Pages

Pages

22 สิงหาคม 2553

อาจารย์ของผม : ชาร์ลี มังเจอร์ (1)


บทความต่อไปนี้เป็นคำนิยมที่ลี ลู (Li Lu) เขียนไว้ในหนังสือ Poor Charlie's Almanack:

The Wit and Wisdom of Charles T. Munger ต้องการสื่อให้ผู้อ่านทราบถึงปรัชญาต่างๆ จากการได้สัมผัสคลุกคลีกับมังเจอร์โดยตรงมาเป็นเวลายาวนาน 20 ปี

เมื่อ 20 ปีก่อน ผมเป็นเด็กหนุ่มที่มาเรียนที่อเมริกา นึกไม่ถึงว่าวันนี้ผมจะมีอาชีพเป็นนักลงทุน และนึกไม่ถึงว่าผมจะโชคดีที่ได้พบกับกูรูร่วมสมัยอย่างชาร์ลี มังเจอร์ ในปี 2004 มังเจอร์ได้เป็นหุ้นส่วนในด้านการลงทุนของผม และหลังจากนั้นเป็นผู้ให้คำปรึกษาและเป็นเพื่อน ผมจบจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียในปี 1996 และก่อตั้งบริษัทเพื่อการลงทุนในปี 1997 ถือเป็นจุดเริ่มต้นกับอาชีพการลงทุน

ตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ นักลงทุนส่วนใหญ่ยังคงใช้ปรัชญาในการลงทุนที่มีพื้นฐานที่เรียกว่า "ทฤษฎีดั้งเดิม" ตัวอย่างเช่น พวกเขาเชื่อในสมมุติฐานที่ว่าตลาดมีประสิทธิภาพ ดังนั้นจึงเชื่อว่าความผันผวนของราคาหุ้นเป็นความเสี่ยงอย่างแท้จริง และตัดสินผลงานของคุณจากความผันผวนนั้น ในความคิดของผม ความผันผวนของราคานั้นไม่ใช่ความเสี่ยง แต่ความเสี่ยงคือการขาดทุนอย่างถาวรต่างหาก การตกลงของราคาหุ้นไม่ใช่แค่ความเสี่ยง แต่เป็นโอกาสต่างหาก คำถามคือคุณจะหาหุ้นถูกๆ จากที่ไหนได้อีกล่ะ? ดูอย่างผิวเผิน ผมพบว่าผู้จัดการกองทุนที่มีชื่อเสียงยอมรับทฤษฎีของบัฟเฟตต์และมังเจอร์และชื่นชมในผลงานของเขาทั้งสอง แต่ในทางปฏิบัติกลับทำในสิ่งตรงข้าม เนื่องจากลูกค้าของพวกเขาก็ทำในสิ่งที่ตรงข้ามเช่นกัน พวกเขายังคงยอมรับทฤษฎีที่ว่า "ความผันผวนคือความเสี่ยง" และ "ตลาดมักถูกเสมอ"

ผมพบกับชาร์ลีครั้งแรก ที่บ้านของเพื่อนในขณะที่ผมทำงานด้านการลงทุนที่แอลเอ ความประทับใจแรกที่ผมพบคือ "ความห่าง" เขามักเหม่อลอยกับบทสนทนาของอีกฝ่าย แต่ผู้เฒ่าท่านนี้พูดได้อย่างกระชับและเต็มไปด้วยความรู้ที่ทำให้คุณต้องหยุดคิด

7 ปีต่อมาหลังจากที่เราได้รู้จักกัน ในวันขอบคุณพระเจ้าปี 2003 เราได้คุยกันนานอย่างใจจดใจจ่อ ผมได้แนะนำบริษัททุกบริษัทที่ผมได้ลงทุนหรือที่ศึกษากับชาร์ลี จากนั้นเขาจะวิจารณ์แต่ละบริษัทกลับมา ผมยังขอคำแนะนำสำหรับปัญหาที่ผมกำลังเผชิญ ในท้ายที่สุดเขากล่าวว่าปัญหาที่ผมกำลังเผชิญเป็นปัญหาเดียวกันกับพวกวอลล์สตรีท ปัญหาก็คือถึงแม้ว่าเบิร์กไชน์ (Berkshire Hathaway) จะประสบความสำเร็จอย่างไร ก็ไม่มีบริษัทไหนในวอลล์สตรีทที่จะลอกเลียนแบบได้เลย และถ้าผมยังดันทุรังลงทุนในแบบเดิมๆ อีก ผมจะยังคงต้องกังวลในแบบเดิมอีกต่อไป แต่ถ้าผมยกเลิกวิธีการแบบเดิมให้แตกต่างจากพวกวอลล์สตรีท ชาร์ลีก็พร้อมที่จะร่วมลงทุนด้วย

จากความช่วยเหลือของชาร์ลี ผมได้ปรับโครงสร้างบริษัทเพื่อการลงทุนของผมอย่างสมบูรณ์ ไปเป็นรูปแบบคล้ายๆ กับของบัฟเฟตต์และมังเจอร์ในช่วงแรกๆ และเหล่ากองทุนบริหารความเสี่ยงก็ค่อยๆ หายออกจากพอร์ตไป เหลือแต่นักลงทุนระยะยาวเท่านั้น และผมไม่ได้รับนักลงทุนใหม่อีกเลย นั่นทำให้ผมเข้าสู่ช่วงเวลาทองของการลงทุนของผม ผมได้หลุดจากข้อจำกัดทั้งหลายของพวกวอลล์สตรีท อย่างไรก็ตามผลตอบแทนยังคงผันผวนเช่นเคย แต่ในที่สุดผลตอบแทนก็เติบโตสูงขึ้นมาก จากไตรมาส 4 ปี 2004 ไปจนถึง สิ้นปี 2009 กองทุนให้ผลตอบแทนในอัตราทบต้น 36% ต่อปี หลังจากหักค่าใช้จ่าย ผลตอบแทนตั้งแต่เริ่มก่อตั้งกองทุนในเดือนมกราคมปี 1998 มีอัตราผลตอบแทนทบต้น 29% ต่อปีและใน 12 ปีเงินกองทุนได้เติบโตถึง 20 เท่า

บัฟเฟตต์ได้กล่าวว่า แม้ว่าในชีวิตนี้เขาพบคนมามากมายนับไม่ถ้วน ไม่มีใครที่เหมือนชาร์ลีเลย เพราะชาร์ลีเป็นคนที่มีเอกลักษณ์ไม่ซ้ำใคร โดยเฉพาะเอกลักษณ์ในเรื่องความคิดและบุคลิกภาพ เมื่อไรที่ชาร์ลีคิดในสิ่งใด เขามักจะคิดในทางตรงกันข้าม เช่น เมื่อเขาอยากรู้ว่าจะทำอย่างไรให้ชีวิตมีความสุข ชาร์ลีจะศึกษาว่าทำอย่างไรชีวิตถึงจะทุกข์ เมื่อเขาจะเรียนรู้วิธีจะทำให้ธุรกิจยิ่งใหญ่และเข้มแข็ง เขาจะเริ่มศึกษาวิธีทำอย่างไรให้ธุรกิจตกต่ำและจบลง หลายคนศึกษาวิธีที่จะประสบความสำเร็จจากตลาดหุ้น แต่ชาร์ลีจะศึกษาว่าทำไมคนส่วนใหญ่ถึงได้ล้มเหลวจากตลาดหุ้น วิธีการคิดอย่างนี้ได้รับมาจากปรัชญาของเขาที่กล่าวว่า ฉันอยากรู้ว่าฉันจะตายที่ไหน เพื่อที่ฉันจะได้ไม่ไปที่นั่น

from
http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/business/ceo-blogs/viboon/20100816/349052/%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A2%E0%B9%8C%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%9C%E0%B8%A1-:-%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%A5%E0%B8%B5-%E0%B8%A1%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B9%8C-(1).html


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น