Pages

Pages

15 สิงหาคม 2553

ปฏิรูป : จุดบอดที่น่าขจัด

หลีจื๊อ นักปราชญ์จีน สมัย 24 ศตวรรษก่อน มีความรอบรู้ยิ่งในคำสอนของปรมาจารย์เล่าจื๊อ และยอดนักการปกครองขงจื๊อ


ขนาดสามารถตีความคำสอนที่ดูเหมือนจะขัดแย้งกันของทั้งสองท่าน ให้มีความกลมกลืนกันได้ ท่านหลีจื๊อได้เล่านิทานอมตะสอนใจไว้เรื่องหนึ่ง ดังนี้


กาลครั้งหนึ่ง มีชายคนหนึ่งในแคว้นฉี เป็นคนหมกมุ่นอยู่แต่เรื่องเงินๆ ทองๆ แต่กลับยากจนมาตลอด อย่างเก่งก็เก็บสะสมได้ไม่เคยเกินหนึ่งเหรียญทอง ที่น่าเวทนายิ่ง ก็คือ มีสังขารวัยชราภาพ เวลาเดิน จะสะบัดไปซ้ายทีขวาที


ตื่นนอนเช้า ชายชราจะคิดแต่เรื่องเงินๆ ทองๆ เข้านอนค่ำ ก็ฝันแต่เรื่องเงินๆ ทองๆ ไม่ว่าจะ "ตีนถีบปากกัด" ขนาดใด ก็ไม่ร่ำรวยขึ้นมาสักที


วันหนึ่งๆ ชายชราจะเดินไปยังบ้านเศรษฐีทั้งหลาย เพื่อของานทำ ก็ได้แต่งานที่ต้องใช้แรงกาย โดยได้รับค่าจ้างตอบแทนแบบย่ำแย่มาก พอได้เงินมาบ้าง ก็นำไปเล่นพนันที่หน้าร้านขายเหล้า ปรากฏว่า ต้องสิ้นเนื้อประดาตัวกลับบ้านทุกครั้ง ในที่สุด เหรียญทองสุดท้ายในย่าม มีอันต้องหลุดจากมือตน เข้าสู่กระเป๋าของเซียนพนันผู้เป็นเจ้ามือ


วันหนึ่ง ชายชราตื่นแต่เช้าตรู่ จัดแจงแต่งตัวให้แลดูเรียบร้อย แล้วเดินไปยังตลาด ตรงรี่ไปที่ซุ้มขายทอง พลันฉกฉวยทองคำแท่งใหญ่ได้แท่งหนึ่ง แล้วรีบวิ่งกระย่องกระแย่งหนีไปตามทางเท้า ทว่า วิ่งไปได้ไม่นาน ก็ถลาเข้าชนเจ้าหน้าที่รักษาการณ์คนหนึ่งอย่างจัง เลยถูกลากเข้าห้องขังตามระเบียบ


"เจ้าคิดยังไงถึงได้ไปขโมยทองคำแท่งของคนอื่น ต่อหน้าผู้คนตั้งมากมายเช่นนั้น" ผู้พิพากษาถามชายชราด้วยความสงสัย


"ข้าแต่ศาลที่เคารพ เมื่อตอนที่คว้าทองแท่งนั้น ข้าฯ มองเห็นแต่ทองแท่ง มองไม่เห็นคนอื่นเลย ขอรับ" ชายชรากล่าวตอบอย่างตรงไปตรงมา


ท่านหลีจื๊อสรุปไว้ว่า เรามักมองไม่เห็น "ปัจจัยอันประเสริฐ" ในชีวิตเรา โดยมุ่งมั่นแต่ที่จะ "มี" หรือ "ครอบครอง" ปัจจัยที่เราปรารถนาให้มี "ค่า" ต่อตน แทนที่จะมุ่งมั่นอยู่กับ "ความเป็นจริง"


"ปัจจัยอันประเสริฐ" ได้แก่ "ศีลธรรม" "จริยธรรม" "การทำตนให้เป็นคุณเสริมสร้างต่อสังคม" "ความพอเพียง" ตลอดจน "ความเป็นตัวของตัวเอง" ซึ่งล้วนแล้วแต่มี "คุณค่า" สูงยิ่งต่อผู้อื่นและตัวเรา ส่วนการครอบครองปัจจัยมี "ค่า" โดยมิชอบด้วย "ศีลธรรม" "จริยธรรม" คือ การไม่ได้อยู่กับ "ความเป็นจริง" ในที่สุด ก็จะได้รับการตอบสนองด้วยความเป็นธรรมจาก "ความเป็นจริง"


นิทานดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า ความปรารถนาที่จะร่ำรวยโดยมิได้คำนึงถึง "ความเป็นจริง" ได้ก่อให้เกิด "จุดบอด" ซึ่งส่งผลให้ชายชรามองไม่เห็นผู้คนทั้งหลายและเจ้าหน้าที่รักษาการณ์ในตลาด เพราะกำลังหน้ามืดมองเห็นแต่ทองคำแท่งสีเหลืองอร่ามงามวาววับ ซึ่งตนปรารถนาสุดชีวิตจะมีไว้ครอบครอง ทว่า ในที่สุด "ความเป็นจริง" ก็ทำให้ทองแท่งกับชายชราต้องพลัดพรากจากกัน คือ ทองแท่งกลับไปหาเจ้าของโดยชอบ ส่วนชายชราก็ย้ายที่พักเข้าห้องคุมขังเรียบร้อยโรงเรียนจีนไป


ใครที่ฉ้อฉลฉ้อโกงเงินของแผ่นดินไป ไม่ว่าจำนวนเท่าใด หนึ่งล้านหรือหลายหมื่นล้านบาท ก็เปรียบได้กับชายชราดังกล่าว สักวันหนึ่ง จะวิ่งไปชนเจ้าหน้าที่รักษาการณ์ มิฉะนั้น ความตายตามกฎแห่งธรรมชาติ จะย่างกรายเข้ามากระชากเงินแผ่นดินที่ถูกโกงไป ให้หลุดออกจากมือตนอย่างแน่นอน


การใช้ชีวิตบน "ศีลธรรม" "จริยธรรม" "การทำตนให้เป็นคุณเสริมสร้างต่อสังคม" "ความพอเพียง" ตลอดจน "ความเป็นตัวของตัวเอง" คือ "ความร่ำรวยด้วยความสุข" ที่ไม่มีใครหรืออำนาจใด สามารถทำให้พลัดพรากจากผู้ใช้วิถีชีวิตดังกล่าวได้เลย


"ลัทธิสัตว์เศรษฐกิจ" ที่เน้น "การครอบครองทรัพย์สินเงินทอง" โดยไม่คำนึงถึง "ความเป็นจริง" จึงเป็นลัทธิของคนมี "จุดบอด" ไม่ต่างอะไรจากชายชราดังกล่าว


หากจะปฏิรูปประเทศไทย เราน่าจะขจัด "จุดบอด" ดังกล่าว ด้วยการเสริมสร้าง "ลัทธิสัตว์ประเสริฐ" ที่นิยมวิถีชีวิตดังกล่าว เพื่อว่าผู้ด้อยโอกาสทั้งหลายจะได้ไม่ต้องตกอยู่ในสภาพอดมื้อกินมื้อต่อไป ซึ่งเป็นสภาพที่ย่ำแย่กว่าสัตว์เลี้ยงในบ้านเสียอีก


หากต้องการปฏิรูปจริง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คือหน่วยงานแรกที่น่าจะได้รับการยุบก่อนอื่นใด แล้วสถาปนาสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการสังคมและเศรษฐกิจแห่งชาติ ขึ้นมาแทนที่


ตราบใดที่จิตวิญญาณ "เศรษฐกิจ" ยังนำหน้า จิตวิญญาณ "สังคม" เราก็จะยังมีคนแบบชายชราดังกล่าวอีกนับไม่ถ้วน


แล้วจะพัฒนาหาวิมานอะไรมิทราบ?


from
http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics/opinion/reader-opinion/20100812/347816/%E0%B8%9B%E0%B8%8F%E0%B8%B4%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B8%9B-:-%E0%B8%88%E0%B8%B8%E0%B8%94%E0%B8%9A%E0%B8%AD%E0%B8%94%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%82%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%94.html


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น