การที่ผู้คนในสังคม นิยมทำอะไรเพื่อคนอื่นนั้น เป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้สังคมน่าอยู่ขึ้น เรื่องทำนองนี้บางคนพูดเยอะแต่ทำน้อย
บางคนพูดน้อยแต่ทำเยอะ การสำรวจอย่างเป็นรูปธรรมน่าจะช่วยให้เราเห็นภาพนี้ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
เมื่อเร็วๆ นี้ สถาบันเพื่อสังคมที่ชื่อ Charities Aid Foundation (http://cafonline.org) ได้มีการเปิดเผยผลสำรวจที่จัดทำโดย Gallup Poll ของประเทศอังกฤษ เกี่ยวกับการทำอะไรเพื่อคนอื่นของคนในประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยสอบถามกลุ่มตัวอย่างประเทศละ 500-2,000 คนใน 153 ประเทศทั่วโลกในสามเรื่องใหญ่ๆ ได้แก่ การบริจาคเงินเพื่อการกุศล การสละเวลาเพื่อทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์ และการช่วยเหลือคนแปลกหน้าที่ตนไม่รู้จัก
ผลปรากฏว่า ประเทศที่ได้คะแนนมากเป็นอันดับหนึ่งมีสองประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ซึ่งได้คะแนนในระดับที่สูงมากทั้งสามด้านที่ทำการสำรวจ ตามมาด้วย ไอร์แลนด์ แคนาดา สวิตเซอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา เนเธอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร ศรีลังกา ออสเตรีย ลาว และเซียร์ราลีโอน ตามลำดับ
ผลการสำรวจในครั้งนี้ยังชี้ให้เห็นด้วยว่า ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ของคนแต่ละประเทศนั้นไม่เกี่ยวข้องกับภูมิภาคหรือระดับรายได้เท่าไรนัก เพราะประเทศที่ได้คะแนนสูงๆ นั้น มาจากภูมิภาคและระดับรายได้ที่หลากหลาย ใน 20 อันดับแรกนั้นมีประเทศร่ำรวยกับประเทศยากจนติดอันดับเท่าๆ กัน คือ ประมาณครึ่งต่อครึ่ง ตัวอย่างของประเทศยากจนที่ติด 20 อันดับแรกก็เช่น ลาว กีนี กูยาน่า และเติร์กมินิสถาน เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้ชายและผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะทำอะไรเพื่อคนอื่นในระดับที่ไม่ต่างกันมากนัก ซึ่งอาจขัดแย้งกับความรู้สึกทั่วไปที่คนมอง ในขณะที่ยิ่งกลุ่มตัวอย่างมีอายุมากขึ้นเท่าไร ก็ยิ่งมีแนวโน้มที่จะบริจาคเงินเพื่อผู้อื่นมากขึ้นเท่านั้น อันสอดคล้องกับรายได้ที่มักเพิ่มขึ้นตามวัยด้วย ในเวลาเดียวกัน คนอายุน้อยจะนิยมทำเพื่อคนอื่นด้วยการสละเวลาเพื่อทำกิจกรรมเพื่อสาธารณประโยชน์ และช่วยเหลือคนแปลกหน้ามากกว่า
สำหรับ ประเทศไทยนั้นได้คะแนนเป็นลำดับที่ 25 โดยพบว่าคนไทยนิยมการทำเพื่อคนอื่นด้วยวิธีบริจาคเงินมากที่สุด และมากเป็นอันดับสามของโลกเลยทีเดียว แต่ในด้านการสละเวลาเพื่อสังคมและการช่วยเหลือคนแปลกหน้านั้น เราได้คะแนนค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ทำให้อันดับโดยรวมของเราไม่สูงมากนัก ในขณะที่ประเทศลาวนั้นโดดเด่นหมดทั้งสามด้าน จึงมาเป็นอันดับหนึ่งในภูมิภาคอาเซียน
อันดับของประเทศอื่นๆ ที่น่าสนใจอีกก็มี ฮ่องกง (18) ฟิลิปปินส์ (50) มาเลเซีย (76) สิงคโปร์ (91) เวียดนาม (138) กัมพูชา (142) จีน (147) เป็นต้น
ผมว่าการสำรวจนี้เป็นการสำรวจที่น่าสนใจ เพราะสะท้อนให้เห็นอะไรหลายอย่างเกี่ยวกับการทำอะไรเพื่อคนอื่นโดยผู้คนในแต่ละสังคม และความเป็นจริงก็อาจจะไม่ตรงกับความรู้สึกของเราเสมอไป บางครั้งการที่เราอยากเห็นสังคมดีขึ้นนั้นแค่การพูดมากๆ อย่างเดียวไม่พอ ต้องมีการลงมือปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมด้วย
มาช่วยกันลงมือปฏิบัติให้มากๆ ด้วยกันนะครับ
from http://bit.ly/cww6SA
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น