำดีที่สุด

ส่วนอะไรที่อยู่นอกเหนืออำนาจเป็นเรื่องที่จะต้องเกิดขึ้นตามแต่เหตุปัจจัย

เพราะเชื่ออยู่เสมอว่า "เราทำได้แค่ประกอบเหตุ แต่ผลจะเป็นอย่างไรนั้น อยู่นอกเหนือการควบคุมของเรา"

นอกจากนี้ ในฐานะประชาชนคนหนึ่ง ยังเห็นว่าประเทศไทยยังมีสิ่งดีงามอีกมากมาย เพียงแต่อาจถูกมองข้าม ขณะที่บางอย่างซึ่งเคยมีก็อาจลดน้อยและสูญหายไปในที่สุด

ดังนั้น สิ่งที่ประชาชนคนไทยควรช่วยกันเสริม โดยเริ่มจากสิ่งงดงามที่มีอยู่แล้ว คือ ความอบอุ่นใจจากชุมชนที่แน่นเหนียวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

"หนูดี เชื่อในพลังกลุ่มที่กลมเกลียว"

ตัวอย่างที่ชัดเจนและใกล้ตัวสำหรับสิ่งที่หนูดีพูดถึง ก็คือ ไม่ว่าจะเป็นในลักษณะครอบครัวเล็กๆ เป็นองค์กร หรือเป็นสังฆะทางธรรม จะเป็นในรูปแบบไหนไม่สำคัญ สำคัญแต่ที่ว่ามนุษย์ทุกคนมีความต้องการที่จะเป็นส่วนหนึ่งของหน่วยที่ใหญ่กว่าตัวเอง เพื่อให้ใจสบาย

และนั่นคือ เหตุผลที่คนเราต้องมีศาสนา มีลัทธิ มีองค์กร มีชาติ มีกลุ่มกีฬา

ส่วนทักษะในการอยู่ร่วมกันอย่างกลมเกลียว เรียนรู้จากกันและกัน และมีต้นแบบดีๆ ในสังคมให้เยาวชนมองขึ้นมาให้มากขึ้น ต่างหากเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายต้องเข้ามาช่วยเสริม และเป็นการเสริมที่ต้องทุ่มเทอย่างจริงจัง ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องของการใส่เงินเข้าไปอย่างเดียว แต่นัยที่หนูดีพูดถึง คือ "ผู้ใหญ่" ผู้ที่สร้างเงื่อนไข ผู้ที่ตั้งตนอยู่ในฐานะของผู้กำหนด ต้องกลับมาเริ่มต้นมองตนเองด้วย

หากผู้ใหญ่ต้องการเรียกร้องให้เยาวชนเป็นเด็กที่ดี เด็กเรียนเก่ง เด็กน่ารัก ไม่เสพยา เข้าหาวัด แต่ผู้ใหญ่ได้หยุดแล้วหันมาตั้งคำถามกับตัวเองหรือยังว่า ผู้ใหญ่ได้ทำตัวให้มีคุณค่าพอที่จะเรียกร้องสิ่งเหล่านี้จากเด็กๆ หรือยัง

"เด็กทุกคนไม่ต้องการได้ยินเสียงบ่น"

และหากพูดแทนใจเด็กๆ ได้ อยากจะบอกว่า พวกเขาคงอยากเห็นสิ่งที่ผู้ใหญ่ "ทำ" แล้ว ทำให้เขาคิดว่า "อยากเป็นอย่างนั้นจัง อยากทำอย่างนั้นจัง"

เมื่อความรู้สึกแบบนั้นเกิดขึ้นในใจเด็ก แล้วหลังจากนั้น ผู้ใหญ่ค่อยส่งเสียงให้กำลังใจ หรือให้คำแนะนำที่เกิดประโยชน์จะดีกว่า

เช่นเดียวกับการที่ "ผู้ใหญ่" จะลุกขึ้นมาตั้งเป้าหมายอะไรสักอย่าง โดยที่ "เด็ก" ต้องเป็นผู้ทำสิ่งนั้นให้สำเร็จ

ส่วนเป้าหมายนั้นควรเป็นเป้าหมายร่วม ที่เกิดจาก "รัก" และ "เข้าใจ" ดังคำพูดที่ว่า "เราไม่สามารถรัก ในสิ่งที่เราไม่เข้าใจ"

การที่เราคาดหวังจะเห็นวัยรุ่นและเยาวชนเป็นแบบใด เป้าหมายร่วมควรต้องเกิดขึ้นตั้งแต่เด็กเล็กๆ และต้องเกิดขึ้นจากทุกภาคส่วน

เริ่มต้นจากครอบครัว ต้นทางของ "รัก" และ "เข้าใจ" เพราะมีบางอย่างที่เป็นเหมือนม่านบางๆ มาทำให้อะไรบางอย่างอยู่ผิดที่ ผิดทางไป

หลายครอบครัวมีความรัก มีเวลาให้กับ "เด็ก" ซึ่งบางครั้งมีมากเกินที่เด็กต้องการด้วยซ้ำไป เพราะอย่าลืมว่าเด็กเองเขาก็ต้องการมีเวลาที่เป็นของเขาเองด้วย การที่มีเวลามากแต่ไม่สามารถนำส่วนผสมของ "รัก+เข้าใจ" ส่งต่อให้กับบุตรหลานได้ ก็เป็นเรื่องที่อันตรายได้เช่นกัน

บางครอบครัวปล่อยให้เวลาที่มีสูญเปล่าไป โดยที่ไม่ได้เป็นการต่อยอดพลังที่สดใสให้กับเด็ก

"มีแต่ไม่รู้จักใช้"

ขณะที่ครอบครัวอีกจำนวนหนึ่ง เลือกที่จะมอบหน้าที่ทั้งหมดให้กับโรงเรียน ให้กับครู

(พรุ่งนี้กับข้อเสนอ "พ่อ แม่ ควรเปิดโอกาสให้ลูก เรียนรู้โลก")

from http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/finance/thailand-tomorrow/20100101/95790/ประเทศไทย-ของดีที่ถูกมองข้าม.html


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น