Pages

Pages

07 กรกฎาคม 2553

ไบโอพลาสติก นวัตกรรมล้ำสมัย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม


ไบโอพลาสติก นวัตกรรมล้ำสมัย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม

วันศุกร์ที่ 27 มิถุนายน 2551 กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดเสวนา คุยกัน..ฉันท์วิทย์ ในหัวข้อ “ไบโอพลาสติก..นวัตกรรมล้ำสมัย” ใส่ใจสิ่งแวดล้อม โดย ดร.ชัยวัฒน์ ต่อสกุลแก้ว รองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้เกียรติกล่าวต้อนรับและเปิดการเสวนา พร้อมด้วยวิทยากร จากวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัท แอดวานซ์ แพคเกจจิ้ง จำกัด ณ บริเวณห้องโถง ชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ดร.ชัยวัฒน์ ต่อสกุลแก้ว รองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวในการเปิดเสวนาฯ ว่า เป็นที่ทราบกันดีว่า พลาสติกนับเป็นสิ่งหนึ่งที่เข้ามาเกี่ยวข้องรอบ ๆ ตัวเรา สามารถพบเห็นได้ในทุกที่ทุกแห่งจนกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีบทบาทในชีวิตประจำวันของเราโดยไม่รู้ตัว และมีแนวโน้มเพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลให้เกิดปัญหาขยะพลาสติกที่ย่อยสลายได้ยากและต้องใช้เวลานาน จึงมีการรณรงค์ให้เลิกใช้ และหันมาใช้วัสดุที่ย่อยสลายง่ายหรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากวัสดุธรรมชาติแทน ซึ่งขณะนี้ทั่วโลกพยายามคิดหาวิธีผลิตพลาสติกที่ทำจากวัตถุดิบจากธรรมชาติ หรือที่เรียกว่าไบโอพลาสติก เพื่อกระตุ้นให้สังคมเกิดความตื่นตัวและหันมาให้ความสำคัญกับพลาสติกชีวภาพ ซึ่งจะเป็นทางเลือกหนึ่งในการบรรเทาปัญหาสิ่งแวดล้อม ด้วยคุณสมบัติที่สามารถย่อยสลายและกลายเป็นธาตุในดินที่ไม่เป็นพิษกับสิ่งแวดล้อม
“กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ริเริมผลักดันอุตสาหกรรมพลาสติดชีวภาพให้เป็นอุตสาหกรรมคลื่นลูกใหม่ของประเทศ เนื่องจากพลาสติกชีวภาพ เป็นนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในด้านวัตถุดิบที่นำมาจากทรัพยากรที่เกิดขึ้นใหม่ทดแทนได้ เช่น มันสำปะหลัง ข้าวโพด และอ้อย เป็นต้น โดยมีกระบวนการผลิตที่ช่วยลดภาวะโลกร้อนเพราะใช้พลังงานต่ำ นอกจากนี้ พลาสสติกชีวภาพยังสามารถย่อยสลายได้ในธรรมชาติกลายเป็นปุ๋ยหมักในกระบวนการกำจัดขยะด้วย ดังนั้น วงจรของพลาสติกชีวภาพจึงเป็นวัฏจักรซึ่งทำให้เกิดสมดุลของสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน”

รศ.ดร. สุวบุญ จิรชาญชัย รองผู้อำนวยการฝ่ายการวิจัยวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาขยะพลาสติกที่นับวันจะมีเพิ่มมากขึ้น ประมาณ 10,000 ตันต่อวัน ซึ่งขยะพลาสติกย่อยสลายได้ยากและต้องใช้ระยะเวลานาน ดังนั้น ทีมวิจัยจึงได้คิดค้นวิธีผลิตพลาสติกที่ทำจากวัตถุดิบธรรมชาติ ที่เรียกว่า ไบโอพลาสติก
โดยการนำโพลิแลกติกแอซิด (PLA) ซึ่งเป็นพลาสติกที่ย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ มาใช้แทนพลาสติกที่ได้จากพลาสติกปิโตรเคมี กระบวนการผลิต PLA เริ่มจากการหมักวัสดุชีวภาพ เช่น ข้าวโพด มันสำปะหลัง และอ้อย เป็นต้น มาเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีจากกลูโคสไปเป็นกรดแลกติก จากนั้นนำมาทำปฏิกิริยาพอลีเมอร์ไรเซชั่น เกิดโพลิแลกติกแอซิด ได้เป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น กระดูกเทียม ถุงพลาสติก ช้อนส้อม ด้ามปากกา กล่องบรรจุภัณฑ์อาหาร ชิ้นส่วนรถยนต์ หน้ากากมือถือ CD เป็นต้น นอกจากนั้น PLA ยังช่วยลดปริมาณของเสีย ย่อยสลายได้ในธรรมชาติเมื่อผนวกกับความชื้น และกลายเป็นปุ๋ยหมักในกระบวนการกำจัดขยะต่อไป

ดร.ธีรวัฒน์ ธีรภัทรพรชัย ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท แอดวานซ์ แพคเกจจิ้ง จำกัด กล่าวว่า สมาคมอุตสาหกรรมชีวภาพไทย ประมาณ 30 บริษัท มีความพร้อมผลิตไบโอพลาสติกได้สำเร็จ อาทิ บรรจุภัณฑ์อาหารประเภทถุงพลาสติก แต่กระบวนการผลิตใช้ต้นทุนสูงกว่า 4 เท่า เนื่องจากเม็ดพลาสติกที่นำมาผสมต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ดังนั้น จึงต้องการให้ภาครัฐออกมาตรการลดภาษีนำเข้า พร้อมทั้งเสนอให้ช่วยสนับสนุนลดต้นทุนการรับซื้อสินค้าให้กับร้านค้าครึ่งหนึ่ง โดยมั่นใจว่าจะทำให้ผู้บริโภคหันมาใช้บรรจุภัณฑ์ไบโอพลาสติกมากขึ้น

from http://portal.in.th/scitalk/pages/94/


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น