28 พฤศจิกายน 2553

ทำไมต้องทำ "ประกันบำนาญ"

ทำไมถึงต้องเลือกทำประกัน และทำไมต้องเป็นประกันแบบบำนาญ รวมถึงใครล่ะ ที่จะได้รับผลประโยชน์จากประกันบำนาญ หาคำตอบได้ใน รายงานของ Fundamentals ฉบับนี้

ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรี ได้อนุมัติให้บริษัทประกันชีวิต สามารถนำเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญมาเป็นส่วนลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ถึง 200,000 บาท จากเดิมที่กำหนดเอาไว้ 100,000 บาท นั้น ส่งผลให้ผู้ที่ซื้อประกันชีวิตแบบบำนาญ สามารถนำเบี้ยประกันมาเป็นส่วนลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 300,000 บาท แต่เมื่อรวมกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ กบข. หรือกองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมาย และ RMF แล้ว ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
 
เรื่องนี้แม้เป็นเรื่องใหม่ ที่บุคคลทั่วไปกำลังสนใจ โดยเฉพาะบริษัทประกันชีวิต ส่วนใหญ่ต่างก็รีบออกผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตแบบบำนาญ เพื่อเสนอขายให้ทันภายในปี 2553 เพื่อให้ประชาชนที่ซื้อสามารถนำไปใช้สิทธิในการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่จะต้องยื่นแบบการเสียภาษี ในปี 2554 เพื่อให้ทุกคนเล็งเห็นถึงความสำคัญของการทำประกันแบบบำนาญ ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องรู้ก่อนว่าทิศทางประชากรของไทย กำลังไปทางไหน



ทำไมการเพิ่มขึ้นของคนสูงอายุจึงน่าสนใจ

การมีจำนวนและสัดส่วนประชากรสูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หมายถึงว่าประเทศมีระยะเวลาที่ค่อนข้างสั้นในการเตรียมรองรับการดูแลผู้สูงอายุที่จะเพิ่มขึ้นให้มี คุณภาพชีวิตที่ดี นอกจากนี้การเพิ่มขึ้นของประชากรสูงอายุ ยังมีผลกระทบต่อภาวะทางเศรษฐกิจ สังคม และการบริหารประเทศ เพราะเมื่อโครงสร้างประชากร เริ่มขยับไปสู่การมีประชากรสูงอายุมากขึ้นเรื่อยๆ สัดส่วนของประชากรวัยทำงาน ที่จะทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุ ก็จะลดน้อยลง
 
ในปี 2533 มีประชากรวัยแรงงาน 10 คน ทำหน้าที่ในการดูแลผู้สูงอายุ 1 คน คาดว่าในปี 2563 ภาระของประชากรวัยแรงงาน ในการดูแลผู้สูงอายุจะเพิ่มสูงขึ้น เพราะประชากรวัยแรงงาน ประมาณ 4 คน จะต้องรับภาระในการดูแลผู้สูงอายุอย่างน้อย 1 คน

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เป็นนัยสำคัญที่จะส่งผลต่อการลดลงของรายได้เฉลี่ยประชากร การออม การลงทุน รวมถึงรายจ่ายภาครัฐที่เพิ่มขึ้น ด้านการประกันสังคม สุขภาพอนามัย และสวัสดิการผู้สูงอายุ นอกจากนี้ในด้านสังคม การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรในลักษณะนี้ ยังมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของครอบครัว ซึ่งมีนัยว่า จะมีสมาชิกของครอบครัว ที่จะทำหน้าที่ในการให้การดูแลผู้สูงอายุน้อยลง



สิ่งที่ทุกคนต้องเผชิญยามเกษียณ

เมื่อเข็มนาฬิกาชีวิตเดินทางมาหยุดที่ตัวเลข 60 เป็นสัญญาณเตือนให้ได้รู้ว่าความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ได้เดินทางมาถึงแล้ว อาจมีหลายท่านที่ยิ้มรับกับช่วงเวลาดังกล่าว เพราะคิดว่าเป็นช่วงเวลาที่จะได้มีความสุข เนื่องจากจะได้มีเวลาพักผ่อนมากขึ้น หลังจากได้ทำงานหนักมาค่อนชีวิต รวมทั้งยังจะมีเวลามากพอที่จะท่องเที่ยวไปยังสถานที่ต่างๆ ที่อยากจะไป หรือ ทำในสิ่งที่อยากจะทำ มีเวลาอยู่กับลูกหลานมากขึ้น แต่หลายท่านอาจจะลืมคิดไปว่าการเกษียณอายุนั้น นอกจากจะมาพร้อมกับการมีเวลาว่างมากขึ้น และไม่ต้องทำงานแล้ว นั้น ยังมีบางสิ่งที่ตามมาพร้อมกับการเกษียณอายุ คือ
 
1. การสูญเสียรายได้หลัก เมื่อเกษียณอายุแล้ว ก็หมายความว่าไม่มีงานทำ และเมื่อไม่มีงานทำก็ไม่มีรายได้หลักเหมือนเช่นแต่ก่อน ซึ่งจะสวนทางกับค่าใช้จ่ายที่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นค่าอาหาร ค่าเสื้อผ้า และเครื่องแต่งกาย ค่าเดินทาง เป็นต้น ถึงแม้ว่าค่าใช้จ่ายเหล่านี้จะมีสัดส่วนลดลงเมื่อเกษียณอายุแล้ว แต่ก็ยังเป็นค่าใช้จ่ายประจำและต่อเนื่องไปจนสิ้นอายุขัย

นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายที่จะต้องจ่ายเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเกษียณอายุแล้ว ได้แก่ ค่ารักษาพยาบาลและดูแลสุขภาพ ค่าใช้จ่ายเดินทางท่องเที่ยว ค่าใช้จ่ายในการบริจาค และอื่นๆ ซึ่งค่าใช้จ่ายเหล่านี้จะเป็นค่าใช้จ่ายที่ทุกคนยังต้องเผชิญเมื่อเกษียณอายุ
 
2. โรคภัยไข้เจ็บที่มาพร้อมกับการชราภาพ เมื่อเริ่มเข้าสู่วัยสูงอายุ สิ่งที่ตามมาก็คือโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ซึ่งจากการสำรวจพบว่าโรคที่จะมาพร้อมกับการเกษียณอายุสูงสุด 5 อันดับแรก คือ โรคหัวใจและหลอดเลือด , โรคต่อมไร้ท่อ , โรคระบบกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูกและข้อ , โรคระบบทางเดินอาหาร และโรคระบบทางเดินหายใจ ตามลำดับ หากพิจารณาถึงวิธีการดูแลและรักษาโรคดังกล่าวแล้ว ก็พอจะคาดเดาได้ว่าจะต้องใช้เงินเพื่อเป็นค่ารักษาพยาบาลค่อนข้างสูง และเมื่อเข้าสู่วัยเกษียณอายุ โอกาสที่จะต้องเผชิญกับโรคดังกล่าวก็จะมีเพิ่มตามไปด้วย
 
3. อัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ย เงินเฟ้อถือว่าเป็นศัตรูที่ร้ายกาจที่สุดสำหรับวัยเกษียณเพราะทำให้ทรัพย์สินของผู้สูงอายุมีมูลค่าลดลงและมาตรฐานการครองชีพลดต่ำลง แม้ว่าจะไม่มีใครคิดว่าประเทศไทยจะมีชะตากรรมเช่นเดียวกับประเทศอาร์เจนตินา เมื่อช่วงยุคปี 1980 ซึ่งอัตราเงินเฟ้อสูงมากจนทำลายสังคมทั้งระบบ ความเป็นไปได้ที่รายได้จากเงินบำนาญ 120,000 บาทต่อปี ในอีก 10 ปีข้างหน้าจะมีค่าเพียงแค่ 82,000 บาทก็ได้ บนพื้นฐานที่สมมติฐานว่าอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 3.5% หากอัตราเงินเฟ้อเพิ่มเป็น 4.5% รายได้ที่ได้รับจากบำนาญก็จะมีค่าแค่ 74,000 บาท เท่านั้น และหากอัตราเงินเฟ้อเพิ่มเป็น 5.5% รายได้ที่ได้รับจากบำนาญก็จะมีค่าแค่ 66,000 บาท เท่านั้น ถือว่ามีมูลค่าแค่ครึ่งหนึ่งของจำนวนเดิม
 
ซ้ำร้ายไปกว่านั้น เมื่อภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อก็ยิ่งทำให้ผู้ที่อยู่ในวัยเกษียณยากลำบากมากขึ้นอีกเท่าตัว หากมีชีวิตอยู่ด้วยการพึ่งพาเงินออม จึงเป็นคำถามว่าผู้สูงอายุ หรือ เราๆ ท่านๆ จะมีการรับมืออย่างไรในภาวะอัตราเงินเฟ้อสูงและอัตราดอกเบี้ยเงินฝากต่ำติดดิน สิ่งที่เราๆ ท่านๆ ทำได้ คือ การคำนวณดูว่า ท่านต้องการเงินเป็นจำนวนเท่าใดสำหรับวัยเกษียณ โดยรักษามาตรฐานการครองชีพที่ดีของท่านเช่นในปัจจุบัน
 
ปัจจุบันมีการพัฒนาการทางด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ และสาธารณสุขที่ก้าวล้ำอย่างมาก ทำให้คนที่มีอายุเข้าสู่วัย 60 ปี นั้น อาจจะสามารถมีชีวิตอยู่ต่อไปได้อีก ถึง 19 ปี สำหรับผู้ชายไทย และอีก 21.5 ปี สำหรับผู้หญิงไทย นั่นหมายความว่าผู้ชายไทยจะมีอายุขัยมากถึง 79 ปี และ 81.5 ปี สำหรับหญิงไทย ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ค่อนข้างยาวนาน สำหรับการใช้ชีวิตในช่วงหลังวัยเกษียณของแต่ละคน ซึ่งอาจจะไม่ใช่เรื่องดีนัก เพราะยิ่งมีอายุยืนยาวขึ้นเท่าไร ยิ่งต้องการเงินเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น ปัจจุบันคนส่วนใหญ่มองเรื่องการออมเพื่อการเกษียณยังเป็นเรื่องที่รองลงมา ทำให้หลายครัวเรือนจึงประสบปัญหามีเงินออมที่ไม่เพียงพอสำหรับการใช้จ่ายในวัยเกษียณ ทำให้ต้องกลับไปทำงานเพื่อให้ได้รายได้ที่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ สาเหตุหลักนั้นก็มาจากการประเมินค่าใช้จ่ายในวัยเกษียณที่ต่ำเกินไป และขาดการวางแผนการเงินให้ได้เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพเมื่อเข้าสู่ วัยสูงอายุ ส่งผลให้มีการออมเพื่อการเกษียณที่ช้า
 
ดังนั้น ถ้าใครยังไม่ได้เริ่มออมเงินเพื่อการเกษียณ ก็ควรที่จะเริ่มออมตั้งแต่ตอนนี้ เพราะการออมเงินเพื่อการเกษียณนั้นจะต้องใช้เวลาในการออมอย่างน้อย 15 ปี เพื่อให้เงินออมได้มีเวลาสำหรับการสร้างผลตอบแทนแบบทบต้นอย่างมีนัยสำคัญ การออมเป็นเรื่องของระยะเวลา ยิ่งออมนานเท่าไหร่ ก็ยิ่งสบายตอนแก่มากขึ้นเท่านั้น เพราะฉะนั้น เราจึงควรเริ่มออมเงินเพื่อการเกษียณตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
ความจริงในปัจจุบัน คนทั่วไปมีช่วงอายุทำงานอยู่ระหว่าง 25-55 ปี ดังนั้นจึงมีระยะเวลาในการหารายได้ และเก็บเงินออม 30 ปี หากออมเงินเดือนละ 5,000 บาท และได้อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 5% ต่อปี ก็จะมีเงินออม อยู่ที่ประมาณ 4,161,293 บาท ในขณะที่มีช่วงอายุหลังเกษียณ ซึ่งไม่มีรายได้ แต่ต้องใช้เงินออม จะเริ่มตั้งแต่อายุ 55-85 ปี มีระยะเวลาหลังเกษียณ 30 ปี มีเงินที่ใช้จ่ายต่อเดือนหลังเกษียณอยู่ที่ 11,599 บาท



รีวิวกฎเกณฑ์ประกันบำนาญ

"จันทรา บูรณฤกษ์" เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจ ประกันภัย (คปภ.) ให้ทัศนะว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเกี่ยวกับมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการออมในรูปแบบการประกันชีวิตแบบบำนาญ โดยอนุมัติวงเงินหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ เพิ่มจากวงเงินเดิมสำหรับค่าเบี้ยประกันชีวิต 100,000 บาท เป็น 300,000 บาท
 
ทั้งนี้วงเงินส่วนที่เพิ่มขึ้น 200,000 บาท นั้น ต้องเป็นเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญเท่านั้น และต้อง ไม่เกิน 15% ของเงินได้พึงประเมิน ซึ่งเมื่อรวมกับเงินได้ที่จ่ายเข้ากองทุนอื่นๆ ประเภทเดียวกันเช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุนบำเหน็จบำนาญ ข้าราชการตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) หรือกองทุนสงเคราะห์ตาม กฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน และเงินได้ที่จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพตาม กฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (RMF) แล้ว ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
 
จากนี้ไป คปภ . จะเร่งประสานกับภาคธุรกิจในการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจรูปแบบของการประกันชีวิตแบบบำนาญที่จะสามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมดังกล่าวได้ ว่าต้องมีหลักเกณฑ์ เช่น
1. ต้องเป็นกรมธรรม์ที่มีระยะเวลาเอาประกันภัย 10 ปีขึ้นไป
 
2. การจ่ายผลประโยชน์เงินบำนาญ จะจ่ายให้แก่ผู้เอาประกันภัย ตั้งแต่อายุ 55 ปี ขึ้นไป และจ่ายต่อเนื่องไปจนผู้เอาประกันภัยอายุเกิน 85 ปี
 
3. เป็นกรมธรรม์ที่ไม่มีการจ่ายผลประโยชน์อื่นใด ก่อนที่ผู้เอาประกันภัยจะได้รับผลประโยชน์เงินบำนาญที่อายุ ครบ 55 ปี ยกเว้นผลประโยชน์กรณีการเสียชีวิต หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนประกันภัย 1186

"สุทธิ รจิตรังสรรค์" นายกสมาคมประกันชีวิตไทย ได้แสดงความคิดเห็นว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีที่รัฐบาลและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ช่วยผลักดันมาตรการภาษี เพื่อสนับสนุนการออมในรูปแบบการประกันชีวิตแบบบำนาญ นอกจากนั้นยังเป็นการสนับสนุนและส่งเสริมให้ผู้มีเงินได้ทำประกันชีวิตแบบบำนาญเพื่อสะสมเงินออมไว้ใช้หลังเกษียณอายุอันจะเป็นการช่วยสร้างหลักประกันความมั่นคงให้กับชีวิตในบั้นปลาย และเพื่อเพิ่มทางเลือกในการออมทำให้การออมของประเทศในระยะยาวเพิ่มมากขึ้น

อีกทั้งยังช่วยลดปัญหาสังคมที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุ และลดภาระค่าใช้จ่ายของภาครัฐในการดูแลผู้สูงอายุในอนาคตได้ ซึ่งมาตรการดังกล่าวนี้นับเป็นนโยบายของภาครัฐที่ช่วยส่งเสริมการออมของธุรกิจประกันชีวิตอย่างแท้จริง โดยจะเป็นแรงจูงใจที่ช่วยกระตุ้นให้ประชาชนสนใจและหันมาทำประกันชีวิตแบบบำนาญมากขึ้น ช่วยส่งเสริมให้ประชาชนได้มีการวางแผนความมั่นคงให้กับชีวิตในยามชราภาพโดยไม่สร้างภาระให้กับครอบครัว สังคมและประเทศชาติ
 
เมื่อการออมของประชาชนเพิ่มขึ้น ระดับเงินออมภายในประเทศก็สูงขึ้นก็จะทำให้เศรษฐกิจมีความมั่นคงมากขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยลดปัญหาสังคมผู้สูงอายุที่กำลังจะทวีความรุนแรงมากขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ และในภาคของผู้ประกอบการก็จะคิดค้นผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตเพื่อนำเสนอให้ตรงกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายทุกระดับ ทุกอาชีพ เพื่อเป็นการร่วมกันสร้างความมั่นคงให้กับประชาชนต่อไป


 
ใครเหมาะสมจะทำประกันบำนาญ

กลุ่มคนที่เหมาะสมต่อการทำประกันชีวิตแบบคือกลุ่มคนที่มีอายุ ระหว่าง 30-55 ปี โดยไม่จำกัดเฉพาะมนุษย์เงินเดือนเท่านั้น บุคคลที่ไม่มีเงินเดือน ก็สามารถทำได้ ทั้งอาชีพ ค้าขายทั่วไป เกษตรกร ชาวนา ชาวไร่ รับจ้างทั่วไป อาชีพอิสระ กลุ่มบุคคลที่ยังไม่มีประกันชีวิตมาก่อน หรือ กลุ่มคนที่มีประกันชีวิตแล้ว แต่ยังไม่มีแบบบำนาญลดหย่อนภาษี หรือ แม้กระทั่งผู้ที่ลงทุนผ่าน RMF แต่ยังลงทุนไม่ถึง 500,000 บาท หรือ กลุ่มคนที่ไม่ชอบความเสี่ยงในการลงทุน และต้องการผลตอบแทนที่แน่นอน หรือ กลุ่มคนที่ไม่ต้องการเป็นภาระลูกหลาน หรือ แม้กระทั่งคนโสด
 
จากการสำรวจประกันชีวิตแบบบำนาญ ที่มีการเสนอขายในปัจจุบัน คือ เมืองไทยประกันชีวิต , เอไอเอ , ไอเอ็นจี และธนาคารทหารไทย ที่ผ่านมาการอนุมัติแบบจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) มีลักษณะที่คล้ายๆ กัน คือ เป็นแบบประกันที่รับประกันตั้งแต่อายุ 30-55 ปี มีการรับรองการจ่ายเงินเป็นจำนวนเดียวเท่ากันทุกปี เริ่มตั้งแต่ ปีที่ผู้เอาประกันอายุครบ 55 ปี หรือ 60 ปี แล้วแต่แบบประกันที่ลูกค้าเลือกซื้อ โดยจะมีการจ่ายเงินบำนาญให้กับผู้เอาประกันภัยประมาณ 12% ของทุนประกันภัย
 
ตัวอย่างแบบประกันบำนาญของ เมืองไทยประกันชีวิต แบบ 8555 (บำนาญแบบลดหย่อนได้) รับประกันตั้งแต่อายุ 30-50 ปี ทุนประกัน 1 ล้านบาท สามารถส่งเบี้ยประกันแบบรายเดือน ราย 3 เดือน ราย 6 เดือนและรายปี ส่วนเบี้ยประกันนั้นขึ้นอยู่กับอายุ และเพศ ซึ่งไม่เท่ากัน ผลประโยชน์ที่จะได้รับนั้น เมื่อผู้เอาประกันมีอายุครบ 55 ปี ก็จะได้รับเงินบำนาญปีละ 12% ของทุนประกันที่ 1 ล้านบาท นั่นหมายความว่า ผู้เอาประกันจะได้รับเงินบำนาญปีละ 120,000 บาท ไปจนถึงอายุ 85 ปี
 
คำถามที่ตามมา คือ กรณีผู้เอาประกันเสียชีวิตก่อนรับเงินบำนาญละ จะทำอย่างไร ตัวอย่างนี้ก็มีให้เห็นเช่นกัน คือ สมมติว่าผู้เอาประกันได้ส่งเบี้ยประกันมาเป็นเวลา 7 ปี แล้วเสียชีวิต ในกรณีนี้ผู้รับผลประโยชน์ก็จะได้รับผลประโยชน์ก็จะได้รับ 100% ของจำนวนเงินเอาประกันภัย หรือ มูลค่าเวนคืนในขณะนั้น แล้วแต่จำนวนใดมีค่าสูงกว่า
 
ในทำนองเดียวกันกรณีที่ผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตหลังรับบำนาญไปแล้ว เช่น รับบำนาญไปแล้ว 5 ปี ทายาท หรือ ผู้รับผลประโยชน์ก็จะได้รับผลประโยชน์เท่ากับมูลค่าปัจจุบันของเงินบำนาญที่ยังไม่ได้รับอีก 5 งวด หรือ 5 ปี เพราะตามเกณฑ์ระบุเอาไว้ว่า มีการการันตีรับบำนาญ 10 ปี
 
คำถามเกี่ยวกับสิทธิเรื่องภาษีและแบบประกันบำนาญที่ลดหย่อนภาษีได้ ยังเป็นเรื่องที่ทุกคนสงสัยอยู่เหมือนเดิม ดังนั้นใครก็ตามที่จะซื้อประกันชีวิตแบบบำนาญ นั้นให้ตั้งสมมติฐานเอาไว้ว่า ต้องเป็นแบบประกันที่ออกหลังจากที่ ครม.อนุมัติเท่านั้น และต้องระบุว่าเป็น "บำนาญแบบลดหย่อนได้" หรือหากสงสัยให้ติดต่อกับตัวแทนฝ่ายขาย หรือเจ้าหน้าที่ของแต่ละบริษัท เท่านี้ก็ได้รับคำตอบแล้ว



สำหรับคนที่ไม่เคยมีประกันชีวิตเลย

สำหรับบุคคลที่ไม่เคยมีประกันชีวิตเลย สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ดังนั้น คือ
1.เบี้ยประกันชีวิต 100,000 บาทแรก สามารถลดหย่อนได้เต็มจำนวนตามหลักเกณฑ์เดิม
2.เบี้ยประกันชีวิตที่เหลือ 200,000 บาท สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ในวงเงินไม่เกิน 15% ของรายได้พึงประเมิน



ตัวอย่างที่ 1

นาย A มีรายได้พึงประเมิน 1 ล้านบาท 15% เท่ากับ 150,000 บาท สามารถหักลดหย่อนภาษีบำนาญใหม่ได้ 150,000 บาท รวมกับหักลดหย่อนภาษีเดิมอีก 100,000 บาท เพราะฉะนั้นเท่ากับว่าสามารถหักลดหย่อนภาษีได้ทั้งหมด 250,000 บาท



ตัวอย่างที่ 2

นาย B มีรายได้พึงประเมิน 2 ล้านบาท 15% เท่ากับ 300,000 บาท สามารถหักลดหย่อนภาษีบำนาญใหม่ได้ 200,000 บาท รวมหักลดหย่อนภาษีได้ 300,000 บาท



สำหรับบุคคลที่มีประกันชีวิตอยู่แล้ว

บุคคลที่มีประกันชีวิตทุกแบบเดิมที่ลดหย่อนภาษีได้ หากใช้สิทธิลดหย่อนภาษีตามเกณฑ์เดิมไว้ สมมุติว่า 50,000 บาท เพื่อให้ง่ายต่อการคำนวณ ก็จะสามารถหักลดหย่อนภาษีได้ดังนี้ คือสามารถหักลดหย่อนภาษีในเงื่อนไขเดิมได้ 100,000 บาทแรกได้ 50,000 บาทอยู่แล้ว ส่วนเบี้ยประกันชีวิตที่เหลืออีก 250,000 บาท นั้นสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ดังนี้

สมมุติว่า นาย A มีรายได้พึงประเมิน 1 ล้านบาท 15% ของรายได้ก็เท่ากับ 150,000 บาท เพราะฉะนั้นสามารถหักลดหย่อนภาษีแบบบำนาญใหม่ได้ 150,000 บาท บวกกับ 50,000 บาทเดิม เพราะฉะนั้นสามารถลดหย่อนภาษีได้ 200,000 บาท

สมมติว่า นาย B มีรายได้พึงประเมิน 2 ล้านบาท 15% ของรายได้ก็เท่ากับ 300,000 บาท เกณฑ์ใหม่ระบุว่า สามารถลดหย่อนภาษีได้ 200,000 บาท เพราะฉะนั้น เมื่อรวมกับค่าเบี้ยประกันชีวิตเดิมที่มีอยู่ 50,000 บาท ก็หมายความว่า นาย B สามารถลดหย่อนภาษีได้ทั้งหมด 250,000 บาท
ทั้งหมดนี้ คือ รายละเอียดของการทำประกันชีวิตแบบบำนาญ ที่หลายคนที่ใส่ใจการประหยัดภาษี ไม่ควรพลาด



ที่มา http://bit.ly/h5hPZZ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความยอดนิยม (ล่าสุด)

บทความยอดนิยม (1 ปีย้อนหลัง)