Uncommon Profits 'ฟิลลิป ฟิชเชอร์'
เมื่อปี 1931 หลังจากผ่านการอบรมนักวิเคราะห์ที่ธนาคารซานฟรานซิสโก ฟิชเชอร์เริ่มอาชีพการลงทุนด้วยการเป็นที่ปรึกษาการลงทุนในบริษัทของเขาเอง เขาเชี่ยวชาญในการลงทุนในธุรกิจที่เขารู้จักดี ซึ่งมักเป็นบริษัทที่มีนวัตกรรมทางเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ได้มาจากการวิจัยและพัฒนา ฟิชเชอร์เริ่มใช้กลยุทธ์การลงทุนแบบนี้ก่อนการเกิดของซิลิคอน วัลเลย์ ถึง 40 ปี
ในช่วงแรกบริษัทที่เขาแนะนำให้ลูกค้าซื้อมักเป็นบริษัทที่มีเทคโนโลยีไม่สูงนัก (Low-tech) เช่นบริษัทเคมีภัณฑ์ใหญ่ๆ หรือบริษัทผลิตเครื่องจักรอาหาร หลังจากนั้นเขาก็ได้ชื่อว่าเป็นนักลงทุนที่เห็นถึงคุณค่าของหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีขั้นสูง (Hi-tech) อย่างโมโตโรล่า (Motorola) หรือเท็กซัส อินสทรูเมนท์ (Texas Instruments)
ฟิชเชอร์ ได้เข้าซื้อหุ้นในบริษัทเท็กซัส อินสทรูเม้นต์ ในปี 1956 นานมากก่อนที่บริษัทนี้จะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ในปี 1970 เมื่อเริ่มแรกราคาหุ้นซื้อขายที่ 2.7 เหรียญ และหลังจากนั้นราคาก็ขึ้นไปถึง 200 เหรียญ เพิ่มขึ้น 7,400% โดยที่ไม่เคยจ่ายปันผลเลย เขาได้รับผลตอบแทนที่สูงมากจากการลงทุนในบริษัทนี้ โดยถือหุ้นไว้ไม่ได้ขายตลอดเวลากว่า 20 ปี
ขณะที่เขามีอายุได้ 90 ปี ฟิชเชอร์ยังคงทำงานในลักษณะเดิมอย่างที่เคยทำ โดยนั่งรถไฟไปทำงาน เขาเป็นคนที่ใช้เหตุผล และยึดหลักปฏิบัติอย่างเข้มงวด โดยจะเลือกลงทุนในบริษัทที่ได้ทำการศึกษาอย่างละเอียดรอบคอบ โดยศึกษาจากแหล่งความรู้ต่างๆ การสัมภาษณ์ผู้บริหารและคู่แข่งของบริษัท และสิ่งนี้ทำให้เขาเข้าถึงมูลค่าที่แท้จริงของบริษัทได้ก่อนใคร เขาเรียกวิธีการนี้ว่าการเข้าหาข้อมูลจนถึงแก่น (Scuttlebutt)
ฟิชเชอร์เขียนไว้ในหนังสือ Common Stocks and Uncommon Profits ที่ตีพิมพ์ในปี 1958 ว่านักลงทุนที่สนใจลงทุนในหุ้นบริษัทใหม่ที่มีการเติบโต (Young growth stock) ควรดำเนินการดังนี้
1. อ่านข้อมูลทุกอย่างที่หาได้ ทั้งจากวารสารและรายงานของบริษัทหลักทรัพย์
2. สนทนากับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับกิจการ เช่นผู้จัดการ พนักงาน โดยเฉพาะกับผู้ป้อนวัตถุดิบ ลูกค้า คู่แข่ง
3. เยี่ยมชมสถานที่ทำงานในจุดต่างๆ ของบริษัท เช่นโรงงาน สาขา ถ้าเป็นไปได้ ไม่ควรไปแค่สำนักงานใหญ่
4. ก่อนที่จะซื้อหุ้นของบริษัทนั้นๆ จะต้องแน่ใจว่าสามารถตอบคำถามทางด้านปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับบริษัทนั้นๆ ได้ทั้งหมด เช่น บริษัทนี้มีสินค้า หรือบริการที่มีศักยภาพทางการตลาด ที่สามารถทำยอดขายให้เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในอีกหลายๆ ปีข้างหน้าได้หรือไม่ หรือผู้บริหารของบริษัทมีแนวทางในการพัฒนาสินค้าใหม่ หรือขบวนการใหม่ๆ ที่ช่วยเพิ่มศักยภาพในการขายสินค้า ในขณะที่สินค้าชนิดเดิมก็ยังคงมีศักยภาพในการเติบโตที่สูง เป็นต้น
ฟิชเชอร์ถือหุ้นเพียงสองหรือสามบริษัทและถือไว้นานมากเป็นเวลากว่าสิบปี เขามีเหตุผลเพียงสามประการที่จะตัดสินใจขายหุ้นออกไปจากพอร์ต
1. เกิดความผิดพลาดอย่างใหญ่หลวงในการวิเคราะห์หุ้นที่ซื้อมาแล้ว
2. บริษัทนั้นมีแนวโน้มที่จะไม่สามารถผ่านหลักเกณฑ์ต่างๆ ได้เหมือนที่เคยเป็น
3. สามารถที่จะนำเงินลงทุนในบริษัทเดิมไปลงทุนในบริษัทอื่นที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้สูงกว่ามากๆ และก่อนจะตัดสินใจลงไปต้องแน่ใจว่ามีเหตุผลที่หนักแน่นพอ
from http://www.bangkokbiznews.com/home/details/business/ceo-blogs/viboon/20100510/114917/Uncommon-Profits-ฟิลลิป-ฟิชเชอร์.html
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น