"อะไรวะ"
แท็กซี่หักพวงมาลัย ชิดซ้าย เบรกเอี๊ยด... เล่นเอา 7 สาวที่โดยสารมาหน้าทิ่ม
"ขามาไม่เห็นแท็กซี่คันนั้นคิดค่าบริการอะไรเพิ่มเลย ทำไมขากลับถึงชาร์จ โกงนักท่องเที่ยวรึเปล่าเนี่ย" เพื่อนสาวคนหนึ่งโพล่งขึ้นเป็นภาษาไทย
เหมือนเดาอารมณ์ได้ คนขับแท็กซี่รายนั้นเปิดไฟในรถ พร้อมกับชี้ให้ดูสติกเกอร์ที่แปะอยู่ด้านหน้า
...Excutive Taxi Fares...3 Passengers Extra RM 1.00...4 Passengers Extra RM 2.00 ...
"How many people in my car?" แท็กซี่หันมาถามเสียงดัง
เอ่อ...ก็ใครมันจะไปรู้ล่ะ เล่นบอกก่อนออกสตาร์ทว่า จะชาร์จตั้ง 5 ริงกิต (50 บาท) เลยนึกว่า โดนซะแล้ว ที่ไหนได้...
ทิ้งเวลาให้กับความเงียบเพียงไม่ถึง 5 วินาที พวกเรารีบกล่าวขอโทษขอโพยคนขับแท็กซี่คันนั้นกันพัลวัน พี่แกหันมายิ้มก่อนจะหมุนพวงมาลัยกลับเข้าเส้นทางเดิม ทิ้งตึกปิโตรนาสไว้เบื้องหลัง แล้วพาผู้โดยสารทั้ง 7 เดินทางกลับโรงแรมย่าน "บูกิต บินตัง" อย่างปลอดภัย
1.
แม้จะถูกออกแบบไว้คร่าวๆ แต่การเดินทางท่อง กรุงกัวลาลัมเปอร์ (KL) ประเทศมาเลเซีย ในครั้งนี้ก็ไม่ได้ราบรื่นอย่างที่คิด เริ่มกันตั้งแต่ด่านตรวจคนเข้าเมืองในสนามบินนานาชาติกัวลาลัมเปอร์ หรือ KLIA (Kuala Lumpur International Airport) เลยทีเดียว เพราะช่วงเวลาที่ไปตรงเผงพอดีกับเทศกาลช้อปกระจาย สบายกระเป๋า งานใหญ่ที่มาเลเซียจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ผู้คนจากทั่วโลกจึงหลั่งไหลพากันมาใช้สตางค์ที่นี่
ปัญหาคือ ต้องรอต่อคิวเพื่อผ่านกระบวนการตรวจคนเข้าเมืองนานร่วม 1 ชั่วโมง ! กว่าจะหลุดออกมาเพื่อพบกับข้อความ "Selamat Datang" (ยินดีต้อนรับ) ที่อยู่ด้านหน้าท่าอากาศยานได้ก็เล่นเอาปวดเมื่อยไปหมด
บ้านเรา (กรุงเทพฯ) กำลังจะมี Airport Link ใช้อย่างเป็นทางการในเร็ววันนี้ แต่ที่มาเลเซียเขามี KLIA Express รถด่วนที่วิ่งเชื่อมสนามบินกับสถานี KL Central ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ใช้มานานเป็นสิบปีแล้ว การเดินทางก็แสนสะดวกสบาย จากสนามบินไปเมืองหลวงระยะทาง 70 กิโลเมตร (โดยทางรถยนต์) ใช้เวลาราวๆ 1 ชั่วโมง แต่ถ้าใช้บริการรถด่วน KLIA Express จับเวลาไว้เลย 28 นาที
ให้หลับตานึกถึงภาพกัวลาลัมเปอร์ที่ฉันรู้จัก ตึกปิโตรนาส กระโดดเข้ามาแสดงตัวตนก่อนใครเพื่อน เหตุเพราะความเป็นที่สุดของตึกแห่งนี้นั่นเอง
ตึกแฝดปิโตรนาส (Petronas Twin Towers, KLCC) เป็นสำนักงานใหญ่ของบริษัทปิโตรนาสที่ประกอบธุรกิจด้านพลังงาน ออกแบบโดยสถาปนิกชาวอาร์เจนไตน์ - อเมริกัน ชื่อ Cesar Pelli ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากสถาปัตยกรรมแบบอิสลาม ปรับโฉมเป็นรูปสามเหลี่ยมแฉกสลับกับครึ่งวงกลมรวมกันได้ 8 คู่ ส่วนเหตุที่ต้องเป็นเลข 8 นั้นก็เพราะเป็นเลขมงคลของชาวจีน ประชากรส่วนหนึ่งของมาเลเซียนั่นเอง
ค่ำคืนที่พระจันทร์กำลังส่องสว่างทั่วท้องฟ้า ฉันแหงนหน้ามองตึกสูงระฟ้าแห่งนี้ด้วยชื่นชมจนเมื่อยคอ ด้วยความสูงที่มากถึง 88 ชั้น (451.9 เมตร) ทำให้ตึกแห่งนี้ได้รับการจดสถิติให้เป็นตึกที่สูงที่สุดในโลกอยู่ระยะหนึ่ง ทว่า ปัจจุบันตึกที่รั้งตำแหน่งนี้คือ "บูร์จ คาลิฟา" (Burj Khalifa) หรือ หอคอยดูไบ ที่สูงถึง 162 ชั้น (818 เมตร)
อย่างไรก็ตาม ตึกแฝดปิโตรนาสก็ยังเป็นความภาคภูมิใจของชาวมาเลเซีย และถือเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวที่หลายคนมาถึงแล้วต้องไม่พลาดถ่ายภาพคู่เป็นที่ระลึก โดยเฉพาะยามค่ำคืนที่แสงไฟประกายส่องออกมาจากตัวอาคาร จะสวยงามมากเป็นพิเศษ หรือถ้าจะชมวิวตอนกลางวันบนชั้น 41 บริเวณ Skybridge ที่เชื่อมตึกทั้ง 2 เข้าด้วยกันดูจะเหมาะสมที่สุด นักท่องเที่ยวขึ้นไปชมได้ฟรี แต่ต้องบอกก่อนว่า ควรไปเข้าแถวรอรับบัตรคิวตั้งแต่ก่อน 7 โมงเช้า ไม่อย่างนั้นหมดสิทธิ์เข้าชม เพราะที่นี่จำกัดให้ขึ้นชมเพียงวันละ 1,000 คนต่อวันเท่านั้น
นอกจากวิวสวยๆ แล้ว ภายในอาคารสูงลิบแห่งนี้ยังมีทั้งส่วนของสำนักงาน ห้องประชุม ซูเรียเคแอลซีซีชอปปิงมอลล์ พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ ศูนย์วิทยาศาสตร์ ศูนย์ศิลปะ หรือถ้าโอกาสดีจะมีการแสดง ฟีฮาร์โมนิก ออเคสตร้า หรือ MPO ของมาเลเซียให้ได้ชมกัน แต่ต้องสอบถามตารางการแสดงและจองบัตรล่วงหน้าก่อนเข้าชม
ส่วนคู่หูตึกปิโตรนาสคือ เคแอลทาวเวอร์ (KL Tower) หรือ เมนารา กัวลาลัมเปอร์ (Menara Kuala Lumpur) เป็นหอโทรคมนาคมที่มีความสูง 421 เมตร (สูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และสูงเป็นอันดับ 4 ของโลก) ถ้าขึ้นไปชั้น TH01 ก็จะเห็นกรุงกัวลาลัมเปอร์ในมุม 360 องศา มุมนี้สวยกว่ามุมที่ตึกปิโตรนาสเยอะ
ว่ากันว่า ปิโตรนาสและเคแอลทาวเวอร์เป็นสัญลักษณ์ของมาเลเซียยุคใหม่ที่ก้าวไปสู่ความเจริญ แต่ท่ามกลางความทันสมัยของสถาปัตยกรรมโลกปัจจุบัน กัวลาลัมเปอร์กลับผสมผสานอดีตของอารยธรรมที่น่าสนใจของประเทศไว้ได้อย่างกลมกลืน
2.
ฉันเดินตามเพื่อนๆ และไกด์ท้องถิ่นไปจนถึงจุดบรรจบของแม่น้ำ 2 สายที่อยู่ใจกลางเมือง นั่นคือ แม่น้ำคลาง (Klang) และแม่น้ำกอมบัก (Gombak) สันดอนปากแม่น้ำตรงนี้เองเป็นที่มาของชื่อ "กัวลาลัมเปอร์" ในภาษามาเลเซีย ที่แปลว่า "สันดอนที่เป็นโคลนตม"
ในอดีตพื้นที่นี้เป็นหมู่บ้านเหมืองแร่ดีบุกที่บุกเบิกโดยกัปตันเรือชาวจีน ต่อเมื่อเวลาผ่านไป กัวลาลัมเปอร์กลายเป็นศูนย์กลางทางการค้า และเป็นเมืองหลวงของประเทศเมื่อมาเลเซียได้รับเอกราชคืนจากอังกฤษ ในปี ค.ศ. 1957
ประวัติศาสตร์อันยาวนานถูกเล่าเรื่องผ่านอาคารโบราณและย่านสำคัญๆ ทางประวัติศาสตร์ จัตุรัสเมอร์เดก้า (Merdeka Square) บนถนนราจา คือสถานที่ปลดแอกของชาวมาเลย์ต่อประเทศเจ้าอาณานิคมอย่างอังกฤษ วันที่ 31 สิงหาคม ค.ศ.1957 ธงยูเนียนแจ็คของอังกฤษถูกชักลงจากยอดเสา และแทนที่ด้วยธงชาติมาเลเซีย แสดงถึงความเป็นเอกราชของมาเลเซียอย่างเป็นทางการ ซึ่งคำว่า Merdeka เป็นภาษามาเลย์ ที่หมายถึง "เอกราช" นั่นเอง
มองขึ้นไปที่เสาธงสูง 100 เมตร บนปลายยอดนั้น ธงชาติมาเลเซียโบกสะบัดไปตามแรงลมอย่างสวยงาม คล้ายความอิสระที่ไม่มีใครหรือสิ่งใดมาขวางกั้นได้อีก
พื้นที่โดยรอบจัตุรัสได้รับการตกแต่งอย่างสวยงาม มีสนามหญ้าขนาดใหญ่ (เหมือนสนามหลวง) เรียกว่า "ปาดัง" ฝั่งตรงข้ามเป็นสถาปัตยกรรมแบบมัวร์ (อินเดีย+อาหรับ) นั่นคือ อาคารสุลต่านอับดุล ซามัด (Sultan Abdul Samad Building) สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นศูนย์บริหารอาณานิคมในสมัยการปกครองของอังกฤษ ตัวอาคารสร้างด้วยอิฐมีขนาดใหญ่ที่สุดและสวยงามที่สุดในรัฐมาเลย์สมัยนั้น ส่วนระเบียงก็งดงามด้วยโค้งประตูรูปเกือกม้า ยอดโดมสีทองแดงเมื่อต้องแสงอาทิตย์จะวับแววสวยงาม
ระหว่างตึกมีหอนาฬิกาสูง 41.2 เมตร เป็นจุดเด่นที่ได้รับขนานนามว่าเป็น “บิ๊กเบนของมาเลเซีย” อยู่ในโดมสีทองขนาดใหญ่ ส่วน พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์มาเลเซีย (National History Museum) ที่อยู่ไม่ห่างกัน ก็เป็นอดีตที่ทำการของธนาคาร Chartered Bank of India, Australia and China ลักษณะเป็นตึก 3 ชั้น ที่มียอดโดมสี่มุม คลุมด้วยไม้เบอเลียนซึ่งเป็นไม้เนื้อแข็งของมาเลเซีย ปัจจุบันสถานที่แห่งนี้เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงเรื่องราวความเป็นมาของชนชาติมลายู ส่วนอาคารที่มียอดโดมสีขาวในแบบศิลปะมัวร์ ตัวอาคารเป็นอิฐสีแดงคาดลายขาวนั้น คือ พิพิธภัณฑ์สิ่งทอ (Textile Museum) ที่มีอายุกว่า 100 ปีแล้ว
ฉันรอสัญญาณไฟเพื่อเดินข้ามกลับไปบริเวณสันดอนปากแม่น้ำ แล้วข้ามสะพานอีกที ตรงนี้ไม่ง่ายเท่าไรนัก เพราะนอกจากจะไม่มีสัญญาณไฟแล้ว รถราบนถนนก็จอแจเสียจนคนรอข้ามถนนอ่อนใจ ถ้าไม่ติดว่าตรงนี้คือทางลัดไป เซ็นทรัลมาร์เก็ต (Central Market) ล่ะก็ คงตัดสินใจเดินตามท้องถนนสายยาวๆ ไปแล้ว
เซ็นทรัลมาร์เก็ต เป็นศูนย์รวมศิลปะและวัฒนธรรม ที่ชาวท้องถิ่นเรียกกันว่า ปาซาร์ เซนิ (Pasar Seni) หรือปาซาร์ บูตาย่า (Pasar Budaya) ในอดีตที่เป็นตลาดขายผักผลไม้ แต่วันนี้มีงานอาร์ตยุคใหม่จำหน่ายมากมาย ทั้งภาพวาด งานแกะสลัก ผ้าบาติก เครื่องจักสาน ฯลฯ ของฝากหลายชิ้นที่อยู่ในมือนักช้อปสาวชาวไทยหลายคนก็ได้มาจากตลาดกลางแห่งนี้
ถนนบูกิตบินตัง (Bukit Bintang) เป็นอีกย่านที่นักช้อปตัวยงพลาดไม่ได้ เพราะที่นี่เป็นศูนย์รวมห้างดังอย่าง พาวิลเลียน, ล็อตเทน, อิเซตัน, เคแอลพลาซ่า, พิคคาโลแกลเลอเรีย ฯลฯ เรียกว่า เดินกันจนเมื่อยน่องแล้วก็ยังไม่ทั่วทุกห้าง
เกือบจะเสียสละขาทั้ง 2 ข้าง ให้กับการชมช้อปบนถนนสายหลักแห่งนี้ไปแล้ว ถ้าไม่บังเอิญว่ามีใครคนหนึ่งเสนอย่าน ไชน่าทาวน์ หรือ ปัตตาลิง สตรีท (Petaling Street) ให้ไปเดินเล่นคลายเมื่อย คิดว่าจะมีอะไรจีนๆ ขายเลยตัดสินใจยกมือก่อนใครเพื่อน แต่พอไปถึงแล้วต้องผิดหวัง เพราะไม่ต่างจากตลาดเซี่ยงหยาง ในเซี่ยงไฮ้เลย ผลก็คือ ต้องไปนั่งนวดขาใน Old China Cafe ร้านอาหารเก่าแก่ที่บรรยากาศสลัวๆ จนทำให้ฉันนึกถึงหนังบางเรื่องของ หว่อง กา ไว ที่บรรยากาศและสีสันคล้ายกันไม่ผิดเพี้ยน
เสพสัมผัสความเป็นเมืองในมหานครใหญ่จนจุใจ วันสุดท้ายเราจึงใช้เวลาทั้งหมดไปกับ ถ้ำบาตู (Batu Caves) ที่อยู่ห่างจาก KL ออกไปราว 13 กิโลเมตร ที่นี่เป็นสถานที่ตั้งของวัดฮินดู ที่สร้างขึ้นเพื่อถวายแด่พระขันธกุมาร เทพองค์หนึ่งในศาสนาฮินดู แต่ละปีมีผู้คนมาสักการะนับล้านคน โดยเฉพาะช่วงงาน ไทพูซั่ม (Thaipusam) หรือเทศกาลบูชาเทพเจ้า ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีช่วงเดือนมกราคมกุมภาพันธ์ เวลานั้นคนนับล้านจากทั่วโลกจะมารวมกันที่นี่เพื่อร่วมกันสักการะเทพฮินดู
ขึ้นชื่อว่าสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ แน่นอนว่าต้องเข้าถึงยาก จากพื้นราบด้านล่างเราต้องฝ่าบันไดจำนวน 272 ขั้น พร้อมการก่อกวนของลิงเจ้าที่อีกฝูงใหญ่ขึ้นไป ระหว่างทางนกเจ้ากรรมดันขี้ใส่กล้องสุดหวง แต่ไม่เป็นไร นกขี้ใส่เขาว่าโชคดี แต่มันยังไม่จบเท่านี้ เพราะเมื่อปีนขึ้นไปจนถึงถ้ำ ค้างคาวเจ้ากรรม (อีกตัว) ยังขี้ใส่ (อีกรอบ) ตกลงว่าวันนี้จะโชคดีหรือโชคร้ายกันแน่เรา
เดินเข้าไปในโถงถ้ำกลิ่นขี้ค้างคาวอบอวลไปหมด ด้านในลึกๆ มีศาลาประกอบพิธีของพราหมณ์หลายคน เลือกได้ศาลาหนึ่งฉันก็เดินเข้าไปมอบมาลัย และนม เพื่อให้พราหมณ์ใช้ทำพิธี
ชนชั้นวรรณะสูงสุดตามหลักศาสนาฮินดูบรรจงแต้มแป้งสีขาวและสีแดงบนหน้าผากของฉัน ก่อนจะท่องมนต์บางอย่าง พร้อมกับมัดเชือกดำให้ที่ข้อมือ เป็นอันจบพิธี
กำลังจะถอยหลังกลับอยู่แล้วเชียว แต่...พราหมณ์ยื่นถาดบางๆ มาให้ พอฉันทำหน้างงก็มีคนที่อยู่ด้านในเดินมาบอก "เป็นธรรมเนียม เสร็จแล้วต้องให้สตางค์ด้วย"
ถึงบางอ้อ ทำบุญที่ไหนๆ ก็คงขาดปัจจัยไม่ได้จริงๆ ว่าแล้วฉันก็ควัก 10 ริงกิตสุดท้ายในกระเป๋าใส่ถาดให้ไป
........................
"มาเลเซีย" อาจไม่ใช่ปลายทางหลักของนักท่องเที่ยวชาวไทย "กัวลาลัมเปอร์" อาจอยู่ในลำดับกลางๆ ของตารางการชอปปิง แต่ "เพื่อนบ้าน" แห่งนี้ ก็ถือเป็นหนึ่งใน "มิตร" ที่ดีที่สุดของคนไทย
ใครไม่เชื่อต้องไปพิสูจน์เอง
.................
การเดินทาง-ที่พัก
นักท่องเที่ยวชาวไทยไปมาเลเซียได้โดยไม่ต้องขอวีซ่า แค่มีหนังสือเดินทางเหลืออายุการใช้งานไม่ต่ำกว่า 6 เดือนก็เข้าได้ไม่มีปัญหา สำหรับการเดินทางจากกรุงเทพฯ มีสายการบินให้บริการหลายสาย ทั้งมาเลเซีย แอร์ไลน์, แอร์ เอเชีย, การบินไทย เลือกใช้บริการได้ตามสะดวก แต่มาเลเซียแอร์ไลน์จะมีภาษีดีกว่าตรงที่ ผู้โดยสารสามารถเช็คอินและโหลดกระเป๋าเดินทางขึ้นเครื่องได้เลยตั้งแต่อยู่ในเมืองหลวงกัวลาลัมเปอร์ โดยใช้บริการ KLIA Express รถด่วนที่วิ่งเชื่อมสนามบินกับสถานี KL Central ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ใช้เวลาในการเดินทางจากในเมืองไปสนามบินแค่ 28 นาที โดยตารางเดินรถจะออกทุกๆ 15 นาที จะเข้าเมืองหรือกลับสนามบินจึงค่อนข้างสะดวก ค่าบริการ 25 ริงกิต
การเดินทางในเมืองสามารถใช้บริการ KL Monorail ที่วิ่งเชื่อมสถานีสำคัญๆ ต่างๆ ได้ เหมือนรถไฟฟ้า BTS บ้านเรา ส่วนแท็กซี่มีบริการตลอด 24 ชั่วโมง ราคาเริ่มต้น 2 ริงกิต และเพิ่ม 10 เซ็นต์ ทุกๆ ระยะทาง 150 เมตร หลังเที่ยงคืนราคาจะเพิ่มเป็น 2 เท่า ใช้บริการมากกว่า 2 คน จะเพิ่มขึ้นคนละ 1 ริงกิตตามจำนวนที่เพิ่ม
อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทกับริงกิต (สกุล RM) ไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงมากนัก คิดง่ายๆ 10 บาทเท่ากับ 1 ริงกิต ส่วนเวลาในมาเลเซียจะเร็วกว่าเมืองไทย 1 ชั่วโมง สำหรับที่พักมีหลายราคา โดยเฉพาะย่านบูกิตบินตังที่เป็นย่านชอปปิงกลางเมือง หาที่พักไม่ยาก และสามารถเดินเที่ยวได้สะดวก สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ การท่องเที่ยวมาเลเซีย ประจำประเทศไทย โทรศัพท์ 0-2636-3380-3 หรือ www.tourismmalaysia.gov.my
from http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/life-style/lifestyle/20100821/348972/%E0%B8%9B%E0%B9%89%E0%B8%B3%E0%B9%86-%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%8B%E0%B8%AD%E0%B9%86-%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%A7%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%8B%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%B5%E0%B9%89.html
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น