Pages

Pages

13 พฤศจิกายน 2553

วิธีเอาชนะความขี้เกียจ


อากาศเย็นกำลังดีหลังวันหยุดต่อเนื่องแบบนี้ ทำให้การลุกจากเตียงนอนตอนเช้าๆ กลายเป็นกิจกรรมที่ชาวโลกส่วนใหญ่ลงมติว่าทำได้ยากที่สุดไปแล้ว ยังไม่รวมปณิธานปีใหม่ที่เราต่างสัญญากับตัวเองไว้ดิบดี...แค่เพียงเริ่มต้นยังแสนยาก

" ความขี้เกียจ " ร้ายกาจกว่าที่คุณคิด เพราะมันคอยซุ่มโจมตีให้คนล่าฝันอย่างเราๆ ไปไม่ถึงดวงดาวมานักต่อนัก จึงขอส่งเทียบเชิญคุณผู้อ่านมาร่วมกันหักด่านความขี้เกียจไปด้วยกัน

" ความขี้เกียจ " สัญชาตญาณหลงยุคของมนุษย์

" ความขี้เกียจไม่ใช่อะไรเลย นอกจากนิสัยที่ชอบหยุดพักก่อนที่จะรู้สึกเหนื่อย " จูลส์ เรอนาร์ด ( Jules Renard ) กวีชาวฝรั่งเศส

บางทีเหตุผลหนึ่งที่เราเอาชนะความขี้เกียจไม่ค่อยได้ เป็นเพราะเราไม่รู้จักมันดีพอนั่นเอง ทั้งๆ ที่เราได้ยินได้ฟังเรื่องความขี้เกียจมาตั้งแต่เด็กๆ เช่น จากนิทานอีสปเรื่องมดขยันกับตั๊กแตน ขี้เกียจ หรือจากคัมภีร์ไบเบิลที่ระบุว่า ความขี้เกียจ ( Sloth ) คือหนึ่งในบาปเจ็ดประการของมนุษย์

เป็นที่รู้กันดีว่า ความขี้เกียจก่อให้เกิดผลร้ายมหาศาล แต่เรามักจะอภัยให้ " ความขี้เกียจ " อย่างง่ายดายและรวดเร็วเกินไป สงสัยไหมว่าทำไมจึงเป็นเช่นนี้

ดร. นานโด เปลูซี ( Nando Pelusi ) นักจิตวิทยาผู้เขียนบทความเรื่อง "The Lure of Laziness" ตีพิมพ์ลงในนิตยสาร Psychology Today ฉบับกรกฎาคม - สิงหาคม 2007 อธิบายว่า บรรพบุรุษของมนุษย์มีสัญชาตญาณที่จะสงวนพลังงานในร่างกายไว้ให้มากที่สุด เพราะในยุคโบราณ อาหารเป็นสิ่งที่หาได้ยาก อีกทั้งยังมีอันตรายมากมายรออยู่ภายนอก เช่น สัตว์ร้าย ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ฯลฯ สัญชาตญาณนี้จึงตกทอดอยู่ในจิตใต้สำนึกของมนุษย์ที่จะไม่ยอมทำอะไรที่ต้องใช้ความทุ่มเทหรือพลังงานสูงๆ ตราบใดที่ไม่รู้ว่าผลลัพธ์ที่ได้คุ้มค่าหรือไม่ พูดอีกอย่างก็คือ เมื่อปัจจัยที่แวดล้อมอยู่รอบตัวไม่ได้สร้างความมั่นใจเพียงพอ เราก็จะเกิดความรู้สึกอยากประวิงเวลาที่จะต้องลงมือทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้นานออกไป

เมื่อเทียบกับมนุษย์ยุคดึกดำบรรพ์ พวกเขาต้องใช้ชีวิตแบบไม่มีเวลาหยุดคิด เช่น หิวต้องล่าสัตว์ กลัวต้องวิ่งหนี พายุมาต้องหลบทันที ฯลฯ ผิดกับมนุษย์ยุคนี้ที่ต้องเผชิญกับปัจจัยทางสังคมและจิตใจที่ซับซ้อนกว่า และต้องใช้เวลานานกว่าที่จะเห็นผลลัพธ์ของการกระทำ และนี่จึงเป็นคำอธิบายว่า ทำไมบางคนต้องรอให้ถึงเส้นตายก่อนเท่านั้น เขาจึงจะทำงานเสร็จหรือทำได้ดี


ปัจจัยแวดล้อมที่ทำให้เกิดความขี้เกียจ

ตอนนี้เรารู้แล้วว่าความรู้สึกเฉื่อยชากับเรื่องที่ควรทำ หรือที่เรียกว่า " ความขี้เกียจ " นั้น เป็นมรดกตกทอดมาจากบรรพบุรุษ ส่วนปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ที่ทำให้เกิดความขี้เกียจนั้น ได้แก่

1. ความอ่อนเพลีย สมองของคนเราต้องการการพักผ่อนอย่างสม่ำเสมอ โจ โรบินสัน

( Joe Robinson ) ผู้เขียนหนังสือเรื่อง Work to Live: the Guide to Getting a Life บอกไว้ว่า คนเราจำเป็นต้องตัดขาดจากตัวการสร้างความเครียดเสียบ้าง เพื่อให้จิตใจและร่างกายได้พักผ่อน การทำงานสัปดาห์ละ 48 ชั่วโมงหมายถึงการเพิ่มความเครียดให้สมองมากขึ้นเป็นสองเท่า และเป็นสาเหตุสำคัญของโรคหัวใจ นอกจากนี้การลาพักร้อนหรืองีบหลับตอนกลางวันของชาวยุโรปที่ชาวอเมริกันมองว่าเป็นความขี้เกียจนั้น จริงๆ แล้วเป็นเคล็ดลับในการใช้ชีวิตของพวกเขาต่างหาก เพราะจากผลสำรวจพบว่า ชาวยุโรปอย่างน้อยสี่ประเทศใช้เวลาทำงานน้อยกว่าคนอเมริกัน แต่กลับได้งานมากกว่า

โรบินสันยังบอกอีกว่า คนอเมริกันมักมีความเชื่อว่า ต้องมีคนนั่งทำงานตลอดเวลา มิฉะนั้นผลประกอบการจะลดลง ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิดโดยสิ้นเชิง

2. ความต้องการความสุขสบาย มนุษย์มีสัญชาตญาณรักความสบายอยู่ในตัว อย่างไรก็ดี

หากเรามองหาแต่ความสบายในทุกๆ สถานการณ์ เราก็จะรู้สึกว่าการทำอะไรสักอย่างที่เป็นเรื่องที่สมควรจะทำ (แต่อาจทำให้เกิดความไม่สะดวกเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตของเรา) เช่น การตื่นเช้าขึ้น การจำกัดอาหาร หรือการรับงานที่ยากขึ้น ฯลฯ กลายเป็นเรื่องเหลือวิสัย จนทำให้เราหลีกเลี่ยงไม่ทำสิ่งเหล่านั้น หรือผัดวันประกันพรุ่ง เพียงเพื่อยืดระยะเวลาแห่งความสุขให้ยาวนานออกไป

3. ความกลัวความล้มเหลว ดร. นานโด เปลูซี อธิบายว่า ก่อนที่ใครสักคนจะประสบความสำเร็จได้นั้น เขาต้องทุ่มเทมากกว่าปกติ และมักมองทางเลือกไว้เพียงสองทาง คือ " ทุ่มสุดตัว " หรือ " ไม่ต้องทำอะไรเลย " ซึ่งการตัดสินใจทุ่มสุดตัวโดยไม่มีสิ่งใดรับประกันผลของการทุ่มเท มักทำให้เกิดความกังวลและความเครียดสะสม ส่วนใหญ่แล้ว ความกลัวว่าสิ่งที่ได้รับอาจไม่คุ้มค่าหรือกลัวว่าจะล้มเหลวเป็นฝ่ายชนะ คนเราจึงมักจะเลือกทางที่ไม่ต้องทำอะไรเลย เพราะรู้สึกว่าทำไปก็ไม่ทำให้อะไรดีขึ้น

4. พันธุกรรมและสารเคมีในสมอง ปี 2008 ดร. เจ. ธิโมธี ไลท์ฟุต ( J. Timothy Lightfoot ) นักวิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหวแห่งมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนา ได้ทำงานวิจัยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างยีนกับความกระฉับกระเฉง เพื่อที่จะพัฒนานักกีฬาให้ทำการฝึกซ้อมดีขึ้น ผลการทดลองสรุปว่า การที่คนคนหนึ่งรู้สึกกระฉับกระเฉงหรือเฉื่อยชาขึ้นอยู่กับปัจจัยทางพันธุกรรมด้วย นั่นแสดงว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด และเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถเลือกได้

5. การขาดแรงจูงใจ คนเรามีเหตุผลมากเกินกว่าจะนับไหว ที่ทำให้รู้สึกหมดไฟไปเสียเฉยๆ ไม่ว่าจะเป็นเบื่องาน เบื่อนาย เบื่อลูกน้อง เบื่อเพื่อนร่วมงานโต๊ะข้างๆ ไม่ชอบบรรยากาศในออฟฟิศ รถติด บ้านไกล หรือทำงานไปแล้วไม่เห็นอนาคต ฯลฯ ซึ่งเหตุผลเพียงข้อเดียวจากที่กล่าวมาก็บั่นทอนกำลังใจอย่างยิ่ง และเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความขี้เกียจได้อย่างง่ายดาย


นิวรณ์ 5 ต้นตอของความขี้เกียจ

ในเชิงพุทธศาสนา ต้นเหตุของความขี้เกียจคือนิวรณ์ 5 ซึ่งหมายถึง สิ่งที่ขวางกั้นจิตไม่ให้มีสมาธิ ทำให้ไม่สามารถทำสิ่งใดให้ประสบความสำเร็จได้ อันได้แก่

1. กามฉันทะ คือ ความยินดี พอใจ เพลิดเพลินในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส

2. พยาบาท คือ ความโกรธ ความพยาบาท ความไม่พอใจ ความขัดเคืองใจ

3. ถีนมิทธะ แยกได้เป็น ถีนะ คือ ความหดหู่ ท้อถอย และ มิทธะ คือ ความง่วงเหงาหาวนอน

4. อุทธัจกุกกุจจะ แยกได้เป็น อุทธัจจะ คือ ความฟุ้งซ่าน และ กุกกุจจะ คือ ความรำคาญใจ

5. วิจิกิจฉา คือ ความลังเล สงสัย ไม่แน่ใจ


เคล็ดลับในการฝ่าด่านความขี้เกียจ

แม้เราจะมีความขี้เกียจฝังอยู่ในสายเลือด แต่โชคดีที่การเอาชนะความขี้เกียจขึ้นอยู่กับตัวเราเองเป็นสำคัญ ขอแนะนำเคล็ดลับในการเอาชนะความขี้เกียจดังต่อไปนี้

TIP 1 เตรียมกายให้พร้อม

ถ้าคุณรู้สึกว่านอนเท่าไรก็ไม่อิ่ม เหงื่อออกตอนกลางคืน อาหารไม่ย่อย หรือความคิดไม่แล่น ฯลฯ รู้ไว้เถิดว่า เหล่านี้คือสัญญาณที่บ่งบอกถึงความอ่อนเพลียของคุณ จิลล์ โทมัส ( Jill Thomas )

นักธรรมชาติบำบัด ผู้เขียนหนังสือเรื่อง Revive: How to Overcome Fatigue Naturally แนะนำวิธีง่ายๆ เพื่อสลัดความอ่อนเพลียและฟิตร่างกายให้พร้อมรับมือกับการทำกิจกรรมต่างๆ ไว้ดังนี้

1. ออกกำลังกายตอนเช้า การเดินเร็วๆ เพียง 20-40 นาทีในตอนเช้าจะช่วยป้องกันความอ่อนเพลียได้อย่างมหัศจรรย์

2. เติมพลังด้วยอาหารเช้า ควรรับประทานอาหารเช้าที่มีเส้นใยสูง โปรตีนต่ำ และไม่หวาน เพื่อทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดคงที่ มิฉะนั้นร่างกายจะอ่อนเพลียและรู้สึกหิวเร็วขึ้น

3.กินผักมากกว่าเนื้อ รับประทานผักผลไม้และธัญพืชให้ได้วันละ 3-5 ขีด เพื่อรักษาค่าความเป็นกรดในเลือดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ซึ่งจะช่วยให้ระบบต่างๆ ในร่างกายทำงานอย่างสมดุล ไม่เพลียง่ายๆ

4.ดื่มน้ำสะอาด การดื่มน้ำให้เพียงพอช่วยให้ระบบขับถ่ายของเสียทำงานดีขึ้น คนเราควรดื่มน้ำเปล่าวันละ 1.5-2 ลิตร และควรดื่มน้ำเปล่าสองแก้วตามหลังชาหรือกาแฟหนึ่งถ้วยเสมอ

5.กินไขมันดี กรดไขมันที่จำเป็น ( EFAs ) เช่น โอเมก้า-3 และโอเมก้า-6 ฯลฯ มีความสำคัญมากต่อเซลล์ประสาทที่ทำหน้าที่รับส่งข้อมูลในสมอง และการสร้างฮอร์โมนที่จำเป็น


TIP 2 บันได 8 ขั้นสู่การเอาชนะใจตนเอง

1. ทำด้วยใจรัก จงเป็นตัวของตัวเองและทำสิ่งที่คุณชอบ จำไว้ว่า การทำสิ่งที่ชอบจะนำมาซึ่งพลังงาน ความคิดสร้างสรรค์ที่ไม่มีวันสิ้นสุด

2.ลงมือทำตามกฎ 15 นาที " การลงมือ " คือยาพิชิตความขี้เกียจที่ดีที่สุด ไม่ว่าจะเบื่อหน่ายแค่ไหน ขอให้คุณลงมือทำสัก 15 นาที จำไว้ว่า ผลงานในช่วง 15 นาทีแรกอาจจะใช้ไม่ได้เลย แต่นี่จะเป็นรากฐานของความสำเร็จ

3.เปิดรับความท้าทาย ลบความคิดที่ว่า " ฉันทำไม่ได้ " ทิ้งไป เพราะความผิดพลาดเป็นครูที่ดีที่สุดของมนุษย์

4.มองภาพเล็กไว้ก่อน การมองภาพใหญ่หรือการคาดหวังเป้าหมายในระยะยาวอาจทำให้เกิดความย่อท้อได้ง่ายๆ ควรที่จะวางแผนเป็นลำดับขั้นหรือแบ่งงานเป็นชิ้นเล็กๆ เพื่อสร้างกำลังใจให้แก่ตนเองจะดีกว่า

5.ติดตามความคืบหน้า การเขียนความก้าวหน้าของคุณลงในสมุดทุกวัน ช่วยให้คุณจดจ่อกับเป้าหมาย และมองเห็นวิธีการที่จะนำไปสู่ความสำเร็จได้ชัดขึ้น

6.ให้คำมั่นสัญญา บอกให้เพื่อนฝูงหรือคนใกล้ตัวรับรู้เกี่ยวกับเป้าหมายของคุณ เพราะการให้คำมั่นสัญญาจะเป็นการผูกมัดตัวเอง อีกทั้งยังทำให้คุณรู้สึกฮึกเหิมและมีกำลังใจมากขึ้นด้วย

7.เป็นผู้ " รอ " ที่ดี เลิกหวังผลแบบทันทีทันใด แล้วหันมาอดทนเพื่อผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่กว่าในอนาคต

8.ให้รางวัลตัวเอง ยอมให้ตัวเองได้หยุดพักเมื่อทำงานเล็กๆ สำเร็จ เพื่อสะสมกำลังไว้ต่อสู้ในระยะยาว


TIP 3 เพิ่มประสิทธิภาพให้การทำงานด้วยหลักอิทธิบาท 4

อิทธิบาท 4 คือธรรมที่นำไปสู่ความสำเร็จ เราสามารถนำหลักธรรมแต่ละข้อมาปรับใช้ให้เข้ากับนิสัยของตัวเอง เพื่อช่วยรวบรวมสมาธิและขจัดความขี้เกียจได้

1.ฉันทะ หมายถึง ความรักในงาน รักในจุดมุ่งหมายของงาน มีความพอใจในสิ่งที่มีที่ทำ

2.วิริยะ หมายถึง ความขยันหมั่นเพียร ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค ไม่ล้มเลิกก่อนทำสำเร็จ

3.จิตตะ หมายถึง ความมีใจจดจ่อ เอาใจใส่กับการทำงานเสมอ

4.วิมังสา หมายถึง ความสอดส่องในเหตุและผลและเกี่ยวข้องกับงานนั้นๆ

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) สอนไว้ว่า การทำกิจอันใดให้สำเร็จไม่จำเป็นที่จะต้องเริ่มจากฉันทะหรือความพึงพอใจในงานนั้นก่อนเสมอไป ตัวอย่างเช่น การสร้างสมาธิ เพราะไม่ว่าสมาธิจะเกิดจากหลักธรรมข้อไหน แต่เมื่อสมาธิเกิดขึ้นแล้ว หลักธรรมข้ออื่นๆ จะเกิดขึ้นหนุนเนื่องตามกันมา ฉันใดก็ดี ในกรณีที่คนสองคนทำงานอย่างเดียวกัน คนคนหนึ่งทำงานเก่งกว่า ได้รับความสุขจากการทำงานมากกว่า ในขณะที่อีกคนหนึ่งไม่เก่งเท่า แต่มีความขยันหมั่นขวนขวายอยู่เสมอ วันหนึ่งเขาก็จะเก่ง จะรู้สึกมั่นใจและเกิดความรักความผูกพันกับงานไม่แพ้เพื่อนคนแรก

คนที่รักงานที่ทำจะสนใจเรื่องปลีกย่อยต่างๆ เช่น เงิน หรือของรางวัล ฯลฯ น้อยลง ตรงกันข้าม ถ้าคนไม่รักในงาน แต่หวังผลสำเร็จของงาน ก็จะหาหนทางหลบเลี่ยงเพื่อให้ตัวเองออกแรงน้อยลง หรือทุจริตเพื่อหวังเงิน วัตถุ ตำแหน่ง ฯลฯ ซึ่งตัณหาเหล่านี้คืออีกตัวการที่ทำให้คนเรา ขี้เกียจนั่นเอง


ชีวิตที่สมดุล

การบังคับใจตนเองให้ทำหน้าที่ให้สมบูรณ์และทำความดีอยู่เสมอต้องอาศัยการฝึกฝนอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ดังนั้น จงอย่าปล่อยให้ความสุขสบายเพียงชั่วครั้งชั่วคราวมาลวงให้คุณไปไม่ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้โดยเด็ดขาด อย่างไรก็ดี อย่าเพิ่งปักใจว่าการก้มหน้าก้มตาเรียนหนังสือ การทำงานตั้งแต่เช้ามืดจนค่ำ หรือหมกมุ่นกับกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งแต่เพียงอย่างเดียว เป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะนั่นแปลว่าคุณกำลังละเลยบางสิ่งบางอย่างที่สำคัญ นอกจากคุณจะถามตัวเองว่า คุณกำลัง " ขี้เกียจ " ทำงานอยู่หรือเปล่า คุณลองหันมาถามตัวเองดูว่า คุณกำลังขี้เกียจจัดสรรเวลาเพื่อพักผ่อน " ขี้เกียจ " แก้ไขจุดบกพร่องเพื่อลดขั้นตอนการทำงานหรือว่าคุณกำลัง " ขี้เกียจ " หยุดพักเพื่อใช้เวลาในการคิดทบทวนสิ่งที่ทำอยู่บ้างหรือเปล่า ฯลฯ

เพราะจริงๆ แล้วชีวิตที่เป็นสุขก็ไม่ได้ต้องการอะไรไปมากกว่า " ความสมดุล "

from http://variety.teenee.com/saladharm/30974.html


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น