ดิจิทัลบุ๊ค บุกรังหนอน
จากกระแสความแรงของ "อีบุ๊ค" (e-Book) ที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด จนประมาณการว่าภายในปี 2567 จะมียอดขายเครื่องอ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์หรือ "อี-บุ๊ค รีดเดอร์" ทั่วโลกไม่ต่ำกว่า 32 ล้านเครื่อง แม้แต่ร้านขายหนังสือชื่อดังอย่าง Amazon ยังมีสัดส่วนของหนังสือสำหรับให้ดาวน์โหลดกว่า 48 เปอร์เซ็นต์ของหนังสือที่ขายทั้งหมด โดยขณะนี้มีหนังสือให้ดาวน์โหลดไปแล้วมากถึง 409,155 ชื่อเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นหนังสือเล่ม และมียอดขายแซงหน้าตัวหนังสือเล่มไปเรียบร้อย
ผลการวิจัยจากบริษัท ฟอร์เรสเตอร์รีเสิร์ช (Forrester Research) จากสหรัฐ ระบุว่า ระหว่างปี 2552-2554 จะเป็นยุคเฟื่องฟูของนวัตกรรม "อีบุ๊ค" และคาดกันว่าจะเข้ามาเปลี่ยนโฉมหน้าของโลกแห่งหนอนหนังสือ จากที่ต้องพลิกอ่านทีละหน้ากลายมาเป็นการคลิกเดินหน้าหรือถอยหลัง บนอุปกรณ์พิเศษที่สามารถดาวน์โหลดเนื้อหาจากหนังสือเล่มโปรดมาได้แบบชั่วพริบตา
โดยเฉพาะเมื่อผู้ผลิตเครื่องอ่านอิเล็กทรอนิกส์หรือ e-Book Reader แต่ละค่ายแข่งขันกันเปิดตัวเทคโนโลยีลูกเล่นใหม่ๆ ออกมาเอาใจลูกค้าอย่างคึกคัก ไม่ว่าจะเป็น iPad ของค่ายแอปเปิล หรือ Kindle ของอเมซอน และเครื่องอ่านจากค่ายโซนี่ ถือเป็นแนวโน้มที่จะเปลี่ยนโลกของการอ่านในยุคนี้ โดยจะเห็นว่าบรรดาสำนักพิมพ์ทั่วโลกเริ่มขยับตัวอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงประเทศไทย เพื่อเข้าสู่โลกของหนังสือแบบออนไลน์อย่างสมบูรณ์แบบ
ผู้ไม่คุ้นเคยกับเจ้าเครื่องอ่านฉบับพกพาซึ่งสามารถบรรจุหนังสือไว้ได้เป็นร้อยเป็นพันชื่อเรื่องนี้อาจกำลังตั้งคำถามว่า จะได้อารมณ์เหมือนอ่านหนังสือเล่มหรือไม่นั้น เจ้าแม่ไฮเทคตัวจริงอย่าง อรภัค สุวรรณภักดี นักเขียนเจ้าของหนังสือ "ทำตลาดบน facebook ฉบับประยุกต์แอพพลิเคชั่น" และนักจัดรายการวิทยุ FM.101 ซึ่งทดลองใช้งานทั้งไอแพดและคินเดิลเพราะความเป็นคนชอบอ่านหนังสือและคิดว่าเครื่องมือตัวนี้น่าจะทำอะไรได้เยอะกับหนังสือที่มีภาพ และที่สำคัญเธอกำลังจะทดลองให้ดาวน์โหลดหนังสือของเธอเองด้วย
"ถ้าอ่านนิตยสารบนไอแพ็ดจะดี แต่ถ้าจะอ่านหนังสืออ่านบนคินเดิลดีกว่า เพราะคินเดิลมันจะเป็นเหมือนหนังสือจริงๆ เลย แต่ถ้าอ่านหนังสือบนไอแพ็ดอาจจะง่ายในการคลิก ไม่เหนื่อย แต่ถ้าเป็นหนังสือเวลาเปิดมันจะได้อารมณ์ว่าอ่านใกล้ถึงหน้านั้นหน้านี้แล้วนะ แต่ถ้าอ่านจากเครื่องนี้มันไม่มีอารมณ์แบบนั้น อารมณ์ต่างกันเลย คือมันจะดีตรงแค่พกพา แต่ว่าจะอ่านได้เร็ว อารมณ์เวลาอ่านหนังสือเล่มมันจะรู้สึกเครียดกว่า ได้อารมณ์ของการอ่าน แต่อ่านจากเครื่องนี้แล้วไม่ค่อยเครียด อย่างเวลาอ่านหนังสือแล้วขีดเส้นใต้ได้ แต่อ่านจากเครื่องแล้วมันขีดยาก อาจจะทำบุ๊คมาร์คได้ แต่มันไม่เหมือนกัน เสน่ห์คนละแบบ" เธอแสดงความรู้สึก
ล่าสุดเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคมที่ผ่านมา สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นได้รายงานถึงผลวิจัยโดยบริษัทวิจัย นีลเส็น นอร์แมน กรุ๊ป เกี่ยวกับความเร็วและง่ายของการอ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ผ่าน 2 เครื่องมือที่กำลังเป็นกระแส คือ "คินเดิล" และ "ไอแพด" พร้อมทั้งเปรียบเทียบกับหนังสือที่เป็นกระดาษแบบดั้งเดิมด้วยว่าระหว่างแบบเก่าและแบบใหม่นั้นอย่างไหนดีกว่ากัน
ผลปรากฏว่าเจ้าเครื่องมือไฮเทคสำหรับอ่านอีบุ๊คนั้นยังไม่สามารถพิชิตวิธีดั้งเดิมอย่างการเปิดอ่านหนังสือที่เป็นกระดาษได้ในแง่ของทั้งความเร็วและความสะดวกสบาย โดยทีมวิจัยได้เลือกทดสอบกับกลุ่มตัวอย่าง 24 ราย ให้อ่านเรื่องสั้นของ "เออร์เนส เฮมมิงเวย์" ผ่าน 4 รูปแบบ คือ หนังสือที่เป็นกระดาษ อ่านผ่านไอแพด ผ่านคินเดิล และผ่านคอมพิวเตอร์ พีซี
หลังการทดสอบพบว่าความเร็วของการอ่านผ่านไอแพดลดลงราว 6.2 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับหนังสือแบบดั้งเดิม แต่สำหรับคินเดิลนั้นแย่กว่า เพราะความเร็วลดลงถึง 10.7 เปอร์เซ็นต์
นอกจากจะจับความเร็วในการอ่านแล้วยังพบว่ากลุ่มตัวอย่างมีความพอใจในการอ่านหนังสือผ่านไอแพ็ดมากที่สุด คือ 5.8 จากคะแนนเต็ม 7 อันดับสองคือ คินเดิล ด้วยคะแนน 5.7 ส่วนหนังสือแบบดั้งเดิมได้คะแนน 5.6 ขณะที่การอ่านผ่านคอมพิวเตอร์พีซี ได้คะแนนเพียง 3.6 ด้วยเหตุผลที่ว่าอ่านหนังสือผ่านช่องทางนี้ เหมือนกับว่ากำลังทำงานอยู่นั่นเอง
อีบุ๊คไทย...ยังไร้ทิศทาง
การขยับตัวเพื่อตั้งรับกับกระแสอีบุ๊คในเมืองไทยของทั้งสำนักพิมพ์ ร้านหนังสือ และตัวนักเขียนเองนั้น ส่วนใหญ่ยังกลัวเรื่องของการละเมิดลิขสิทธิ์หรือขายแล้วโหลดแจกต่อกันไปซึ่งเป็นปัญหาใหญ่มาก และยังมีข้อสงสัยว่าถ้าหากใช้ซอฟต์แวร์ที่ป้องกันเรื่องของการละเมิดลิขสิทธิ์แล้วจะสามารถป้องกันได้ผลร้อยเปอร์เซ็นต์หรือไม่ รวมทั้งจะทำให้ต้นทุนของหนังสือสูงขึ้นอีกด้วย
"ตลาดอีบุ๊คในตอนนี้มันยังแกว่งอยู่ ไม่นิ่ง ตอนนี้ในวงการร้านหนังสือก็พยายามดูอีบุ๊คกันอยู่ เพราะว่าอีบุ๊คเริ่มเข้ามามีบทบาทมาก แต่สำหรับในต่างประเทศไปไกลมากแล้ว คนที่ขายอีบุ๊คเนื่องจากว่าเขามีหนังสือฟรีอยู่เยอะ เวลาเขาขายอีบุ๊คก็สามารถที่จะแถมหนังสือฟรีเข้าไปกับตัวอีบุ๊คได้ แต่ว่าในเมืองไทย หนังสือที่หมดลิขสิทธิ์แล้วยังไม่ค่อยมี อย่างตลาดอเมริกาพิมพ์หนังสือมาตั้งแต่ปีไหนๆ มันหมดลิขสิทธิ์ไปแล้ว พอหมดลิขสิขธิ์ก็จะฟรีได้ พอฟรี พวกนี้มันเป็นตัวช่วยเสริมว่าพอขาย e-Book Reader แล้วแถมหนังสือเป็นแสนๆ ชื่อเรื่องเข้าไป
ทำให้คนซื้อมองว่าคุ้มเพราะว่าซื้อเครื่องอีรีดเดอร์แล้วสามารถอ่านได้ตลอด แต่บ้านเรายังไม่ถึงขนาดนั้น และในแง่ของสำนักพิมพ์เองก็ยังเกิดความกลัวอยู่ว่าถ้าเป็นอีบุ๊คมันจะถูกก๊อบปี้ไป มันจะถูกแฮ็คไป ยังกลัวๆ กล้าๆ อยู่ว่าจะไปอีบุ๊คดีหรือเปล่า แต่ว่าเราคงหนีไม่พ้น คงต้องจับตาตลาดกันอยู่ เพราะทุกวันนี้จะได้ยินว่ามีการแฮ็คกันเต็มไปหมด ถึงมีซอฟต์แวร์ป้องกันก็มีคนแก้ได้อยู่ดี" เกรียงศักดิ์ หรรษาเวก ผู้ช่วยผู้จัดการศูนย์หนังสือจุฬาฯ กล่าว
เขายังบอกอีกว่าตอนนี้ยอดขายอีบุ๊คของอเมซอนสูงกว่าตัวหนังสือเล่มแล้วด้วยซ้ำ และหนังสือฟรีเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยผลักดันให้เกิดอีบุ๊ค แต่ว่าในตลาดอเมริกาเนื่องจากว่ารายได้ต่อหัวต่อคนสูง เมื่อเทียบกับราคาเครื่องอ่านอีบุ๊คซึ่งราคาอยู่ราว 10,00บาท (ขึ้นไป) ต่อเครื่อง ถือว่ามีกำลังซื้อ ต่างกับหนอนหนังสือเมืองไทย
"คนที่มีกำลังซื้ออาจจะเป็นคนที่บ้าไฮเทค ฉะนั้นมันจะทำให้กลุ่มใช้อีบุ๊คยังแคบอยู่ แต่ถ้าหากเครื่องอ่านหรืออีบุ๊ครีดเดอร์มันถูกลงมามากๆ เหลือแค่ไม่กี่พันบาท ผมว่าตรงนั้นน่าจะมีโอกาสมากกว่า" เขาบอก
หากถามว่าในต่างประเทศมีวิธีป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ให้ได้ผลเด็ดขาดอย่างไรนั้น อรภัค สุวรรณภักดี บอกว่า "จับอย่างเดียว" แต่เมืองไทยไม่ได้เอาจริงในเรื่องการจับ อย่างของอเมซอนจะมีการเขียนโปรแกรมโค้ดเพื่อดักจับโดยเฉพาะ แต่ของเมืองไทยจะยากกว่า
"เมืองนอกมันจับแรง เมืองไทยมันจับเบา" โดยเฉพาะหนังสือของเธอเองซึ่งกำลังจะปล่อยให้ดาวน์โหลด เธอบอกว่า "หนาวๆ อยู่เหมือนกัน" แต่คงไม่ถึงกับกังวลมากนัก
"บอกตรงๆ ว่าไม่กลัวเลย ถ้าคิดจะทำแล้วอย่าไปกลัว ต่อให้ซีป้องกันขนาดไหนก็แฮ็คได้ ถ้าเกิดคิดอย่างนี้คงจะไปไม่ถึงไหน ถ้าเกิดเราจะสร้างกระแสให้มีการอ่านดิจิทัลแล้วไปกลัวว่าจะมีคนก๊อบ แล้วมันจะยังไง จะให้มากลัวตลอดเวลาได้อย่างไร กระแสไปทางไหนก็ต้องไป ไปขวางไม่ได้ ตอนแรกคนอาจจะไม่อยากทำ แต่พอมีคนมาทำสัก 5 คน 10 คน ถึงเวลานั้นใครไม่ทำไม่ได้แล้ว วิธีหนึ่งคือเอาหนังสือเก่าๆ มาลองทำดูก่อน แต่ความเป็นจริงคือมองว่าถ้าเราจะเป็นผู้นำแล้วกลัวอะไร เพราะไม่ว่าจะสั่งหนังสือออนไลน์ที่เมืองนอกก็เคยโดนโกงมาแล้ว ทุกอย่างมันเสี่ยงหมด" เธอเล่าอย่างมีอารมณ์
อนาล็อก vs ดิจิทัล
ใครอยู่-ใครไป
ขณะนี้ทั้งร้านหนังสือหรือแม้แต่สำนักพิมพ์เองก็กำลังพยายามศึกษาผลกระทบกันอยู่ เพราะถึงอย่างไรอีบุ๊คจะต้องเข้ามาแน่ๆ คำถามต่อไปก็คือ จะกระโจนเข้าไปเล่นกับมันอย่างไร
"ผมว่าทุกสำนักพิมพ์ทุกค่ายต้องกระโดดเข้าไปแน่ๆ หรือไม่เช่นนั้นเราก็อาจจะมองอีบุ๊คว่าแทนที่จะขายหนังสือเล่มอย่างเดียวก็ขายอีบุ๊คด้วย เป็นตัวช่วยเสริมหรืออาจจะใช้อีบุ๊คเป็นช่องทางในการประชาสัมพันธ์ เช่น อาจจะทำอีบุ๊คแค่สองบทแล้วล่อใจนิดนึง พออ่านสองบทแล้วอยากอ่านต่อก็ไปซื้อเป็นเล่มก็ได้ แทนที่จะบอกว่ามันน่ากลัวนะ มันจะทำให้ร้านหนังสือตายหรือเปล่า คงไม่ใช่แน่นอน" เกรียงศักดิ์ กล่าว
ถ้าเป็นผลกระทบทั้งในแง่ของร้านหนังสือเอง สำนักพิมพ์ และนักเขียน เขามองว่า "ผมว่ามันกระทบเยอะนะ นักเขียนอิสระอาจจะมีช่องทางมากขึ้น เพราะว่าปัจจุบันนักเขียนจะหันมาผลิตหนังสือเล่มเอง ต้องลงทุนสูง ค่าพิมพ์ ค่าโรงพิมพ์ พอพิมพ์เองแล้วจะต้องมาทำการตลาดเองสูงมาก ถ้าเกิดมันขายไม่ได้ก็ต้องแบกภาระ แต่ถ้าผมเป็นนักเขียนอิสระ ต่อไปผมอาจจะไม่ต้องลงทุนแล้ว ผมทำอีบุ๊คแล้วมาฝากขายอยู่บนเวบไซต์ไหนก็ได้ แค่ผลิตออกมาเป็น pdf หรือว่าเป็นรูปแบบที่จะอ่านบนอีบุ๊คได้ ผมก็สามารถเอาตัวนี้ไปฝากอยู่บนเวบไซต์ ให้คนดาวน์โหลดแล้วเก็บเปอร์เซ็นต์จากการดาวน์โหลด ฉะนั้นนักเขียนมีอิสระมากขึ้นในการเผยแพร่หนังสือของตัวเอง"
ฉะนั้น ในแง่ของสำนักพิมพ์เอง ส่วนหนึ่งก็จะสูญเสียนักเขียนไปบางส่วน เพราะว่านักเขียนมีช่องทางของตัวเองมากขึ้น
"แต่อย่าลืมว่าในแง่ของสำนักพิมพ์จะมีส่วนของการทำการตลาดและระบบบรรณาธิการ ตรวจสอบความถูกต้อง ออกแบบรูปเล่ม ตรงนี้จะต้องพึ่งพาสำนักพิมพ์อยู่ส่วนหนึ่ง สำหรับนักเขียนที่ยังเป็นมือใหม่ แต่ว่านักเขียนรุ่นใหม่ๆ ที่ใช้คอมพิวเตอร์ถนัดสามารถทำอาร์ตเวิร์คของตัวเองได้ ทำอะไรเองได้ ผมคิดว่าสำนักพิมพ์น่าจะสูญเสียส่วนนี้ไป
ในแง่ของร้านค้าหรือร้านหนังสือ ตอนนี้ตลาดในอเมริกาเริ่มหวั่นวิตกกันแล้ว ร้านหนังสือใหญ่ๆ มีพื้นที่เยอะๆ จะเป็นยังไง เพราะคนหันมาสั่งซื้ออีบุ๊คมากขึ้น ฉะนั้นตลาดอเมริกาเริ่มมีผลกระทบ แต่ว่าในบ้านเรา ตัวอีบุ๊ครีดเดอร์มันยังเข้าไม่ถึงคนระดับล่าง ยังไงก็ยังต้องพึ่งพาร้านหนังสืออยู่ หรือร้านหนังสืออาจจะมองว่าเป็นช่องทางในการจำหน่ายได้ทั้งสองอย่าง คืออีบุ๊คด้วยและขายตัวเล่มด้วย" เขาบอกและยืนยันอย่างมั่นใจว่า...
"ผมว่าภายใน 5 ปีนี้น่าจะเห็นอะไรที่เปลี่ยนแปลงหรืออาจจะเร็วกว่านั้น โดยเฉพาะคนเจเนอเรชั่นใหม่ คนยุคใหม่ซึ่งเขาจะจับตัวเล่มน้อยลงเพราะว่าเขามีอุปกรณ์ส่วนตัวเยอะแยะไปหมด ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือหรือไอแพดที่พกพาไปไหนก็ได้"
ล่าสุดเมื่อเร็วๆ นี้ "ศูนย์หนังสือจุฬาฯ" เพิ่งประกาศตัวเป็นร้านหนังสือบน iPhon แห่งแรกของประเทศไทย ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีที่ร้านหนังสือขยับขึ้นมาอีกขั้น โดยพัฒนา Chulabook Application บน iPhone ขึ้นเพื่อบริการสั่งซื้อสินค้า ค้นหาหนังสือ และติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหว โดยเน้นกลุ่มนิสิตนักศึกษา กลุ่มคนรุ่นใหม่ รวมไปถึงบุคคลวัยทำงาน ซึ่งปัจจุบันมีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ iPhone กว่า 300,000 รายแล้ว
"ต้องบอกว่าเสียดายหนังสือเพราะกว่าจะเขียนหนังสือออกมาได้เล่มหนึ่งต้องใช้เวลา ฉะนั้นบางทีมันมีพื้นที่จำกัดสำหรับร้านทั่วไป บางครั้งหนังสือจะถูกตัดสินด้วยยอดขายในเวลาอันสั้น มันทำให้หนังสือดีๆ เหล่านั้นไม่มีพื้นที่หรือองค์ความรู้เหล่านั้นมันหายไป ตอนนี้ต้องไม่ตั้งหลักอยู่เฉยๆ ต้องมองว่าสังคมเปลี่ยนแปลงไปตรงไหน แล้วควรจะตามไหม เป้าหมายเลยคือเราต้องการให้หนังสือไปถึงมือคนอ่าน มันเป็นการส่งเสริมการอ่านโดยปริยาย ทำยังไงหนังสือเหล่านี้จะไปสู่คนอ่านได้ ทำไมอเมซอนถึงทำได้ ประเทศไทยเราก็ต้องทำได้" ทรงยศ สามกษัตริย์ ผู้จัดการศูนย์หนังสือจุฬาฯ กล่าว
เขาบอกอีกว่า ทั้งสำนักพิมพ์ นักเขียน และร้านหนังสือจะได้ประโยชน์จากอีบุ๊คแน่นอนเพราะว่ามันเป็นแหล่งหนึ่งที่คนสั่งซื้อได้และง่ายขึ้น
"เมื่อสำนักพิมพ์ผลิตหนังสือเล่มแล้วมันสามารถจะออกมาเป็นอีบุ๊คได้เลย ขายได้สองช่องทาง ผู้จัดจำหน่ายจะมีทั้งหน้าร้านและบริการดาวน์โหลดกันไปเลย ถามว่าสำนักพิมพ์ก็ไม่ได้เสียหาย ร้านหนังสือก็ไม่ได้เสียหาย เพราะว่าหนังสือออกมาแต่ละปีประมาณ 13,000 ปก เฉลี่ยเดือนละ 1,000 ปก หรือวันละ 60 ปก แต่ว่ามันถูกคัดเลือกด้วยวิธีหลายๆ แบบ คนไม่ชอบคงไม่ซื้ออีบุ๊คแน่ๆ แต่บางคนบอกว่ามีหนังสือหลายเล่มอยู่ในเครื่องเดียว พกไปไหนมาไหนได้สะดวกสบาย ยุคนี้เป็นยุคต่อเนื่องกันอยู่ ฉะนั้นต้องรองรับทั้งสองรูปแบบ สังคมเปลี่ยนไป ร้านหนังสือก็ต้องพัฒนาตามสังคม"
เช่นเดียวกับ จิรศักดิ์ จันทรวิทิตย์ Project Manager True Digital Bookstore หนึ่งในคลังหนังสือดิจิทัลแหล่งใหญ่ในขณะนี้ มองว่า "อยากให้มองว่าอีบุ๊คเป็นช่องทางใหม่สำหรับนักเขียน และสำนักพิมพ์ด้วย เพื่อเปิดทางสู่การขายหรือเผยแพร่ผลงานออกไป ถึงแม้จะมีแง่ลบอยู่บ้าง แต่ผมคิดว่าถ้าบวกลบกันแล้วแง่บวกของมันน่าจะมากกว่าเพราะว่าสิ่งที่ผมมองก็คือการตอบสนองเด็กยุคใหม่ "
หนอนหนังสือจะต้องปรับปรุงสายพันธุ์ไปเป็นหนอนดิจิทัลหรือไม่นั้น อีกไม่นานคงได้รู้
from http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/life-style/lifestyle/20100713/342660/ดิจิทัลบุ๊ค-บุกรังหนอน.html
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น