Pages

Pages

22 พฤษภาคม 2553

“จี๊ดจ๊าด” เปิดมิติใหม่มะขามแปรรูป ไอเดียธุรกิจสุดจี๊ด!


“จี๊ดจ๊าด” เปิดมิติใหม่มะขามแปรรูป ไอเดียธุรกิจสุดจี๊ด!


บางครั้งการเริ่มต้นทำธุรกิจอะไรบางอย่าง มักจะเกิดขึ้นจากสิ่งใกล้ตัว น้อยคนนักที่จะรู้ว่า “คุณภูวเดช เลาหะมณฑลกุล” นักธุรกิจเจ้าของกิจการผลไม้แปรรูป จาก บริษัท 3 เอ็ม ฟูด โปรดัก จำกัด คือ ผู้สร้างตำนาน ต้นตำรับของมะขามเคี้ยวหนึบ รสเปรี๊ยวถึงใจ ใส่กระปุกใส ตรา “จี๊ดจ๊าด” มีโลโก้ “หนูจี๊ดชู 2 นิ้ว”
ด้านรสชาติที่ว่ากันว่าสามารถ ทำให้ตาสว่างได้เพราะความเปรี้ยวถึงแก่น อีกทั้ง เคยเป็นขวัญใจของนักศึกษาตามหอพักหลายสถาบันในยามที่ ที่ต้องอ่านหนังสือเตรียมสอบ จนทำให้เกิด กระแสมียี่ห้ออื่นทำออกมาขายกันตามท้องตลาดมากมายหลายยี่ห้อ


“การเริ่มต้นทำธุรกิจมักจะเกิดจากสิ่งใกล้ตัว”

คุณภูวเดช เลาหะมณฑลกุล ปกติเป็นคนชอบกินของจุกจิก ไม่ว่าจะทำอะไรก็แล้วแต่จะต้องมีของกิน อยู่ใกล้ๆ ตัว แต่ข้อแม้ของเขา คือ ต้องรับประทานง่าย และมะขาม คือ สิ่งที่พบเห็นได้ทุกส่วนในบ้านของเขา

“ที่บ้านชอบทานมะขาม แต่ทำไมไม่ทำให้กินง่ายๆ กว่านี้ เพราะมะขามเป็นฝัก ก็ต้องแกะ แล้วคนขับรถ ไม่มีทางได้ทาน เมื่อก่อน ก็เป็นมะขามฝักคลุกน้ำตาล เราก็เลยคิดว่า จะรู้ได้อย่างไรว่ามันสะอาด พี่เขยบอก เดี๋ยวจะทำมาให้ทาน แล้วก็ทำมาจริงๆ ก็อร่อยจริงๆ แต่ฟอร์มเม็ดจะไม่สวยขนาดนี้ ก็คุยเล่นๆ ว่า ถ้าทำให้เม็ดสวยกว่านี้ น่าทำขาย” คุณภูวเดช เล่าถึงจุดเริ่มต้นของแนวคิดในการทำธุรกิจ มะขามจี๊ดจ๊าด


จากความต้องการเพียงแค่ อยากทานของกินกันง่ายๆ สะอาดๆ ในหมู่ญาติสนิท กลายเป็นเรื่องสนุก ที่อยากทำขาย เพราะเขาเชื่อว่า มะขามจี๊ดจ๊าด น่าจะเป็นสินค้าแปลกใหม่ของตลาดแน่นอน

คุณภูวเดช เริ่มต้นทำการทดสอบรสชาติจากญาติสนิท คนใกล้ชิด และเมื่อได้คำตอบที่เป็นไป ในทางบวก จึงเริ่มมีความคิดที่จะนำมะขามจี๊ดจ๊าด ไปออกร้านตาม Exhibition ต่างๆ เพื่อเปิดตัวสินค้าตัวใหม่นี้

คุณภูวเดช จึงเริ่มคิดตั้งชื่อสินค้า โดยกำหนดกรอบไว้ว่า ต้องทำให้คนสามารถจดจำชื่อได้ง่าย“คิดว่าผลไม้แบบนี้ก็ต้องออกรสเปรี้ยวๆ หวานๆ เลยคิดว่า เอาชื่อลูกสาวคนเล็กชื่อ จี๊ด มาใช้เรียก เป็น จี๊ดจ๊าด ดีไหม เพราะสื่อความเป็นไทย ฟังแล้วเหมาะสมกับผลไม้เปรี้ยวๆ หวานๆ”

จี๊ดจ๊าด จึงกลายมาเป็นชื่อเรียกของมะขามจี๊ดจ๊าด ยี่ห้อ “หนูจี๊ดชู 2 นิ้ว” มีสัญลักษณ์เป็น ตัวการ์ตูนน่ารักจำง่าย


ความแปลกใหม่ของ มะขามจี๊ดจ๊าด ได้ถูกพูดถึงกันปากต่อปากในเรื่องรสชาติที่เปรี้ยวสะใจ รูปลักษณ์ที่ใส่กระปุกใส ดูน่าทาน เม็ดมะขามไม่ใหญ่ไม่เล็ก มีการเสาะแสวงหาร้านที่ขายมะขามจี๊ดจ๊าด จนกลายเป็นกระแสความต้องการที่ใครๆ ก็อยากซื้อเก็บไว้ทานที่บ้าน และที่ทำงาน

ความสำเร็จขั้นต้นทำให้ คุณภูวเดช คิดจะเจาะตลาดการขายมะขามจี๊ดจ๊าดมากขึ้น และไม่หวังจะสร้างแบรนด์โดยใช้ Agency ที่ต้องใช้เงินจำนวนสูง แต่เค้ากลับทำให้คนรู้จักโดยวิธีการเดินแจกสินค้าไปที่กลุ่มเป้าหมาย เช่นผู้ขับขี่บนท้องถนน และ ณ เวลานั้น เป็นช่วงปลายปีที่มีการรณรงค์ง่วงไม่ขับ กลุ่มเป้าหมายจึงได้รู้จัก มะขามจี๊ดจ๊าด ไปตลอดทางทั้งเดือน เมื่อแจกถึงมือกลุ่มเป้าหมายแล้ว เขาได้ตั้งเป้าว่า มะขามจี๊ดจ๊าด จะต้องหาซื้อได้ง่าย หาซื้อได้ทั่วไป


“ต้องหาซื้อง่าย หาซื้อได้ทั่วไป”

จากขวบปีแรกที่ คุณภูวเดช ทำขายเพื่อความสนุก กลายเป็นว่าต้องทำขายอย่างจริงจังในรูปแบบ ธุรกิจ และทำให้ตลาด มะขามจี๊ดจ๊าด เติบโตอย่างรวดเร็ว จนทำให้ผู้ค้ารายอื่นแห่ผลิตสินค้า มะขามจี๊ดจ๊าด ลักษณะเดียวกัน เกิดการแข่งขันสูงอย่างที่เขาไม่เคยคาดคิด ผู้ซื้อเริ่มมีทางเลือกในการซื้อมะขามจี๊ดจ๊าด ยี่ห้ออื่นๆ

“หลังจากทำตลาดได้ปีกว่าเกือบสองปีตลาดก็ใช้คำว่า จี๊ดจ๊าด กัน เราก็ทำอะไรไม่ได้ เช่น มะขามหวาน รสเปรี้ยวจี๊ดจ๊าด ประมาณนี้ เค้าจะใช้ชื่อยี่ห้อนิดเดียวแล้วเน้นคำว่า จี๊ดจ๊าด ตัวใหญ่ ข้อเสียคือ เราโดนเลียนแบบ แต่ตลาดโต แต่ข้อเสียมันเยอะกว่าข้อดีนะ”

เมื่อตลาดในประเทศเริ่มมีการแข่งขันกันมากขึ้น คุณภูวเดช เริ่มมองไปที่ตลาดต่างประเทศโดยที่ ยังไม่ได้ศึกษาข้อมูล หรือปรึกษาองค์กรภาครัฐใดๆ ทั้งสิ้น เพียงแค่คิดอย่างเดียวว่า ต้องขายให้ได้ เขาพยายาม หาเงินทุน ต่างประเทศด้วยตัวเอง เพื่อนำ มะขามจี๊ดจ๊าด รวมไปถึง ผลไม้แปรรูปอื่นๆ เช่น สับปะรด มะยม ฝรั่ง ไปออก Exhibition ในประเทศต่างๆ ในเอเซีย แต่ดูเหมือนว่า จะเป็นการพายเรือหาเกาะอยู่ในมหาสมุทร


“ฝันให้ไกล...ไปให้ถึง”

“มันต้องมีวิธีการ ไปอย่างไรถึงจะไปให้ถึง อย่างน้อย เราอยากจะขายให้ได้ทั่วเอเซีย ไม่ได้ฝันว่าเรา จะกระโดดไปไกลข้ามฝั่งโน้น เอาแค่เอเซียก็พอแล้ว สิ่งที่เราพยายาม ก็พยายามกันไป เริ่มไปทีละจุด ลองผิดลองถูก”

ฝันให้ไกล... ไปให้ถึง ดูเหมือนจะตรงกับแนวคิดของ คุณภูวเดช ที่มีความมุ่งมั่นในการขยายธุรกิจ อาหารแปรรูปในต่างประเทศ จนกระทั่งได้มาพบกับ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ซึ่งรับเป็นที่ปรึกษาในการหาช่องทางการตลาดในต่างประเทศ รวมไปถึงการอบรมสัมมนา เพื่อให้ภูวเดชเข้าใจ แนวทางในการทำธุรกิจรอบด้าน และให้ทุนจำนวนครึ่งหนึ่งสนับสนุนในการไปออกงานตาม Exhibition ยัง ต่างประเทศ

from http://manager.co.th/SMEs/ViewNews.aspx?NewsID=9530000064332


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น