Pages

Pages

13 กรกฎาคม 2553

บทเรียนจากคน(ไม่)ธรรมดา

บทเรียนจากคน(ไม่)ธรรมดา

เรื่องราวอีกมุมของคนธรรมดาๆ ที่มีบทเรียนน่าสนใจ และมักจะถูกมองข้าม เรื่องเหล่านี้ ธนิษฐา แดนศิลป์ เขียนไว้ในหนังสือ คน(ไม่) ธรรมดา

หากเชื่อว่า เราต่างเกิดมาพร้อมกับพรวิเศษที่มีอยู่ในตัวเราทุกคน ชีวิตเราไม่ต้องรอผู้วิเศษหรือซุปเปอร์ฮีโร่ สิบสองคนหลากอาชีพที่ค้นพบความสุขด้วยตัวเองและรู้ความต้องการที่แท้จริง และเรื่องราวชวนคิดการพัฒนาจิตในวงเสวนาเรื่อง จิตจัดการ งานจัดใจ จัดโดยมูลนิธิสดศรี สฤษดิ์วงษ์ ที่หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร

หากจะให้เล่าจุดเปลี่ยนในการค้นหาความสุขของตัวเอง หมอแอน-พญ.ปริชวัน จันทร์ศิริ จิตแพทย์เด็ก ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในผู้เสวนา เล่าถึงชีวิตตัวเองว่า ชีวิตการเรียนที่ผ่านมาเป็นที่หนึ่งมาตลอด มีหน้าที่การงานดี จนน่าอิจฉาว่า ชีวิตน่าจะมีความสุขสมบูรณ์แบบ แต่มีบางอย่างที่เธอรู้สึก นั่นก็คือ "ความเก่ง รังแกฉัน" เพราะเธออยากใช้ชีวิตแบบคนธรรมดา มีความสุขง่ายๆ

“ทุกวันนี้พยายามลดความเก่งลง รู้สึกว่าไม่อยากเก่งแล้ว อยากเอามันออกจากตัว อยากเป็นคนธรรมดา ความเก่งไม่ได้ให้สิ่งที่ดีเสมอไป มันมีผลกระทบต่อชีวิตเราเหมือนกัน และหนึ่งในนั้นก็คือทำให้เรามองสิ่งต่างๆ ในด้านลบเร็วกว่าด้านดี แทนที่จะเห็นสิ่งสวยงาม กลายเป็นชอบจับผิด วิชาชีพหมอ สอนให้เราค้นหาสิ่งผิดปกติได้เร็ว มันเป็นความทุกข์ของคนเก่ง ” หมอแอน เล่าถึงชีวิตช่วงหนึ่งและย้อนถึงวัยเด็ก


เธอเป็นคนเก่ง ไม่ว่าเรื่องเรียนหรือการทำกิจกรรมอะไรก็ตาม ต้องได้ที่หนึ่งตลอด และการรักษาความเป็นที่หนึ่งยากมาก ทำให้เธอไม่มีความสุข และมีคำถามตลอดว่า ถ้าเราไม่ได้ที่หนึ่งจะเป็นยังไง

"ตอนนั้นเรามีชีวิตด้วยความไม่รู้ ฉันต้องที่หนึ่ง สิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อคนรอบข้าง ความเก่งทำให้เรากลายเป็นคนหน้าดุ สร้างเกราะให้ตัวเองโดยไม่รู้ตัว ทำให้คนเข้าถึงเรายาก จึงพยายามจัดการความเก่งที่กระทบต่อเราให้ลดลง อยากมีชีวิตเหมือนคนธรรมดาที่ใครๆ ก็เข้ามาทักทาย พูดคุย สนุก บ้า ไร้สาระเหมือนคนปกติ ไม่ต้องมีใครมาเกรงขาม รู้สึกเกร็งกับตัวเรา ”

หมอแอนเล่าต่อว่า งานที่ทำทุกวันนี้เป็นการเรียนรู้ชีวิตทางลัดจากประสบการณ์ผู้คน การทำงานกับเด็กและครอบครัว ทำให้เราได้ใกล้ชิดสัมผัสถึงแก่นแท้ที่ลึกที่สุดในจิตใจของมนุษย์ หมอต้องพยายามรักษาชีวิตคนไข้ และอีกส่วนคือรักษาความสุข และสร้างความหวังในการมีชีวิต เหมือนได้ร่วมเดินทางไปกับเส้นทางของเขา

“ครั้งหนึ่งเราอยู่กับเด็กป่วยเรื้อรังใกล้ตาย เด็กคนนั้นบอกเราว่า ไม่ต้องการอะไร แต่อยากกลับบ้าน ฟังแล้วรู้สึกยิ่งใหญ่มาก เราจดจำความรู้สึกนั้นตลอด เขาทำให้เราสัมผัสได้ว่าการที่คนเผชิญกับความตายรู้สึกยังไง สัมผัสถึงความรู้สึกของพ่อแม่ที่เห็นลูกกำลังจะตาย การที่เราได้มีโอกาสฟังเรื่องราว ความคิดของคน ทำให้เราเข้าใจตัวเองมากขึ้น คำถามบางอย่างที่เราถามคนไข้เหมือนเราถามตัวเองด้วย ได้เรียนรู้จิตใจตัวเอง เป็นการสะท้อนที่มหัศจรรย์ ไม่เคยมีใครสอน ไม่มีในตำรา ”

เรื่องราวของจิตจัดการใจของหมอแอนเป็นเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจ การเรียนรู้ใจตัวเองพยายามค้นหาความสุขง่ายๆ เธอเล่าว่า คนเรามีตาที่มองออกข้างนอกตลอดเวลา มองเห็นทุกสิ่งรอบตัว แต่ไม่เคยเห็นหน้าตัวเองจริงๆ เห็นแต่เงาในกระจกเท่านั้น

"ถ้าเรามองอย่างลึกซึ้ง เราจะพบสิ่งที่ละเอียดอ่อนหลายอย่างจะให้คุณค่ากับสิ่งเล็กๆ มากขึ้น ชีวิตเหมือนเหรียญสองด้าน เวลาเจอปัญหา หมอจะถามตัวเองว่าเหรียญอีกด้านเป็นยังไง หากโลกเป็นอย่างนี้ตั้งแต่เราเกิดและตาย เราเปลี่ยนไม่ได้ แต่เราสามารถเลือกชีวิตได้ว่าจะมีชีวิตแบบไหน ”นั่นเป็นเรื่องราวที่หมอแอนสะท้อนให้เห็นภาวะด้านใน


ส่วน นันทา ตันสัจจา เจ้าของโรงหนังสยาม หลังจากเหตุการณ์ความรุนแรงในกรุงเทพฯ โรงหนังได้ถูกเผาจนวอด เธอมีวิธีการจัดการความรู้สึกอย่างไร เมื่อกิจการโรงหนังต้องหยุดชะงัก

“ ก่อนวันโรงหนังถูกเผา เราก็ไปทำงานทุกวัน จนกระทั่งเหตุการณ์หนักขึ้น พนักงานห้ามเรามาทำงาน ตอนนั้นนั่งดูเหตุการณ์ในทีวี มีบังเกอร์ มีทหารถือปืน จนกระทั่งมีเผา เราก็คิดว่า เออ...เหมือนในหนังเลยนะ สักพักสะดุดตา เอ๊ะ..นั่นโรงหนังเรานี่นา ตายจริงเราจะทำยังไง ทำอะไรไม่ได้เลย ทำได้แค่มองโรงหนังตัวเองถูกเผาในทีวี ”

เธอเล่าถึงภาพแรกที่เห็นโรงหนังสยามถูกเผาไม่เหลืออะไรเลย ความรู้สึกวูบแทบร้องไห้ น้ำตาเริ่มจะไหล แต่พอหันหลังไปเห็นลูกน้องตาดำๆ ยืนสะอื้นก็บอกตัวเองว่า ร้องไห้ตรงนี้ไม่ได้นะ เพราะเด็กร้องไห้ ถ้าเราร้องด้วย จะเกิดอะไรขึ้น แล้วหันไปให้กำลังใจลูกน้องว่า ไม่เป็นไร

"แต่ใช่ว่าร้องไห้ไม่เป็น เราเสียใจกลับมาร้องไห้ที่บ้านเหมือนกัน ไม่เพียงแค่ลูกน้อง คนค้าขายที่เช่าสถานที่ข้างโรงหนังก็ร้องไห้ วิ่งมากอดให้กำลังใจ สิ่งที่ทำคือการแสดงถึงความเป็นผู้นำบอกว่า ไม่เป็นไร ตอนนั้นไม่มีเวลามานั่งเศร้าโศกเสียใจ ได้แต่บอกตัวเองว่ามองไปข้างหน้าดีกว่า แล้วสู้กับมัน ต้องตั้งสติ ทำใจให้เข้มแข็ง ทำให้ลูกน้องมีกำลังใจ แล้วก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆ กัน ”

จากเหตุการณ์วันนั้น แฟนๆ โรงหนังได้ส่งผ่านกำลังใจมาให้มากมาย ทำให้เธอรู้สึกซาบซึ้ง เหมือนมีดอกไม้บานในใจ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้เธอเจอวิกฤตค่อนข้างหนัก ทั้งเรื่องคุณแม่โดนจับเรียกค่าไถ่ โรงหนังลิโดเคยถูกไฟไหม้ครั้งหนึ่ง แต่สามารถช่วยกันดับไฟได้

"ทุกครั้งที่เจอปัญหาหนัก จะบอกตัวเองว่า ไม่เป็นไรข้างหน้ายังมี หายใจเข้าลึกๆ ยืดตัวไว้ เดี๋ยวเราต้องคิดได้ ผ่านได้ สู้ได้ แล้วมันก็ทำได้จริงๆ เพราะเรายังมีความสุขในการทำงานและมีกำลังใจอยู่ต่อไป "

ส่วน ธนิษฐา แดนศิลป์ เจ้าของหนังสือ คน (ไม่) ธรรมดา เล่าว่า ถ้าทำงานอะไรแล้ว คุณภาพงานจะสะท้อนตัวเอง ที่ผ่านมาได้เห็นคนพยายามทำงานเก็บเงินก้อนโตแล้วบริจาคให้คนไกลตัว เราก็คิดว่า ทำไมไม่ทำบุญกับคนใกล้ตัว คนในองค์กรก่อน

"งานของเราเป็นการให้ทานคนอื่นเหมือนกัน ทำไมเราไม่เอาเงินนั้นมาจัดหน่วยงานตัวเองให้ดี และดูแลคนที่ทำงานให้อยู่ด้วยกันได้อย่างมีความสุข เป็นหน่วยงานที่เกื้อกูลกัน ไม่ดีกว่าหรือ" เธอเล่าถึงวิธีการทำงานอย่างมีความสุข

ดังนั้นเวลาเขียนสารคดี เธอจึงเลือกเรื่องที่สร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ช่วยเหลือผู้คน เพราะอยากให้คนได้อ่านมิติในชีวิตมนุษย์ที่หลากหลาย ธนิษฐา บอกว่า ถ้าเราทำอะไรแล้ว เห็นค่าสิ่งที่ทำ ผลงานจะสะท้อนตัวตนออกมาเอง และการเดินทางก็ทำให้ได้เห็นความงดงามในจิตใจของคนมากมาย โดยเฉพาะความมุมานะของผู้ชายคนนี้ สำเร็จ สิริสุข หนึ่งในสิบสองเรื่องราวในหนังสือ คน(ไม่) ธรรมดา เธอรู้จักเขาตั้งแต่เป็นเถ้าแก่ใหม่ๆ เขาดูเรียบง่ายสมถะ

“ ชอบคำหนึ่งที่เขาเล่าให้ฟังว่า "มีคนบอกว่าสิ่งที่ผมทำ ไปไม่รอดหรอก ซื่อๆ โง่ๆ อย่างนี้" แต่เขาโต้กลับไปว่า "เราจะทำ เพราะเราเก่งงานหวาย จะทำอย่างอื่นได้ไง เราต้องทำในสิ่งที่เราถนัด" ทำให้สะท้อนใจว่า การที่เราทำงานเขียน เราต้องเชื่อมั่นว่าสักวันเราต้องมุ่งมั่นเขียนให้ได้ดีเช่นกัน ”

ความงดงามในจิตใจผู้คนคือ สิ่งที่เธอค้นพบ ธนิษฐา แนะว่า เราต้องไม่บล็อกตัวเอง พยายามอยู่กับทุกคนโดยไม่แบ่งแยก เจอใครก็คุยกับเขาอย่างที่เขาเป็น วางตัวสบายๆ ไม่ตั้งป้อมว่าเราเป็นใคร เราต้องเปิดใจให้อยากสัมผัสธรรมชาติของผู้คนในแบบของเขา อยากเรียนรู้ตัวตนวิถีชีวิตของเขา

“ถ้าหาตัวเองเจอ และรู้ว่าอะไรคือความสุขของเรา ก็จะเกิดการแบ่งปันโดยตัวมันเอง เราจะไม่ทุกข์ ไม่กลัวต่อสิ่งต่างๆ แต่เราต้องอยู่บนพื้นฐานความถูกต้อง เติมเต็มชีวิตด้วยความสุข"


ส่วนนักสู้ผู้ซื่อสัตย์ สำเร็จ ศิริสุข จากลูกจ้างดัดหวายสู่เถ้าแก่ร้านเฟอร์นิเจอร์หวายลายมั่วส่งออก เคยเป็นลูกจ้างดัดหวายในโรงงาน ตอนอายุ 13 ปี เถ้าแก่เห็นพรสวรรค์ จึงให้เป็นคนออกแบบ แล้วส่งแบบให้เพื่อนร่วมงานทำตาม

"สมองต้องคิดสร้างสรรค์ตลอดเวลา คนสมัยก่อนชอบแบบกว้างๆ พนักพิงสูงๆ เราเกี่ยงงานไม่ได้ ไม่ว่าจะยากหรือเหนื่อย ทำมาเรื่อยๆ สั่งสมประสบการณ์มาหลายปี เป็นลูกจ้างไม่รวยสักที ก็เลยคิดว่า น่าจะลองทำเอง ตอนแรกทำเก้าอี้หวายแบบกลมๆ ช่วงแรกๆ นั่งแล้วตกเก้าอี้ตลอด ภรรยาบอกว่า ถ้าเป็นแบบนี้ขายไม่ออก อาศัยความตั้งใจและมุมานะอยากเป็นเถ้าแก่พยายามดัดแปลง และคิดว่าตัวเองชื่อสำเร็จ สิ่งที่ตั้งใจก็ต้องสำเร็จ"

กระทั่งเขาพยายามออกแบบมาเป็น 100 แบบ และเจอแบบที่ตลาดต้องการ สำเร็จ บอกว่า ลายมั่วๆ แบบนี้ขายดีมาก ร้อยแบบที่ทำออกมาก่อนหน้าก็ขายได้ แม้จะช้าแต่หมด

"ตอนแรกไม่ให้ภรรยาทำ ไม่อยากให้ลำบาก แต่ภรรยาแอบทำตอนที่เราไม่อยู่ พอกลับมาเห็นเราก็จะบอกว่าอันไหนผ่าน ไม่ผ่าน ต้องปรับ ต้องแก้ตรง ไหน จนฝีมือเข้าขั้น ปัจจุบันฝีมือการดัดหวายของตัวเองกับภรรยาเท่ากัน แต่ภรรยายังไม่สามารถดัดโครงเก้าอี้ได้" สำเร็จ เล่าถึงสิ่งที่ได้มา ณ วันนี้ จากความมุมานะซื่อสัตย์ต่อสิ่งที่ตัวเองทำ

นี่คือ เรื่องราวงานจัดใจจากวงเสวนา

from http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/life-style/hi-life/20100709/341997/บทเรียนจากคน(ไม่)ธรรมดา.html


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น