Pages

Pages

25 พฤษภาคม 2553

บทเรียนจากกรีซ - ดร กอบศักดิ์ ภูตระกูล


บทเรียนจากกรีซ - ดร กอบศักดิ์ ภูตระกูล

ในช่วง 2-3 เดือน ที่ผ่านมา สถานการณ์เศรษฐกิจของกรีซ ได้เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และลุกลามจนกลายเป็นวิกฤต หลายคนสนใจว่า บทเรียนจากกรีซคืออะไร วันนี้อยากมาเล่าให้ฟังถึงที่มาของปัญหา และสาเหตุที่ทำให้ปัญหาลุกลามขึ้นถึงขนาดนี้

ปัญหาเกิดจากอะไร


ถ้าตอบสั้นๆ ก็ต้องบอกว่า มาจาก “การใช้จ่ายเกินตัว ใช้ชีวิตสุขสบายเกินไป เกินกำลัง เกินอัตภาพ”


คนที่ใช้จ่ายเกินตัวในกรณีนี้ ก็คือ ภาครัฐ ที่แต่ละปีจ่ายออกไปมากกว่าภาษีที่ได้มา ลงไปในโครงการประชานิยม รวมถึงให้สวัสดิการต่างๆ เอาใจประชาชน เพื่อประโยชน์ทางการเมือง จนขาดดุลการคลังต่อเนื่องกันหลายต่อหลายปี

ถ้าจะว่าไป รัฐบาลกรีซไม่น่าสามารถจะกู้เงินมาใช้จ่ายแบบสุรุ่ยสุหร่ายได้มากขนาดนี้ ปัญหาไม่ควรมาไกลถึงเพียงนี้ เมื่อหนี้ภาครัฐกรีซเริ่มเพิ่มขึ้น สูงแซงประเทศอื่นๆ นักลงทุนก็น่าจะเริ่มกังวลใจได้แล้ว และเฉลียวใจว่าถ้ากรีซยังกู้ยืมแบบนี้ ท่าทางจะไปไม่รอด ซึ่งนำไปสู่คิดดอกเบี้ยให้แพงขึ้นเรื่อยๆ หรือลดการให้กู้ยืมแต่เนิ่นๆ ท้ายสุดกรีซก็จะกู้ยืมได้ไม่มากนัก ต้องลดการใช้จ่ายลง หนี้ภาครัฐก็คงจะไม่สามารถสูงไปถึง 115% ของรายได้ประเทศ เช่นที่เกิดขึ้น

แต่กลไกดังกล่าวกลับไม่ทำงาน ส่วนหนึ่งมาจาก (1) การที่กรีซเป็นสมาชิกของกลุ่มยูโร อาศัยเครดิตของเยอรมันมาทำให้กรีซดูดีมากในสายตาของนักลงทุน และในสายตาของสถาบันจัดอันดับเครดิตของโลก ซึ่งเป็นสิ่งมาบังตาของทุกคน ยอมปล่อยเงินให้กรีซยืมต่อไปด้วยดอกเบี้ยที่ไม่แพงนัก ไม่น่าแปลกใจว่ากรีซจึงสามารถใช้เงินแบบสนุกมือ

ยิ่งไปกว่านั้น (2) รัฐบาลกรีซเอง ยังมีการตกแต่งตัวเลขการใช้จ่าย โดยไปซุกซ่อนทำธุรกรรมทางการเงินที่ซับซ้อนกับบริษัท Goldman Sachs ตั้งแต่ปี 2001 เพื่อลดตัวเลขการขาดดุลการคลัง และหนี้ภาครัฐลง ผลักภาระออกในอนาคต

ทั้งหมดนี้ทำให้ฐานะการคลังของกรีซเปราะบางมาก เป็นประเทศที่มีหนี้ภาครัฐสูงสุดในกลุ่มยูโร ครั้นเกิดวิกฤตการเงินโลกเมื่อ 2 ปีที่แล้ว กรีซต้องใช้จ่ายเงินอีกเป็นจำนวนมากเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ สถานการณ์ด้านการคลังก็ทรุดลง ครั้นเมื่อความเป็นจริงเรื่องตัวเลขการขาดดุลการคลัง ที่ซุกซ่อนเอาไว้เปิดเผยออกมาซ้ำเติม ทั้งหมดจึงกลายเป็นชนวนนำมาซึ่งวิกฤตความเชื่อมั่นในตัวรัฐบาลกรีซ และปัญหาในปัจจุบัน

ที่น่าสนใจก็คือ ช่วงแรกที่กรีซเริ่มแสดงอาการของปัญหา กรีซยังพอมีเวลาที่จะปรับปรุงตนเอง โดยลดการใช้จ่าย เพิ่มรายได้ เพื่อลดการขาดดุลที่มีอยู่เป็นจำนวนมากลง แสดงถึงวินัยการคลังของตนเอง ซึ่งจะให้เจ้าหนี้และนักลงทุนเชื่อใจว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาได้ อีกทั้งกรีซก็มีตัวช่วย คือ ประเทศในกลุ่มยูโรที่จะยืนมือเข้ามาหากปัญหาลุกลาม

แต่สิ่งที่น่าเสียใจก็คือ กรีซเลือกที่จะไม่ยอมรับว่าตนเองมีปัญหา ไม่ยอมแก้ไขแต่เนิ่นๆ มีปัญหาประท้วงอย่างรุนแรงเกิดขึ้นต่อเนื่องในประเทศ โดยสหภาพแรงงานกรีซไม่ยอมที่จะให้รัฐบาลลดการใช้จ่ายลง อีกทั้งประเทศในกลุ่มยูโรก็มีปัญหาทางการเมืองภายใน เตะถ่วงไม่ยอมให้ความช่วยเหลือกรีซให้รวดเร็วและเพียงพอแต่เนิ่นๆ ตรงนี้ จึงกลายเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้วิกฤตความเชื่อมั่นลุกลาม และทำให้กรีซกลายเป็นเหยื่อของนักเก็งกำไร โดยเฉพาะการเก็งกำไรในตลาดพันธบัตรและตลาด CDS ของกรีซ และเมื่อสถาบันจัดอันดับเครดิต S&P ออกมาประกาศซ้ำเติม โดยลดอันดับของกรีซลง 3 ขั้นในครั้งเดียว พันธบัตรกรีซกลายเป็น Junk Bond ไม่เหมาะต่อการลงทุน สถานการณ์ก็ทรุดตัวลง

พอลองกลับมานั่งคิดดู เราเรียนรู้อะไรจากกรีซ (1) ต้องกันไว้ก่อน อย่าทำตัวเปราะบาง รักษาวินัยตลอดเวลา เพราะถ้าเรามีวินัย ฐานะเราไม่เปราะบาง เราก็จะไม่เป็นเหยื่อได้ง่าย (2) ทำอะไรตรงไปตรงมา เพราะท้ายที่สุดแล้ว ความเชื่อมั่นเป็นสิ่งที่สร้างมาได้ยาก และตอนที่หายไป หายไปง่าย และ (3) เมื่อเกิดปัญหา ก็ให้แก้แต่เนิ่นๆ อย่ารอช้า เพราะถ้าปล่อยให้สถานการณ์ล่วงเลยมามาก การจะแก้ก็ทำได้ยาก เพราะเมื่อถึงตอนนั้น ก็เป็นเหยื่อของนักเก็งกำไรไปแล้ว อยู่ใต้กงเล็บของเขาแล้ว การจะออกหลุดออกจากตรงนั้น เป็นไปได้ยาก

ก็หวังว่าไทยและประเทศต่างๆ ทั่วโลก จะใช้กรีซเป็นอุทาหรณ์และเร่งที่จะสร้างวินัยทางเศรษฐกิจของตนให้เกิดขึ้น ไม่ตกเป็นเหยื่อรายต่อไป ขอเอาใจช่วยครับ

from http://www.kobsak.com/?p=3258


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น