List บทความที่เกี่ยวข้อง
เราคุยกันเกี่ยวกับทักษะหลากหลายที่คนทำงานต้องเติม เสริมความเชี่ยวชาญ ไม่ว่าจะเป็นด้านการสื่อสาร การวางแผนงาน การบริหารเวลา การแก้ปัญหา และการทำงานเป็นทีม
หัวข้อเสริมที่มืออาชีพกลุ่มนี้อยากได้ คือทักษะที่ต้องใช้ตอนถูกสัมภาษณ์งาน โดยเฉพาะการตอบคำถาม จะได้ดูดี น่าประทับใจ ไม่มั่ว ไม่ประหม่า จนเสียโอกาส พลาดงานดีๆ
สัปดาห์นี้ ดิฉันจึงขอไล่เรียงบางคำถามยอดฮิตติดตลาดที่ผู้สัมภาษณ์มักชอบถาม มาเผื่อให้ท่านผู้อ่านลองเตรียมตัวตอบ เป็นข้อสอบปากเปล่า ดังนี้
1. เล่าเรื่องตัวเองให้เราฟังหน่อยค่ะ
คำถามนี้ถือเป็นโอกาสดีที่จะตอบอย่างฉาดฉาน มั่นใจ เพราะเตรียมไว้ได้ ไม่พลาด
วิธีตอบแบบไม่สู้น่าประทับใจ
"ผมจบการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัย... ในปี2550 ตอนหางานครั้งแรกสนใจงานด้านการตลาดจึงไปเป็นพนักงานฝ่ายการตลาดที่บริษัท....อยู่ 1 ปี จากนั้น ในปี2551 มีโอกาสย้ายงานไปทำที่บริษัท...ในฝ่ายบริหารช่องทางการตลาด เมื่อต้นปี2553 ผมได้มีโอกาสร่วมงานกับบริษัท...อยู่แผนกการตลาด รับผิดชอบเรื่องการวางแผนการตลาดสำหรับลูกค้าภาครัฐครับ"
แม้คำตอบข้างบนจะดูไม่เลว แต่พัฒนาให้น่าประทับใจขึ้นได้ โดยจัดหมวดหมู่การเล่าใหม่ แทนที่จะร่ายยาวตามเวลา เรามาเน้นตามเนื้องาน โดยเฉพาะเนื้อๆที่เกี่ยวข้องกับงานใหม่ที่กำลังสมัครได้ยิ่งดี
คำตอบที่พัฒนาแล้ว น่าจะฟังได้อารมณ์ประมาณนี้
“ผมจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัย...ด้านเศรษฐศาสตร์ เมื่อปี 2550 ผมเริ่มทำงานด้านการตลาดที่บริษัท...เป็นเวลาหนึ่งปีเต็ม งานสำคัญที่ต้องดูแลคือการประมวลข้อมูลเพื่อวิเคราะห์ความพึงพอใจของผู้ใช้บริการ
จากนั้นผมได้มีโอกาสเพิ่มความรู้ในอีกแง่มุมของการตลาด คือด้านการบริหารช่องทางการตลาดที่บริษัท...โดยรับผิดชอบการวางแผนขยายช่องทางการตลาด ซึ่งมีส่วนทำให้ผลประกอบการของบริษัทสูงขึ้นกว่า 25% ในช่วง 2 ปีที่ผมอยู่ที่บริษัทนั้น
ปัจจุบันผมทำงานที่บริษัท...รับผิดชอบด้านการตลาด ดูแลภาครัฐ ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าหลักของบริษัทครับ”
2 แล้วทำไหมถึงจะออกจากงานปัจจุบันคะ
คำตอบที่ควรหลีกเลี่ยงสุดชีวิต
“บริษัทที่ผมทำงานเป็นบริษัทเล็ก ผู้บริหารขาดวิสัยทัศน์ แถมไม่มีระบบการทำงานแบบใหม่ ใครต้องทำอะไรไม่เคยชัดเจน คนทำดีไม่ได้ดี...”
ไม่ว่าข้อความจะจริงหรือไม่ กรุณาอย่าทำให้ผู้สัมภาษณ์หวั่นใจ ว่ายามที่เราต้องไปจากเขา เราจะเอาเขาไปนินทาว่าร้ายคล้ายๆเช่นนี้หรือไม่
เอาใหม่ๆค่ะ
“ผมได้เรียนรู้วิธีการทำงานในบริษัทปัจจุบันมาก เพราะเป็นบริษัทขนาดเล็ก ทำให้ผมได้รับผิดชอบงานที่หลากหลาย กระนั้นก็ดี ผมคิดว่าการได้มีโอกาสทำงานในองค์กรที่ใหญ่และมีชื่อเสียง เช่นบริษัทนี้ ผมจะสามารถใช้ความรู้ที่มี เสริมทีมงานของบริษัทได้ และจะมีโอกาสทำงานเป็นผู้เชี่ยวชาญเจาะลึกเฉพาะด้านการตลาด เพื่อเป็นประโยชน์กับองค์กรมากขึ้นในอนาคต”
3 ทำไมเราควรจ้างคุณคะ
กรุณาอย่าเผลอแสดงความเหนียมอาย คละเคล้ากับความไม่มั่นใจในตัวเอง (แล้วจะให้ใครมั่นใจในตัวเรา)
“เอ่อ...คือ...เพราะหนูเหมาะสม...ค่ะ”
เตรียมชี้แจงว่าเรามีจุดแข็งที่แตกต่างและโดดเด่น ที่จะเสริมงานเขาได้ แต่ต้องไม่ฟังเหมือนโอ้อวด จนชวดโอกาส
“ดิฉันได้ติดตามข่าวความก้าวหน้าของบริษัทตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมา จึงตระหนักดีว่าบริษัทมีนโยบายที่จะขยายตลาดกลุ่มภาครัฐอย่างต่อเนื่อง ดิฉันได้มีโอกาสทำงานด้านนี้มาโดยเฉพาะ และได้สัมผัสกระบวนการบริหารงาน ตลอดจนนโยบายของภาครัฐ ซึ่งมีความแตกต่างจากลูกค้ากลุ่มอื่นๆ จึงมั่นใจว่าสามารถเป็นกำลังสำคัญให้กับทีมงานการตลาดของบริษัทได้อย่างแน่นอนค่ะ”
4 คาดว่าจะทำอะไรในอีก 5 ปีข้างหน้า
กรุณาอย่าตอบแบบกว้าง เคว้งคว้าง เหมือนไม่เคยวางแผนชีวิต
“ผมจะทำงานด้านการตลาดต่อไป”
หรือตอบแบบจริงใจว่า “ดิฉันอยากมีธุรกิจเป็นของตัวเองค่ะ” เพราะยังไม่จำเป็นที่จะให้เขาเห็นว่าเราจะไปจากเขาแน่นอนในอีก 5 ปี จนเขาคิดว่าจากกันตั้งแต่วันนี้น่าจะดีกว่ามั้ง
เตรียมตอบอย่างมืออาชีพ เช่น
“ดิฉันมุ่งมั่นที่จะเติบโตและรู้ลึกรู้จริง เป็นผู้เชี่ยวชาญในสายงานการตลาด และหวังว่าจะมีโอกาสทำงานเป็นผู้บริหาร จะได้ร่วมพัฒนาทีมงานด้านการตลาด เพื่อตอบโจทย์ขององค์กรในอนาคต”
ที่หมดพอดี ไว้สัปดาห์หน้ามาคุยกันต่อนะคะว่าคำถามอื่นๆที่ควรเตรียมตอบให้รอบคอบ ตอบอย่างไร
สำหรับท่านที่กำลังเตรียมตัวไปสัมภาษณ์งานไม่ว่าตอนนี้หรือตอนไหน อย่าไว้วางใจใช้แต่พรสวรรค์ที่มี
เพราะท่านที่มีพรแสวง สามารถแซงหน้าได้แบบไม่รู้ตัว
เตรียมตัวมากๆ แบบผู้ไม่ประมาท เป็นการเพิ่มโอกาสชีวิตค่ะ
ที่มา http://is.gd/gmTjom
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น