17 ธันวาคม 2553

เศรษฐกิจนอกระบบ

โดย : นรินทร์ โอฬารกิจอนันต์

ทุกวันนี้ ถ้าถามผมว่าอยากเห็นรัฐบาลช่วยพัฒนาธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือที่เรียกว่าเอสเอ็มอีในรูปแบบใดมากที่สุด

ผมจะตอบว่าอยากเห็นรัฐบาลช่วยผลักดันเอสเอ็มอีให้เข้ามาอยู่ในระบบกันให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้


มาตรการนี้อาจฟังดูแล้วเหมือนไม่น่าจะเป็นการช่วยเหลือเอสเอ็มอี แต่ที่จริงแล้ว มันส่งผลต่อการพัฒนาเอสเอ็มอีอย่างมากครับ


ทุกวันนี้ เอสเอ็มอียังเป็นหน่วยเศรษฐกิจที่อยู่นอกระบบในสัดส่วนที่สูงมาก คำว่า นอกระบบ ก็อย่างเช่น การเสียภาษีที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง การใช้แรงงานนอกระบบ การพึ่งพาแหล่งเงินกู้นอกระบบ การขายสินค้าที่ละเมิดลิขสิทธิ์ต่างๆ การใช้ของปลอม รวมไปถึงการใช้ที่สาธารณะเป็นสถานประกอบการด้วย


บางคนอ้างว่า เอสเอ็มอีเป็นธุรกิจของคนตัวเล็ก ซึ่งทุกวันนี้ เสียเปรียบทุนขนาดใหญ่ในทุกๆ ด้าน ดังนั้น ถ้าจะปล่อยให้คนตัวเล็กทำอะไรไม่ถูกต้องบ้างก็หรี่ตาไปข้างหนึ่งเถอะ อย่างน้อยมันก็ช่วยให้เขามีอะไรที่พอจะสู้กับคนตัวใหญ่ได้


แต่สิ่งที่เรามองข้ามไป คือ การทำอย่างนั้นจะส่งผลร้ายอย่างยิ่งกับคนที่เป็นเอสเอ็มอีด้วยกันเอง ในเมื่อทุกคนสามารถแข่งขันกันนอกระบบหรือในระบบก็ได้ คนที่ทำตามระบบทุกอย่างจะเสียเปรียบมากจนทำให้อยู่ไม่ได้ สุดท้ายแล้วทุกคนก็จำต้องลุกขึ้นมาสู้กันนอกระบบเพื่อความอยู่รอด กลไกตลาดที่จะช่วยก่อให้เกิดการพัฒนาตามระบบจะกลายเป็นอัมพาต


ตัวอย่างเช่น การเสียภาษี เวลาที่แต่ละบริษัทเสียภาษีไม่เท่ากันมากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่ใครจะลักไก่ได้มากแค่ไหน ภาษีก็จะกลายมาเป็นข้อได้เปรียบเรื่องต้นทุนทางธุรกิจที่มีนัยสำคัญขึ้นมาทันที ภายใต้สภาวะแวดล้อมการแข่งขันในตลาดที่เหมือนกัน บริษัทที่หลบภาษีได้มากกว่าอาจมีต้นทุนต่ำกว่าคู่แข่งได้มากถึง 20-30% หรือมากกว่านั้นอีก ในขณะที่บริษัทที่พยายามแข่งขันด้วยการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานด้วยการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ หรือพยายามพัฒนาสินค้าและบริการของตนให้มีจุดแตกต่างจากคู่แข่งนั้น อาจสร้างความได้เปรียบให้เหนือคู่แข่งได้เพียงแค่ 2-5% เท่านั้น


แล้วอย่างนี้จะดิ้นรนนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ หรือพยายามพัฒนาสินค้าให้เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคมากขึ้นทำไม ในเมื่อจุดชี้เป็นชี้ตายของการแข่งขันมันอยู่ที่เรื่องนอกระบบ


อีกตัวอย่างหนึ่ง คือ เรื่องซอฟต์แวร์ ผมฟันธงเลยว่า บริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์ของบ้านเราไม่มีวันเกิดได้ เพราะต่อให้พัฒนาซอฟต์แวร์ได้ยอดเยี่ยมกว่าของต่างประเทศมากแค่ไหน แต่ถ้าซอฟต์แวร์ในประเทศไทยเป็นสิ่งที่ขายไม่ได้ เพราะไม่มีใครยอมจ่ายเงินซื้อซอฟต์แวร์ใช้ ก็เป็นไปไม่ได้เลย ที่บริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์จะอยู่ในประเทศนี้ได้


ในสหรัฐบริษัทด้านเทคโนโลยีล้วนกอบโกยเงินจนกลายเป็นบริษัทที่มั่งคั่งที่สุดในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นไมโครซอฟท์ กูเกิล แอ๊ปเปิ้ล แต่ทำไมบริษัทด้านเทคโนโลยีของบ้านเรากลับกลายเป็นพวกที่อยู่อย่างลุ่มๆ ดอนๆ ขาดทุนแล้วขาดทุนอีก ต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐตลอดเวลา บางคนบอกว่าเป็นเพราะสหรัฐ มีพวก Private Equity ที่คอยให้ทุนสนับสนุนธุรกิจด้านเทคโนโลยีอยู่ อันนั้นก็อาจจะถูกส่วนหนึ่ง แต่ลองคิดว่า บริษัทพวกนี้ขายของไม่ได้ เพราะทุกคนลักลอบใช้ซอฟต์แวร์ฟรีกันหมด ต่อให้มีคนให้เงินทุนมากแค่ไหน ก็อยู่ไม่ได้อยู่ดี เพราะถ้าขายของไม่ได้ ธุรกิจจะอยู่ได้อย่างไร


บางคนชอบอ้างว่า เอสเอ็มอีประเทศไหนเขาก็เป็นแบบนี้กันทั้งนั้น แต่ จากการสำรวจโดยมหาวิทยาลัยลินซ์ ประเทศออสเตรีย พบว่า ประเทศไทยนั้นมีขนาดของเศรษฐกิจนอกระบบต่อจีดีพีสูงมากเป็นอันดับที่เจ็ดของโลก (ประมาณ 57% ของจีดีพี) นั่นย่อมเป็นสัญญาณหนึ่งที่บ่งชี้ว่าปัญหาเรื่องนี้ของเราถือว่าไม่ธรรมดาแล้ว บางครั้งผมก็อดคิดไม่ได้ว่าเป็นเพราะสังคมไทยเป็นสังคมที่มีความอดทนและอะลุ้มอล่วยต่อคนที่ทำผิดมากกว่าประเทศอื่นรึเปล่า ที่เป็นต้นเหตุของปัญหาอะไรหลายๆ อย่างเกิดขึ้นในสังคมไทยทุกวันนี้


บางคนบอกว่า เรื่องอย่างนี้แก้ยังไงก็แก้ไม่ได้หรอก มันขึ้นอยู่กับจิตสำนึก แต่ถ้าถามว่า แล้วสหรัฐประสบความสำเร็จในการทำให้ธุรกิจส่วนใหญ่อยู่ในระบบด้วยการปลูกฝังจิตสำนึกหรือไม่ คำตอบก็คงไม่ใช่ เราเห็นแต่การบังคับใช้กฎหมายของเขาที่เด็ดขาด เราได้ยินข่าวเศรษฐีในประเทศที่พัฒนาแล้วถึงขั้นต้องติดคุก เพราะโกงภาษีอยู่บ่อยๆ หรือสรรพากรของสหรัฐก็มีอำนาจมากถึงขนาดเข้าไปอายัดเงินในบัญชีของคนที่สงสัยว่าจะโกงภาษีได้เลย แล้วเราจะจริงจังและจริงใจกับการจับคนที่ทำผิดได้บ้างแล้วหรือยัง


ผมว่าเอสเอ็มอีบ้านเรามีศักยภาพในการพัฒนาตนเองสูงมากอยู่แล้ว แต่ขึ้นอยู่กับว่าสภาพแวดล้อมจะเอื้อให้เขาอยากพัฒนาตัวเองมากน้อยแค่ไหน

from http://bit.ly/f57q6N


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความยอดนิยม (ล่าสุด)

บทความยอดนิยม (1 ปีย้อนหลัง)