Pages

Pages

21 เมษายน 2553

“ออมก่อนใช้” ด้วยการสร้างระบบการออมอัตโนมัติ

“ออมก่อนใช้” ด้วยการสร้างระบบการออมอัตโนมัติ

ในตอนก่อนหน้านี้ ได้แนะนำไปแล้วว่า เราจำเป็นต้องเริ่มออมเสียแต่วันนี้ เพื่อให้เกษียณอย่างสบาย และได้แนะนำให้ปรับแนวคิดในการออมเสียใหม่ ให้ “ออมก่อนใช้” ไม่ใช่ “ใช้แล้วเหลือจึงออม” เพราะโดยธรรมชาติของคนเรานั้นมักจะขาดวินัยในการออม แม้ตั้งใจจะใช้จ่ายอย่างประหยัดเพื่อจะออมให้ได้ ก็มักทำไม่สำเร็จ หลักการก็คือว่า สร้างระบบการออมที่หักเงินไปออมทันที่เงินเดือนออก ในตอนนี้ผมขอขยายความการสร้างระบบการออมอัตโนมัติ เพื่อให้เราสามารถ“ออมก่อนใช้” ได้สำเร็จ

เพื่อให้เข้าใจง่าย สมมติว่าท่านมีเงินเดือน 20,000 บาท และตั้งใจจะออมให้ได้เดือนละ 5,000 บาท เรามาดูกันว่าจะมีช่องทางสร้างระบบการออมอัตโนมัติได้อย่างไรบ้าง

1. ระบบออมภาคบังคับ ได้เล่าไปในตอนก่อนแล้วว่า การออมภาคบังคับเป็นการสร้างวินัยการออมที่ดีที่สุด เพราะเรากำลังถูกบังคับให้ออมเงินด้วยการหักจากเงินเดือนโดยอัตโนมัติ ดังนั้น ระบบการออมภาคบังคับจึงจัดเป็น “การออมอัตโนมัติ” ที่มีอยู่แล้ว ท่านไม่ต้องสร้างขึ้นมาใหม่ แต่ขอให้ออมผ่านระบบนี้อย่างเต็มที่

ระบบการออมภาคบังคับที่สำคัญของไทยคือ กองทุนประกันสังคมกรณีชราภาพ ซึ่งท่านที่ทำงานในภาคเอกชนและเป็นผู้ประกันตนซึ่งมีจำนวนกว่า 9.2 ล้านคนทั่วประเทศในขณะนี้ ได้ออมอยู่แล้วทุกเดือนในอัตราร้อยละ 3 ของรายได้ นายจ้างช่วยสมทบอีกร้อยละ 3 ของรายได้ มีเพดานรายได้ไม่เกิน 15,000 บาท เงินที่ท่านออมเหล่านี้จะได้รับกลับคืนไปในรูปของ “บำเหน็จ” หรือ“บำนาญ”เมื่อเกษียณ ท่านจึงได้ออมเงินกับกองทุนประกันสังคมอยู่แล้วทุกเดือน

เนื่องจากเราสมมติว่าท่านมีเงินเดือน 20,000 บาท แต่กองทุนจัดเก็บเงินสมทบโดยมีเพดานรายได้ 15,000 บาท ท่านจึงออมกับกองทุนประกันสังคมในอัตราร้อยละ 3 ของเพดานรายได้ 15,000 บาท คิดเป็นเงินออมเดือนละ 450 บาท นายจ้างสมทบอีก 450 บาท รวมเป็นเงินออมเดือนละ 900 บาท

จะเห็นได้ว่า ในแต่ละเดือน ท่านออมกับกองทุนประกันสังคมเป็นจำนวนไม่มากนัก เช่น ท่านที่มีรายได้ 20,000 บาทต่อเดือน ท่านออมเพียง 450 บาท การออมกับกองทุนประกันสังคมจึงไม่ได้สร้างภาระทางการเงินแต่ประการใด แต่เป็นระบบการออมแบบอัตโนมัติให้กับตัวท่านเอง เพื่อให้มีบำเหน็จหรือบำนาญใช้หลังเกษียณ
นอกจากกองทุนประกันสังคมแล้ว ท่านที่เป็นข้าราชการและเป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ก็จัดว่าอยู่ในระบบการออมภาคบังคับ โดยมีอัตราการออมเงิน 3% + 3% ของรายได้เช่นเดียวกัน ท่านจึงมีระบบการออมอัตโนมัติผ่าน กบข. เป็นประจำทุกเดือน
ในส่วนของ กบข. ไม่มีเพดานรายได้ ดังนั้นท่านที่เป็นสมาชิก กบข. และมีเงินเดือน 20,000 บาท จึงได้ออมกับ กบข. เดือนละ 600 บาท รัฐบาล (ในฐานะนายจ้างของข้าราชการ) สมทบให้อีก 600 บาท รวมเป็นเงินออมเดือนละ 1,200 บาท

ในปัจจุบัน กบข. ได้เปิดโครงการออมเพิ่มเพื่อให้สมาชิกสามารถสะสมเงินเข้ากองทุนได้สูงสุดถึงร้อยละ 15 ของเงินเดือน นับเป็นโอกาสดีที่เราจะได้ออมเพิ่ม

ทั้งนี้ ขอย้ำอีกครั้งว่า การออมภาคบังคับกับกองทุนประกันสังคมและกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการมีข้อดีอย่างน้อย 2 ประการ คือ (1) เงินทุกบาทที่ท่านออมมีนายจ้างสมทบด้วยอีกหนึ่งเท่า (2) เงินทุกบาทที่ท่านออมสามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีได้ด้วย

2. ระบบการออมภาคสมัครใจ มีไว้เพื่อรองรับผู้ที่ยังไม่มีสวัสดิการออมเงินเพื่อวัยเกษียณภาคบังคับ แรงงานนอกระบบ (Informal Sector) หรือมีสวัสดิการดังกล่าว แต่ต้องการออมเพิ่มเติม

ระบบการออมภาคสมัครใจที่สำคัญ คือ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งครอบคลุมสมาชิกที่เป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจและลูกจ้างในภาคเอกชนจำนวนประมาณ 2 ล้านคน ปัจจุบันมีเงินสะสมประมาณ 514,500 ล้านบาท โดยลูกจ้างสมัครใจให้หัก"เงินสะสม" และนายจ้างจ่ายเงินเข้าอีกส่วนหนึ่งเรียกว่า"เงินสมทบ" เมื่อเกษียณจะได้รับ “บำเหน็จ” เป็นเงินก้อน เท่ากับเงินสะสมและเงินสมทบข้างต้น บวกดอกผลจากการลงทุน

ดังนั้น หากหน่วยงานหรือบริษัทของท่านมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ขอแนะนำให้ออมอย่างเต็มที่ เพราะการหักเงินเดือนของท่านสะสมเข้ากองทุนทุกเดือน เป็นการสร้างระบบการออมอัตโนมัติให้กับตัวท่านเอง

สมมติว่าท่านมีเงินเดือน 20,000 บาท ทำงานบริษัทเอกชนที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพซึ่งมีอัตราเงินสะสมของลูกจ้างร้อยละ 10 และมีอัตราเงินสมทบ ของนายจ้างอีกร้อยละ 10 ท่านจึงได้ออมกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเดือนละ 2,000 บาท นายจ้างสมทบให้อีก 2,000 บาท รวมเป็นเงินออมเดือนละ 4,000 บาท เมื่อรวมกับเงินสมทบกองทุนประกันสังคมกรณีชราภาพเดือนละ 900 บาท ท่านมีเงินออมรวม 4,000 + 900 = 4,900 บาทต่อเดือน

3. ระบบการออมอัตโนมัติที่สร้างขึ้นเอง ในกรณีที่ไม่ได้อยู่ในระบบการออมภาคบังคับ หรือไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือมีระบบการออมข้างต้นแล้วแต่ต้องการออมเพิ่ม เราก็สามารถสร้างระบบการออมภาคบังคับได้ด้วยตนเอง ซึ่งมีทางเลือกหลากหลาย เช่น

3.1 ฝากเงินกับสหกรณ์ออมทรัพย์ หากที่ทำงานของท่านมีสหกรณ์ออมทรัพย์ การหักเงินเดือนเพื่อฝากเงินกับสหกรณ์เป็นประจำทุกเดือนก็เป็นการสร้างระบบการออมแบบอัตโนมัติที่ดีอย่างหนึ่ง โดยทั่วไป การฝากกับสหกรณ์ออมทรัพย์มักจะให้ดอกเบี้ยสูงกว่าเงินฝากธนาคาร และให้สิทธิกู้เงินในอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าธนาคารด้วย

3.2 กู้เงินซื้อบ้าน เมื่อท่านเริ่มมีฐานะการเงินที่มั่นคงและมีกำลังพอที่จะผ่อนไหว การกู้ซื้อบ้านนับเป็นทางเลือกหนึ่งในการสร้างระบบการออมอัตโนมัติ เพราะการชำระค่างวดเป็นประจำทุกเดือนเป็นการออมเงินเพื่อไปสู่เป้าหมายคือการมีบ้านเป็นของตัวเอง ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ใช้ประโยชน์ได้และเป็นทรัพย์สินที่มูลค่ามักจะปรับเพิ่มขึ้นตามกาลเวลา โปรดสังเกตนะครับว่าไม่ได้สนับสนุนให้กู้เงินซื้อรถ เพราะเป็นทรัพย์สินที่มูลค่าปรับลดลงตามกาลเวลา และไม่ได้สนับสนุนให้กู้เงินจากบัตรเครดิตหรือเงินกู้ส่วนบุคคล เพราะการกู้อย่างหลังนี้ถือเป็นการนำเงินในอนาคตมาใช้ในปัจจุบัน ขัดกับหลักการออมอย่างสิ้นเชิงครับ

3.3เปิดบัญชีเงินฝากปลอดภาษี ปกติเวลาเอาเงินไปฝากธนาคาร เราจะรู้จักแต่ “เงินฝากออมทรัพย์” และ “เงินฝากประจำ” แต่เดี๋ยวนี้มีบัญชีเงินฝากแบบพิเศษที่ส่งเสริมให้เกิดการออมเงิน ซึ่งบังคับให้ฝากเป็นประจำทุกเดือน ขั้นต่ำเดือนละ 1,000 บาท แต่ไม่เกินเดือนละ 25,000 บาท ติดต่อกันเป็นเวลาอย่างน้อย 24 เดือน เมื่อครบกำหนด จะได้รับดอกเบี้ยสูงกว่าเงินฝากประจำ และไม่ต้องเสียภาษีจากดอกเบี้ยที่ได้รับด้วย

ทั้งนี้ เข้าใจว่าธนาคารแทบทุกแห่งมีบัญชีแบบนี้ไว้บริการ แต่อาจจะเรียกชื่อต่างกัน เช่น ธ. กรุงเทพ เรียกว่า “เงินฝากสินมัธยะทรัพย์ทวี” ธ. กสิกรไทย เรียกว่า “เงินฝากทวีทรัพย์” เป็นต้น ส่วน ธ. อาคารสงเคราะห์ มีเงินฝากที่เรียกว่า “สินเคหะ” ซึ่งเมื่อครบกำหนดนอกจากจะได้ดอกเบี้ยสูงและไม่ต้องเสียภาษีแล้ว ยังได้สิทธิกู้เงินซื้อบ้านด้วยดอกเบี้ยต่ำกว่าอัตราปกติด้วย

3.4 เปิดบัญชีซื้อกองทุนแบบอัตโนมัติ ในปัจจุบันนี้บริษัทจัดการกองทุนส่วนใหญ่มีบริหารสำหรับลูกค้าที่ต้องการออมเป็นประจำทุกเดือน ด้วยการหักบัญชีเงินฝากอัตโนมัติเพื่อหักเงินจากบัญชีเงินฝากของเราไปซื้อหน่วยลงทุน หลายแห่งเริ่มต้นที่ 500 บาทต่อเดือนเท่านั้น ปัจจุบันมีกองทุนให้เลือกลงทุนหลากหลาย ตั้งแต่เสี่ยงน้อยไปถึงเสี่ยงมาก อาทิเช่น

กองทุนตราสารภาครัฐระยะสั้น (Money Market Fund) กองทุนประเภทนี้รวบรวมเงินออมของท่านและผู้ลงทุนคนอื่นๆ ไปลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐอายุไม่เกิน 1 ปี เช่น ตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาลและพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย ตราสารเหล่านี้ออกโดยรัฐบาลจึงมีความเสี่ยงต่ำมาก แต่เนื่องเป็นตราสารที่เน้นขายเฉพาะนักลงทุนสถาบัน ประชาชนจึงสามารถลงทุนได้ทางอ้อมผ่านกองทุนรวม การลงทุนในกองทุนประเภทนี้มีความเสี่ยงต่ำมาก และมีสภาพคล่องสูงเกือบเท่าเงินฝากออมทรัพย์ (เมื่อขายคืนหน่วยลงทุนจะได้รับเงินคืนในวันทำการถัดไป) แต่โดยส่วนใหญ่ให้ดอกเบี้ยสูงกว่าเงินฝากออมทรัพย์

กองทุน LTF และ RMF สำหรับท่านที่มีภาระภาษี ขอแนะนำให้พิจารณาลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (Long Term Equity Fund หรือ LTF) หรือกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund หรือ RMF) โดยใช้วิธีหักบัญชีเงินฝากอัตโนมัติเพื่อซื้อหน่วยลงทุนเป็นประจำทุกเดือน วิธีนี้จะเป็นการสร้างวินัยการออมที่ดีมาก ทำให้ท่านทยอยซื้อกองทุนตลอดทั้งปี ช่วยเฉลี่ยต้นทุนแบบ Dollar Cost Averaging เพราะหากไปรอซื้อตอนปลายปีอาจจะได้ซื้อที่ราคาแพง

3.5 ซื้อประกันชีวิตแบบทยอยชำระเบี้ย การซื้อประกันชีวิตจัดเป็นส่วนผสมระหว่างการออมภาคสมัครใจและการคุ้มครองกรณีเสียชีวิต โดยผู้ซื้อประกันออมเงินด้วยการชำระเบี้ยประกัน และจะได้รับเงินคืนตามสัญญาหากเสียชีวิตหรือเมื่อสัญญาครบกำหนด เท่าที่เคยคำนวณคร่าวๆ การซื้อประกันชีวิตจะให้ผลตอบแทนเฉลี่ยประมาณ 2 – 4% ต่อปี ทั้งนี้ แทนที่จะชำระเบี้ยเป็นเงินก้อนใหญ่ปีละครั้ง บริษัทประกันชีวิตหลายแห่งมีทางเลือกให้ลูกค้าทยอยชำระเบี้ยเป็นราย 3 เดือนหรือรายเดือน นับเป็นการสร้างระบบการออมอัตโนมัติอย่างหนึ่ง อย่างไรก็ดี การทยอยชำระเบี้ยอาจทำให้ท่านจ่ายเบี้ยมากกว่าการชำระเพียงครั้งเดียว ขอแนะนำให้ศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจ

นอกจากนี้แล้ว ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จากตัวเลขที่เรากำหนดเป้าหมายออมเงินแบบอัตโนมัติเดือนละ 5,000 บาท สมมติว่าเริ่มออมเมื่ออายุ 30 ปี ทำต่อเนื่องเป็นประจำทุกเดือนจนอายุครบ 60 ปี โดยเงินที่ออมนำไปลงทุนได้ผลตอบแทนเฉลี่ยร้อยละ 5.00 ต่อปี เมื่ออายุครบ 60 ปี ท่านจะมีเงินออมสะสมประมาณ 4,000,000 บาท
หากเอาเงินก้อนจำนวน 4,000,000 บาทเป็นตัวตั้ง สมมติว่าท่านจะอายุยืนไปถึง 80 ปี นำเงินก้อนนี้ไปลงทุนได้ผลตอบแทนเฉลี่ยร้อยละ 5.00 ต่อปี แล้วทยอยถอน “ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย” ออกมาใช้เป็นประจำทุกเดือน ท่านจะมีเงินใช้หลังเกษียณประมาณเดือนละ 26,000 บาทครับ

หากเกรงว่าการออมเดือนละ 5,000 บาทจะเกินกำลัง ท่านสามารถกำหนดเป้าหมายที่ต่ำกว่าได้ เช่น หากกำหนดเป้าหมายออมเดือนละ 2,000 บาท เริ่มต้นออมเมื่ออายุ 30 ปีเหมือนกันและใช้สมมติฐานเดียวกัน เมื่อเกษียณ ท่านจะมีเงินออมประมาณ 1,600,000 บาท และมีเงินใช้หลังเกษียณประมาณเดือนละ 10,000 บาทครับ
ซึ่งหวังว่าแนวทางการออมต่างๆ ข้างต้นจะเป็นประโยชน์กับท่านผู้อ่าน และเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจให้ท่านเลือกแนวทางการสร้างระบบการออมให้กับตนเอง ขอย้ำอีกครั้งว่า การสร้างระบบการออมเพื่อเกษียณเป็นการสร้างความมั่นคงทางการเงินให้กับตัวท่านเองและครอบครัวในระยะยาวครับ

ท่านสามารถตรวจสอบข้อมูลสิทธิประโยชน์กองทุนประกันสังคมเพิ่มเติมได้ที่ www.sso.go.th หากท่านมี ข้อสงสัยเกี่ยวกับการออมเงินกับกองทุนประกันสังคมเพื่อให้ได้รับบำเหน็จหรือบำนาญชราภาพหลังเกษียณ สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานประกันสังคม เขตพื้นที่/จังหวัด/สาขาทั่วประเทศ หรือที่สายด่วนประกันสังคม 1506 ติดต่อระบบโทรศัพท์ตอบรับอัตโนมัติ ให้บริการทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง หรือติดต่อเจ้าหน้าที่โดยตรง ให้บริการทุกวันไม่เว้นวันหยุด ตั้งแต่เวลา 07.00 – 19.00 น.

ข้อมูล : วิน พรหมแพทย์ สำนักบริหารการลงทุน สำนักงานประกันสังคม

from http://www.manager.co.th/MutualFund/ViewNews.aspx?NewsID=9530000053738


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น