15 มกราคม 2554

ตัน ภาสกรนที ซีอีโอ แห่งปี 2553

การโหวตซีอีโอแห่งปี 2553 เป็นกิจกรรมประจำที่หนังสือพิมพ์ "ฐานเศรษฐกิจ" ดำเนินการขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้อ่าน"ฐานเศรษฐกิจ-ฐานออนไลน์" ได้มีส่วนร่วมในการเฟ้นหาสุดยอดซีอีโอ ที่มีผลงานโดดเด่นโดนใจประจำปี 2553

โดยเริ่มเปิดการโหวตทางwww.thanonline.com ขึ้นตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน ถึงเที่ยงคืนตรงวันที่ 23 ธันวาคม หรือปิดโหวตในเวลา 00.00 น. ของวันที่ 24 ธันวาคม 2553 ผลปรากฏว่า จากผู้เข้าร่วมโหวตจำนวนทั้งสิ้น 17,183 โหวต ผู้ที่ได้รับเสียงโหวตมากที่สุด จากจำนวนผู้บริหารทั้งหมด 15 คน ด้วยคะแนน 5,558 โหวต แซงหน้าอันดับสองที่คะแนนเบียดบี้พลิกไปมาในช่วงโค้งสุดท้าย จนต้องลุ้นระทึก ด้วยคะแนน 4,996 โหวต
ส่วนผลคะแนนที่ส่งผ่านทางโทรสารในช่วงของการโหวตเดียวกัน มีทั้งสิ้น 54 คะแนน กระจายไปยังซีอีโอ 6 ท่าน โดยโหวตเลือก"ตัน"ด้วย 1 คะแนน รวมทั้งหมดแล้วไม่เปลี่ยนผลการโหวตที่เกิดขึ้น
และผู้ที่คว้าตำแหน่งโหวตซีอีโอแห่งปี 2553 ไปครอง ได้แก่ "ตัน ภาสกรนที"
"ตัน ภาสกรนที" อดีตกรรมการผู้จัดการ บริษัท โออิชิ จำกัด (มหาชน) ผู้นำตลาดชาเขียวพร้อมดื่มเมืองไทย และปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธาน บริษัท ไม่ตัน จำกัด บริษัทน้องใหม่ล่าสุดในวงการอาหารและเครื่องดื่ม ที่ในวันนี้มีผู้ถือหุ้นเป็นคนรุ่นใหม่ เพิ่งพบปะหน้าตารู้จักกันเพียงไม่กี่เดือน ให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของบริษัท ไม่ตัน จำกัด ถือเป็นแนวทางในการคัดเลือกพนักงานและผู้ถือหุ้นที่แปลกที่สุดก็ว่าได้ โดยทั้ง 10 คน (รวมคุณตันด้วย) จะเริ่มเดินหน้า เพื่อรุกตลาดในต้นปี 2554 เป็นต้นไป
alt ความเคลื่อนไหวและผลงานของ"ตัน" ที่ออกสู่สายตาผู้บริโภคในปี 2553 และสร้างให้"ตัน"โดดเด่น เป็นที่กล่าวขานมากที่สุด คือการประกาศลาออกจากตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการของโออิชิ ซึ่งเป็นบริษัทที่เขาให้กำเนิด และสร้างชื่อให้"ตัน"เป็นที่รู้จัก จนกลายเป็นสัญลักษณ์ที่ทุกคนกล่าวถึงว่า "ตัน คือโออิชิ โออิชิคือตัน" และเป็นที่มาของชื่อ "ตัน โออิชิ" ในที่สุด
"ผมเคยเป็นลูกจ้าง เป็นลูกน้องคนอื่นมาก่อน ทำให้รู้ว่าลูกน้องต้องการอะไร เคยเป็นคนขายของ คนซื้อของ เป็นคนให้เช่า และเป็นผู้เช่า เป็นผู้ผลิตและผู้บริโภคมาก่อน ทำให้ผมเข้าใจทุกคน"
ส่วนนี้เป็นข้อได้เปรียบของตัน แต่บางคนที่เกิดมาแล้วเป็นหัวหน้าเลย หรือเกิดมาก็รวยเลย เขาก็ได้เปรียบอย่างหนึ่ง "เมื่อเราอยู่ตรงกลาง ทำให้เข้าใจว่าทุกองค์ประกอบในธุรกิจเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นแม่บ้าน พนักงาน และลูกค้า"
หากพนักงานได้รับการดูแลดี เขาก็จะดูแลลูกค้าดี เมื่อลูกค้าพอใจก็มาใช้บริการเรา สิ่งเหล่านี้ดูเหมือนง่าย แต่เวลาทำให้ดีทำยาก เพราะทุกอย่างต้องบาลานซ์ให้ดี
แนวคิดใหม่ ๆ ในการบริหาร "ตัน"บอกว่าได้มาจากธรรมชาติทุกอย่างเกิดจากปัญหา ว่าทำไมลูกค้าหายไป ทำไมลูกค้าไม่กินร้านเรา ทำไมช่วงแรกบูม ลูกค้ามาทานเพราะอาหารอร่อยอย่างเดียว หรืออร่อยและบริการดีด้วย หรืออร่อย บริการดี มีส่วนช่วยสังคม
นอกเหนือจากการเป็นนักบริหารระดับแนวหน้าของเมืองไทยแล้ว "ตัน" ยังเป็นนักกิจกรรมเพื่อสังคมอันดับต้น ๆ การช่วยเหลือสังคม หรือซีเอสอาร์ (Corporate social responsibility : CSR) เป็นสิ่งที่ดี ทุกวันนี้ หลายบริษัท หลายคน ก็เน้นมาทำซีเอสอาร์ คืนสู่สังคม ทำเรื่องธรรมชาติมากขึ้นกว่าเดิมเยอะ เด็กรุ่นใหม่เองก็ให้ความสนใจเรื่องเหล่านี้มากขึ้น หลายคนอาจมองว่า การทำซีเอสอาร์ เป็นการทำเพื่อโปรโมตบริษัท ทำเพื่อหวังกำไร
"ใครทำดีแล้วได้ดี ถ้าเจ้าของหรือนักธุรกิจทั่วโลก ทำแล้วได้มากขึ้น ผมก็ยินดี ดีกว่าคนที่ทำแล้วได้คนเดียว ไม่คิดถึงลูกน้อง ไม่คิดถึงลูกค้า ไม่คิดถึงสังคมเลย แต่ถ้าเขาทำแล้วเขาขายได้มากขึ้น กำไรมากขึ้น แต่เขาก็ทำเพื่อสังคมมากขึ้นตามไปด้วย หากเขาจะขายได้มากขึ้น รวยขึ้น ผมก็ยินดีที่จะอุดหนุน"
"ตัน"บอกว่า นักธุรกิจในอนาคตต้องมี 2 ส่วน คือ ต้องทำกำไรให้บริษัท เพื่อความมั่นคงของตนเอง ขณะเดียวกันก็ต้องทำเพื่อสังคมด้วย การทำธุรกิจต้องทำกำไรให้ตนเอง ให้สังคม ลูกค้า และลูกน้อง ไม่ใช่แต่แข่งขันอย่างเดียว เพราะทุกส่วนสำคัญไปหมด ทุกวันนี้การแข่งขันมีเยอะ ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกเพิ่มขึ้น ผู้บริโภคเองก็มีการศึกษามากขึ้น เขาไม่ทำงานบริษัท เขาก็ทำธุรกิจส่วนตัว ซึ่งทำได้ง่ายขึ้น ไม่เหมือนสมัยก่อนที่ต้องมีร้าน มีบริษัท มีโรงงาน แต่สมัยนี้มีคอมพิวเตอร์ตัวเดียวก็ทำงานมีรายได้ ไม่ต้องมีพนักงานขาย ไม่ต้องมีออฟฟิศ
เรื่องของโซเชียล เน็ตเวิร์ก เป็นเรื่องใหม่สำหรับ "ตัน" แต่"ตัน"ก็ไม่ชักช้าที่จะเรียนรู้ และต้องรู้จริง และในวันนี้"ตัน"จึงมี face book ของตนเอง และยังมีสมาชิกมากกว่า 102,000 คน ในช่วงเวลาเพียงไม่กี่เดือน ซึ่งที่นี่ทำให้"ตัน" รู้สึกเหมือนมีญาติเพิ่มขึ้นอีกแสนคน เพราะไม่ว่าจะไปที่ไหน ก็จะถูกนำมาถ่ายทอด บอกเล่าต่อ ๆ กัน ทำให้ทุกวัน "ตัน" จะต้องแวะเวียนเข้าไปแลกเปลี่ยนความคิดเห็น หรือสื่อสารยังแฟนคลับ ของเขาด้วยความนิยมในโซเชียล เน็ตเวิร์ก ทำให้"ตัน" ปิ๊งไอเดีย นำมาเป็นอีเวนต์สร้างสีสัน ในการเริ่มต้นดำเนินกิจการ บริษัท ไม่ตัน จำกัด ด้วยการวางเงื่อนไข เฟ้นหาคนรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้น หรือ The 9 Challengers ที่นำเสนอตัวตนผ่านคลิป ที่มีความยาวเพียงไม่กี่นาที แต่ก็มีผู้สมัครส่งคลิปเข้าร่วมกว่า 1,600 คลิป
ด้วยคลิปที่ถูกส่งเข้า มีทั้งคลิปของคนไทยในเมืองไทย และคนไทยในต่างประเทศ ที่สมัครมาจากอเมริกา ออสเตรเลีย กว่า 10 คน บางรายบินมาสมัคร บินมาสัมภาษณ์ ตั้งแต่วันที่ยังไม่เปิดบริษัท แต่คนก็แห่มาสมัคร หากไม่กำหนดเงื่อนไขทั้งเรื่องของอายุ การศึกษา หรือแม้กระทั่งการพรีเซนต์ผ่านคลิป อาจมีผู้สมัครเข้ามามากกว่าหมื่นคนก็เป็นได้
"บริษัทที่ยังไม่มียอดขาย ไม่มีรายได้ ไม่มีสินค้า แต่กลับมีคนมาสมัครเป็นพัน ๆ คน ถามว่าทำไมคนจึงสนใจ สิ่งเหล่านี้เกิดจากสิ่งที่ผมสร้างมา และน่าเสียดายหากผมทิ้งไป เมื่อประกาศลาออกจากการบริหารงานที่โออิชิ"
คนที่ส่งคลิปเข้ามาเก่ง ๆ ก็เยอะ บางคนก็งง ว่าทำไมเขาเก่งกว่าแต่ไม่ได้รับคัดเลือก เพราะเราเลือกคนเก่งอย่างเดียวไม่ได้ คนเก่งมีโอกาสมากมาย ผมพูดว่าต้องให้โอกาส คำว่าโอกาสไม่ใช่ให้คนเก่ง มีประสบการณ์เยอะ ทุกคนต้องเริ่มต้นจากไม่มีประสบการณ์ ผมก็ให้โอกาสคนที่ไม่เคยทำงานเลย คนที่ไม่มีประสบการณ์เลย ทั้ง 9 คนที่มาถือหุ้นในบริษัท ไม่ตันฯ จึงมีทั้งคนเก่งมาก เก่งน้อย เก่งคนละอย่าง
"ผมต้องการพนักงานเริ่มต้น 9 คน ก้าวเข้ามาในฐานะผู้ถือหุ้น โดยผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะได้รับหุ้นคนละ 3 แสนบาท หรือ 3 แสนหุ้น และสามารถเพิ่มหุ้นได้ด้วยการลงทุนจะด้วยเงินสดหรือการผ่อนชำระก็ได้"
ซึ่งในอนาคตผู้ถือหุ้นบริษัท ไม่ตัน จำกัด จะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยคน พันคน หรือท้ายที่สุดทุก ๆ คนจะเข้ามาถือหุ้นก็ได้ ทำให้คนรุ่นใหม่สามารถเป็นเจ้าของกิจการได้ โดยไม่ต้องลงทุนเองทั้งหมด แต่ทั้งหมดขึ้นอยู่กับว่า ช่วงแรกผมทำบริษัทได้ดีแค่ไหน เพื่อทำให้ทุกคนอยากเข้ามาร่วมงานด้วย
ตัน ภาสกรนที"คำว่าให้ ให้อะไรก็ได้ ให้โอกาส ให้งาน ให้คำแนะนำ เมื่อเขาเติบโต ร่ำรวย ประสบความสำเร็จ เขาก็ส่งมอบโอกาสแบบนี้ไปกับคนอื่น"
ความแตกต่างของ"ตัน" กับบริษัท ไม่ตัน จำกัด นอกเหนือจากการคัดเลือกผู้ถือหุ้น ด้วยกลวิธีที่ไม่เหมือนใคร พันธกิจที่"ตัน"กำหนดขึ้นคือ ผู้ถือหุ้นทั้งหมดจะถือหุ้นโดยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 50 ส่วนอีกร้อยละ 50 เป็นหุ้นในส่วนของ"ตัน" โดยกำไรที่เกิดขึ้นจากหุ้นในส่วนของ"ตัน" ร้อยละ 50 จะถูกนำไปมอบให้กับ"มูลนิธิตันปัน" ในปีแรก และเพิ่มขึ้นต่อไปเรื่อย ๆ จนถึงร้อยละ 90 ในปีที่ 9 ซึ่งเป็นปีที่"ตัน" ขอเกษียณการทำงาน และส่งไม้ต่อให้กับผู้บริหารรุ่นใหม่ ที่เข้ามาถือหุ้นในบริษัท
"กำไรที่ผมได้จะมอบให้กับมูลนิธิ ดังนั้นยิ่งผมทำมาก กำไรมาก มูลนิธิก็จะได้มาก"
เพราะสังคมต้องมีทั้งผู้รับและผู้ให้ ถ้าเราเคยเป็นแต่ผู้รับ พอ "มี" ก็หยุด เลิกราไม่ทำ แล้วใครล่ะจะเป็นผู้รับคนต่อไป แนวคิดนี้จุดประกายให้ เมื่อ"ตัน"เลิกบริหารโออิชิ ก็เลือกที่จะเปิดบริษัท ไม่ตัน จำกัดในเวลาต่อมา
ในวันนี้ "ตัน" กลายเป็นนักบริหารที่เป็นไอดอลของคนรุ่นใหม่ ซึ่ง "ตัน" เองบอกว่า เขาก็มีไอดอลในหัวใจเหมือนกัน ซึ่งไอดอลของเขาสอนให้เขาเรียนรู้ในหลากเรื่องราว ไม่ว่าจะเป็น"คุณวันชัย จิราธิวัฒน์" ไอดอลด้านความประหยัด "ดร.เทียม โชควัฒนา" (ผู้ก่อตั้งสหพัฒนพิบูล) ไอดอลเรื่องของการต่อสู้ "คุณธนินท์ เจียรวนนท์" ไอดอลด้านการมองภาพกว้าง และคนดังระดับโลกอย่าง"บิล เกตส์ เฉินหลง" ฯลฯ ที่เป็นไอดอลด้านซีเอสอาร์
"ตัน"บอกว่า คนรุ่นใหม่ เป็นผู้ที่มีการศึกษาดี มีพื้นฐานดี และต้องการเป็นเจ้าของกิจการ กุญแจดอกสำคัญของความสำเร็จ คือ ต้องรู้จักยอมรับความเปลี่ยนแปลง ทุกวันนี้โลกเปลี่ยนแปลงเร็ว ธุรกิจก็ต้องเปลี่ยนแปลงเร็ว เมื่อการแข่งขันมากขึ้น ลูกค้ามีการศึกษามากขึ้น มีโอกาสเลือกมากขึ้น รับข่าวสารมากขึ้น โอกาสธุรกิจของผู้ประกอบการรุ่นใหม่ก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย
"เราต้องอยู่ได้ภายใต้เงื่อนไขทุกสถานการณ์ เดี๋ยวนี้มีวิกฤติทุกไตรมาส การเมือง ธรรมชาติ เศรษฐกิจ หากเกิดส่งผลกระทบถึงกันหมด คุณต้องทำธุรกิจภายใต้เงื่อนไขที่ว่า อะไรเกิดขึ้นคุณก็ต้องอยู่ได้ หากการทำธุรกิจต้องอยู่ตรงนี้ ได้ลูกค้ากลุ่มนี้ ถ้าไม่ได้ก็ตาย.. ซึ่งก็เตรียมตัวเลย ตายแน่นอน... การทำธุรกิจจึงต้องรู้จักบริหารความเสี่ยง และอยู่ได้ทุกสถานการณ์"
เคล็ด (ไม่) ลับ จากสูตรเด็ดการบริหารของ "ตัน ภาสกรนที" ซีอีโอแห่งปี 2553 ที่พร้อมถ่ายทอดให้กับผู้บริหารทุกรุ่นทั้งใหม่และเก่าในปีกระต่ายสดใสนี้....

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,596
30 ธันวาคม พ.ศ. 2553 - 1 มกราคม พ.ศ. 2554

from http://www.thanonline.com/index.php?option=com_content&view=article&id=51288


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความยอดนิยม (ล่าสุด)

บทความยอดนิยม (1 ปีย้อนหลัง)