Pages

Pages

18 พฤศจิกายน 2553

ยุคของ BRIC

เมื่อปี 2001 ได้มีนักเศรษฐศาสตร์ของโกลด์แมนแซคส์คนหนึ่ง ชื่อ จิม โอนีล ได้ทำนายไว้ว่า เมื่อถึงปี 2050 มหาอำนาจทางเศรษฐกิจจะเปลี่ยน

จากประเทศอย่างสหรัฐไปเป็นกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่มีประชากรมากๆ ได้แก่ จีน อินเดีย รัสเซีย และบราซิล หรือเรียกรวมกันสั้นๆ ว่า กลุ่มประเทศ BRIC หลังจากนั้น คำว่า BRIC ก็เริ่มเป็นคำที่ถูกนำไปใช้กันอย่างแพร่หลาย


เหตุผลที่ จิม โอนีล เชื่ออย่างนั้นเป็นเพราะโลกยุคใหม่เป็นโลกที่ไร้พรมแดน ทำให้สินค้า-บริการ-เงินทุนและเทคโนโลยี ถ่ายเทถึงกันได้หมด ประเทศกำลังพัฒนาจึงสามารถขยับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ให้เข้าไปใกล้กับประเทศที่พัฒนาแล้วได้อย่างรวดเร็ว เหมือนเวลาที่เราเปิดท่อเชื่อมถึงกัน น้ำย่อมไหลจากที่สูงไปหาที่ต่ำ จนระดับน้ำเท่ากัน ประเทศกำลังพัฒนาที่นำระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรีมาใช้หรือที่เรียกว่าประเทศตลาดเกิดใหม่ทั้งหมด จะมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจค่อนข้างสูงจนไปถึงปี 2050 ความเป็นอยู่ของคนในประเทศเหล่านี้ จะแตกต่างจากคนในประเทศที่พัฒนาแล้วน้อยลง


และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศในกลุ่ม BRIC ซึ่งแต่เดิมเคยถูกกดเอาไว้นาน เนื่องจากระบบการเมืองแบบปิดหรือมิฉะนั้นก็ไม่มีเสถียรภาพ ในยุคปัจจุบันประเทศกลุ่มนี้สามารถปรับเปลี่ยนระบอบการเมืองของตัวเองใหม่ เพื่อทำให้ตัวเองได้รับประโยชน์จากโลกาภิวัตน์อย่างเต็มที่ จีนอาศัยค่าแรงที่ถูกมานานและประชากรที่มากในการขันอาสาเป็นโรงผลิตสินค้าให้กับโลก ทำให้เกิดการจ้างงานมากมาย อินเดียก็จะทำตัวเป็นเอาท์ซอร์สเซอร์ธุรกิจบริการของโลก ส่วนรัสเซียและบราซิลนั้นมีทรัพยากรธรรมชาติมาก จึงเป็นแหล่งวัตถุดิบที่สำคัญของโลก และทำให้มีอำนาจต่อรองกับโลกมากขึ้น ประเทศที่มีประชากรมากยังทำให้มีตลาดเศรษฐกิจภายในประเทศที่ใหญ่ ทำให้ได้เปรียบเรื่องต้นทุนต่อหน่วย และยังกลายเป็นตลาดสำคัญที่ประเทศอื่นจะต้องจับตาอีกด้วย


เกือบสิบปีที่ผ่านไป คำทำนายของจิม โอนีล ที่หลายคนมองไม่ออกว่าจะเป็นไปได้จริง ก็ดูเหมือนจะชัดเจนหนักขึ้นทุกที โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีจีน ซึ่ง โอนีลได้ทายไว้ว่าภายในปี 2015 จีนจะมีขนาดเศรษฐกิจแซงประเทศญี่ปุ่น แต่ดูเหมือนว่าภายในปีนี้ จีนน่าจะแซงญี่ปุ่นได้แล้ว นับว่าสิ่งที่โอนีลทายไว้เกี่ยวกับจีนนั้นออกจะอนุรักษนิยมมากเกินไปด้วยซ้ำ โอนีลเชื่อว่าถัดจากจีนจะเป็นคราวของอินเดียบ้าง โดยที่อินเดียจะเติบโตได้ในอัตราที่เร็วกว่าจีนด้วย แต่เวลานี้ ยังดูไม่ออกว่าจะเป็นไปได้อย่างไร คงต้องคอยติดตามกันดูครับ ส่วนบราซิลนั้นมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังไม่โดดเด่นมากนัก ส่วนรัสเซียนั้นค่อนข้างจะเติบโตจากฐานที่สูงกว่าเพื่อนอยู่แล้ว อัตราการเติบโตจึงอาจดูไม่โดดเด่นมากนัก แต่ด้วยจำนวนประชากรที่มาก คงหนีไม่พ้นที่รัสเซียจะต้องมีบทบาทในโลกมากขึ้นทุกวัน ดูเหมือนยุคของ BRIC กำลังเกิดขึ้นอยู่แล้ว ไม่ต้องรอให้ถึงปี 2050


นอกจากประเทศในกลุ่ม BRIC แล้ว กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ที่มีศักยภาพไม่แพ้กัน แต่อาจจะมีจำนวนประชากรไม่มากเท่า ทำให้สุดท้ายแล้วขนาดเศรษฐกิจโดยรวมเลยไม่ใหญ่ติดอันดับยังมีอีก 11 ประเทศที่โอนีลมองไว้ เรียกว่า กลุ่ม N 11 (Next Eleven) ได้แก่ บังกลาเทศ อียิปต์ อินโดนีเซีย อิหร่าน เม็กซิโก ไนจีเรีย ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ ตุรกี และเวียดนาม ในขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้วจะถูกลดความสำคัญลงไป เพราะเติบโตได้ช้ากว่ามากจนทำให้ขนาดของเศรษฐกิจแทบจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากนักในอีก 40 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งญี่ปุ่นที่เศรษฐกิจถดถอยลงอย่างต่อเนื่อง


โลกทุกวันนี้ เปลี่ยนโฉมหน้าไปเร็วมาก ถ้าปรับความคิดของเราไม่ทันอาจเป็นคนหลุดโลกได้เลย

from http://bit.ly/9kVsCg


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น