Pages

Pages

05 เมษายน 2553

กับดักของ Value Investor - ดร นิเวศน์ เหมวชิรวรากร


กับดักของ Value Investor - ดร นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

Value Investor โดยเฉพาะที่ยังเป็นมือใหม่หลายคนต้องขาดทุนจากการลงทุนในหุ้น ที่เขาคิดว่าเป็น “Value Stock” ทั้งที่เขาคิดว่าหุ้นที่ซื้อมานั้นมีราคาถูกมากมองจากค่า PE หรือปันผลเป็นต้น

ข้อผิดพลาดของเขาก็คือ เขาเลือกดูข้อมูลเฉพาะบางด้านหรืออาจจะหลายด้านแต่ไม่ทั้งหมด พอเห็นว่าตัวเลขดูดีมากเช่นพอเห็นว่าหุ้นมีค่า PE เพียง 5 – 6 เท่า หรือพอเห็นว่าหุ้นตัวนั้นจ่ายปันผลในปีที่ผ่านมาถึง 10% ของราคาหุ้น เขาก็ คิดว่าหุ้นตัวนั้นถูกมากจึงเข้าซื้อลงทุนโดยไม่ได้ดูข้อมูลอื่นๆ ซึ่งมีความสำคัญพอๆ กัน และอาจจะบอกถึงความหมายคล้ายๆ กัน เช่นค่า PB ซึ่งเป็นตัวบอกค่าความถูกความแพงเหมือนกัน แต่กลับชี้ว่าหุ้นตัวนั้นมีค่า PB สูงมากหรือหุ้นมีราคาแพงมาก

การเห็นข้อมูลบางอย่างที่ดูดีมากแล้วเข้าไปซื้อหุ้นนั้น บ่อยครั้งทำให้ Value Investor เข้าไป “ติดกับ” คือซื้อ แล้วแทนที่หุ้นจะขึ้นกลับตกลงมาเรื่อยๆ ปันผลที่เคยได้รับในอัตราสูงก็มีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ บางคนถึงกับคิดว่าแนวทางการลงทุนแบบ Value Investment อาจจะใช้ไม่ได้ผล

กับดักที่ผมเห็นว่า Value Investor มักจะเข้าไปติดบ่อย ๆ มีดังต่อไปนี้

หนึ่ง ซื้อหุ้นที่มีผลตอบแทนจากเงินปันผลในปีที่ผ่านมาสูงมาก บางทีสูงถึง 10% กับดักอันนี้ล่อให้ Value Investor ที่อยากลงทุนถือหุ้นยาวกินปันผลเข้าไปซื้อลงทุน แต่เมื่อซื้อแล้วหุ้นก็มักจะไม่ไปไหน ราคาหุ้นหลังจากรับปันผลแล้ว กลับตกลงไปมากกว่านั้น ที่สำคัญปันผลในอนาคตก็มีแนวโน้มว่าจะลดลง ปัญหาก็คือ หุ้นเหล่านี้หลายตัวมีการจ่ายปันผลจากกำไร ในอัตราที่สูงมาก เช่น มีกำไรทั้งปี 1 บาทต่อหุ้น แต่บริษัทประกาศจ่ายปันผล 1 บาทต่อหุ้นเหมือนกันบาง บริษัทจ่าย 1.1 บาท ก็มีการจ่ายปันผลแบบนี้ดูเหมือนว่าจะดี แต่ก็ทำให้กิจการโตได้ยากในอนาคต ส่วนใหญ่แล้วบริษัทก็มักจะทำได้เป็นครั้งเป็นคราว เมื่อมีเงินสดเหลือมาก หรือเจ้าของอยากจะทำอะไรสักอย่าง แต่อนาคตอัตราปันผลก็มักจะลดลง

กับดักอันที่สองก็คือ ค่า PE ของหุ้นต่ำมาก นี่ก็เป็นกับดักที่มีประสิทธิภาพสูงมาก เพราะทำให้นักลงทุนรู้สึกว่าหุ้น มีราคาถูกมาก แถม growth หรือการเจริญเติบโตก็ดูเหมือนจะสูงลิ่ว เรียกว่ามี “สองเด้ง” เป็นหุ้นที่ “ต้องลงทุน” แต่คนที่ เข้าไปลงทุนโดยไม่พิจารณาให้ถ่องแท้ครบถ้วนทุกมิติอาจจะติดกับหุ้น PE ต่ำได้ การที่หุ้นมี PE ต่ำมากนั้น อาจจะเกิดขึ้นได้กับบริษัทที่มีกำไรเพิ่มสูงขึ้นมาก แต่เป็นกำไรที่เกิดขึ้นครั้งเดียว เช่น กำไรจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้หรือขายสินทรัพย์บางอย่างและมีกำไรพิเศษเกิดขึ้น ทำให้ค่า PE ลดต่ำลงมาก หรือไม่ ก็อาจจะเกิดจากการที่บริษัทผลิตและขายสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งมีราคาปรับตัวขึ้นสูงผิดปกติในช่วงนั้น ทำให้กำไรเพิ่มสูงขึ้นมาก “ชั่วคราว” ไม่สามารถอยู่ได้อย่างถาวร เพราะฉะนั้นค่า PE ที่เห็นจึงไม่ใช่ค่า PE ที่จะบอกได้ว่าราคาหุ้นถูกหรือแพง

กับดักอันที่สามก็คือ ซื้อหุ้นโดยที่ไม่ได้พิจารณาถึงบรรษัทภิบาลของผู้บริหาร นี่ก็เป็นกับดักที่อันตรายเช่นเดียว กันเพราะหลายครั้งดูเหมือนว่า ผู้บริหารและเจ้าของบางรายเป็นคน “วางกับดัก” เอง นั่นก็คือผู้บริหาร “แต่ง” ให้ผลการ ดำเนินงานดูดีกว่าปกติหรือประกาศจ่ายปันผลมากกว่าปกติ เพื่อชักจูงนักลงทุนให้เข้ามาซื้อหุ้นและดันราคาให้สูงขึ้น เสร็จแล้วก็ “ปล่อยของ” คือขายหุ้นออกมาในราคาสูงกว่าที่ควรจะเป็น
Value Investor จำนวนไม่น้อยไม่ใคร่ให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์บรรษัทภิบาลของผู้บริหาร เพราะเขาไม่รู้ ว่าจะดูอย่างไร บางคนก็ดูว่าผู้บริหารส่วนใหญ่ก็คงจะเอาเปรียบผู้ถือหุ้นรายย่อยอยู่แล้วเป็นเรื่องปกติจะไป “คิดมาก” ทำไมว่า ผู้บริหารคนไหนไว้ใจได้หรือไม่ได้ แต่เรื่องนี้ผมคิดว่าสำคัญโดยเฉพาะถ้าหุ้นที่เราจะลงทุนเป็นหุ้นของบริษัทขนาดเล็กที่มีกำไรใน แต่ละปีไม่มากนัก เพราะผู้บริหารที่คดโกงหรือเอาเปรียบบริษัทมาก ๆ จะทำให้คุณค่าของบริษัทเสียหายได้สูงมาก เพราะฉะนั้น การลงทุนที่ไม่ดูบรรษัทภิบาลของบริษัทจดทะเบียนจึงเสี่ยงกับการ “ติดกับ” สูงมาก

กับดักอันสุดท้าย ที่ต้องระวังก็คือ การลงทุนซื้อหุ้นโดยไม่ได้คำนึงถึงการที่บริษัทมีการออกวอแรนต์จำนวนมาก และนี่คือกับดักที่เริ่มเห็นผลมากขึ้นทุกวัน หุ้นที่มีการออกวอแรนต์ในสัดส่วนที่สูงมาก เมื่อเทียบกับหุ้นทั้งหมดของบริษัท เช่น สูงถึง 25% ขึ้นไป จะมี Dilution Effect คือจะทำให้บริษัทมีหุ้นมากขึ้นในจำนวนเดียวกัน ซึ่งจะทำให้กำไรต่อหุ้นของบริษัทลดลงอย่างเห็นได้ชัดใน อนาคต เพราะฉะนั้นคนที่ซื้อหุ้นในวันนี้เพราะเห็นว่าบริษัทมีกำไรต่อหุ้นสูงหรือมี PE ต่ำ ก็จะพบว่ากำไรต่อหุ้นในอนาคตจะลดลง หรือ PE สูงขึ้น หุ้นที่ดูว่าราคาถูกในวันนี้ก็จะกลายเป็นหุ้นที่มีราคาแพงในวันข้างหน้า เพราะฉะนั้นคนที่ซื้อหุ้นโดยไม่ได้ดูว่าบริษัท มีการออกวอแรนต์หรือไม่จึงมีโอกาส “ติดกับ” ได้ง่าย ๆ

ยังมี “กับดัก” อื่น ๆ อีกมากที่พร้อมจะล่อให้ Value Investor หลงเข้าไป “ติดกับ” การที่จะหลบให้พ้นนั้น นักลงทุนจะต้องพิจารณาข้อมูลการลงทุนทุกด้านหรือทุกมิติ ไล่ตั้งแต่เรื่องของผลิตภัณฑ์ การตลาด การบริหาร การเงิน และ บรรษัทภิบาลของผู้บริหาร ไม่สามารถที่จะดูองค์ประกอบใดองค์ประกอบหนึ่งเพียงอย่างเดียว

เรื่องของความถูกความแพงของหุ้นก็ไม่สามารถดูข้อมูลเพียงตัวเดียวแต่ต้องดูทั้งค่า PE PB ปันผล และจะให้ดีก็รวมถึงมูลค่าตลาดของหุ้นทั้งบริษัท เพื่อยืนยันว่าหุ้นมีราคาถูกจริง ๆ ก่อนที่จะตัดสินใจลงทุน

ในเรื่องของการลงทุนซื้อหุ้นนั้น ถ้ามีจุดอ่อนหรือมี “ช่องโหว่” เพียงจุดเดียวแต่เป็นจุดที่สำคัญ บางทีก็เพียงพอ แล้วที่จะทำให้นักลงทุนเสียหายได้มาก เพราะจุดดังกล่าวนั้นอาจจะเป็น “กับดัก” ที่ทำให้เราติดหุ้นได้อย่างที่เรานึกไม่ถึง

from http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=jikjokkheaw&month=26-03-2010&group=6&gblog=9


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น