20 พฤษภาคม 2553

โลกแห่งการลงทุนใน The Loser’s Game

โลกแห่งการลงทุนใน The Loser’s Game

ในอดีต Money Game อาจจะเคยเป็น Winner’s Game แต่เมื่อเริ่มมีข้อมูลมากขึ้น มีนักลงทุนเข้ามาในตลาดมากขึ้น ส่งผลให้การแข่งขันมีสูงขึ้น ทำให้การลงทุนกลายเป็นเรื่องของมืออาชีพ มีการซื้อขายกันมากขึ้น และผู้ที่จะเอาชนะตลาดได้น่าจะเป็นผู้ที่สร้างความผิดพลาดน้อยที่สุด

นักลงทุนที่สนใจการลงทุนในตลาดหุ้นระยะนี้คงเป็นที่ทราบกันแล้ว ว่าการลงทุนในตลาดหุ้นบ้านเรานั้นค่อนข้างที่จะไม่แน่นอน เนื่องจากปัจจัยต่างที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยทางการเมืองในประเทศที่ยังหาข้อสรุปที่แน่ชัดไม่ได้ รวมไปถึงปัจจัยภายนอกประเทศ ที่ทำให้นักลงทุนต่างเกิดความวิตกกังวลต่อปัญหาหนี้สินของกรีซและปัญหาในเรื่องค่าเงินที่มีท่าทีว่าจะลุกลามมากขึ้นในขณะนี้ ส่งผลให้นักลงทุนมีการไถ่ถอนเงินลงทุนออกไปจากตลาดหุ้นเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น ดังนั้นสิ่งที่จะตามมาเมื่อมีขายหุ้นออกไปนั้นคือ ตลาดหุ้นมีความผันผวนกันถ้วนหน้า

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคงจะทำให้นักลงทุนเกิดคำถามขึ้นในใจว่า....ในเมื่อตลาดหุ้นผันผวนอย่างนี้ แล้วจะลงทุนในอะไรดี? แล้วจะลงทุนในตลาดหุ้นต่อไปได้หรือไม่....โดยเมื่อหลายวันก่อนได้มีโอกาสอ่านบทความ The Loser’s Game ที่เขียนขึ้นโดย Charles D. Ellis ซึ่งบทความนี้เขียนขึ้นเมื่อปี 1975 บทความนี้ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในบทความสำคัญที่สามารถสร้างแรงจูงใจในการก่อกำเนิดการลงทุนในกองทุนดัชนีหรือ Index Fund ในยุคสมัยนั้น โดยได้เมื่ออ่านแล้วก็คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ในการลงทุน จึงขออนุญาตนำมาเล่าเพื่อแบ่งปันกันความรู้กันในวันนี้

โดยบทความดังกล่าวได้เปรียบเทียบการลงทุนกับการแข่งขันไว้อย่างน่าสนใจ จึงอยากยกตัวอย่างขึ้นมาเพื่อเปรียบเทียบให้นักลงทุนหรือผู้อ่านนั้นได้เห็นภาพตาม อย่างเช่น ในการเล่นกีฬาเทนนิส เรามักจะพบว่าผู้ชนะในเกมเทนนิสระดับมืออาชีพมักจะเป็นผู้ที่ทำคะแนนจากลูก Winner ได้มากกว่าผู้แพ้ เรียกว่า ผลของการแข่งขันโดยส่วนใหญ่จะถูกกำหนดโดยผู้ชนะ แต่ถ้ามองในภาพว่าเราแข่งเทนนิสกับเพื่อน ๆ ลักษณะการแพ้ชนะอาจจะไม่เป็นอย่างนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นกลายเป็นผู้ที่ทำผิดพลาดน้อยกว่ากลายเป็นผู้ชนะ สิ่งนี้เองกลายเป็นว่าผู้แพ้เป็นผู้กำหนดผลการแข่งขัน
ขณะเดียวกัน เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับกีฬามวยอาจจะเป็นตัวอย่างที่ดีเช่นเดียวกันในการกำหนดกลยุทธ์ว่าควรจะเล่นใน Winner’s Game หรือ Loser’s Game โดยช่วงยกแรก ๆ อาจจะเดินหน้าลุยเพื่อหมายว่าจะน๊อคคู่ต่อสู้ให้ได้ แต่พอยกหลัง ๆ เมื่อเรารู้สึกว่าคะแนนยกที่ผ่าน ๆ มาของเรานำแล้วก็อาจจะเลือกชกโดยเซฟตัวเอง ไม่ต้องเดินหน้าลุยมากนัก ไม่ให้โดนต่อยจนต้องล้มลงไปนับ ก็น่าจะรักษาแต้มจนชนะคะแนนได้ จากตัวอย่างดังกล่าวจะเห็นว่าผู้เล่นอาจจะใช้ กลยุทธ์ของ Winner’s Game ในช่วงยกแรก ๆ และเลือกใช้กลยุทธ์สร้างความผิดพลาดให้น้อยแบบ Loser’s Game ในช่วงยกหลัง ๆ

ด้านกีฬาฟุตบอลก็เป็นอีกหนึ่งชนิดกีฬาที่เราสามารถนำมาเปรียบเทียบได้เช่นกัน โดยส่วนใหญ่แล้วถ้าทีมใหญ่ที่แข่งในสนามเหย้าของตัวเองต้องมาเจอกับคู่แข่งที่เป็นทีมที่อ่อนกว่า ลักษณะเกมมักจะเป็นรูปแบบที่เน้นการบุกเพื่อทำประตูเป็นหลัก นั้นคือผลแพ้ชนะขึ้นอยู่กับว่าทีมบุกจะทำประตูได้หรือไม่

โดยรูปแบบดังกล่าวอาจจะกล่าวได้ว่าเกมฟุตบอลในกรณีข้างต้นนั้นเป็น Winner’s Game แต่อย่างไรก็ตาม ในโลกของฟุตบอลนั้นไม่มีอะไรที่แน่นอน หลาย ๆ ครั้งเรากับพบว่าทีมที่โหมบุกหนักทั้งเกมกลับกลายเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ โดยทั้งเกมนั้นอาจจะเกิดจากความผิดพลาดเล็ก ๆ น้อย ๆ เพียงแค่ 1-2 ครั้ง และนำมาซึ่งความพ่ายแพ้ในที่สุดเมื่อจบเกมส์การเเข่งขัน

จากเหตุการณ์ดังกล่าวนั้นหลาย ๆ ครั้งอาจจะวิเคราะห์ได้ว่าทีมที่อ่อนกว่านั้นมักจะเล่นฟุตบอลแบบเน้นเกมรับโดยเน้นให้มีข้อผิดพลาดน้อยที่สุด แล้วอาจจะหาจังหวะสวนกลับ (Counter Attack) เพื่อพลิกเกม รูปแบบเกมดังกล่าวเป็นลักษณะของ Loser’s Game คือไม่พยายามทำอะไรที่เสี่ยงต่อการผิดพลาดอันนำไปสู่การพ่ายแพ้ได้

ในโลกของการลงทุน Charles D. Ellisนั้นเชื่อว่าในอดีต Money Game อาจจะเคยเป็น Winner’s Game แต่เมื่อเริ่มมีข้อมูลมากขึ้น มีนักลงทุนเข้ามาในตลาดมากขึ้น ส่งผลให้การแข่งขันมีสูงขึ้น ทำให้การลงทุนกลายเป็นเรื่องของมืออาชีพ มีการซื้อขายกันมากขึ้น เหตุการณ์ส่งผลให้ต้นทุนในการบริหารจัดการสูงขึ้นจน Money Game ไม่ใช่ Winner’s Game อีกต่อไป และผู้ที่จะเอาชนะตลาดได้นั้นน่าจะเป็นผู้ที่สร้างความผิดพลาดน้อยที่สุดคิดดังกล่าวนั้นเราเชื่อว่ามีประโยชน์แก่นักลงทุนอย่างมหาศาลถ้าเรารู้จักปรับใช้ โดยเราต้องประเมินด้วยตัวเองว่าเรากำลังแข่งในฐานะอะไร และเราควรจะใช้กลยุทธ์ไหนมาต่อสู้ อย่างเช่น ถ้าเรารู้สึกว่าเราเป็นฝ่ายได้เปรียบโดยอาจจะมีข้อมูลที่ดีกว่าเราอาจจะเลือกกลยุทธ์ของ Winner’s Game แต่ถ้าเรารู้สึกว่าเราอาจจะเป็นฝ่ายเสียเปรียบ การเลือกกลยุทธ์ที่หลีกเลี่ยงความผิดพลาดน่าจะเป็นผลดีกว่า (Loser’s Game)

ในชีวิตของการลงทุนเชื่อว่าหลาย ๆ ครั้งนักลงทุนมักจะได้รับข้อมูลที่ไม่เท่าเทียมกัน ซึ่งอาจจะเกิดจากการความสามารถในการเข้าถึงแหล่งข้อมูลหรือข่าวสารที่ไม่เหมือนกัน จนส่งผลถึงการตัดสินใจการลงทุน ดังนั้นหลาย ๆ ครั้งผมเชื่อว่า Money Game น่าจะถูกเปรียบได้กับ Loser’s Game เป็นส่วนใหญ่

ดังนั้นการลงทุนโดยคำนึงถึงความผิดพลาดให้น้อยที่สุดน่าจะเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่นักลงทุนน่าจะนำเอามาปรับใช้กัน ปัจจุบันนักลงทุนไม่จำเป็นต้องบริหารจัดการพอร์ตของตัวเองโดยเลือกซื้อขายหุ้นที่ละตัวอีกต่อไป เมื่อเรามีสินค้าประเภท ETF ที่ซื้อขายหุ้นเป็นตะกร้า อย่างเช่น TDEX (ทีเด็กซ์) หรือ TFTSE (ทีฟุตซี่) โดยการลงทุนใน ETF ดังกล่าวนั้น เหมือนกับการสร้าง Ready made Portfolioซึ่งจะเคลื่อนไหวไปตามภาวะตลาด

การที่เราซื้อ TDEX (ทีเด็กซ์) หรือ TFTSE (ทีฟุตซี่) นั้น จะทำให้นักลงทุนลดความเสี่ยงในเรื่องของการเลือกหุ้นรายตัว(Single Stock Risk) และการบริหารความเสี่ยง (Management Risk) ลงไปได้ นักลงทุนไม่ต้องกังวลว่าจะเลือกหุ้นผิดตัว หรือซื้อขายหุ้นผิดพลาด การลดความผิดพลาดดังกล่าวนั้นจะช่วยให้นักลงทุนมีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

การเลือกลงทุนในกลยุทธ์ดังกล่าวนั้นเป็นการเลือกที่จะสร้างความผิดพลาดจากการเลือกหุ้นรายตัวให้น้อยที่สุด เปรียบได้กับ Loser’s Game ที่เน้นผลแพ้ชนะจากการสร้างข้อผิดพลาดให้น้อยเอาไว้ก่อน โดยการลงทุนใน ETF นั้นอาจจะไม่ได้หวือหวาเหมือนกับการลงทุนในหุ้นรายตัวที่จะมี Story ให้พูดคุยกันเกือบทุกวัน หลาย ๆ ครั้งได้กำไรกันต่อวัน 5-10% แต่ความเสี่ยงที่มากขึ้นตามมาจาก Single Stock Risk ก็เป็นสิ่งที่ต้องระวังเช่นเดียวกัน

โดยการลงทุนใน TDEX หรือ TFTSE เป็นการลงทุนโดยอิงผลตอบแทนจากดัชนี ที่ส่วนใหญ่การเคลื่อนไหวของดัชนีต่อวันมักจะไม่มากนักโดยอาจจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบของ 1-3% เป็นหลัก แม้ว่าการลงทุนใน ETF อาจจะไม่ได้ดูหวือหวา แต่การลงทุนดังกล่าวช่วยให้นักลงทุนมั่นใจได้ว่าผลตอบแทนของพอร์ตโฟลิโอของตัวเองจะเป็นไปในแนวทางเดียวกับดัชนีที่อ้างอิง และช่วยลดความเสียหายจากการเลือกหุ้นผิดตัว (Stock Selection error) ได้อีกด้วย

ดังนั้นกลยุทธ์การเลือกที่จะรักษาความผิดพลาดให้น้อยที่สุดแบบ Loser’s Game อาจจะไม่ได้ตื่นเต้นเหมือนนักลงทุนประเภท Day Trader ที่เน้นซื้อขายหุ้นรายตัวอย่างรวดเร็ว แต่อย่างน้อยก็เป็นกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพและเน้นผลตอบแทนตามดัชนีตลาดฯ

เราจึงเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าการรู้จักตัวเองก่อนเริ่มลงทุนนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด และเราควรจะประเมินว่าตลาดหุ้นที่เรากำลังลงไปแข่งขันนั้นเป็น Winner’s Game หรือ Loser’s Game เปรียบได้กับฟุตบอลที่หลาย ๆ ครั้งการเล่นเกมรับก็ประสบความสำเร็จได้เช่นกัน เรายังจำทีมชาติกรีซในศึกยูโร 2004 ที่ประเทศโปรตุเกสเป็นเจ้าภาพได้ดี เมื่อทีมเล็ก ๆ อย่างทีมชาติกรีซใช้กลยุทธ์เกมรับที่มีประสิทธิภาพสามารถคว้าแชมป์โดยโค่นเจ้าภาพอย่างโปรตุเกสไปได้ หรือแม้แต่การแข่งขันเทนนิสระดับมืออาชีพในปัจจุบันก็อาจจไม่ได้เป็น Winner’s Game เสมอไปเมื่อหลาย ๆ ครั้ง เราอาจจะเห็นผู้ชนะได้คะแนนจากลูก Winner น้อยกว่าผู้แพ้เสียอีก ในเรื่องการลงทุนก็เช่นกันนักลงทุนรายย่อยเองก็ต้องปรับกลยุทธ์เพื่อให้เหมาะกับสิ่งที่เรากำลังจะลงไปแข่งเช่นกันเราเชื่อว่านักลงทุนรายย่อยสามารถประสบความสำเร็จในการลงทุนได้ถ้าเรารู้ว่าเรากำลังจะลงแข่งในสนาม Winner’s Game หรือ Loser’s Game...

ที่มา: บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม(บลจ.)วรรณ จำกัด

from http://manager.co.th/MutualFund/ViewNews.aspx?NewsID=9530000068824


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความยอดนิยม (ล่าสุด)

บทความยอดนิยม (1 ปีย้อนหลัง)