คนสำราญ งานสำเร็จ แก่นสร้างสุขสไตล์ซันกรุ๊ป
ด้วยหลักปรัญชาบริหารคน และ องค์กรนี้ จึงทำให้องค์กรแห่งนี้ทำให้กลายเป็นหนึ่งใน "ต้นแบบ" องค์กรแห่งความสุขที่ใครๆ ก็ยกนิ้วให้
และ เป็น 1 ใน 100 กรณีศึกษา องค์การหลากสุข ที่ถูก "โหวต" ให้เป็นองค์กรสุขๆ ที่คณะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ร่วมกันถอดรหัส
ด้วยปรัชญา แนวคิดการบริหาร "ครอบครัวเดียวกัน" ของผู้บริหาร และผู้ร่วมก่อตั้ง ทำให้องค์กรแห่งนี้เหมือนครอบครัวใหญ่
..ยามดีเราใช้ ยามไข้เรารักษา
แต่ตลอด 10 ปีเศษของการก่อตั้งองค์กร ปรัชญาครอบครัวเดียวกันไม่เด่นชัด
กระทั่งเกิดวิกฤติ "ไข้หวัดนก" ออเดอร์ที่เคยมีหมด โรงเชือดไก่แทบทิ้งร้าง คนงานไร้งาน เพราะไม่สามารถส่งออกไก่สดได้เลย
แต่ในวิกฤติก็มีโอกาส
ขณะที่โรงงานอื่นต้องเลย์ออฟพนักงาน แต่ซันกรุ๊ป กลับใช้โอกาสนี้พิสูจน์ว่า ปรัชญาการบริหารไม่ได้สวยหรูอยู่บนกระดาษแผ่นเดียว แต่พิสูจน์ได้จากการปฏิบัติจริง
"ตอนนั้นเราไม่ปลดใครออกเลย เพราะเราประเมินว่าอีก 4-6 เดือน สถานการณ์จะดีขึ้น" พรชัย ชาญมณี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ซันกรุ๊ป บอก
พนักงานประมาณ 2,800 คน ที่ในยามเศรษฐกิจองค์กรดี เคยสร้างผลกำไรให้บริษัททุกปี เมื่อวิกฤติบริษัทพร้อมที่จะฝ่าอุปสรรคข้างหน้าไปพร้อมกัน
พรชัย เล่าว่า เมื่องานในโรงงานไม่มีก็จำต้องหางานที่อื่นเพื่อเข้ามาใช้-จ่ายในองค์กร ในรูปแบบต่างๆ ทั้งการนำแรงงานไปขายให้โรงงานต่างถิ่น แลกกับค่าแรงที่ถูกกว่า รวมทั้งขอความช่วยเหลือจาก บริษัท สหพัฒน์ เพื่อนต่างอุตสาหกรรม เพื่อนำสินค้ามาขาย
"เราไม่มีประสบการณ์การขาย ทำให้ขาดทุน ส่วนที่ไปรับจ้างแรงงานก็ได้ 138 บาทต่อวัน แต่เราจ่ายค่าแรงให้คนของเราปกติที่ 156 บาทต่อวัน แต่คิดว่าขาดทุนก็ดีกว่าไม่มีงานทำ ส่วนคนที่ไม่สะดวกเราก็ส่งคนออกพัฒนาชุมชน เพื่อให้ทุกคนมีงานทำ"
พรชัย ถือคติว่า ในการบริหารฟาร์มไก่แห่งนี้เพียง 2 ข้อ
ข้อแรก ทำธุรกิจการเกษตรแบบอุตสาหกรรม
ข้อสอง ผู้จัดการฟาร์ม มีหน้าที่ดูแลคน เพื่อให้คนดูแลไก่
"เรื่องอุตสาหกรรมเราคิดว่าถ้าทำธุรกิจการเกษตร ต้องคิดแบบนักอุตสาหกรรม Input ต้องควบคุมได้ Process ต้องคุมได้ Product ต้องควบคุมได้ เราจะทำธุรกิจการเกษตรแบบพึ่งฟ้าพึ่งฝนไม่ได้ แต่ต้องเอาชนะธรรมชาติให้ได้
ขณะที่เรื่องคนผมยึดหลักของอ.สัญญา ธรรมศักดิ์ ว่า ผู้บริหารยิ่งสูงต้องใส่ใจในเรื่องคน เพื่อให้คนทำงาน ฉะนั้นผู้จัดการต้องรู้ว่าคนเป็นอะไร อุปกรณ์มีพอสำหรับทำงานไม๊ เวลาพอหรือเปล่า มีปัญหาครอบครัวอะไร เพราะผมถือว่าเครื่องจักรเรายังต้องดูแล แล้วทำไมจะไม่ดูแลคนล่ะ"
นักบริหารหัวขบถรายนี้ มองว่า ยิ่งเป็นผู้บริหารระดับสูงยิ่งต้องใส่ใจดูแลคนให้มาก งานเป็นรอง ซึ่งทุกวันนี้เขาดูแลคนมากกว่าดูแลงาน เพราะถือว่าคนเป็นปัจจัยสำคัญที่ไม่เพียงแค่ทำให้องค์กรแห่งนี้ฝ่าวิกฤติมาได้ แต่ยังปรับตัวแตกไลน์จากอุตสาหกรรมไก่สด เป็นผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมปรุงและพร้อมรับประทาน ภายใต้แบรนด์กินซัน (KINSUN) และไก่เบิ้มแบรนด์โกซัน (GOSUN) ที่จำหน่ายไก่ตอนให้ร้านแก่ร้านข้าวมันไก่
พรชัย บอกหลักการบริหารคนต้องใช้หลัก PIES นั่นคือ
P - Physical สิ่งที่จับต้องได้ เป็นความจำเป็น เช่น อาหารการกิน เงิน
I - Intelligence คนต้องมีสติปัญญา จึงจะพัฒนาได้
E - Emotional อารมณ์ต้องดี สังคมต้องเอื้ออาทรจึงจะมีแรงบันดาลใจ
S - Spiritual รู้ผิดชอบชั่วดี
เขา บอกว่า ต้องดูแลให้ครบทั้ง 4 ด้าน แต่ต้องกลับด้าน โดยให้ความสำคัญจาก S E I P
"คนต้องมีทัศนคติที่ดีจึงจะทำสิ่งที่ถูก ให้สังคม จากนั้นถึงจะมีเงิน"
หลักบริหารคนแบบ PIES ทำให้โรงงานแห่งนี้ คัดแต่ คนดี ซื่อตรง เสียสละ ละเว้นอบายมุข
"บริษัทจะโตได้เริ่มต้นต้องได้คนดี และคนเก่ง หลักก็คือ อยู่กันอย่างมีความสุข แล้วคนจะทำดี"
พรชัย บอกว่า หลักการบริหารนี้ทำให้คนของซันกรุ๊ป พร้อมที่จะปรับตัว และพร้อมเรียนรู้ ซึ่งนับตั้งแต่วิกฤติไข้หวัดนกเป็นต้นมา คนซันกรุ๊ปเติบโต กล้าแกร่งขึ้น เมนูสินค้าใหม่ๆ ก็ล้วนแต่มาจากมันสมองของลูกหม้อ โดยไม่ต้องซื้อตัวคนนอก
"ทุกคนชอบการเรียนรู้หากปัจจัยเอื้อ ซึ่งเราสร้างบรรยากาศให้เกิดการเรียนรู้ ไม่มีบรรยากาศเจ้าขุนมูลนาย ประธานกรรมการสามารถพูดคุยกัน แซวกันได้ เราถือว่าการผิดพลาดเป็นครู หากทำดีเราก็ชมเชย"
เขา ยกตัวอย่างกิจกรรมอิ่มอร่อย ได้งาน คือ การจับกลุ่มพนักงานเข้ามากินอาหารในห้างฯ เลือกกินร้านอาหารตามใจชอบ จะญี่ปุ่น เกาหลี ฝรั่ง ได้หมด พร้อมงบกินฟรี
แต่ให้กลับไปพร้อมเมนูไก่ เมนูใหม่ ลองทำให้เข้ากับอาหารกินฟรี
"เป็นการเปิดโอกาสให้เค้าคิด มาทำแล้วพรีเซนท์ สร้างความภาคภูมิใจให้เค้า แต่อย่าตำหนิ ให้สร้างบรรยากาศการเรียนรู้
สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องไม่ซับซ้อน เริ่มจากคิดเห็นว่าเค้าเป็นมนุษย์เท่ากับเรา ให้เขา แล้วเขาจะให้เกียรติเรา ทุกอย่างเริ่มต้นที่ใจ"
เมื่อคนสำราญ งานก็สำเร็จ เหมือนอย่างที่ พรชัย มักพูดให้พนักงานฟัง
"ทุกวันนี้เราพึ่งตลาดต่างประเทศน้อยลง เรามีความรู้ผิดสินค้ามากขึ้น เรามีสโลแกนว่าเราเป็น "แสงสว่างแห่งความอุดมสมบูรณ์ และความสุข" เป็นความสุขของผู้ผลิต ความสุขของผู้บริโภค ซึ่งความสุขต้องตั้งต้นจากคนทำ"
ผลผลิตจากความสุขทำให้รายได้บริษัทปีที่ผ่านมามียอดขายประมาณ 5 พันล้านบาท และปีนี้น่าจะเติบโตไม่น้อยกว่า 10% แต่นั่นไม่ใช่เป้าหมายหลัก
"เราไม่ได้โฟกัสยอดขาย แต่จะดูการประกอบการเป็นเช่นไร ซึ่งเรามีข้อตกลงกับพนักงานว่า 15% ของกำไรคือโบนัสของพวกเขา"
นอกจากโบนัสตัวเงินแล้ว พรชัย ยังให้โบนัสสุขภาพแก่พนักงานทุกคน ซึ่งโครงสร้างโบนัสจะถูกแบ่งออกเป็น 50% จากผลกำไรของบริษัท 25% จากผลงานของแผนก และ 25% สุดท้ายผลงานแต่ละคน ที่ได้มาจาก การให้ข้อเสนอแนะแก่องค์กร และการออกกำลังกายของตัวเอง โดยแปลงค่าออกกำลังกายเป็นเคพีไอผลงานส่วนบุคคล
เป็นกุศโลบายเนียนๆ ให้คนสนใจสุขภาพตัวเองอย่างยาวๆ เพราะเขาถือว่า สุขภาพซื้อหาไม่ได้ ต้องทำด้วยตัวเอง
ทุกวันนี้พื้นที่ว่างหน้าฟาร์มเลี้ยงไก่ หลังโรงงาน ยังมีพื้นที่ให้พนักงานได้ทำการเกษตรเล็กๆ ใครใคร่ปลูกพืชไร่ปลูก ใครใคร่ทำแปรงเกษตรทำ ที่เหลือกินก็แจกจ่ายเพื่อนร่วมงาน เหลือกว่านั้นยังขายให้โรงครัวของบริษัททำขายให้เพื่อนพนักงานได้กิน
ทั้งอิ่มท้อง อิ่มใจ สบายกระเป๋า
แต่การเดินถึงจุดนี้ได้ พรชัย บอกว่า ต้องเริ่มจากความใส่ใจของผู้บริหาร เล็กๆ น้อยๆ เพราะเชื่อว่า "คนสำราญ งานสำเร็จ"
จึงไม่น่าแปลกที่องค์กรแห่งนี้จะเป็น 1 ใน 100 องค์กรหลากสุข ที่ใครๆ พร้อมใจ "โหวต" ให้
from http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/business/bizweek/20100422/110041/คนสำราญ-งานสำเร็จ-แก่นสร้างสุข-สไตล์-ซันกรุ๊ป.html
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น