Pages

Pages

26 มิถุนายน 2553

รีเทล + ดีเทล ผนึกกำลังบิ๊กซี

รีเทล + ดีเทล ผนึกกำลังบิ๊กซี

สถานการณ์กำลังซื้อลดลง คนระมัดระวังการใช้จ่าย ภาวะการแข่งขันที่ยังรุนแรงต่อเนื่องแม้ในบรรยากาศที่ไม่ปกติ

บิ๊กซี ซูเปอร์สโตร์ ธุรกิจที่ใกล้ชิดผู้บริโภค และ ขายสินค้าประจำวัน กำลังซื้อที่มีท่าทีถดถอย ยังมีสินค้าบางตัว และบางกลุ่มขายดีซ่อนอยู่

“เวลาเศรษฐกิจไม่ดี ยังมีสินค้าที่ขายได้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่มีนวัตกรรมใหม่ๆ”

วิธีคิดที่ไม่เพียงแต่การขายสินค้า แม้แต่การบริหารจัดการภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ บิ๊กซี ต้องมีนวัตกรรม

การบริหารต้นทุน ค่าใช้จ่าย การบริหารลอจิสติกส์ และซัพพลายเชน เป็นเรื่องที่ธุรกิจต้องมอนิเตอร์ แต่สำหรับธุรกิจค้าปลีกแล้ว ต้นทุนสินค้า และการตั้งราคา เป็นหัวใจของธุรกิจนี้

“เราไม่ได้ปรับเปลี่ยนองค์กร แต่ปรับการใช้เทคโนโลยี”

จริยา จิราธิวัฒน์ รองประธานฝ่ายการตลาดและการสื่อสาร บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) สะท้อนถึงการบริหารจัดการภายในของบิ๊กซี ที่เปลี่ยนโฉมการทำงานโดยนำ เทคโนโลยี เข้ามาเสริมประสิทธิภาพการทำงาน

บิ๊กซี นำโปรแกรมการตั้งราคา เข้ามาใช้งานในช่วงกลางปี 2551 โดยทำหน้าที่วิเคราะห์ และกำหนดราคาที่เหมาะสม ระหว่าง ดีมานด์ และซัพพลาย

“ราคาถูก ณ จุดไหนที่สร้างกำไรสูงสุด”

ราคาที่แพง ไม่ใช่จะทำกำไรสูงสุดเสมอไป หากแต่ราคาในระดับที่เหมาะสม จะเกิดผลดีทั้งกับลูกค้า และบิ๊กซี

นอกจากระบบวิเคราะห์ราคา บิ๊กซี ยังมี “Gold” ระบบที่เกี่ยวกับการสั่งซื้อ

ระบบนี้ ทำให้เราทราบว่า ควรสั่งซื้อสินค้าอะไร กลุ่มไหนที่ลูกค้าต้องการ และสร้างกำไรสูงสุด โดยประสิทธิภาพการวิเคราะห์เป็นไปในเชิงลึก อาทิ เลือกวิเคราะห์เป็นรายซัพพลายเออร์ และ รายแบรนด์

ประสิทธิภาพการบริหารที่มีเทคโนโลยีเป็น “ผู้ช่วย” จริยา บอก เป็นการสนับสนุนการทำงานของบิ๊กซี ให้เกิดประสิทธิภาพ และรวมถึงงานด้านบริการด้วย

แม้มีเทคโนโลยีเป็น “ตัวช่วย” แต่ในด้านการทำงานแล้ว จริยา บอก การทำงานต้องปรับตัว

การบริหารงานในช่วง “วิกฤต” กับ “ไม่วิกฤต” แตกต่างกัน

จากที่วิเคราะห์แผน และพิจารณารายงาน เป็นรายเดือน ปรับเปลี่ยนเป็น “รายวัน”

“Monitoring” งานหลักภายใต้สถานการณ์วิกฤต ที่ จริยา ต้องวิเคราะห์

“ทุก ๆ เช้าจะมีรายงาน จากแต่ละหน่วยงานเข้ามา จากสาขา ฝ่ายจัดซื้อ และฝ่ายการตลาด ซึ่งเป็นการรีวิวยอดขาย พฤติกรรมลูกค้า จำนวนลูกค้าเข้าสโตร์ ฯลฯ”

ขณะที่กลไกการแก้ไขปัญหาจะเริ่มทำงานทันทีที่พบ โดยมีเพียง 2 ลำดับบริหาร คือ ผู้บริหาร และระดับปฏิบัติการที่ให้ข้อสรุป เป็นความคล่องตัวในเรื่องบริหารจัดการ และการแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที

จริยา บอก เป็นข้อดีของธุรกิจรีเทล เพราะปัญหาส่วนใหญ่มักเป็นลักษณะ Short term และ ไดนามิค

“เมื่อปัญหาเกิด ก็หาสาเหตุ แล้วดำเนินการแก้ไข หรือ พัฒนาโปรโมชั่นขึ้นมา เมื่อต้องการเพิ่มยอดขาย ”
Retail เป็นเรื่องของ Detail

จริยา สะท้อนการบริหารจัดการในธุรกิจนี้ ซึ่ง บิ๊กซี ก็เข้าถึงในทุกดีเทล

นอกจาก “เพิ่มพลัง” ภายในองค์กรให้แข็งแกร่ง ส่วนการตลาด เป็นอีกหนึ่งสำคัญ ท่ามกลางวิกฤต

จากแนวโน้มธุรกิจค้าปลีกในไทยที่เปลี่ยนเปลง โดยเฉพาะเซ็กเม้นท์ ซูเปอร์สโตร์ ที่เดิมมุ่งเน้น “แย่งตลาด” ทุกคนต่างขยายสาขา เพื่อยึดพื้นที่ให้มากที่สุด สร้างตลาดให้มากที่สุด

ขณะที่ปัจจุบัน การแข่งขันปรับสู่การ “รักษา”ตลาดของตัวเองเอาไว้

การสร้าง Loyalty Program มาใช้เพื่อผลของการภักดีของลูกค้า และเกิดการใช้จ่ายต่อเนื่อง ฐานลูกค้าที่ บิ๊กซี สั่งสม จะเป็น “ขุมทรัพย์” ชั้นดีที่นำไปสู่การต่อยอดกิจกรรมการตลาดและการขาย

“ปัจจุบันเป็นโอกาส และเราจะรุกตลาดมากขึ้น เพื่อเป้าหมายการเป็นที่หนึ่งค้าปลีกในใจผู้บริโภค”

from http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/business/100_CEO/20090504/38512/รีเทล-+-ดีเทล-ผนึกกำลังบิ๊กซี.html


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น