15 พฤษภาคม 2553

จากเด็กสลัมสู่นักธุรกิจพันล้าน ดร.กฤษฎา จ่างใจมนต์ เจ้าของกาแฟลดน้ำหนักเนเจอร์กิฟ


จากเด็กสลัมสู่นักธุรกิจพันล้าน ดร.กฤษฎา จ่างใจมนต์ เจ้าของกาแฟลดน้ำหนักเนเจอร์กิฟ


ในยุคสมัยที่ผู้คนในสังคม เริ่มหันมาใส่ใจกับสุขภาพกันมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะท่านสุภาพสตรีทั้งหลายที่หันมาใส่ใจเรื่อง น้ำหนักตัว จนทำให้ธุรกิจและผลิตภัณฑ์ ลดความอ้วน นั้นได้รับความนิยมอย่างสูงไม่ว่าจะเป็น คลินิกลดความอ้วน เครื่องออกกำลังลดหน้าท้อง เสื้อผ้าช่วยลดความอ้วน รวมไปถึงอาหารประเภทเครื่องดื่มยอดนิยมอย่าง ชา-กาแฟ ด้วย



ช่วงหลายปีที่ผ่านมา เชื่อแน่ได้ว่าท่านผู้อ่านจำนวนไม่น้อยคงเคยได้ยินชื่อ กาแฟเพื่อสุขภาพ เนเจอร์กิฟ มาบ้างจากสปอตโฆษณาทางโทรทัศน์ และสื่อโฆษณาหลากหลายแขนง ทว่า คงมีไม่กี่คนที่ทราบว่า ผู้ก่อตั้งและเจ้าของธุรกิจกาแฟลดความอ้วนนี้แท้จริงแล้วในอดีตเป็นเพียงเด็กสลัมจนๆ คนหนึ่ง ซึ่งต้องวิ่งขายไอศกรีม ขายเรียงเบอร์ ต้องทนนอนเบียดกัน 8 คนในห้องเช่าขนาดแค่ 3 คูณ 4 เมตร ......

ดร.กฤษฎา จ่างใจมนต์ ผู้จัดการใหญ่ ห้างหุ้นส่วนจำกัด เนเจอร์กิฟ 711 เปิดใจเล่าถึงช่วงชีวิตในวัยเด็กกับ ASTVผู้จัดการออนไลน์ว่า ผมอยู่สลัมตั้งแต่จำความได้ เราเช่าบ้านของแม่ค้าขายผักอยู่ที่ตลาดปีระกา ใกล้กับวัดตึก พื้นที่ที่เราเช่าอยู่เนี่ยเป็นพื้นที่หน้าห้องน้ำของบ้านแม่ค้า เนื้อที่กว้างประมาณสองเมตรครึ่ง ลึกสองเมตร เวลานอนเลยเบียดกันมาก อยู่ที่นี่ประมาณ 2 ปีก็ย้ายไปอยู่ที่สลัมซอยสามยอด ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามกัน พื้นที่ก็กว้างขึ้นมาหน่อยเป็น 3 คูณ 4 เมตร ตอนนั้นเราก็มีน้องเพิ่มขึ้น และมีหลานมาอยู่ด้วย ก็รวมเป็น 8 คน เวลานอนจะมีเตียง 1 เตียง นอนกัน 3 คน ส่วนคนที่นอนบนพื้นก็ต้องเอาขาสอดไปไว้ใต้เตียง บ้านเราคับแคบนะแต่ก็อบอุ่นดี (ยิ้ม)

แม้โชคชะตาจะทำให้ชายผู้นี้เกิดมาในสลัมซอยสามยอด แต่ด้วยความอดทน หัวใจที่รักดี และความเป็นพี่ชายคนโตของครอบครัวเขาจึงต้องดิ้นรนช่วยเหลือพ่อแม่ที่ต้องทำงานหนักเพื่อเลี้ยงดูลูกๆ ถึง 5 คน กับหลานอีก 1 คนตั้งแต่ยังเล็ก

วันหยุดเสาร์-อาทิตย์ผมจะตื่นตั้งแต่ตี 4 ครึ่ง ไปรับขนมจากปากคลองตลาดมาขายในตลาดแถวๆบ้านจนถึงช่วงสายๆ พอขายหมดก็ไปรับไอศกรีมแท่งมาขาย หิ้วถังไอศกรีมเดินขายไปเรื่อยๆ หนักหลายกิโลฯ เหมือนกัน บ่ายๆก็หมดแล้ว เสร็จแล้วก็กลับมาทำการบ้าน ส่วนวันที่ล็อตเตอรี่ออกผมก็ไปรับเรียงเบอร์จากโรงพิมพ์แถวเฉลิมกรุงมาขาย ก็วิ่งจากเฉลิมกรุงถึงหัวลำโพง คือสมัยนั้นถ้าเลยหัวลำโพงไปมันจะมืดมากเราก็ไม่กล้าไป ก็กลับมาที่วังบูรพาซึ่งสมัยนั้นมีโรงหนังอยู่ 3 โรง คือ โรงหนังแกรนด์ คิงและควีน เพื่อรอหนังรอบดึกเลิก ผมจะขายคนที่มาดูหนังจนเรียงเบอร์หมดถึงกลับบ้าน ทำอยู่อย่างนี้จนกระทั่งเข้าเรียนมหาวิทยาลัย"

ข้อดีอย่างหนึ่งของความยากจนก็คือสิ่งนี้เป็นเหมือนแรงขับที่ทำให้กฤษฎามีความอดทนและมานะพยายามมากกว่าเพื่อนๆวัยเดียวกัน เด็กโรงเรียนวัดสระเกศอย่างเขาจึงสามารถสอบเข้าคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทั้งๆที่ไม่มีโอกาสได้เรียนกวดวิชาเหมือนเพื่อนๆ ขณะเดียวกันก็ต้องทำงานหารายได้ช่วยครอบครัว

ตอนเอ็นทรานซ์ติดคณะวิศวะฯ จุฬาฯ นี่พ่อกับแม่ดีใจมาก เพราะผมไม่ได้เรียนกวดวิชาเหมือนเพื่อนๆ เขาหรอกเพราะเราไม่มีเงิน บางทีเพื่อนเขาบอกว่าวิชานี้มีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยมหิดลมาสอนนะ อาจารย์คนนี้สอนเก่ง ผมก็จะแอบไปเรียนโดยที่ไม่ได้จ่ายเงิน ก็จะไปนั่งหลังๆ ห้อง อาจารย์ก็ไม่ได้สังเกต (หัวเราะ) แต่เราไม่ได้ไปเรียนทุกชั่วโมงนะเพราะเราไม่ได้จ่ายตังค์ สมัยที่เรียนจุฬาฯ ก็จะกินข้าวแกงที่ขายริมรั้ว ส่วนน้ำก็ขึ้นไปกดน้ำก๊อกบนตึกกิน ดร.กฤษฎา เล่าถึงชีวิตต้องสู้ในวัยเด็ก

เจ้าของบริษัทที่ไม่มีแม้แต่เก้าอี้นั่งทำงาน

หลังจากที่เรียนจบปริญญาตรีกฤษฎาได้เข้าทำงานที่การไฟฟ้าฯ อยู่พักหนึ่ง ก่อนที่จะลาออกไปทำงานบริษัทเอกชน ด้วยความต้องการเก็บเงินสร้างฐานะ จนกระทั่งมีเงินเก็บอยู่ก้อนหนึ่งเขาจึงตัดสินใจออกมาเปิดบริษัทนำเข้าและจำหน่ายอุปกรณ์ด้านวิศวกรรมของตัวเอง

อย่างไรก็ตาม บริษัทของกฤษฎานั้นออกจะแปลกว่าบริษัทอื่นๆ ตรงที่ทั้งบริษัทมีเขาเป็นพนักงานเพียงคนเดียว และพื้นที่ซึ่งเขาใช้เป็นที่ทำงานนั้นก็อยู่ภายในบริษัทของเพื่อนชาวไต้หวัน อีกทั้งโต๊ะเก้าอี้ที่เขานั่งทำงานก็ล้วนแต่หยิบยืมมาจากเพื่อนคนดังกล่าวอีกเช่นกัน

ต้องบอกว่าผมโชคดีนะ มีแต่คนช่วยเหลือ บริษัทของผมเป็นบริษัทนำเข้าสินค้าด้านวิศวกรรม เช่น วาล์วต่างๆ วาล์วลม วาล์วน้ำมัน ตู้ไฟฟ้า แต่ว่าตอนนั้นผมมีเงินแค่ 50,000 บาท ไม่มีปัญญาจ้างพนักงาน ก็ทำอยู่คนเดียว จะเช่าตึกทำออฟฟิศเราก็ไม่มีเงิน ผมก็ไปขอใช้พื้นที่ในบริษัทของเพื่อนชาวไต้หวันเป็นที่ทำงาน แล้วก็ขอยืมโต๊ะเขามาตัวหนึ่ง (หัวเราะ) มานั่งทำงาน ก็ต้องขอบคุณเขาจนถึงทุกวันนี้เพราะเพื่อนคนนี้ช่วยเหลือผมเยอะมาก ผมไม่มีเงินเขาก็เปิดแอลซีให้ พอของมาถึงท่าเรือเราก็ไม่มีเงินไปเสียภาษีนำเข้าอีก ศุลกากรเขาก็กำหนดว่าสินค้าต้องอยู่ที่ท่าเรือไม่เกิน 90 วัน ถ้าเกิน 90 วันเขาจะริบเป็นของหลวง ก็เลยคุยกับเพื่อนชาวไต้วันอีกว่าจะขอยืมเงินมาเป็นค่าภาษี (หัวเราะ) ถ้าขายได้จะเอาเงินมาคืน เขาก็ให้ พอขายของได้ผมก็คืนเงินให้เขาแล้วก็แบ่งกำไรให้เขา 10%

ตอนหลังผมก็ขอคู่ค้าในต่างประเทศว่าไม่ต้องเปิดแอลซีได้ไหม ส่งสินค้าให้ผมก่อน ภายใน 90 วันขายของได้แล้วผมจะโอนเงินไปให้ เขาก็ให้นะ ทั้งอเมริกา ทั้งอังกฤษ ทั้งๆ ที่ไม่เคยเห็นหน้ากันเลยนะ แล้วมีอยู่ครั้งหนึ่งผมหาเงินไม่ทันผมก็เขียนจดหมายไปบอกเขาว่าผมหาเงินไม่ทันตามกำหนด ขอยืดเวลาออกไปอีก 60 วันนะ แต่จะให้ดอกเบี้ยเขาด้วย ช่วงนั้นก็ยังขึ้นๆ ลงๆ ไม่มีเงินจ้างพนักงาน ต้องทำเองทุกอย่าง ตอนหลังพอยอดขายเพิ่มขึ้น ก็เลยย้ายบริษัทมาอยู่ที่บ้านที่บางยี่เรือ แล้วก็จ้างพนักงาน 2 คน ทั้งๆ ที่พนักงานแค่ 2 คน บางเดือนยังไม่มีเงินจ่ายเงินเดือนเลย คุณแม่ต้องไปยืมเงินแม่ค้าขายปาท่องโก๋ในตลาด หรือบางทีก็ยืมเงินร้านขายยามาให้ ต่อมาผมก็หันมาผลิตเครื่องฟอกอากาศยี่ห้อแอร์โรคลีน ปรากฏว่าขายดีมาก มียอดขายเป็นอันดับหนึ่งในตลาด

พอปี 2538-2539 เงินเหลือเยอะเลยไปซื้อที่ดินที่ลพบุรีประมาณ 500 กว่าไร่ มาพัฒนาเพื่อจัดสรรขาย แต่พอปี 2540 เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ธนาคารไม่ปล่อยสินเชื่อ ลูกค้าที่มาจองซื้อที่ของโครงการไว้ก็ไม่มีเงินมาจ่าย ตอนนั้นโครงการเรายังไม่เสร็จ ผมก็มานั่งคิดว่าขุดทะเลสาบไว้ถ้าฝนตกลงมาก็จะเสียหาย เราก็เลยต้องทำต่อ โดยการโละสต็อกเครื่องฟอกอากาศทั้งหมด ได้เงินมาหลายล้านก็เอามาถมกับที่แปลงนี้ ทำให้เราเป็นหนี้ธนาคารถึง 50 ล้านบาท ขณะที่ไม่มีใครจ่ายเงินค่าที่เลย และก็ไม่มีธุรกิจอื่นๆแล้ว ดร.กฤษฎา เล่าถึงประสบการณ์ในการทำธุรกิจที่ล้มลุกคลุกคลานมาตลอด

ปลดหนี้ 50 ล้านใน 2 ปี

ถึงแม้จะหมดเนื้อหมดตัวจากการทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ อีกทั้งยังต้องเป็นหนี้เป็นสินหลายสิบล้านบาทแต่ ดร.กฤษฎาก็หาได้ท้อถอย เนื่องเพราะมีภรรยาและลูกๆทั้ง 3 คนคอยเคียงข้างเป็นกำลังใจ เขาจึงเริ่มต้นใหม่ด้วยการทำธุรกิจขายตรง ผลิตและจำหน่ายอาหารเสริมจากสาหร่ายสไปรูลิน่า ภายใต้แบรนด์เนเจอร์กิฟ ในปี 2545 ซึ่งนับว่าโชคชะตาก็ยังไม่ใจร้ายกับเขาเกินไปนัก เพราะแม้ธุรกิจขายตรงในครั้งนั้นจะไม่ประสบความสำเร็จแต่ก็กลายเป็นแรงบันดาลใจให้เขาหันมาผลิตกาแฟลดน้ำหนัก ซึ่งใช้ชื่อผลิตภัณฑ์เหมือนกันคือ เนเจอร์กิฟ ที่กำลังขายดิบขายดีอยู่ในขณะนี้ และจากยอดขายที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทำให้ ดร.กฤษฎาสามารถใช้หนี้จำนวน 50 ล้านบาทได้หมดภายใน 2 ปี หลังจากที่เริ่มผลิตกาแฟเนเจอร์กิฟออกจำหน่ายในปี 2547 อีกทั้งยังสามารถสร้างโรงงานใหม่ เป็นแห่งที่ 3 ภายในระยะเวลาเพียง 5 ปีกว่าเท่านั้น

ในช่วงที่ทำธุรกิจขายตรง สมาชิกหลายคนก็บอกว่าอาหารเสริมมันขายยาก น่าจะขายพวกสินค้าอุปโภคบริโภค อย่างพวก กาแฟ สบู่ ยาสีฟัน ผมก็อยากทำแต่ไม่มีเงินทุน เลยลองหาข้อมูลดู ปรากฏว่าผลิตกาแฟใช้เงินน้อยที่สุด ประกอบกับก่อนหน้านั้นผมมีความคิดว่าอยากผลิตอาหารที่ช่วยในเรื่องสุขภาพของผู้บริโภคที่มีปัญหาในเรื่องโรคอ้วน เบาหวาน ความดัน ก็เลยมาลงตัวที่กาแฟสูตรลดน้ำหนัก โดยเริ่มขายครั้งแรกเมื่อเดือนมกราคม 2547 พอดีตอนนั้นมีงานเกษตรแฟร์ ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เราก็ไปออกร้าน แล้วมีนักข่าวไปทำข่าวลงหนังสือพิมพ์เนื่องจากเขาเห็นว่ามันแปลกเพราะเนเจอร์กิฟเป็นกาแฟสูตรควบคุมน้ำหนักเจ้าแรกของไทย คนก็เลยเริ่มรู้จักสินค้าของเรา จากนั้นก็ขายดีขึ้นเรื่อยๆ ก็เลยตั้งโรงงานขึ้นมา

คือตอนที่เริ่มผลิตครั้งแรกเรายังไม่มีเงิน ก็ใช้พื้นที่ในบ้านส่วนที่เคยใช้เป็นโรงรถเป็นที่ผลิต เพราะเรากะจะผลิตแค่เดือนละ 3 หมื่นซองเท่านั้น แต่ปรากฏว่ายอดขายเพิ่มขึ้นมากจนเราต้องหาสถานที่ผลิตใหม่ ก็ไปเช่าบ้านหลังหนึ่งใกล้ๆ กับบ้านที่เราอยู่เพื่อใช้เป็นที่ผลิตกาแฟ ทำอยู่ 7-8 เดือน ยอดขายเพิ่มขึ้นไม่หยุด ประมาณเดือน มิถุนายน 2548 เราเลยตั้งโรงงานขึ้นมา ลงทุนไป 18 ล้านบาท เนเจอร์กิฟก็โตขึ้นเรื่อยๆ จนปี 2550 จำเป็นต้องสร้างโรงงานแห่งใหม่ ซึ่งก็คือโรงงานปัจจุบัน ใช้เงินลงทุน 200 ล้านบาท และในปีนี้ (2552) เราก็จะเปิดโรงงานใหม่อีกแห่งหนึ่ง ใช้เงินลงทุนประมาณ 500 ล้านบาท อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ตอนนี้ก็ใกล้จะเสร็จแล้ว ส่วนตัวแทนจำหน่ายที่รับสินค้าเราไปขายนั้นปัจจุบันก็มีอยู่ประมาณ 5,000-6,000 จุดทั่วประเทศ ซึ่งจากการที่ธุรกิจเติบโตอย่างต่อเนื่องทำให้ผมสามารถใช้หนี้ซึ่งมีอยู่ 50 กว่าล้านได้หมดภายใน 2 ปี คือเริ่มผลิตกาแฟเนเจอร์กิฟในปี 2457 พอปี 2548 เราก็ใช้หนี้หมด ขณะที่การก่อสร้างโรงงานใหม่นั้นก็ใช้เงินสดทั้งหมด ปัจจุบันเราจึงไม่มีหนี้ เจ้าของบริษัทเนเจอร์กิฟ กล่าวด้วยความภาคภูมิใจ

ทั้งนี้ในปัจจุบันเนเจอร์กิฟได้ขยายไลน์การผลิตสินค้าออกไปมากขึ้น โดยมีทั้งกาแฟและเครื่องดื่มสูตรควบคุมน้ำหนักรสชาติต่างๆ และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ซึ่งนอกจากตลาดภายในประเทศแล้ว ผลิตภัณฑ์เนเจอร์กิฟก็ยังมีการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศด้วย ไม่ว่าจะเป็น มาเลเซีย อินเดีย ออสเตรเลีย ดูไบ ตุรกี นอร์เวย์ สวิตเซอร์แลนด์ เดนมาร์ก และสหรัฐอเมริกา



ดร.กฤษฎา กับโรงงานแห่งที่ 2 ซึ่งก่อสร้างด้วยวงเงิน 200 ล้านบาท

อุปสรรค คือส่วนหนึ่งของ ความสำเร็จ

ดร.กฤษฎา บอกว่าสิ่งหนึ่งที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จมาถึงทุกวันนี้ก็คือความมุ่งมั่นและไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค อีกทั้งยังเชื่อว่าการดำเนินชีวิตตามหลักธรรมคำสอนขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้าจะนำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรือง และช่วยให้เขาสามารถผ่านพ้นอุปสรรคนานัปการในชีวิตไปได้

ผมคิดว่าการทำงานทุกอย่างต้องมีอุปสรรค แต่ถ้าเจออุปสรรคแล้วเราคิดว่าอุปสรรคเหล่านี้คือส่วนหนึ่งของความสำเร็จเราก็มีกำลังใจที่จะเดินต่อไปได้ อย่างมีอยู่ครั้งหนึ่งธนาคารโทรมาทวงเงิน คือตอนนั้นผมไม่ได้จ่ายดอกเบี้ยเขาหลายเดือนแล้ว ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ผมกำลังเริ่มผลิตกาแฟ ผมก็บอกว่ารอนิดหนึ่งนะ กำลังทำกาแฟอยู่ เจ้าหน้าที่ธนาคารก็บอกว่าเห็นด็อกเตอร์ทำมาตั้งหลายอย่าง ไม่เห็นสำเร็จสักอย่าง ... ผมก็เลยบอกเขาไปว่า คุณรู้จักมิสเตอร์ฮอนด้าไหม มิสเตอร์ฮอนด้าเขาบอกว่ารถยนต์ฮอนด้าที่คุณเห็นเขาผลิตออกมาขายน่ะมันแค่ 5% ที่เขาทำมาทั้งหมด คือคุณเห็นแค่สิ่งที่เขาทำแล้วประสบความสำเร็จซึ่งมันมีเพียง 5% เท่านั้น ส่วนอีก 95% ซึ่งคุณไม่เห็นน่ะมันคือส่วนที่เขาทำแล้วล้มเหลว เจ้าหน้าที่ธนาคารเขาก็เลยเงียบไป เพราะฉะนั้นถ้าคุณทำอะไรแล้วมันล้มตลอดก็อย่าเพิ่งท้อ เราต้องรู้ว่าเราล้มได้ถึง 95 ครั้งนะ ขอแค่ชนะ 5 ครั้งก็พอแล้ว (ยิ้ม)



เปิดตัวเนเจอร์กิฟครั้งแรกที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ตอนผมขายเครื่องฟอกอากาศ ผมอยู่ตึกแถวจนสามารถเก็บเงินซื้อบ้านทาวน์เฮาส์ได้ แล้วก็มาซื้อบ้านเดี่ยวซึ่งมีสนามหญ้าด้วย 2 หลัง ซื้อที่ได้หลายร้อยไร่ มีรถวอลโว่ รถบีเอ็มซีรีย์ 7 พอเกิดวิกฤตเศรษฐกิจไอเอ็มเอฟผมก็ล้มละลาย โรงงานถูกยึด บริษัทก็ถูกยึด รถบีเอ็มก็ต้องขาย หมดทุกอย่ง ผมต้องนั่งรถเมล์ไปทำงาน แต่ผมก็มองว่ามีได้ก็หมดได้เป็นเรื่องธรรมดาของโลก อีกอย่างที่ทำให้ผมประสบความสำเร็จในชีวิตเนี่ยก็เพราะผมปฏิบัติตามคำสอนขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้า คือทำทาน รักษาศีล แล้วก็เจริญภาวนาคือสวดมนต์และนั่งสมาธิ ผมทำธุรกิจไปด้วย ทำบุญไปด้วย เราทำครบทั้งทาน ศีล ภาวนา เวลามีปัญหา จากหนักมันก็เบาลง

ด้วยความที่เป็นคนใฝ่รู้ผู้ชายคนนี้จึงไม่เคยหยุดนิ่งในเรื่องของการศึกษา และไม่มีคำว่าแก่เกินเรียน

ผมเรียนไปเรื่อยๆ เป็นคนชอบเรียน ทำธุรกิจไปด้วยเรียนไปด้วย ปริญญาบางใบได้มาตอนแต่งงานและมีลูกแล้วก็มี ผมเรียนปริญญาโท เอ็มบีเอ ที่ธรรมศาสตร์ เรียนปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยอเมริกันโคสต์ไลน์ (American Coastline University) สหรัฐอเมริกา แต่เรียนทางไปรษณีย์นะ แล้วก็ได้อบรมหลักสูตรธุรกิจที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (สหรัฐอเมริกา) คือเขาเชิญไปเรียนโดยคัดจากนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ ผมเป็นนักธุรกิจไทยรุ่นแรกที่ได้รับคัดเลือก ตอนนั้นไปอบรมพร้อมกับคุณประชา มาลีนนท์ (อดีตผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสี ช่อง 3) รวมๆ แล้วทั้งปริญญาและประกาศนียบัตร ประมาณ 10 กว่าใบได้ คืออุปนิสัยผมเป็นคนใฝ่รู้ อย่างเราเรียนจบปริญญาตรีด้านวิศวกรรม พอไปทำธุรกิจต้องติดต่อค้าขายกับต่างประเทศผมก็จะไปเรียนหลักสูตรเกี่ยวกับการเขียนจดหมายทางธุรกิจ เรียนการพูดภาษาอังกฤษ เรียนการเงิน การตลาด ก็หาความรู้เพิ่มเติมอยู่ตลอด คือผมเป็นคนไม่ชอบเที่ยว พอเลิกงานก็ไม่รู้จะทำอะไรเลยไปเรียนหนังสือ ดร.กฤษฎา กล่าว

มีเงินพันล้าน แต่ใช้เดือนละ 6 พัน

แม้ปัจจุบัน ดร.กฤษฎาจะประสบความสำเร็จอย่างสูงในธุรกิจและกลายเป็นเศรษฐีพันล้าน แต่เขาก็หาได้ใช้ชีวิตอย่างฟุ่มเฟือยหรูหรา ... ตรงกันข้ามเขากลับยังคงใช้ชีวิตสมถะ กินง่ายอยู่ง่ายไม่ต่างจากเมื่อครั้งที่ยังล้มลุกคลุกคลานในช่วงที่เริ่มต้นทำธุรกิจใหม่ๆ

ดร.กฤษฎาบอกว่า เขาเลือกใช้จ่ายเฉพาะในสิ่งที่จำเป็น ซึ่งรวมๆแล้วในแต่ละเดือนนั้นเขาจะใช้เงินไม่เกิน 6,000 บาท เพราะเขามองว่าคงเป็นการดีกว่าหากเงินที่เขาหามาด้วยความยากลำบากนั้นจะถูกนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อพุทธศาสนา หรือใช้ในการส่งเสริมคุณธรรมและการศึกษาให้แก่เด็กๆที่ด้อยโอกาส

ทุกวันนี้ผมใช้เงินแค่เดือนละ 6,000 บาท อาหารเช้าของผมคือถั่วต้ม น่าจะประมาณ 3-5 บาท คือผมเอาถั่วแดง ถั่วเขียว ลูกเดือย ถุงละแค่ 10 กว่าบาท มาต้มใส่น้ำตาล ต้มเสร็จแล้วก็แช่ช่องแข็งไว้ เช้าก็เอาออกมากิน ถั่วนี่คุณค่าทางอาหารสูงด้วย ประหยัดด้วย มื้อกลางวันก็เป็นอาหารตามสั่งจากร้านแถวๆ ออฟฟิศ บางทีขับรถไปเจอเพิงก๋วยเตี๋ยวข้างทางผมก็แวะกินได้ ผมกินอะไรง่ายๆ ตกเย็นก็กินข้าวที่บ้านกับครอบครัว แค่นี้ก็มีความสุขแล้ว คือผมมองว่าเงินทองของเราถ้าได้นำไปใช้ในสิ่งที่เป็นประโยชน์มันน่าจะคุ้มค่ากว่าเอามาใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ไร้สาระ อย่างที่บริษัทก็จะมีการแจกทุนการศึกษาให้แก่เด็กที่เรียนดี มีความประพฤติดี แต่ฐานะยากจน แจกมาต่อเนื่องทุกปี ซึ่งปีนี้เราก็แจกให้ 100 ทุน ทุนละ 12,500 บาท

หรืออย่างรีสอร์ทที่ลพบุรีเก็บเอาไว้ก็ไม่ได้ทำอะไร ผมก็เลยถวายวัดไปเพื่อใช้สร้างสถานปฏิบัติธรรม นอกจากนั้นเราก็สร้างธรรมสภาขึ้นมา ซึ่งตรงนี้จุคนได้หลายพันคน ทางวัดเขาก็ใช้เป็นที่อบรมธรรมะสำหรับเยาวชนและประชาชน ใช้เป็นที่ประชุมสงฆ์ เป็นที่จัดบวชเณร แล้วผมก็ส่งเงินไปช่วยเป็นค่าน้ำค่าไฟ ค่าคนงาน ทุกเดือน เมื่อปีที่แล้วก็มีการจัดตักบาตรที่ศูนย์ลพบุรี 2 ครั้ง ครั้งแรกเดือนกุมภาพันธ์ นิมนต์พระมา 1,700 รูป ครั้งที่ 2 เมื่อเดือนธันวาคม 2551 มีพระมารับบาตร 10,000 รูป ปลายปีนี้ก็จะจัดอีก คือเราอยากให้คนหันกลับมาทำบุญใส่บาตรกันเยอะๆ เหมือนเมื่อก่อนนี้ ผมจำได้ว่าสมัยเด็กๆ ผมอยู่ในสลัม เราเดินไปแถวถนนเจริญกรุงจะเห็นพระเดินรับบาตรมาเป็นแถว ชาวบ้านเขาก็ใส่บาตรกัน ส่วนเรายังเป็นเด็กจนๆ เราก็ได้แต่ยกมือไหว้ แต่วันนี้เรามีโอกาสทำได้มากกว่าแค่ยกมือไหว้พระ (ยิ้ม) ผมคิดว่าถ้าคนมีศีลมีธรรมเหมือนเมื่อก่อนบ้านเมืองเราก็สงบสุข

ดร.กฤษฎายังบอกด้วยว่า ความยากลำบากที่เขาพบเจอมาตั้งแต่วัยเยาว์นั้นเป็นเหมือนเบ้าหลอมให้เขารู้จักมานะ อดทน จนประสบความสำเร็จได้ถึงทุกวันนี้ ดังนั้นเขาจึงปลูกฝังให้ลูกๆ ทั้ง 3 คนซึ่งจะต้องเข้ามาสืบสานธุรกิจของเขาต่อไปในอนาคตได้เรียนรู้ที่จะทำงานโดยไม่หวั่นต่อความยากลำบาก

ผมกับภรรยาจะไม่เลี้ยงลูกแบบคุณหนู ไม่สอนให้เขาฟุ้งเฟ้อ ลูกทุกคนจะช่วยกันทำงานหมด เราสอนเขาว่าอย่าอายถ้างานที่เราทำเป็นอาชีพสุจริต ลูกชายคนโตผมเขาเรียนจบปริญญาตรี ที่เอแบค ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ จบออกมาก็หางานทำไม่ได้ เขาก็ไปสมัครเป็นเซลส์เดินขายไส้กรอก ได้วันละ 100 บาท วันไหนขายไม่ได้ตามเป้าก็ไม่ได้เงิน ตอนเราเริ่มทำกาแฟเนเจอร์กิฟใหม่ๆ เรายังไม่มีเงินจ้างคนงาน ทุกคนในบ้านก็ต้องช่วยกันทำทุกอย่าง ตั้งแต่ผลิตกาแฟอยู่ในโรงรถ กลางคืนก็ให้ลูกชาย 2 คนไปซื้อน้ำตาลจากห้างแมคโคร ช่วยกันเข็นมา กลางวันเขาก็ต้องไปส่งกาแฟ ขับรถกระบะไปเอง แบกเองทุกอย่าง ตอนนี้ลูกทั้ง 3 คนเรียนจบหมดแล้ว ก็เข้ามาช่วยงานในบริษัท คือผมมองว่าเราไม่ได้อยู่กับเขาไปตลอด ไม่ได้อุ้มชูเขาทั้งชีวิต ดังนั้นถ้าให้เขาได้เจอกับความลำบากตั้งแต่วันนี้ ต่อไปวันข้างหน้าเจอปัญหาอะไรเขาก็รับได้หมด ดร.กฤษฎา พูดถึงสิ่งที่เขาคาดหวังจากทายาททั้ง 3 ที่จะมาสืบสานกิจการเนเจอร์กิฟต่อไปในอนาคต

from http://www.siamsouth.com/smf/index.php/topic,8449.0.html


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความยอดนิยม (ล่าสุด)

บทความยอดนิยม (1 ปีย้อนหลัง)