19 มีนาคม 2554

20 เคล็ดลับการลงทุน

1. อย่าเยอะ : ในที่นี้คือการพยายามทำให้การลงทุนเป็นเรื่องที่เข้าใจง่ายเข้าไว้ครับ อย่าไปใส่สูตร ลากกราฟ หรือลนแท่งเทียนให้มากจนเกินไปนัก นั่นเพราะการลงทุนไม่ใช่เรื่องของการซื้อๆขายๆหุ้นตามสูตรคณิตศาสตร์ที่ซับซ้อนแต่อย่างใด แต่การลงทุนเป็นเรื่องที่ตั้งอยู่บนเหตุผลที่เรียบง่าย นั่นคือลงทุนในธุรกิจที่มีกำไร มีอนาคตที่ดี ในราคาที่เหมาะสม หรือมีส่วนลดมากๆได้ยิ่งดี ซึ่งถ้าเราเน้นให้ตรงจุด ในข้อมูลที่เป็นเหตุเป็นผลและเรียบง่าย การประสบความสำเร็จในการลงทุนก็ไม่ใช่เรื่องเพ้อฝันแต่อย่างใด

2. ตั้งเป้าหมายแต่พอประมาณ : อย่าไปคิดว่าการลงทุนในหุ้นเป็นเรื่องที่ทำให้รวยได้ง่ายๆ และรวยเร็วๆ เป็นอันขาด เพราะถึงแม้ว่าหุ้นสามัญจะถือเป็นทรัพย์สินที่มีประวัติการสร้างผลตอบแทนเฉลี่ยได้สูงเป็นอันดับต้นๆ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าทุกๆคนจะได้ผลตอบแทนเป็น 100% ภายในระยะเวลาสั้นๆตลอดเวลา (เว้นแต่จะเป็นกลุ่มเก็งกำไรที่มีโชคดีช่วยเหลือหลายๆครั้งติดๆกัน) ซึ่งสถิติผลตอบแทนจากหุ้นสามัญโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 10-12% ต่อปี ดังนั้นการตั้งเป้าหมายการลงทุนไว้แต่พอประมาณ จะทำให้เราไม่เข้าไปติดบ่วงกับการซื้อขายหุ้นแบบเก็งกำไรตามสูตรรวยแบบเร็วๆแต่ฉาบฉวย เอาเป็นว่ารวยช้าๆแต่มั่นคงนั่นแหละดีที่สุดครับ

3. ลงทุนระยะยาว : ในระยะสั้น ตลาดหุ้นจะวิ่งขึ้นๆลงๆสลับกันไป ตามแต่ว่าจะมีข่าวดีหรือข่าวร้ายรายวันออกมา ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันเอาแน่เอานอนอะไรไม่ได้ ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะคาดการณ์ตลาดหุ้นในระยะสั้นว่าจะขึ้นหรือลงได้อย่างแม่นยำ ด้วยเหตุนี้เราจึงควรมุ่งเน้นไปที่การลงทุนระยะยาวที่จะสร้างความมั่งคั่งได้อย่างยั่งยืนมากกว่าการคิดที่จะรวยเร็วๆ ใครก็ตามที่ลงทุนซื้อหุ้นที่มีคุณภาพ ทำธุรกิจมีกำไร และมีการเติบโตต่อเนื่อง แม้ราคาของหุ้นไม่ได้ขยับขึ้นอย่างรวดเร็วอย่างที่ตัวเองคิดไว้ ก็ขอให้ใช้ความอดทนอีกสักหน่อย ศึกษาและทำความเข้าใจให้ชัดเจนว่าธุรกิจของหุ้นนั้นดีจริงๆเพื่อสร้างความมั่นใจให้ตัวเอง เพราะในที่สุดตลาดหุ้นในระยะยาวนั้นคือเครื่องชั่งน้ำหนักที่ค่อนข้างเที่ยงตรงสำหรับหุ้นที่มีคุณภาพดี

4. นิ่งสงบสยบเคลื่อนไหว (ซะบ้าง) : โลกของเราปัจจุบันนี้เป็นโลกแห่งข้อมูลข่าวสารมากมายที่รวดเร็ว ฉับไว จนบางครั้งก็เหนื่อยที่จะต้องติดตาม ยิ่งเป็นเรื่องของการลงทุนด้วยแล้ว ข่าวสารพวกนี้ยิ่งเยอะจนนับไม่หวาดไม่ไหว แค่ในประเทศยังไม่พอ ยังมีของต่างประเทศมาผสมโรงเข้าไปอีก ไหนจะดัชนีตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลก ตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ ราคาน้ำมัน ราคาทองคำ (เดี๋ยวต่อไปถ้ามีราคาน้ำส้มเข้มข้นมาให้ซื้อขายกันก็คงจะฮาดี) ข้อมูลพวกนี้เราจะเพลาๆการเสพลงบ้างก็ได้ เพราะความสามารถในการลงทุนในหุ้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับการที่เรารู้ว่าวันนี้ทองราคาเท่าไหร่ หรือพรุ่งนี้ดาวโจนส์จะขึ้นหรือจะลง แต่การทำใจให้สงบ ไม่หวั่นไหวไปกับข่าวสารมากมาย จะทำให้เรามีเวลามากขึ้นในการที่จะจดจ่ออยู่กับธุรกิจที่เราลงทุนอยู่ ว่ามีความเคลื่อนไหวอย่างไร มีจุดอ่อนหรือจุดแข็งเพิ่มขึ้นหรือไม่ สิ่งเหล่านี้จะทำให้นักลงทุนประสบความสำเร็จในระยะยาวได้มากกว่า แถมไม่ต้องปวดหมองกับข่าวสารที่มากเกินไปอีกด้วย

5. ทำตัวให้สมกับเป็นเจ้าของธุรกิจ : ขอยืนยัน นั่งยัน ตีลังกาขาคู่ยันอีกครั้งว่า หุ้นไม่ได้เป็นสินค้าสำหรับซื้อขายในตลาด แต่เป็นสิ่งที่แสดงถึงความเป็นหุ้นส่วน หรือความเป็นเจ้าของร่วมกันในธุรกิจของหุ้นนั้นๆ ดังนั้นเมื่อเราซื้อหุ้น เราก็เปรียบเสมือนเจ้าของธุรกิจคนหนึ่ง เราจึงควรทำตัวให้เหมือนกับผู้ที่เป็นเจ้าของธุรกิจพึงกระทำ เช่น ฝึกอ่านและวิเคราะห์งบการเงินให้เป็นนิสัย เพื่อสังเกตความผิดปกติทั้งในทางที่ดีและไม่ดีของธุรกิจของเราเอง หรือการวิเคราะห์อนาคตของธุรกิจว่าจะมีแนวโน้มเป็นอย่างไร ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้การลงทุนของเราตั้งอยู่บนความไม่ประมาท และมีโอกาสประสบความสำเร็จได้มากขึ้นอีกด้วย

6. ซื้อถูก ขายแพง : หลักการก็คือเมื่อหุ้นสูงปรับตัวสูงขึ้นทะลุฟ้าย่อมเป็นเวลาสำหรับการพิจารณาเพื่อขายหุ้น และเมื่อหุ้นปรับตัวลดลงราวกับว่ากำลังจะตกสู่ก้นเหว ย่อมเป็นเวลาสำหรับการพิจารณาซื้อหุ้นเพิ่ม อย่าหาความกลัวและความโลภมามีอิทธิพลเหนือการตัดสินใจของเรา และสิ่งที่จะต้องจำไว้ให้ดีก็คือประโยคที่ว่า "จงกลัวในขณะที่คนอื่นกล้า และจงกล้าในขณะที่คนอื่นกลัว" (วอร์เร็น บั๊ฟเฝ็ต)

7. อย่ายึดติดกับราคาหุ้น : นักลงทุนหลายต่อหลายคนที่ยึดติดอยู่กับราคาต้นทุนของหุ้นที่ตัวเองซื้อมา จนละเลยความจริงข้อหนึ่งที่ว่าราคาหุ้นจะวิ่งตามมูลค่าซึ่งขึ้นอยู่กับปริมาณกระแสเงินสดที่จะไหลเข้าสู่ธุรกิจเบื้องหลังหุ้นนั้นๆในอนาคต การยึดติดกับราคาหุ้นเพียงอย่างเดียวจะทำให้เราไม่ได้มองถึงมูลค่าที่แท้จริงของหุ้นนั้น และอาจตัดสินใจซื้อหรือขายผิดพลาดอย่างร้ายแรงได้ ดังนั้นเราจึงพิจารณาและติดตามผลประกอบการของธุรกิจ อันเป็นตัวสร้างมูลค่าที่แท้จริงของหุ้นจะดีกว่า

8. บริหารเก่งไม่สู้ธุรกิจดี : คุณสามารถเป็นนักขับรถฝีมือยอดเยี่ยม แต่ถ้ารถของคุณมีแรงม้าแค่ครึ่งเดียวของคู่แข่ง คุณก็แพ้เอาง่ายๆเหมือนกัน เช่นเดียวกันกับธุรกิจ แม้จะมีทีมบริหารที่มีฝีมือยอดเยี่ยม แต่กลุ่มคนเหล่านั้นอาจไม่สามารถแสดงศักยภาพของตัวเองออกมาได้หากมาบริหารธุรกิจที่ไม่มีอนาคต นอกจากนั้น การบริหารเป็นสิ่งที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว ผู้บริหารบางคนอาจเปลี่ยนงาน หรือลาออก หรือเปลี่ยนแปลงนโยบายอย่างฉับพลันได้ทั้งนั้น แต่ธรรมชาติของธุรกิจนั้นๆเป็นสิ่งที่ค่อนข้างคงที่และใช้เวลานานในการเปลี่ยนแปลงแต่ละครั้ง เลือกลงทุนในบริษัทที่ทำธุรกิจที่ดี มีอนาคต มีความได้เปรียบเหนือคู่แข่ง แม้มีการบริหารงานที่ธรรมดาๆ ดีกว่าลงทุนในบริษัทที่มีทีมผู้บริหารชั้นยอดในธุรกิจที่ไม่มีความได้เปรียบอะไรเหนือคนอื่นเลย

9. ระวังงูพิษ : งูพิษในที่นี้หมายถึงผู้บริหารที่ไว้ใจไม่ได้ การบริหารงานที่ไม่มีธรรมาภิบาลเพียงพอจะทำให้การลงทุนประสบกับความล้มเหลวได้อย่างง่ายดาย ดังนั้นจงหลีกเลี่ยงบริษัทที่ไม่มีธรรมาภิบาลในการดำเนินงาน เช่น บริษัทที่เอารัดเอาเปรียบลูกค้า หรือบริษัทที่มีการจ่ายผลตอบแทนให้กับผู้บริหารสูงเกินไป สิ่งเหล่านี้ล้วนแสดงออกถึงความมีลับลมคมในในการเอาเปรียบผู้ถือหุ้น จงหนีให้ห่างงูพิษเหล่านี้ครับ

10. ประวัติศาสตร์มักจะซ้ำรอย : แม้ผลประกอบการที่ดีในอดีตจะไม่สามารถการันตีได้ว่าผลประกอบการในอนาคตจะดีตามไปด้วย แต่ผลงานที่ดีเหล่านั้นของบริษัทก็พอจะเป็นเครื่องยืนยันได้ว่าวิธีการในการสร้างผลงานที่ดีจะยังคงอยู่ในกลยุทธ์ของบริษัทเสมอ ตัวอย่างเช่น บริษัทที่ประสบความสำเร็จจากการมองหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆในอดีต ย่อมจะยังคงใช้จุดแข็งของตนเองในการมองหาธุรกิจใหม่ๆต่อไปในอนาคตด้วยเช่นกัน ดังนั้นจงมองหาธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ และน่าจะประสบความสำเร็จต่อไปในอนาคตได้อย่างต่อเนื่องด้วยจุดแข็งที่สั่งสมจากความสำเร็จในอดีตนั้นๆ

11. เตรียมพร้อมตลอดเวลา : ธุรกิจที่ไม่ดีมักจะเสื่อมลงเร็วกว่าที่คุณคิด ดังนั้นเราต้องเตรียมตัวปรับการลงทุนโดยทันทีที่รู้ว่าการวิเคราะห์ธุรกิจของเราผิดพลาด แม้ว่าหุ้นของบริษัทนั้นจะมีราคาถูกมากก็ตาม เช่นเดียวกับในทางกลับกัน นักลงทุนในตลาดจะตอบสนองต่อธุรกิจที่แข็งแกร่งและมีทิศทางที่ดีในอนาคตอย่างรวดเร็วเช่นกัน จงระลึกไว้เสมอว่าให้ลงทุนโดยมีส่วนเผื่อของความปลอดภัยที่กว้างมากๆสำหรับธุรกิจที่กำลังมีปัญหา แต่ก็อย่ากลัวที่จะลงทุนในหุ้นที่มีส่วนเผื่อความปลอดภัยที่น้อยหน่อย แต่มีธุรกิจที่แข็งแกร่งอย่างยั่งยืน

12. เรื่องเซอร์ไพรซ์มักเกิดขึ้นได้เสมอ : ธุรกิจที่ดีมักมีเรื่องเซอร์ไพรซ์ในทางที่ดีอยู่เรื่อยๆ เช่นเดียวกับธุรกิจที่ไม่ดีก็มักมีเรื่องร้ายๆเข้ามากระทบอยู่เรื่อยๆเช่นกัน ควรระมัดระวังตัวโดยใช้หลัก "ทฤษฎีแมลงสาบ" กล่าวคือ เมื่อคุณเห็นแมลงสาบ 1 ตัวโผล่ออกมา อาจมีอีกหลายๆตัวแอบซ่อนอยู่รอบๆก็เป็นได้ ดังนั้นความประมาทด้วยการคิดง่ายๆว่า "เรื่องร้ายๆคงไม่เกิดขึ้นอีกแล้ว" จะเป็นหนทางไปสู่หายนะได้เสมอ

13. อย่าดื้อแพ่ง : มีเส้นกั้นบางๆที่คั่นระหว่าง "ความอดทน" กับ "ความดื้อแพ่ง" กล่าวคือความอดทนในการลงทุนมักจะเกิดขึ้นเมื่อนักลงทุนโฟกัสไปยังคุณภาพของบริษัทมากกว่าราคาหุ้น และปล่อยให้กระบวนการเป็นไปตามธรรมชาติ ถ้าหากการวิเคราะห์ธุรกิจของเราถูกต้อง และเราลงทุนในราคาที่ต่ำกว่ามูลค่า แม้ราคาหุ้นจะตกลงในระยะสั้น แต่ในระยะยาว หากเราอดทนได้เพียงพอ กำไรที่เติบโตของบริษัทจะทำให้ราคาหุ้นเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย แต่ในทางกลับกัน หากเราลงทุนแล้วมองข้ามความผิดปกติของบริษัท, ผลการดำเนินงานที่สาละวันเตี้ยลง และความผิดปกติบางอย่างของงบการเงิน การถือหุ้นนั้นยาวๆอาจเปลี่ยนจากการรู้จักอดทนเป็นความดื้อแพ่งไปได้ เพราะฉะนั้นนักลงทุนควรถามตัวเองอยู่เสมอว่า "บริษัทที่เราลงทุนอยู่นี่มีมูลค่าเท่าไหร่ ณ ปัจจุบัน และถ้าเรายังไม่ได้ลงทุนในบริษัทนี้เลย เราจะลงทุนที่ราคานี้หรือไม่?" คำถามแบบนี้จะช่วยให้คุณรู้จักอดทนในเวลาที่ควรจะอดทน และรู้จักเลิกดื้อแพ่งในเวลาที่ควรเลิก

14. ใช้สัญชาตญาณให้เป็นประโยชน์ : ในแวดวงการลงทุนนั้น มีสูตรการคำนวณหามูลค่าและราคาที่เหมาะสมของหุ้นอยู่หลากหลายรูปแบบ การเลือกใช้สูตรการคำนวณต่างๆตามความเหมาะสมและความถนัดของแต่ละคนถือเป็นเรื่องที่ดี อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องเชื่อสูตรต่างๆเหล่านั้น 100% เพราะการลงทุนในหุ้นเป็นเรื่องของการมองไปในอนาคตของธุรกิจ ซึ่งบ่อยครั้งเป็นเรื่องของศิลปะและความชำนาญส่วนบุคคลด้วย เราจึงควรใช้สูตรคำนวณบวกกับสัญชาตญาณในการวิเคราะห์ของเราให้เป็นประโยชน์จะดีกว่า

15. รู้ให้ชัดว่าใครเป็นมิตร และใครเป็นศัตรู : การพยายามเสาะหาข้อมูลเชิงลึกของบริษัทเป็นเรื่องที่สมควรทำ ตัวอย่างของข้อมูลเชิงลึกดังกล่าวเช่น ผู้บริหารของบริษัทมีหุ้นอยู่หรือไม่ มากน้อยแค่ไหน และกำลังซื้อเพิ่มหรือกำลังขายออกอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่ หรือ มีกองทุนรวมใดบ้างที่ลงทุนกับบริษัทแห่งนี้ และผู้จัดการกองทุนเหล่านั้นมีประวัติการทำงานเป็นเช่นไร เป็นต้น ข้อมูลเหล่านี้เป็นแหล่งอ้างอิงที่ดีได้ว่าคุณกำลังจะลงทุนร่วมกับคนที่เป็นมิตรหรือคนที่เป็นศัตรูกับคุณกันแน่ ทั้งนี้เพื่อจะได้หาทางหนีทีไล่ได้ถูกนั่นเองครับ

16. ระวังจุดสูงสุดเอาไว้ให้ดี : ข้อนี้เกี่ยวกับเรื่องของฟองสบู่ทางเศรษฐกิจต่างๆซึ่งมีมานานแล้ว และคาดว่าจะยังคงมีอยู่ต่อไปเรื่อยๆเป็นระยะในระบบทุนนิยม ไม่ว่าจะเป็นฟองสบู่จากการค้าดอกทิวลิปในช่วงคริสตศตวรรษที่ 17 หรือหุ้นในกลุ่ม IT และ internet ในช่วงทศวรรษ 1990 เป็นต้น ลักษณะที่เหมือนกันของแต่ละช่วงฟองสบู่ก็คือการที่นักลงทุนมองการลงทุนในสิ่งใดสิ่งหนึ่งในช่วงเวลานั้นเป็นการลงทุนที่ "ไม่มีวันแพ้" ดังนั้นเมื่อเราเห็นสภาพการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเราก็ควรหลีกเลี่ยงการลงทุนในสิ่งนั้นให้ไกล อย่าได้เข้าไปยุ่งกับกระแสน้ำที่กำลังเชี่ยวกรากให้เจ็บตัวโดยเด็ดขาด อีกลักษณะที่จะทำให้เราพอคาดการณ์จุดสูงสุดของตลาดหลักทรัพย์ได้บ้างก็คือการพบเห็นผู้คนกลุ่มใหญ่ที่ไม่ได้มีความรู้หรือพื้นฐานทางธุรกิจและการลงทุนเริ่มนำเงินของตัวเองเข้ามาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ด้วย ตัวอย่างเช่น พนักงานเปิดประตูโรงแรมเริ่มนำเงินที่ได้จากทิปไปลงทุนในหุ้น หรือคนขับแท็กซี่เริ่มพูดกับคุณเรื่องเล่นหุ้นมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นอาจเป็นสัญญาณว่าฟองสบู่ของเศรษฐกิจกำลังมาถึงจุดที่อันตรายเรียบร้อยแล้วก็เป็นได้

17. เน้นไปที่คุณภาพเสมอ : หากนักลงทุนเน้นไปที่เรื่องของคุณภาพของบริษัทเป็นสำคัญ หุ้นของนักลงทุนก็จะเป็นหุ้นของธุรกิจที่มีความได้เปรียบที่ยั่งยืนที่จะมีกำไรเพิ่มขึ้นได้อย่างต่อเนื่องในระยะยาว จงมีความอดทนเพียงพอและมองไปที่คุณภาพของบริษัทเสมอแม้ราคาหุ้นจะเปลี่ยนแปลงไม่แน่นอนก็ตาม การมุ่งเน้นไปที่ราคาหุ้นมากกว่าคุณภาพของบริษัทไม่ต่างอะไรกับการเล่นเกมส์การพนัน

18. อย่าซื้อในราคาที่แพงเกินไป : จำนวนเงินที่คุณนำมาลงทุนคือข้อแตกต่างสำคัญระหว่างบริษัทที่สุดยอดกับการลงทุนที่สุดยอด การค้นพบบริษัทที่ยอดเยี่ยม เป็นเพียงส่วนเดียวของการลงทุนที่ดี ลำดับต่อมาก็คือการศึกษาว่าเราควรซื้อที่ราคาเท่าไหร่ และนักลงทุนต้องรู้จักอดทนรอคอยที่จะซื้อที่ราคานั้นหรือต่ำกว่านั้น การลงทุนในหุ้นและธุรกิจที่ยอดเยี่ยมในช่วงที่ราคาของหุ้นมีโปรโมชั่นลดกระหน่ำซัมเมอร์เซลส์จะทำให้นักลงทุนประสบความสำเร็จทางการลงทุนได้อย่างแน่นอน

19. มี "ส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัย" อยู่เสมอ : อย่างที่ได้บอกไปแล้วว่าการลงทุนในหุ้นคือการคาดการณ์อนาคตของบริษัทที่เราลงทุนว่าจะสามารถสร้างรายได้และมีกำไรเพิ่มขึ้นได้มากน้อยแค่ไหนในอนาคต แต่เราก็รู้ๆกันอยู่ว่าอนาคตนั้นเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน อาจมีเรื่องไม่คาดฝันเกิดขึ้นและทำให้การคาดการณ์ของเราผิดพลาดได้เสมอ ดังนั้นเราจึงควรลงทุนแบบมี "ส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัย" เป็นเกราะป้องกันเอาไว้ด้วย การทำตามเคล็ดลับข้อที่ 18 อย่างเคร่งครัดจะทำให้การลงทุนของคุณมีส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัยได้เป็นอย่างดี

20. มีสติและอิสระทางความคิด : นักลงทุนที่ดีควรมีความเชื่อมั่นในการตัดสินใจของตัวเอง และไม่ถูกฝูงชนคนหมู่มากชักจูงความคิดของตนไปได้โดยง่าย ในเรื่องของการลงทุนนั้น ผู้ที่ประสบความสำเร็จไม่ใช่ผู้ที่ฉลาดที่สุด แต่เป็นผู้ที่มีสติสัมปชัญญะ รู้ตัวรู้ตนว่าตัวเองกำลังทำอะไร และไม่หวั่นไหวไปตามสิ่งรบกวนที่เข้ามากระทบ ถ้าหากนักลงทุนมีสติในขณะที่คนส่วนใหญ่กำลังเสียสติไปตามแรงซื้อแรงขายของตลาดหุ้น ความสำเร็จของนักลงทุนก็จะอยู่แค่เอื้อมครับ

from http://is.gd/aEsRPm


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความยอดนิยม (ล่าสุด)

บทความยอดนิยม (1 ปีย้อนหลัง)