มาทำความรู้จักกับดัชนี MSCI กัน...ตอน SET ไม่แคร์สื่อ
เพื่อให้ผู้ลงทุนสถาบันที่ลงทุนในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก ได้นำมาใช้เป็นมาตรฐานในการวัดผลตอบแทน
ในการลงทุนของตนเองว่าเป็นอย่างไร ได้ผลตอบแทนดีหรือไม่ เมื่อเทียบกับดัชนี MSCI
MSCI ย่อมาจาก Morgan Stanley Capital International อันเป็นชื่อเต็มของบริษัทที่จัดสร้าง
ดัชนีนี้ขึ้นมา ซึ่งต่อมา บริษัท MSCI Barraได้มาซื้อกิจการต่อ แต่ยังคงชื่อ MSCI Index ไว้ เนื่องจาก
เป็นดัชนีที่ได้เกิดขึ้นมากว่า 35 ปีแล้ว เป็นที่นิยมแพร่หลาย และมักจะเป็นที่เรียกกันติดปากของ
ผู้ลงทุนสถาบันเวลาที่ต้องการเปรียบเทียบการลงทุนของตนเองกับดัชนีมาตรฐานอื่น
ดัชนี MSCI นั้นนอกจากมีการสร้างขึ้นมาเพื่อใช้กับหุ้นแล้ว ยังมีดัชนี MSCI สำหรับสินค้า
ประเภทอื่น ๆ เช่น ตราสารหนี้ เฮดจ์ฟันด์ หรือกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (Real Estate Investment
Trust-REIT) อีกด้วย แต่ในที่นี้จะพูดถึงดัชนีที่เกี่ยวกับการลงทุนในหุ้นเท่านั้น เนื่องจากเป็นดัชนีที่
พวกเราคุ้นเคยและมักได้ยินข่าวคราวในตลาดทุนบ่อยครั้ง ซึ่งดัชนี MSCI ที่เกี่ยวกับหุ้นก็ไม่ได้มีเพียง
ดัชนีเดียว แต่มีให้เลือกใช้หลายชุดหลายแบบด้วยกันเพื่อให้เหมาะสมกับกลยุทธ์การลงทุนที่มีอยู่
หลากหลาย โดยเริ่มตั้งแต่ดัชนีในระดับประเทศ (country index) รวมทั้งสิ้นถึง 68 ประเทศด้วยกัน
(ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย คือ ดัชนี MSCI Thailand) นอกจากดัชนีในระดับประเทศแล้ว ยังมีดัชนี
MSCI ที่นำเอาดัชนีระดับประเทศมาจัดชุดรวมกันเป็นดัชนีต่าง ๆ หลากหลายประเภท เช่น ดัชนี
ที่แบ่งตามภูมิภาค ตัวอย่างเช่น ภูมิภาคยุโรป ภูมิภาคแปซิฟิก เป็นต้น ดัชนีที่แบ่งตามลักษณะของ
ตลาด ได้แก่ ตลาดของประเทศที่พัฒนาแล้ว (developed markets) ตลาดเกิดใหม่ (emerging markets)
เช่น ประเทศบราซิล เม็กซิโก ตุรกี จีน ไทย เป็นต้น และตลาด Frontier markets ซึ่งเป็นประเทศที่เพิ่ง
มีตลาดทุนเกิดขึ้นภายหลังจากตลาดเกิดใหม่อีก เช่น ประเทศแถบยุโรปตะวันออก หรือประเทศแถบ
ตะวันออกกลาง เป็นต้น นอกจากนั้น ยังมีดัชนีที่แบ่งตามประเภทของหุ้นอีกด้วย เช่น หุ้นขนาดใหญ่
(large cap) หุ้นขนาดเล็ก (small cap) หรือหุ้นที่มีการเติบโตสูง เป็นต้น
สำหรับการจัดทำดัชนีของแต่ละประเทศ เช่น MSCI Thailand บริษัท MSCI Barraไม่ได้
นำหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทุกตัวเข้ามารวมไว้ในดัชนีแต่อย่างใด แต่จะคัดเลือกเฉพาะหุ้นที่ผ่าน
ตามเกณฑ์ที่บริษัทกำหนดไว้เท่านั้น ซึ่งก็จะมีเกณฑ์ในการพิจารณาหลายอย่าง เช่น
- หุ้นนั้นต้องมีสภาพคล่องในการซื้อขายสูง ซึ่งสภาพคล่องจะพิจารณาจากมูลค่า
การซื้อขายหุ้นในรอบปีโดยเฉลี่ยเทียบกับมูลค่าตลาดของหุ้นนั้น
- ต้องมีฟรีโฟลตขั้นต่ำ 15%
- มีมูลค่าตลาด (จำนวนหุ้นคูณด้วยราคาตลาดของหุ้นนั้น) เมื่อคูณด้วยค่าฟรีโฟลตเป็น
เปอร์เซ็นต์แล้วสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่กำหนด (กำหนดไม่เท่ากันแล้วแต่ประเทศ ซึ่งใน
ส่วนของประเทศไทย หุ้นของบริษัทที่จะเข้าเกณฑ์ต้องมีมูลค่าตลาดขั้นต่ำ 250 ล้าน
เหรียญสหรัฐ) เป็นต้น
สำหรับฟรีโฟลตในกรณีของ MSCI ที่กล่าวถึงข้างต้นนี้จะถูกเรียกว่า ค่า FIF (Foreign
Inclusion Factor) ซึ่งเท่ากับจำนวนหุ้นของแต่ละบริษัทที่มีการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่ง
ผู้ลงทุนต่างประเทศสามารถซื้อขายได้ และไม่นับรวมหุ้นซึ่งถือโดยผู้ถือหุ้นเพื่อการลงทุนระยะยาว
(ทั้งผู้ถือหุ้นในประเทศและต่างประเทศ) เช่น หุ้น A มีมูลค่าตลาด 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่มีส่วน
ที่ผู้ลงทุนต่างชาติสามารถซื้อได้เพียง 30% (FIF เป็น 0.30) ดังนั้น มูลค่าตลาดของหุ้น A ซึ่งนำมา
คำนวณมูลค่าตลาดรวมของประเทศจะเท่ากับ 300 ล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น (1,000 ล้าน x 0.30)
หลังจากที่ได้คัดเลือกหุ้นแล้ว จะนำหุ้นเหล่านั้นมาจัดลำดับตามขนาดและสภาพคล่อง
ในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม และคัดหุ้นที่มีขนาดใหญ่และมีสภาพคล่องสูงจนกระทั่งมีมูลค่าประมาณ
85% ของมูลค่าตลาดของหุ้นทั้งหมดในประเทศ ออกมาเป็นองค์ประกอบของดัชนีประเทศ ดังนั้น
หุ้นที่ MSCI คัดเลือกมาจึงถือเป็นหุ้นที่เป็นตัวแทนหุ้นทั้งหมดในตลาดที่ผ่านการคัดเลือกจากบริษัท
MSCI ซึ่งเมื่อได้ดัชนี MSCI ของแต่ละประเทศแล้ว บริษัท MSCI จะนำดัชนีประเทศเหล่านั้นมา
รวมจัดชุดดัชนีต่าง ๆ แต่ละประเภทตามที่กล่าวข้างต้น
สำหรับนักลงทุนสถาบันในต่างประเทศ เช่น กองทุนรวมที่ลงทุนในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก
มักนิยมใช้ดัชนี MSCI ระดับภูมิภาค เช่น ดัชนี MSCI EAFE (Europe, Australasia, Far East) ดัชนี
MSCI AC Asia Pacific ex Japan ดัชนี MSCI AC World เป็นต้น เป็นมาตรฐานในการวัด
ผลตอบแทนการดำเนินงาน (benchmark) ของตนเอง สำหรับดัชนี MSCI ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับตลาด
ทุนของไทยซึ่งท่านผู้อ่านมักได้ยินชื่อบ่อยครั้งก็คือ ดัชนี MSCI Far East ex Japan ซึ่งประกอบไป
ด้วยหุ้นของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกไกล ยกเว้นญี่ปุ่น รวมทั้งสิ้น 9 ประเทศ คือ จีน
ฮ่องกง อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไต้หวัน และประเทศไทย
ในการคำนวณน้ำหนักการลงทุนของแต่ละประเทศในดัชนี MSCI ซึ่งในที่นี้ขอยกตัวอย่าง
ดัชนี MSCI Far East ex Japan นั้น จะคิดจากสัดส่วนของมูลค่าตลาดของหุ้นทั้งหมดที่เป็น
องค์ประกอบในดัชนีประเทศนั้น ๆ เทียบกับมูลค่าตลาดของหุ้นทั้งหมดทุกประเทศในดัชนี MSCI
Far East ex Japan (มูลค่าตลาดรวมของหุ้นทั้งหมดคำนวณเฉพาะส่วนที่ผู้ลงทุนต่างประเทศสามารถ
เข้ามาทำการซื้อขายได้ หรือส่วนที่ไม่มีข้อจำกัดการถือครองของผู้ลงทุนต่างประเทศซึ่งได้อธิบาย
เมื่อตอนที่แล้ว)
สมมติว่ามูลค่าตลาดของหุ้นที่อยู่ในดัชนี MSCI Thailand รวมทั้งสิ้นคิดเป็น 40,000 ล้าน
เหรียญสหรัฐ ส่วนมูลค่าตลาดของหุ้นทั้งหมดรวมทั้ง 9 ประเทศที่อยู่ในดัชนี MSCI Far East ex Japan
อยู่ที่ 1,700,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ดังนั้น น้ำหนักการลงทุนของประเทศไทยจึงเป็น 2.4% (40,000
ล้าน/1,700,000 ล้าน) นั่นหมายความว่า หากมูลค่าตลาดของหุ้นทั้ง 9 ประเทศโดยรวมทั้งหมดอยู่ที่
100 ส่วน มีส่วนของหุ้นไทยอยู่ในนั้น 2.4 ส่วนนั่นเอง
จากตัวอย่างนี้ ลองนึกภาพดูว่า หากผู้จัดการกองทุนต่างประเทศมีเงินทุน 100 ล้านเหรียญ
สหรัฐเพื่อเข้ามาลงทุนในภูมิภาคนี้ และนำดัชนี MSCI Far East ex Japan มาเป็น benchmark ของตน
ซึ่งหากจะลงทุนโดยมุ่งหวังให้ผลตอบแทนของกองทุนใกล้เคียงกับตัว benchmark เขาก็จะนำเงิน
มาลงทุนในตลาดทุนไทยเพียงประมาณ 2.4 ล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น แต่หากต้องการบริหารกองทุน
ให้ชนะตัว benchmark นี้ เขาก็อาจพิจารณาลงทุนในประเทศไทยในจำนวนเงินที่มากหรือน้อยกว่า
สัดส่วนนี้ก็ได้
ดังนั้น การที่ประเทศใดมีน้ำหนักการลงทุนในดัชนี MSCI ในระดับภูมิภาคน้อย จึงมี
แนวโน้มว่าผู้ลงทุนสถาบันทั่วโลกอาจเจียดเงินไปลงทุนในประเทศนั้นน้อยด้วย ที่ผ่านมา ทางการ
ไทยจึงได้พยายามผลักดันให้น้ำหนักการลงทุนในดัชนี MSCI เพิ่มสูงขึ้น ไม่ว่าจะเปน็ การให้บริษัท
MSCI Barra นำใบแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิงไทย (NVDR) เข้ามานับรวม
ในการคำนวณดัชนีประเทศไทย การส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนเพิ่มฟรีโฟลตของหุ้นให้มากขึ้น
เป็นต้น
โดยปกติแล้ว บริษัท MSCI Barra จะมีการปรับปรุงองค์ประกอบของหลักทรัพย์ที่อยู่ในดัชนี
ทุกไตรมาส คือ กุมภาพันธ์ พฤษภาคม สิงหาคม และพฤศจิกายน เพื่อให้ข้อมูลให้มีความทันสมัย
โดยอาจเพิ่มหุ้นเข้าไป หรือปรับหุ้นใดออกจากดัชนีของประเทศไหนก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าหุ้นนั้น ๆ
เข้าเงื่อนไขหรือไม่ รวมถึงมีการปรับเพิ่มหรือลดค่า FIF ของหุ้นใดหรือไม่ด้วย ซึ่งในการปรับปรุง
ดัชนีแต่ละครั้ง แน่นอนว่าย่อมส่งผลต่อน้ำหนักการลงทุนในแต่ละประเทศให้เปลี่ยนแปลงเพิ่ม
หรือลดไปบ้างไม่มากก็น้อย โดยหากประเทศอื่นมีหุ้นที่เข้าเกณฑ์มาเป็นองค์ประกอบมากขึ้นก็อาจ
เบียดน้ำหนักการลงทุนของไทยให้ลดลง นอกจากนั้น หากหุ้นของประเทศใดมีราคาเพิ่มสูงขึ้น
มากกว่าประเทศอื่น ก็จะทำให้น้ำหนักการลงทุนของประเทศนั้นเพิ่มขึ้นได้ หรือประเทศใดมีค่าเงิน
ที่แข็งค่าขึ้นมากกว่าประเทศอื่น มูลค่าตลาดรวมของดัชนีประเทศนั้นก็จะเพิ่มขึ้นและอาจส่งผลให้
ประเทศนั้นมีน้ำหนักการลงทุนเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน ดังนั้น หากทราบพื้นฐานสักเล็กน้อย ย่อมทำให้
ท่านผู้อ่านมีความเข้าใจเกี่ยวกับดัชนี MSCI มากขึ้น และไม่ตื่นตระหนกเกินไปเวลาพบเจอข่าวที่
เกี่ยวข้องกับประเทศไทยในดัชนี MSCI ตามหน้าหนังสือพิมพ์
www.sec.or.th
MSCI Index Performance 16/7/2010
from http://www.pantip.com/cafe/sinthorn/topic/I9482264/I9482264.html
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น