นิยามความสำเร็จใน 15 นาที - หนูดี วนิสา เรซ
“นิยามของความสำเร็จของเราคืออะไร” นี่เป็นคำถามที่หนูดีถามตัวเองมาพักใหญ่ ไม่ใช่เพราะอยู่ดีๆ สับสนกับชีวิตขึ้นมา แต่เพราะว่า หนูดีต้องตกตะกอนความคิดเกี่ยวกับชีวิตตัวเองที่ผ่านมา แล้วพูดออกมาให้ได้ในเวลาแค่ 15 นาทีเท่านั้นค่ะ
เวลาสั้นแค่นั้น กับเรื่องที่อยากจะพูดมากมายใน Commencement Speech แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย แต่ก็ต้องทำให้ได้ เพราะคนจำนวนมากก่อนหน้าหนูดีก็ทำมาได้ และทำได้ดีเสียด้วย หนูดีเองเคยได้ฟังมาสองครั้ง ก็ได้ประโยชน์กับชีวิตทั้งสองครั้งทีเดียว
ถ้าเป็นคุณผู้อ่าน ต้องพูดให้คนไม่รู้จักฟังในเวลาไม่เกิน 15 นาที จะเล่าเรื่องอะไรเกี่ยวกับตัวเองคะ จะเล่าเรื่องความสำเร็จของตัวเองในมุมไหน ความล้มเหลวและมุมมองในเรื่องไหน มีเรื่องอะไรจะฝากเตือนคนรุ่นต่อไปที่กำลังจะออกมาเผชิญชีวิตนอกรั้วมหาวิทยาลัยเป็นครั้งแรกเหมือนตัวเราเมื่อสิบปี หรือหลายสิบปีที่แล้ว
ตอนนี้หนูดีกำลังอยู่ระหว่างการเดินทางไปพูดที่มหาวิทยาลัยคีย์สโตน ในรัฐเพนซิลเวเนีย ให้บัณฑิตใหม่ฟังในวันรับปริญญาค่ะ นึกแล้วก็เกรงใจกับค่าใช้จ่ายในการพาตัวหนูดีไป เทียบกับการพูดแค่สั้นๆ เท่านั้น จะขอเวลาพูดเพิ่มก็ไม่ได้เสียด้วย เพราะผิดประเพณี แถมวันนั้นเด็กเหนื่อยกันมามาก เวลา 15 นาทีก็มากมายแล้ว ที่จะฟังแนวคิดและแรงบันดาลใจจากใคร
นึกย้อนกลับไปถึงวันที่หนูดีรับปริญญาใบแรก ใครเลยจะนึกว่า คนที่มาพูดสั้นๆ จะมีประโยคติดตรึงในสมองหนูดีมาได้ถึงสิบปีทีเดียว หนูดีไม่รู้จักผู้ชายผิวดำวัยกลางคนที่มหาวิทยาลัยแมรี่แลนด์เชิญมาพูดให้เราฟัง แต่คิดว่าเขาต้องเป็นคนสำคัญทีเดียว ถึงได้รับหน้าที่อันทรงเกียรตินี้ วันนั้น พวกเราเต็มไปด้วยความหวาดหวั่นกับอนาคตนอกมหาวิทยาลัย เป็นครั้งแรกที่เราต้องออกไปเผชิญโลกแห่งความเป็นจริง โลกที่จะไม่มีใครมา “โอ๋” เราอีกต่อไป ไม่มีการให้เกรด มีแต่ผ่านกับไม่ผ่าน ไม่มีการปิดเทอม ไม่มีพักเบรกที่เราหนีไปงีบช่วงกลางวันได้ในหอพัก
แล้วเราจะ “สอบผ่าน” ไหมในโลกจริงๆ
วันนั้น พวกเราอยากเหลือเกิน อยากให้ผู้ใหญ่สักคนนอกจากพ่อแม่เราช่วยบอกเราสักหน่อยว่าชีวิตที่กำลังจะมาถึงนั้น มันจะ “โอเค” ทุกอย่างจะเรียบร้อยดี
สิ่งที่หนูดีได้ฟังในระดับปริญญาตรี หนูดีจำได้สองอย่างเท่านั้น อย่างแรกคือ คนพูดขอพรพระเจ้าให้พวกเรา ให้เรา “มีความเข้มแข็งที่จะกระทำในเรื่องสมควรกระทำ มีความอดทนและเข้าใจต่อเรื่องที่เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ และมีความฉลาดพอที่จะแยกแยะว่า เรื่องไหนเราจะทำได้ และเรื่องไหนนอกเหนือความสามารถที่เราจะเปลี่ยนแปลงโลกนี้ได้”
แม้จะไม่ใช่ชาวคริสต์ แต่หนูดีก็ประทับใจกับคำขอพรนี้มากทีเดียว หลังจากนั้น ก็เข้ามาถึงเรื่องราวในอนาคตของพวกเรา ที่คนพูดได้ให้กำลังใจในแบบไม่โอ๋ คือ บอกเราว่า หากเรากังวลกับอนาคต
วิธีเดียวที่เราจะประกันอนาคตตัวเองได้ คือ สร้างมันขึ้นมาใหม่ทั้งหมดด้วยมือของเราเอง ไม่ต้องคาดหวัง ไม่ต้องเฝ้ารอสิ่งใด เขาสรุปสั้นๆว่า “The only way to predict your future is to invent it yourself” ฟังแล้ว เปลี่ยนความกังวลเป็นความฮึกเหิมได้มากทีเดียว
ฟาสต์ฟอร์เวิร์ดมาอีกสามปีหลังจากนั้น หนูดีก็มานั่งรอรับปริญญาอีกใบหนึ่งที่เมืองบอสตัน คราวนี้ ความกังวลไม่ได้ลดลง แต่มันเปลี่ยนเป็นความรู้สึกรับผิดชอบยิ่งใหญ่มหาศาลว่า เรามีความรู้ก้อนหนึ่ง ความรู้นี้จะเปลี่ยนชีวิตคนได้ จะเปลี่ยนแปลงสังคมได้ เหมือนที่มันได้เปลี่ยนชีวิตเรามาแล้ว และหนูดีกลัวเหลือเกิน กลัวเราจะนำมันมาใช้ให้เป็นประโยชน์กับคนวงกว้างไม่ได้ ห่วงว่า ความรู้นี้จะวนอยู่แค่วงเล็กๆ ในโลกการทำงานเล็กๆของหนูดี
วันนี้ หนูดีได้คำตอบแล้วว่าความรู้นี้ได้เป็นสมบัติของคนไทยจำนวนมาก คุ้มค่าที่ไปร่ำเรียนมา เรียกว่า ตายตาหลับ แต่ในวันนั้น มันเหมือนกับน้ำหนักมหาศาลที่วางลงบนบ่า เพราะเราไม่มีคำตอบเลยว่า เราจะทำได้หรือไม่ได้
ถึงวันนี้ ก็เป็นคราวของหนูดีที่ต้องพูดสั้นๆ แต่เลือกแนะนำในสิ่งที่หวังว่า เด็กรุ่นนี้ จะได้ประโยชน์ และจำได้ติดหูไปอีกเป็นปี หนูดีตั้งใจจะพูดถึง นิยามความสำเร็จเฉพาะตัวของคนแต่ละคน ที่ไม่มีวันมีใครเหมือนกันได้ในโลก แม้ดูจากภายนอกจะคล้ายกันก็ตามที และที่สำคัญ เราต้องเป็นคนกำหนดเอง
ลองคิดดูเล่นๆไหมคะว่า “นิยามความสำเร็จใน 15 นาที” ของคุณผู้อ่านคืออะไร แค่ได้ลองนึก ก็ทำให้เราย้อนกลับไปมองชีวิตตัวเองอย่างเข้มข้นได้มากทีเดียวค่ะ
from http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/life-style/health/20100602/118741/นิยามความสำเร็จใน-15-นาที.html
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น