รู้จักและเข้าใจ "กองทุนรวมน้ำมัน" ให้ดีขึ้น
เพื่อนดิฉันเปิดประเด็นทางโทรศัพท์หลังข้องใจผลการลงทุนในกองทุนรวมน้ำมันของตัวเองในเดือนที่ผ่านมา ซึ่งเจ้าตัวเพิ่งเริ่มต้นลงทุนโดยที่ยังไม่รู้จักอย่างแท้จริงว่ากองทุนรวมน้ำมันคืออะไร รวมถึงไม่เข้าใจความเสี่ยงและวิธีวัดผลตอบแทนการลงทุนในกองทุนรวมประเภทนี้อีกด้วย ดิฉันเลยอยากเล่าเรื่องนี้ให้คุณผู้อ่านฟังค่ะ
ต้องรู้และเข้าใจว่า “กองทุนรวมน้ำมัน” ลงทุนในอะไร?
การลงทุนในกองทุนรวมน้ำมันนั้นมีความซับซ้อนพอสมควร ดังนั้น ไม่ใช่แค่ดูดัชนีราคาน้ำมันในตลาดโลกแล้วนำมาเทียบวัดผลการลงทุนได้ทันที แต่จะต้องเข้าใจลักษณะของกองทุนรวมน้ำมันก่อนว่าไปลงทุนในอะไร ซึ่งกองทุนรวมน้ำมันในประเทศไทยที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้เป็นกองทุนรวมที่ไปลงทุนในต่างประเทศ (FIF) โดยมีการบริหารแบบ Feeder Fund (หมายความว่า บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน หรือ “บลจ.” ที่ออกและเสนอขายกองทุนรวมน้ำมันนั้น จะรวบรวมเงินของผู้ลงทุนในบ้านเราไปลงทุนต่อใน กองทุนรวมน้ำมันในต่างประเทศอีกทอดหนึ่ง ที่เรียกว่า “กองทุนหลัก” หรือ Master Fund) โดยกองทุนรวมน้ำมันหลักที่เป็นที่นิยม คือ PowerShares DB Oil Fund (DBO) เป็นกองทุนรวมประเภท Exchange Traded Fund (ETF) ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก (NYSE Arca) ค่ะ
นโยบายการลงทุนของ DBO นั้น ไม่ได้ลงทุนซื้อน้ำมันดิบมาเก็บไว้จริง (เนื่องจากการเก็บรักษาน้ำมันดิบทำได้ยาก และมีค่าใช้จ่ายสูง) แต่จะลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อ้างอิงราคาน้ำมันดิบ West Texas Intermediate (WTI) เพื่อสร้างผลตอบแทนให้ใกล้เคียงกับผลตอบแทนของดัชนีน้ำมันที่ชื่อว่า Deutsche Bank Liquid Commodity Index - Optimal Yield Oil Excess Return ซึ่งเป็นตัวสะท้อนการเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันดิบ WTI (น้ำมันดิบ WTI เป็นน้ำมันดิบคุณภาพดี มีสภาพคล่องในการซื้อขายในตลาดซื้อขายล่วงหน้าสูงสุด จึงถูกนำมาใช้เป็นมาตรฐานสำหรับการออกสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อ้างอิงราคาน้ำมันดิบในอเมริกาค่ะ)
ทำไม NAV กองทุนรวมน้ำมันไม่เป็นไปตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก
ประเด็นที่เพื่อนดิฉันสงสัย คือ ช่วงที่ผ่านมาราคาน้ำมัน spot price ปรับลดลงมากและ NAV ของกองทุนรวมน้ำมันก็ปรับลดลงมากเช่นกัน แต่ทำไมเมื่อราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากแล้ว แต่ NAV ของกองทุนรวมน้ำมันกลับขยับตัวเพิ่มขึ้นไม่มาก จึงขอยกตัวอย่างประกอบการอธิบายอย่างนี้ค่ะว่า สัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อ้างอิงราคาน้ำมันดิบที่ DBO ลงทุนอยู่ มีอายุของสัญญาที่ชัดเจน ทำให้เมื่อใกล้หมดอายุสัญญา DBO จำเป็นต้องเปลี่ยนสัญญาใหม่ไปยังเดือนที่ไกลขึ้น หรือเรียกว่า Rolling Forward ซึ่งลักษณะของสัญญาเดือนใกล้ (สัญญาที่ใกล้หมดอายุ) นั้น มักจะรับผลกระทบจากข่าวหรือปัจจัยที่มากระทบ (sensitive) ได้เร็วกว่าสัญญาเดือนไกล (สัญญาที่มีอายุเหลือมาก ๆ) จึงทำให้ความผันผวนของราคาสัญญาเดือนใกล้มีมากกว่าสัญญาเดือนไกลค่ะ
ทีนี้ ถ้าหากช่วงที่ spot price ของน้ำมันดิบลดลง ช่วงนั้น DBO ยังถือสัญญาเก่าอยู่ ก็จะเป็นผลให้ NAV ของ DBO ปรับตัวลดลงใกล้เคียงกับราคาน้ำมันดิบที่ลดลง แต่ต่อมาราคาน้ำมันดิบกลับมาฟื้นตัวสูงขึ้น ก็เป็นไปได้ที่ DBO จะปรับตัวขึ้นตามได้ไม่มาก เนื่องจาก DBO ได้เข้าไปถือสัญญาใหม่ที่เป็นสัญญาเดือนไกล ในระหว่างที่ราคาน้ำมันดิบกำลังปรับตัวเพิ่มขึ้น (สัญญาเดือนไกล sensitive ต่อปัจจัยที่มากระทบน้อยกว่าสัญญาเดือนใกล้)
นี่เป็นเหตุผลหนึ่งในอีกหลายปัจจัยที่อธิบายว่า เหตุใด NAV ของกองทุนรวมน้ำมันจึงไม่เป็นไปตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกค่ะ จะเห็นได้ว่ากลไกของกองทุนรวมประเภทนี้มีความซับซ้อนมาก จึงจำเป็นที่ ผู้ลงทุนควรต้องเข้าใจลักษณะการลงทุนในกองทุนรวมน้ำมัน และสัญญาซื้อขายล่วงหน้าก่อนตัดสินใจลงทุน
ดังนั้น จึงมีข้อแนะนำสำหรับการลงทุนในกองทุนรวมน้ำมันว่า ผู้ลงทุนควรจะมีเงินเย็นที่สามารถลงทุนได้ในระยะปานกลางถึงระยะยาว เพื่อลดความเสี่ยงในการลงทุนด้วย โดยเฉพาะในช่วงที่ราคาน้ำมัน ผันผวนค่ะ
ต้องรู้เรื่อง “ความเสี่ยงอื่นๆ ” ที่เกี่ยวข้องด้วย
ก่อนตัดสินใจลงทุนในกองทุนรวมน้ำมัน ผู้ลงทุนจึงต้องศึกษาข้อมูลจากหนังสือชี้ชวนให้ดี (ดูได้จากเว็บไซต์ของ บลจ. หรือ ก.ล.ต. www.sec.or.th เพื่อดูว่าความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับกองทุนรวมน้ำมันที่อาจทำให้ผลตอบแทนไม่เป็นไปตามที่คาดหวังมีอะไรบ้าง ซึ่งนอกจากความเสี่ยงโดยทั่วไปของกองทุนรวมที่ไปลงทุนในต่างประเทศ (FIF) เช่น ความเสี่ยงในเรื่องประเทศที่กองทุนรวมเข้าไปลงทุน ความเสี่ยงเรื่องสภาพคล่องของสินทรัพย์ที่เข้าไปลงทุน ยังมีความเสี่ยงที่สำคัญอีกประเภท คือ ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งผู้ลงทุนต้องดูว่า บลจ. มีการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน (hedging) หรือไม่ อย่างไร นอกจากนั้น ก็ยังต้องไปดูความเสี่ยงอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในกองทุนรวมน้ำมันอีกด้วย เช่น ความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาน้ำมัน (price risk) เป็นต้นค่ะ ซึ่งในเรื่องนี้ สามารถซักถามรายละเอียดจาก บลจ. หรือตัวแทนขายหน่วยลงทุนได้ หากถามแล้วยังไม่เข้าใจอยู่ดี นั่นหมายความว่าสินค้าประเภทนี้อาจจะซับซ้อนเกินไป ไม่เหมาะที่คุณจะลงทุน ก็ได้ค่ะ คงต้องหาสิ่งที่คุณเข้าใจจะดีกว่า
สำหรับเพื่อนดิฉัน ทิ้งท้ายแบบคนคิดบวกก่อนลากันไว้ว่า “What doesn’t kill you makes you stronger.” อะไรที่ไม่ทำให้เราตายก็จะทำให้เราแข็งแรงขึ้น เหมือนบอกเป็นนัยๆ ว่า เจ้าตัวเข้าใจหลักการการลงทุนที่ถูกต้องมากขึ้นแล้ว และจะกลับไปลงทุนในกองทุนรวมน้ำมันอีกครั้งหนึ่ง หลังจากศึกษาและทำความเข้าใจข้อมูลและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างดีแล้วค่ะ
***บทความนี้จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับตลาดทุนแก่สาธารณชนเท่านั้น
ในการจะนำข้อมูลไปอ้างอิง ควรตรวจสอบความถูกต้องและเป็นปัจจุบันของกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องด้วย***
from
http://www.bangkokbiznews.com/home/details/business/ceo-blogs/jaruwan/20100722/344304/รู้จักและเข้าใจ-กองทุนรวมน้ำมัน-ให้ดีขึ้น.html
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น