05 มีนาคม 2553

Risk-Management-เกมพิชิตโชคชะตา


Risk-Management-เกมพิชิตโชคชะตา

ความเสี่ยงมีทั้ง 'ควบคุมได้' และ 'ควบคุมไม่ได้' อย่างไรก็ดีความเสี่ยงไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิดหากอยู่องค์กรฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันชื่อ ERM - Enterprise Risk Management เป็นการสยบความเสี่ยงด้วยการบริหารจัดการที่เป็นรูปแบบชัดเจน หาใช่ 'สามัญสำนึก' ที่มี

และ 'ใช่' ที่ความพลาดพลั้งส่วนใหญ่มักเกิดจากหลายปัจจัยที่อยู่เหนือความคาดหมายและการควบคุม แต่ที่ยิ่งกว่า 'ใช่' ก็คือ เมื่อประมาทเลินเล่อ เมื่อไหร่มักเป็นเรื่อง (ทุกที)

ว่ากันว่าองค์กรธุรกิจไทยเองก็ตระหนักถึงบทเรียนความสูญเสียซึ่งเกิดจากการขาดการบริหารความเสี่ยงที่ดี โดยเฉพาะในวิกฤติต้มยำกุ้งของไทย เมื่อปี พ.ศ.2540 และได้ลุกขึ้นมาบริหารความเสี่ยงอย่างจริงจังจนกลายเป็น Best Practice เป็นโรลโมเดลที่ควรค่าให้องค์กรอื่นได้มาศึกษาเรียนรู้เรียนลัด

เพราะแม้รู้อยู่เต็มอกว่าการบริหารความเสี่ยงคือ 'ยาดี' คือ หนทางแห่งการอยู่รอด คือการผ่อนหนักให้เป็นเบา แต่หากจะต้องเริ่มต้นนับหนึ่งไม่แน่ที่องค์กร ธุรกิจหลายแห่งจะต้องครวญเพลง 'จังซี่มันต้องถอน' ของ ปอยฝ้าย มาลัยพร ท่อนที่ว่า 'มันเป็น เงอะๆ งะ งะ'

โชคดีที่ในปีนี้ สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย จัดฟอรัมใหญ่ 'TLCA Annual Risk Management Conference 2010' ขึ้นเป็นครั้งที่สอง ระหว่างวันที่ 16-18 กุมภาพันธ์ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ บางกอกคอนเวนชั่น เซ็นทรัลเวิลด์

ความพิเศษของงานนี้ก็คือ จะมีซีอีโอ บอร์ดบริหาร ซีเอฟโอ ขององค์กรธุรกิจชั้นนำมาเป็นผู้ถ่ายทอดประสบการณ์ด้วยตัวเอง อาทิ ชนินท์ ว่องกุศลกิจ, อนนต์ สิริแสงทักษิณ, ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล, ธีรพงศ์ จันศิริ, ดร.อนุสรณ์ แสงนิ่มนวล, คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม, หม่อมหลวงผกาแก้ว บุญเลี้ยง, เทวินทร์ วงศ์วานิช, ดร.รณชิต มหัทธนะพฤทธิ์, ปรารถนา มงคลกุล ฯลฯ ทั้งยังมีเวิร์คชอปสอน ERM โดยวิทยากรที่เชี่ยวชาญตัวจริงเสียงจริงอีกด้วย

คลิกดูรายละเอียดที่ www.thailca.com หรือโทร 02 229 2524, 2526

แต่ก่อนจะถึงวันงาน 'กรุงเทพธุรกิจ' ขอเรียกน้ำย่อยด้วยบทสัมภาษณ์ 3 ซีอีโอ และ 2 ซีเอฟโอ ได้แก่ ชนินท์ ว่องกุศลกิจ, ธีรพงศ์ จันศิริ, ดร.อนุสรณ์ แสงนิ่มนวล, ดร.รณชิต มหัทธนะพฤทธิ์ และปรารถนา มงคลกุล สะท้อนมุมคิดอะไรคือความเสี่ยงประจำปี 2010 ตลอดจนวิธีบริหารความเสี่ยงที่สัมฤทธิผล

ซีอีโอ..แอคชั่น

ชนินท์ ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง บมจ.บ้านปู กล่าวว่า ถ้าพูดถึงเรื่องการบริหารความเสี่ยงในวันนี้ทำดีขึ้นเยอะ เหตุผลก็เพราะผู้บริหารเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ด้วยตัวเอง

มีความเสี่ยง 6 ข้อที่ซีอีโอท่านนี้มองว่าคือความเสี่ยงทั้งในวันนี้และอาจตลอดไป นั่นคือ 1.การกำหนดแผนและกลยุทธ์ธุรกิจที่ผิดพลาด 2.การไม่สามารถปฏิบัติสำเร็จได้ตามแผนและหมายถึงการปรับตัวไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงด้วย 3.ความขัดแย้งทางการเมือง 4. การเปลี่ยนแปลง กฎ ระเบียบ ปฏิบัติต่างๆ 5.อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ และ 6.พฤติกรรมผู้บริโภค

สิ่งที่จะเกิดขึ้นหากการบริหารล้มเหลวก็คือ ผลกระทบต่อมูลค่าสินทรัพย์ของบริษัท ทำให้รายได้ กำไรลดลง ตลอดจนชื่อเสียงที่สั่งสมก็เสียหาย

บมจ.บ้านปู จึงไม่คิดจะเปิดช่องให้กับความเสี่ยง องค์กรแห่งนี้ได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อคอยดูแลติดตามเรื่องความเสี่ยงอย่างใกล้ชิด โดยชนินท์นั่งแป้นเป็นประธานด้วยตัวเอง

เขายอมรับว่าการบริหารความเสี่ยงก็หนีไม่พ้นปัญหา 'ทำไม่ได้อย่างที่คิด' ดังนั้นสำหรับเขาแล้ว Organization Chart จึงมีความสำคัญเพราะที่สุดคนกับงานเป็นอะไรที่ต้องเหมาะเจาะสอดรับกัน

การบริหารความเสี่ยง ช่วยให้การคาดการณ์ทางธุรกิจมีความแม่นยำขึ้น ช่วยทำให้การวางแผนธุรกิจบรรลุเป้าหมายได้รัดกุมขึ้น และไม่ทำให้เกิดสเต็ปธุรกิจที่ช้าหรือเร็วเสียจนกลับกลายเป็นการทำลายแทนที่จะทำให้บริษัทเดินหน้ากลับก้าวถอยหลัง

ธีรพงศ์ จันศิริ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ กล่าวว่า การบริหารความเสี่ยงสำหรับเขา คือการมองโลกในแง่ร้ายมองแต่ภาพ Worst-Case Scenario เท่านั้น

ดังภาษากวีที่เคยผ่านตา 'โลกกล่นเกลื่อนไปด้วยความทุกข์'

"คนเรามักมองมุมบวก ไม่ได้มองมุมลบ ซึ่งคือความเสี่ยง แต่มันเป็นมุมที่ช่วยทำให้เราเห็นว่าจะเกิดปัญหาอะไรขึ้น และนำไปสู่การเตรียมตัว เตรียมพร้อมป้องกันได้ทัน"

'การไม่เก็งกำไร' คือแนวคิดในการบริหารความเสี่ยงของซีอีโอท่านนี้

โดยนำมาใช้ในทุกเรื่อง อาทิ อัตราแลกเปลี่ยน ดอกเบี้ย ตลอดไปจนถึงวัตถุดิบที่ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจ 'ขายปลา' ซึ่งแม้ว่าตลอดมาจะต้อง เผชิญหน้ากับความผันผวนอย่างหนักแต่เขาก็ไม่เคยใช้วิธีซื้อเยอะๆ ตอนราคาถูก แต่จะกำหนดซื้อทุก 60 วัน

ที่สำคัญวินัย และวิธีการเช่นนี้ทำให้บริษัทแห่งนี้เติบโตเป็นพิเศษในยามเกิดวิกฤติ ทั้งๆ ที่การเติบโตอย่างรวดเร็วในเวลาอันแสนสั้นไม่ใช่เป้าหมายของซีอีโอท่านนี้

เขาบอกว่าโลกธุรกิจยุคนี้คือยุค 'แพ้คัดออก' ดังนั้นทุกบริษัทต้องผูกปิ่นโตไว้กับการบริหารความเสี่ยง

ซึ่งจะสำเร็จหรือไม่ขึ้นอยู่กับการกำหนดนโยบายที่ชัดเจน ขีดกรอบให้พนักงานเดิน และอย่าลืมถึงเรื่องการติดตาม และการตรวจสอบด้วย

ดร.อนุสรณ์ แสงนิ่มนวล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.บางจากปิโตรเลียม มองว่าถ้าส่วนใหญ่เกิดเรื่องร้ายแล้วกลับกลายเป็นดีก็คงไม่มีใครสนใจมองเรื่องการบริหารความเสี่ยง แต่เพราะมันมักจะเป็นเรื่องร้ายที่นับวันจะยิ่งร้ายลึก..เสียจนแทบทนพิษบาดแผลไม่ไหว

เขาบอกว่าบางจากนั้นทำธุรกิจที่มีการซื้อการขายแบบ 'เรียลไทม์' เวลานอนก็ยังต้องทำงาน เรียกว่าความเสี่ยงนั้นมาหายใจอยู่รดต้นคอเลยทีเดียว

ปัจจุบันเขาได้จัดเกรดการบริหารความเสี่ยงของบางจากไว้ที่ B+ ...ทำไมยังไม่ถึง A (คาดว่าจะได้ในอีก 2 ปีข้างหน้า) ก็ได้ฟังเหตุผลว่าเพราะพนักงานยังไม่เข้ามามีส่วนร่วมเต็มร้อย

การบริหารความเสี่ยงนั้นเป็นเรื่องของ 'เรา' ตั้งแต่ผู้ที่นั่งอยู่ระดับหัวแถวไปจนถึงหางแถว ถ้าทุกคนช่วยกันคิดความเสี่ยงก็ไม่มีวันหลุดรอดสายตา และ 'หลายหัวย่อมดีกว่าหัวเดียว'

เขาบอกว่าได้เตรียมประสบการณ์ดีๆ เพื่อแชร์ให้กับผู้ที่เข้าฟังการสัมมนาในครั้งนี้ ทฤษฎีอ่านในหนังสือได้แต่จะรู้ซึ้งได้มากกว่าหากได้ฟังวิธีปฏิบัติจริง

เมื่อบริหารความเสี่ยงเป็นและบริหารเก่งนั่นหมายถึงการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันขององค์กรไทย

from http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/business/hr/20100209/99448/Risk-Management-เกมพิชิตโชคชะตา.html


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความยอดนิยม (ล่าสุด)

บทความยอดนิยม (1 ปีย้อนหลัง)