เจ้าจะเอาแต่สุขสนุกไฉน
คนสมัยใหม่จำนวนมากในสังคมยุคอุตสาหกรรม มักมองตัวเองว่าเก่งกาจเลิศล้ำ ด้วยมีอุปกรณ์เทคโนโลยีอันน่าทึ่ง เช่น คอมพิวเตอร์ จอภาพทีวีมหึมาสามมิติ โทรศัพท์มือถือที่รับส่งข้อมูลกับภาพได้ เป็นต้น ทำให้รู้สึกว่าเป็นเทวดาผู้มีหูตาทิพย์ แต่อนิจจา เป็นได้แค่เทวดาเดินดิน ตราบใดที่ยังขาด "ความสุข" อันแท้จริง
ความสุขคืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร
นักจิตวิเคราะห์ อิริค ฟรอม์ม ผู้ได้บวชเรียนในพระพุทธศาสนาในบั้นปลายชีวิต มีคำตอบที่น่าสนใจ ดังนี้
เรามักคิดกันว่า ความสุข คือ ความสนุกสนาน ความเพลิดเพลินใจ หรือความบันเทิงใจ หากจริง เราก็จะมีความสุขแตกต่างกันตามฐานะเศรษฐกิจ การศึกษา และบุคลิกภาพของแต่ละคน ทว่า หาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะสวรรค์ของคนมั่งมี ก็คือ ความใฝ่ฝันและการลอกเลียนแบบของคนมีมั่งไม่มีมั่ง ซึ่งก็สามารถมีความสนุกสนานได้ในราคาที่ต่ำกว่า แต่ก็ไม่จืดชืดกว่าใคร
เมื่อมองจากแง่มุมของ "ความโศกเศร้า" จะเห็นได้ว่า สุขกับเศร้าอยู่คู่กัน เพราะตราบเท่าที่ยังมีชีวิตอยู่และต้องอยู่ร่วมกับปุถุชนทั้งหลาย เราก็จะยังต้องประสบกับเหตุการณ์โศกเศร้าจากกฎธรรมชาติ เช่น เรามีชีวิตอยู่ได้ไม่นานพอที่จะทำให้ความใฝ่ฝันทั้งหมดสัมฤทธิผล หรือมีความตายคอยเตือนเราอยู่เสมอว่า เราอาจต้องจากโลกนี้ไปก่อนหรือหลังผู้ที่เรารัก เป็นต้น แต่ในขณะเดียวกัน เราก็มีความสุขได้ทุกลมหายใจจากการคิดดีทำดีมีจิตผ่องใส ความโศกเศร้าจึงเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเสมอเหมือนความสุข
แต่เมื่อมองจากแง่มุมของ "ความซึมเศร้า" เราจะเห็นได้ว่า ความสุขกับความซึมเศร้าไม่อยู่คู่กัน จิตซึมเศร้าเกิดจากความสิ้นหวังในชีวิต ตกอยู่ในสภาพเหมือนคนที่ตายทั้งเป็น ไม่สามารถรับรู้ความสุขหรือแสดงความโศกเศร้าออกมา ซึ่งหากระบายออกมาได้ ก็จะทำให้รู้สึกโล่งอก ผู้มีจิตซึมเศร้าจะยิ้มหรือหัวเราะไม่เป็นและร้องไห้ไม่ออก นับเป็นภาวะจิตที่ทารุณโหดร้ายมาก คนมีความสุขจะซึมเศร้าไม่เป็น
โดยเนื้อแท้แล้ว "ความสุข" คือ "ประสบการณ์" ที่เต็มอิ่ม ไม่ขาดแคลน ไม่ต้องคอยตวงเติม กล่าวคือ มีความพอเพียงอยู่ในตัว ส่วนความสนุกสนานดังกล่าวนั้น เราต้องคอยเติมเต็มอยู่เรื่อยๆ แต่ข้างในลึกๆ ในใจ ก็ยังมีความซึมเศร้าแอบแฝงอยู่ หรือเราอาจมีรหัสพันธุกรรมของความซึมเศร้าอยู่ในสายเลือด
ความซึมเศร้ามีน้องที่เรียกว่า "ความเบื่อหน่ายในชีวิต" ซึ่งเกาะกินสุขภาพจิตของผู้คนสมัยใหม่อยู่ทั่วไป จากการใช้ชีวิตที่วนเวียนอยู่กับความจำเจ เสมือนเครื่องจักรกลไร้ชีวิตจิตวิญญาณ พลังเสริมสร้างถูกกดเก็บจนเป็นอัมพาตไป เหลืออยู่แต่ความรู้สึกไร้ชีวิตชีวา หมดอาลัยตายอยาก ไม่ว่าจะยากดีมีจนเพียงใด เราจะทำทุกอย่างเพื่อหลีกหนีไปให้ไกลที่สุด จากความเบื่อหน่ายอันแสนทรมานนี้
เรามักหลีกหนีความเบื่อหน่ายด้วยการทำตนให้เป็นคุณต่อสังคม ซึ่งทำให้เราได้รับความสุขทันที หรือเราอาจแสวงหาความสนุกสนานดังกล่าว ในขณะอยู่ลำพังหรือกับคนสนิทชิดชอบ ทว่า การกลบเกลื่อนความเบื่อหน่ายแบบนี้ ไม่ได้กำจัดตัวสาเหตุ เราจึงหลีกหนีความเบื่อหน่ายไม่พ้นสักที
เราต่างมีความขยาดกลัวความเบื่อหน่ายยิ่งกว่าการเจ็บไข้ได้ป่วย หรือการเสียหน้า ซึ่งจะส่งผลให้สูญเสียสถานะภาพทางสังคม เกียรติศักดิ์ ชื่อเสียง บารมี หรือศักดิ์ศรี ถึงขนาดยอมทำทุกอย่างโดยไม่คำนึงถึงศีลธรรมหรือสวัสดิภาพตน เพื่อจะได้พ้นจากความเบื่อหน่ายทั้งปวง
เรามักหลีกหนีความเบื่อหน่ายโดยการปรนเปรอตัวเองด้วยความสนุกสนานดังกล่าว เราจะดีใจที่อีกวันหนึ่งได้ผ่านพ้นไป หรืออีกชั่วโมงหนึ่งได้ถูกเผาผลาญทิ้งไปอย่างสนุกสนาน โดยมิต้องสัมผัสกับความเบื่อหน่ายในชีวิต แทนที่จะดีใจที่จะได้เริ่มวันใหม่สู่ประสบการณ์ที่มี "ความสุข" อีกวันหนึ่ง
นอกจากความเต็มอิ่มแล้ว ความสุข คือ พลังที่พยายามทำความเข้าใจและเป็นหนึ่งเดียวกับเพื่อนมนุษย์ โดยเกิดจาก 1. การใช้ชีวิตในทางที่เสริมสร้างเป็นคุณต่อสังคม ด้วยการมีเมตตาจิตและเหตุผลต่อผู้อื่น 2. การได้สัมผัสกับแก่นแท้ของความเป็นจริง โดยพบว่าตัวเรามีทั้งความเป็นหนึ่งเดียวและความแตกต่างกับผู้อื่น และ 3. การใช้พลังชีวิตในตัวเรา ในลักษณะที่สัมพันธ์กับตัวเราเองและโลกในทางเสริมสร้าง
คนเฉื่อยชา (เช้าชามเย็นชาม) หรือคนป่วยทางจิตจะไม่มีความสุข เพราะมีความรู้สึกว่า พลังชีวิตในตนได้สูญหายตายจากไปแล้ว จนได้กลายเป็นหุ่นให้ผู้อื่นเชิดตามอัธยาศัย และหลุดจากการเป็น "มนุษย์แท้" ผู้ทรงพลังชีวิต สู่ "มนุษย์เทียม" ผู้เป็นเพียงหุ่นยนต์คอยรับคำสั่งจากผู้อุปถัมภ์ ในลักษณะที่ธรรมชาติมิได้สร้างสรรค์มา แต่ถูกเทคโนโลยีแปรพันธุ์ไปแล้ว
ความสุข คือ ความรู้สึกที่เราสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นในใจตน โดยมิต้องพึ่งพาสิ่งบันเทิงใจข้างนอก แต่ทำตนให้เป็นคุณต่อสังคมด้วย "การให้" กับโลก มิใช่ "การรับ" จากโลกเท่านั้น
พระภิกษุสงฆ์ออกเดินบิณฑบาตในยามย่ำรุ่ง เพื่อให้เราได้มีโอกาสนมัสการถวายอาหารแด่ท่าน คือ มีประสบการณ์ของ "การให้" ต่อผู้อื่น เป็นการเสริมสร้างความสุขให้กับตัวเรา นับแต่วินาทีแรกๆ ของวันใหม่
ฟรอม์ม ชี้แนะไว้ว่า ผู้มีสุขภาพจิตเข้มแข็ง คือ ผู้ที่สามารถมีความสุขได้ มีความเป็นตัวของตัวเอง ไม่ยอมให้ใครมาเชิดหุ่นชีวิตตน มี "การให้" ผู้อื่นด้วยความบริสุทธิ์ใจ ปราศจากเงื่อนไข และการใช้ชีวิตที่เน้น "การเป็น" ผู้เสริมสร้างต่อผู้อื่นและสังคม
ส่วนผู้มีสุขภาพจิตเปราะบาง จิตไม่เต็มบาท คือ ผู้ที่ไม่สามารถมีความสุข นิยมวิ่งเข้าหาความสนุกสนานดังกล่าว แบบตื้นเขินชั่ววูบเท่านั้น ไม่มีความเป็นตัวของตัวเอง หวังพึ่งพาแต่ "ผู้อุปถัมภ์" ผู้มีเงื่อนไขผูกมัดมือเท้าตนไว้อย่างหนาแน่น มุ่งแต่ "การรับ" จากผู้อื่น ใช้ชีวิตที่เน้น "การมี" (กินกามเกียรติ) ไม่เป็นการเสริมสร้างตนหรือผู้อื่น และมักถูกจิตซึมเศร้าครอบงำอยู่อย่างน่าเวทนา
ธรรมชาติสร้างสรรค์เรามาพร้อมกับศักยภาพที่จะสมหวังใน "ความสุข" มิได้ให้เรามี "ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ" (Gross Domestic Product) อันสูงส่ง ซึ่งได้แต่ผลักดันเราให้ดิ่งลงสู่เหวแห่งความซึมเศร้า และความเบื่อหน่ายอยู่ทุกวัน
ก่อนปฏิรูปประเทศไทย เราจักต้องปฏิรูปตัวเราเองให้เป็นผู้สามารถมี "ความสุข" หรือเป็น "มนุษย์แท้" ให้ได้เสียก่อน แล้วค่อยคิดสร้างสรรค์ปรับปรุงระบบระเบียบทั้งปวง ซึ่ง "มนุษย์เทียม" หรือ "สัตว์เศรษฐกิจ" ที่ยังมีอยู่มาก จะสามารถใช้เงินทองเป็นสะพานก้าวข้ามไปได้อย่างสะดวกสบายเสมออยู่ดี สังคมเศรษฐกิจและการเมืองก็จะยังเน่าเหมือนเดิม
อย่าเอาเกวียนไปตั้งไว้ข้างหน้าโค จะไปไหนไม่รอด
หมายเหตุ : หัวข้อบทความ จาก "มงคลชีวิต" โดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)
from http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics/opinion/reader-opinion/20100630/340354/เจ้าจะเอาแต่สุขสนุกไฉน.html