08 ตุลาคม 2553

Q and A โดยคุณ Invisible hand เกี่ยวกับ current ratio

Q and A โดยคุณ Invisible hand เกี่ยวกับ current ratio

1. พี่ IH ครับ ผมอยากถามเรื่อง current ratio ครับ คือว่า ผมไปอ่าน sheet ที่เรียนเรื่อง financial ritio พบว่า หุ้น bigc มี current ratio ประมาณ 0.5 เอง แต่มาลองดู current ratio ของ IT ที่เป็นธุรกิจค้าปลีกเหมือนกัน พบว่าประมาณ 1.2 ก็เลยสงสัยครับว่าทำไม current ratio ของ bigc มันต่ำ ทั้งๆที่ เป็นธุรกิจค้าปลีกเหมือนกัน

- เราจะเห็นว่าความแตกต่างระหว่าง BigC กับ IT อยู่ที่ว่า BigC นั้นสร้างอาคารของตัวเอง แต่ IT เป็นการเช่าพื้นที่ให้ศูนย์คอมฯ หรือศูนย์การค้า ดังนั้นสินทรัพย์หลักๆ ของ IT จะไม่ใช่ fixed asset ( อาคาร ) แต่จะเป็นสินค้าคงเหลือ และเงินสดเป็นหลัก ในขณะที่สินทรัพย์ของ BigC จะมีทั้งสินทรัพย์ถาวร คือ ที่ดินและอาคาร และสินทรัพย์สภาพคล่องคือ inventory อย่างไรก็ตาม การที่ BigC จะต้องมีการขยายสาขาด้วยการลงทุนสร้างอาคารไปเรื่อยๆ ก็จะทำให้ไม่ค่อยมีเงินสดเหลือมากนัก และอาจจะมีเงินกู้ระยะสั้นประเภท bank O/D เข้ามาด้วย จึงทำให้ current ratio ของ BigC ต่ำกว่า IT ซึ่งก็เป็นเรื่องที่มีเหตุผลรองรับครับเป็นไปตามธรรมชาติของธุรกิจ ซึ่งเราจะเห็นเลยว่าหุ้นค้าปลีกที่เช่าพื้นที่นั้นมักจะมี current ratio ค่อนข้างสูงและมีเงินสดในมือค่อนข้างมาก เช่น IT SE-ED ในขณะที่พวกที่ต้องสร้างเอง เช่น BigC HMPRO จะมี current ratio ต่ำกว่าครับ พวก HMPRO BIGC กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน ( ก่อนกิจกรรมการลงทุน ) จะสูงกว่ากำไรค่อนข้างมากเพราะมีค่าเสื่อมราคาสูง ในขณะที่ SE-ED IT จะมีค่าเสื่อมราคาไม่ค่อยสูงนักครับ

2. โดยปกติ current ratio ยิ่งมาก ยิ่งดี ใช่ไหมครับ แต่กรณี bigc ทำไมมันต่ำครับ ทั้งๆที่ ตามความรู้สึกแล้ว bigc ไม่น่าจะมีปัญหาเรื่องสภาพคล่องอยู่แล้ว

- ไม่ใช่ว่ายิ่งมายิ่งดีครับ ถ้ามากเกินไปก็สะท้อนว่าบริษัทอาจจะมีสินทรัพย์สภาพคล่องบางอย่างเกินความจำเป็น เช่น เงินสด ลูกหนี้การค้า หรือสินทรัพย์คงเหลือ
ถ้ามีเงินสดเกินความจำเป็นก็สะท้อนว่าบริษัทน่าจะจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นได้มากกว่านี้ หรือถ้ามีลูกหนี้การค้าหรือสินค้าคงเหลือมากเกินไปก็สะท้อนการบริหารจัดการที่ไม่ดีได้ครับ ดังนั้น current ratio ที่เหมาะสมน่าจะอยู่ประมาณ 1 บวกลบ แต่ก็แล้วแต่ธรรมชาติของการใช้สินทรัพย์ด้วยครับตามที่ตอบในข้อ 1

3 ปกติแล้วธุรกิจทั่วไปที่รับเงินเป็นเงินเชื่อจะมี current ratio น้อยขนาด 0.5-1 ได้ไหมครับ

- การดู current ratio คงจะต้องดูองค์ประกอบต่างๆ ด้วยครับ เช่น ใน current asset มีรายการไหนมากรายการไหนน้อย และ current liability มีรายการไหนมาก และต้องดูประเภทธุรกิจด้วย ปกติธุรกิจที่รับรายได้เป็นเงินเชื่อก็จะมีลูกหนี้การค้าด้วย ซึ่งมักจะถูกยันอีกข้างด้วยเจ้าหนี้การค้า ซึ่งมักจะใกล้ๆ กัน แต่ถ้าจำนวนลูกหนี้การค้าน้อยแต่เจ้าหนี้การค้ามากแสดงว่าบริษัทต่อรองได้ดีหรืออาจจะเรียกได้ว่าเขี้ยว ดังนั้นตัวเลขมากน้อยคงไม่สำคัญเท่าองค์ประกอบภายในรายการครับซึ่งคงต้องขึ้นกับประเภทธุรกิจและต้องดู case by case ครับ ยกตัวอย่าง ถ้า current ratio 0.5 แล้วรายการหลักของหนี้สินหมุนเวียนคือ bank O/D ก็ถือว่ามีความเสี่ยงทางการเงินสูงครับ หรือถ้า current ratio สูงกว่า 1 แต่รายการหลักคือ สินค้าคงเหลือ อันนี้ก็น่าห่วงครับ

4 ) ผมอยากทราบว่าเวลาที่สถาบันการเงินมีปัญหา ทำไมคนถึงกลัวว่าจะไปกระทบกับบริษัทที่ไปกู้เงินกับสถาบันการเงินมากเหลือเกิน ทั้งๆที่บางบริษัทก็ไม่ได้ใช้เงินทุนหมุนเวียนในการขยายกิจการมากนัก หรือ ถ้าเศรษฐกิจมีปัญหาก็หยุดขยายไปก่อนก็ได้

- หลายๆ บริษัทจำเป็นต้องใช้เงินกู้สถาบันการเงินเป็นเงินทุนหมุนเวียน เช่น ใช้ซื้อวัตถุดิบ ดังนั้นเมื่อเศรษฐกิจไม่ดี ธนาคารอาจจะลดวงเงินกู้ที่ให้เป็นเงินทุนหมุนเวียนได้ครับ และเมื่อบริษัทหนึ่งไม่สามารถจ่ายค่าวัตถุดิบได้ บริษัทผู้ขายวัตถุดิบก็ไม่ได้ค่าสินค้า กระทบกันไปเป็นทอดๆ

อีกทั้งเวลาสถาบันการเงินล้ม เราก็ไม่ต้องไปใช้หนี้ที่เรายืมมาใช่ไหมครับ

- ต้องใช้อยู่ดีครับ ในครั้งวิกฤติปี 40 ที่ผ่านมา เมื่อสถาบันการเงินล้ม รัฐจะเข้ามาแทรกแซง สถาบันการเงินที่ล้มก็กลายเป็นของรัฐ อย่างกรณีของ ธ. นครหลวงไทย ไทยธนาคาร เป็นต้น หรือรัฐซื้อหนี้บางส่วนออกไปที่ ปรส. ดังนั้นเราก็จะกลายเป็นลูกหนี้ของสถาบันการเงินของรัฐแทน และรัฐก็ได้ขายหนี้บางส่วนของปรส. ให้คนที่เข้าประมูลหนี้ เช่น Lehman Brother บง. เกียรตินาคิน ฯลฯ ซึ่งคนที่ประมูลหนี้เราไปก็จะกลายเป็นเจ้าหนี้เราแทนครับ

บริษัทที่มีปัญหาน่าจะเป็นบริษัทที่มีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานติดลบอยู่แล้ว (ติดลบแบบทั้งๆที่ไม่ได้ลงทุนในเงินทุนหมุนเวียนเพิ่ม) ทำให้ต้องไปกู้เงินกับสถาบันการเงินเพื่อใช้ในการดำเนินงานมากกว่า

- ส่วนใหญ่บริษัทที่กู้เงินธนาคารก็จะเป็นบริษัทที่จะต้องใช้เงินหมุนเวียน หรือเป็นธุรกิจที่ต้องใช้สินทรัพย์ถาวร เช่น อาคาร เครื่องจักร เป็นสินทรัพย์หลักในการดำเนินงาน บริษัทที่กู้เงินธนาคารก็จะมีทั้งบริษัทที่มีสุขภาพทางการเงินที่ดี และไม่ดีปนกันครับ

5. จำได้ว่าเคยอ่านหนังสือเกี่ยวกับ finance อยากถามว่าพวกเจ้าหนี้มันจะมีการให้ส่วนลดด้วย ไม่ทราบว่ามันจะนำมาคิดเป็นต้นทุนของเราด้วยไหมครับ ถ้าคิดคิดยังไงครับพี่เพราะถ้าจำไม่ผิด rate ต่อปีของการไม่เอาส่วนลดนั้นสูงพอควร นั่นแปลว่าควรจะเอาส่วนลดทุกครั้งไปใช่ไหมครับ

- ไม่แน่ใจว่าหมายถึงเจ้าหนี้ทางการเงินหรือเจ้าหนี้ทางการค้านะครับ
ถ้าเป็นเจ้าหนี้ทางการค้า ส่วนลดที่ให้มักจะเกิดจากการที่ supplier ให้กับผู้ซื้อ ซึ่งจะลดให้มากน้อยสัมพันธ์ตามปริมาณที่ซื้อ และส่วนลดมักจะให้กันตอนปิดงวดประจำปี ดังนั้นบริษัทที่สั่งซื้อในปริมาณมากๆ ก็จะให้ส่วนลดมากกว่า ปกติส่วนลดที่ได้อย่างกรณีของบริษัทที่เป็นห้างค้าปลีกมักจะบันทึกส่วนลดที่ได้นี้ในส่วนของรายการ “ รายได้อื่น “ ครับ อย่างเช่นกรณีของ BigC

หรือบางทีส่วนลดที่เจ้าหนี้การค้าหรือผู้ขายให้กับผู้ซื้อก็คือ ส่วนลดเงินสด คือ ปกติการซื้อขายจะเป็นระบบเครดิต แต่หากผู้ซื้อจ่ายเงินสดทันทีก็จะมีส่วนลดเพิ่มให้ ดังนั้นส่วนลดที่ได้นั้น คำถามว่าควรจะเอาดีไหม ในแง่ที่เราเป็นผู้ซื้อคงจะต้องดูฐานะทางการเงินของเรา และส่วนลดที่ได้ด้วยครับ เช่น ถ้าเราไม่มีหนี้และมีเงินสดเหลืออยู่มาก ฝากธนาคารหรือซื้อพันธบัตรก็อาจจะได้ส่วนลด 2-3% ต่อปี หากผู้ขายให้ส่วนลดเราสูงกว่าผลตอบแทนของเงินสดที่เรามี ก็น่าสนใจพิจารณาเอาส่วนลดครับ

อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปบริษัทที่มีเงินสดมากๆ ก็ตามก็มักจะเลือกที่จะไม่รับส่วนลดทุกครั้งไปแม้ว่าส่วนลดที่ได้จะมากกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก เพราะหากรับส่วนลดทุกครั้งจะสร้างความเคยชินให้กับคนขายสินค้าให้เรากลายเป็นว่าอาจจะไปปรับราคาขายขึ้นมาเสียก่อนแล้วค่อยให้ส่วนลดเงินสดเราทีหลัง ดังนั้น บริษัทใหญ่ๆ ที่ต้องมีการจัดซื้อวัตถุดิบหรือสินค้าในปริมาณมากๆ จะต้องมีฝ่ายจัดซื้อที่ต่อรองเก่ง และโปร่งใสครับ ถ้าไม่โปร่งใสก็ไม่ต่างอะไรกับท่อประปาที่มีรอยแตกและทำให้น้ำรั่วดีๆ นั่นเองครับ

from
http://bbznet.pukpik.com/scripts3/view.php?user=greenbull&board=8&id=3256&c=1&order=numtopic


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความยอดนิยม (ล่าสุด)

บทความยอดนิยม (1 ปีย้อนหลัง)