เส้นทางความมั่งคั่ง ของ "บัฟเฟตต์" โดย ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
ตำนานความมั่งคั่งของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ เป็นแรงบันดาลใจให้กับ Value Investor ทั่วโลกไม่เว้นแม้แต่ในเมืองไทย จุดเด่นของบัฟเฟตต์ นอกจากจำนวนเงินที่มหาศาลติดอันดับต้นๆ ของเศรษฐีที่รวยที่สุดในโลกแล้ว ยังเป็นเพราะเขาไม่ได้เป็นคนที่มีฐานะทางบ้านที่ร่ำรวยมาก่อน หรือแต่งงานกับคนที่ร่ำรวย นอกจากนั้น เขาไม่ได้เป็นคนที่สร้างตัวจาก "ธุรกิจ" เขาเป็นแค่ "นักลงทุน" มาตลอดชีวิต ดังนั้น นักลงทุนหนุ่มๆ จำนวนมากจึงอาจจะคิดว่า พวกเขาสามารถรวยมหาศาลได้เช่นกันโดยการยึด "อาชีพ" การเป็น "นักลงทุน" ตั้งแต่ยังอายุน้อยและด้วยเงินเริ่มต้นที่น้อยมากแบบเดียวกับบัฟเฟตต์ แต่นี่เป็นหนทางของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ จริงหรือ? ลองมาดูเส้นทางการสร้างความมั่งคั่งของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ดูว่าเขารวยจนมีเงิน 47,000 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นเงินไทย 1.5 ล้านล้านบาทได้อย่างไร
พูดถึง "เงินเริ่มต้น" ของบัฟเฟตต์ก่อน ตาม "ตำนาน" บอกว่าบัฟเฟตต์ เริ่มต้นลงทุนด้วยเงิน 100 ดอลลาร์ หรือไม่กี่พันบาทไทย แต่ถ้ามีเงินเพียงแค่นี้และไม่มี "รายได้อื่น" เพิ่มเติมเข้ามาอย่างมีนัยสำคัญ ทำอย่างไร ผมก็คิดว่าบัฟเฟตต์ไม่มีทางรวยได้ขนาดนี้ บางทีเขาอาจมีเงินวันนี้สัก 50-60 ล้านดอลลาร์ และเป็นคนที่ไม่มีใครรู้จัก แต่ข้อเท็จจริง คือ ช่วงต้นๆ ของชีวิตการลงทุนของบัฟเฟตต์ รายได้จากการลงทุนด้วยเงินของตนเอง น่าจะเป็น "รายได้ส่วนน้อย" รายได้สำคัญ น่าจะเป็น "รายได้อื่น" ที่เกิดจากการทำงานด้วยน้ำพักน้ำแรง นั่นคือ เป็นรายได้จากการ "รับจ้างลงทุน" คือ ส่วนแบ่ง 25% ของกำไร ที่เกินกว่า 6% ที่บัฟเฟตต์คิดจากคนที่เอาเงินมาให้เขาบริหาร รายได้ส่วนนี้ บัฟเฟตต์จะนำมาลงทุนทบต้นเข้าไปเรื่อยๆ และทำให้เงินส่วนของตนเพิ่มขึ้นก้าวกระโดด เพราะเขาทำกำไรให้กับพอร์ตที่เขารับบริหารสูงมาก ผลตอบแทนพอร์ตโตปีละ 40-50% ทำให้เงินของบัฟเฟตต์เพิ่มขึ้นมาเป็นเงินถึง 25 ล้านดอลลาร์ เมื่อเขาอายุ 38 ปี และนี่คือการจบ "บทที่หนึ่ง" ในชีวิตการลงทุนของบัฟเฟตต์
บทที่สองของบัฟเฟตต์ คือ การลงทุนอย่างเดียว คือ การใช้บริษัทเบิร์กไชร์ เป็นบริษัทโฮลดิ้งที่ถือหุ้นในบริษัทอื่นๆ รวมถึงหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ และนั่นคือช่วงปี 1969 ที่บัฟเฟตต์ปิดกองทุน และคืนเงินให้คนที่มาให้บริหาร ซึ่งเป็นช่วงที่หุ้นในตลาดหลักทรัพย์ขึ้นไปสูงสุด และกำลังจะตกลงมากลายเป็นตลาดหมี ช่วง 10 ปีนับจากปี 1969-1979 ที่บัฟเฟตต์เริ่มลงทุนอย่างเดียวจากเงินต้น 25 ล้านดอลลาร์ ตลาดหลักทรัพย์อยู่ในภาวะยากลำบากมาก เพราะเกิดตลาดหมีที่รุนแรงถึงสองช่วงคือ ในปี 1969-1971 และช่วง 1973-1974 ซึ่งเป็นวิกฤติตลาดหุ้นที่ร้ายแรง เพราะภาวะเงินเฟ้อที่รุนแรง ทำให้ผลตอบแทนตลาดช่วงสิบปีนั้นอยู่ที่ 4.7% ต่อปีโดยเฉลี่ย แต่พอร์ตของบัฟเฟตต์คิดจากราคาหุ้นของเบิร์กไชร์ กลับเพิ่มขึ้นถึง 22.5% เอาชนะดัชนีตลาดถึง 17.8% และนี่คือศิลปะแห่งการ "เอาตัวรอด" ในยามวิกฤติของบัฟเฟตต์
ช่วงสิบปีที่สองของการลงทุนอย่างเดียวของบัฟเฟตต์ คือช่วงปี 1979-1989 เป็นช่วง "ฟื้นตัว" ของตลาดหุ้น ดัชนี S&P ปรับตัวขึ้นเฉลี่ยปีละ 12.5% แต่พอร์ตของบัฟเฟตต์ปรับตัวขึ้นเฉลี่ยปีละ 39.1% ชนะตลาดถึง 26.6% ทำให้บัฟเฟตต์กลายเป็นอภิมหาเศรษฐีของอเมริกาโดยมีความมั่งคั่ง 3.4 พันล้านดอลลาร์ในปี 1989
ช่วงสิบปีที่สามคือปี 1989-1999 เป็นช่วงตลาดหุ้นอเมริกาบูมมาก และเป็นทศวรรษของการลงทุน ดัชนี S&P ปรับเพิ่มขึ้นปีละ 15.4% โดยเฉลี่ย พอร์ตของบัฟเฟตต์ ปรับเพิ่มขึ้น แม้จะไม่ดีเท่าช่วงสิบปีก่อนหน้า ส่วนหนึ่ง คือ ช่วงสิบปีนี้เป็นช่วงของหุ้นไฮเทค และหุ้นเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ต ซึ่งบัฟเฟตต์ไม่ยอมลงทุน ผลตอบแทนของบัฟเฟตต์จึงเท่ากับ 20.5% โดยเฉลี่ย และชนะดัชนีตลาดเพียง 5.1% ในปี 1998 บัฟเฟตต์ได้รับการจัดอันดับให้เป็นคนรวยที่สุดเป็นอันดับสองของโลก ด้วยความมั่งคั่ง 33.6 พันล้านดอลลาร์ เขากลายเป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมของนักลงทุนและบรรษัทของอเมริกา
ช่วงสิบปีสุดท้าย ตั้งแต่ปี 1999 ถึง 2009 เป็นปีวิกฤติของตลาดหุ้น ทั้งวิกฤติจากหุ้นอินเทอร์เน็ตและวิกฤติซับไพร์ม ทำให้ช่วงสิบปีนี้ตลาดหุ้นไม่ได้เพิ่มขึ้น แต่กลับลดลงปีละ 2.7% โดยเฉลี่ย พอร์ตของบัฟเฟตต์ ก็ยังโตขึ้นเฉลี่ยปีละ 5.9% อานิสงส์จากการที่ไม่ได้ลงทุนในหุ้นไฮเทค จึงไม่ถูกกระทบมากนัก ผลตอบแทนที่เหนือกว่าตลาด 8.6% ถึงแม้จะยังสูง แต่ห่างจากที่เคยทำได้ในช่วง 20 ปีแรกของการลงทุน นี่อาจเป็นผลจากพอร์ตของบัฟเฟตต์โตขึ้นมาก จนการทำผลตอบแทนสูงมาก จึงทำได้ยากขึ้น
ตลอดช่วง 40 ปีของการลงทุนอย่างเดียว ผลตอบแทนต่อปีโดยเฉลี่ยแบบทบต้นของบัฟเฟตต์สูงถึง 21.43% เงินหนึ่งดอลลาร์ กลายเป็น 2,362 ดอลลาร์ ขณะที่ผลตอบแทนของตลาดอยู่ที่ 7.24%ต่อปี เงินหนึ่งดอลลาร์กลายเป็น 16.4 ดอลลาร์ ผลต่าง 14.19% ต่อปี จึงเป็นสถิติที่แทบจะหาคนเทียบไม่ได้ โดยเฉพาะเม็ดเงินมหาศาลของบัฟเฟตต์
การ "เดินทาง" ของบัฟเฟตต์ เป็นเส้นทางที่ "ขีดเขียน" ขึ้นด้วยฝีมือและ แน่นอน ด้วยดวงชะตา เส้นทางของ VI จำนวนไม่น้อยก็กำลังถูก "ขีดเขียน" ขึ้น โดยเฉพาะช่วงแรก ๆ ของชีวิต ว่าที่จริง VI เกือบทั้งหมดในเมืองไทย เพิ่ง "เริ่มเดินทาง" หลายคนประสบความสำเร็จอย่างสูง บางคนสูงกว่าของบัฟเฟตต์ด้วยซ้ำ แต่ความสำเร็จที่แท้จริง ต้องวัดด้วยระยะเวลาที่ยาวมาก และความยากอยู่ที่ช่วงเวลาที่พอร์ตใหญ่ขึ้นมากๆ ซึ่งทำให้ผลตอบแทนโตช้าลงมาก ไม่เว้นแม้แต่กรณีของบัฟเฟตต์
from http://www.bangkokbiznews.com/home/details/business/ceo-blogs/nives/20100323/106377/เส้นทางความมั่งคั่ง-ของ-บัฟเฟตต์.html
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น