05 มีนาคม 2554

ซาบีน่า...โรงเรียน "4 ดี" ..พูดดี คิดดี ทำดี เป็นคนดี

คิดดี พูดดี ทำดีและเป็นคนดี คือวัฒนธรรมองค์กรซาบีน่าที่ผู้บริหารตั้งโจทย์ให้พนักงานไปกระเพื่อมความคิดจนได้บทสรุปสู่ความสำเร็จที่ยั่งยืน

"ซาบีน่า" ไม่ใช่องค์กรขนาดเล็ก แต่เป็นองค์กรมีพนักงานหลายพันชีวิต อยู่ใน 4 โรงงานกับอีก 1 สำนักงานใหญ่

คนหลากรุ่น หลายวัย ต่างที่มาที่ไป ต่างความคิด การจะอยู่รวมกันโดยไม่ให้เกิดปัญหาใดๆคงเป็นไปได้ยาก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องงาน เรื่องคน ตลอดจนเรื่องส่วนตัว ล้วนสร้างอุปสรรคต่อการทำงานได้ทั้งสิ้น ทางออกในการแก้ไขปัญหา หาใช่บานประตูที่ติดป้ายว่า“กฎระเบียบ” แต่มันคือประตูที่ติดป้ายว่า “จิตสำนึก” ต่างหาก

ประตูแห่งจิตสำนึกที่เล่นซ่อนหากับพนักงานอยู่นี้ คือโจทย์ที่ผู้บริหารอย่าง "บุญชัย ปัณฑุรอัมพร" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทซาบีน่า จำกัด (มหาชน) จะต้องเป็นผู้นำทาง

“ในแต่ละวันเราต้องมานั่งแก้ปัญหาเรื่องคนเยอะมาก จึงต้องหาภูมิคุ้มกันให้กับพนักงานของเรา ซาบีน่าก็เหมือนโรงเรียน ที่ไม่ได้ทำหน้าที่แค่แข่งกันทำคะแนนสูงๆ เราไม่ได้มุ่งทำการค้าเพียงอย่างเดียว แต่เรายังปลูกฝังพนักงานตั้งแต่นิสัยใจคอ แนวความคิด ทัศนคติ การใช้ชีวิต ไม่เพียงมาทำงานแต่ต้องมีกิจกรรมและบรรยากาศที่จะทำให้พวกเขามีความสุข”

กลายเป็นการสร้างความชัดเจนในวัฒนธรรมองค์กรแบบซาบีน่า แต่การจะได้มาซึ่งวัฒนธรรมองค์กรที่ดีได้นั้น ไม่ใช่หน้าที่ของผู้บริหารเพียงคนเดียว ภารกิจนี้เป็นของพนักงานทุกคน ที่จะร่วมนำเสนอหนทางทำให้องค์กรดีขึ้นตามความคิดของพวกเขา

วิธีการที่ผู้บริหารซาบีน่าทำ คือตระเวนไปยังแต่ละสาขา เพื่อหาอาสาสมัครมาเป็นตัวหลักในการทำงานด้านวัฒนธรรมองค์กร โดยไม่เน้นว่าต้องเป็นคนระดับใด จะอยู่แผนกไหน ฝ่ายไหน ตัวเล็ก ตัวใหญ่ ก็อาสามาเป็นแกนนำทำเรื่องดีๆ ได้ทั้งนั้น เมื่อคัดหัวหน้าได้ ก็หาลูกทีมมาเสริมกำลังอีกทีมละ 10 ราย กลายเป็นตัวแทน"คนทำดี" ที่จะผลักดันเรื่องดีๆ ให้เกิดขึ้นกับองค์กรของพวกเขา

“งานนี้เราไม่มีผลประโยชน์ตอบแทนให้ เขาเข้ามาด้วยจิตอาสาจริงๆ การจะเราจะได้รับความจากพนักงาน เราต้องสะท้อนให้เขาเห็นว่า ความดีที่พวกเขาทำ จะเป็นประโยชน์ต่อองค์กรโดยรวมอย่างไร สุดท้ายผลก็จะส่งถึงตัวเขาเองด้วย ผมมองว่า คนเราไม่ได้ต้องการเงินเพียงอย่างเดียว บางครั้งเขาก็ต้องการขึ้นมาเป็นผู้นำ มาร่วมแก้ไขปัญหาให้กับสภาพแวดล้อมขององค์กร ก็เหมือนการทำบ้านของพวกเขาให้มีความสุข เขาก็ยินดีทำ”

บทสรุปจากความร่วมแรงร่วมใจของพนักงาน คือวัฒนธรรมองค์กร “4 ดี” คือ คิดดี พูดดี ทำดี และเป็นคนดี “เราต้องทำให้เขาคิดดีก่อน เมื่อคิดดี ก็จะนำมาสู่การพูดดี เมื่อพูดดีก็จะทำดี สุดท้ายเขาก็จะกลายเป็นคนดี ขององค์กร” เมื่อได้บทสรุปองค์กรน้ำดีแบบซาบีน่าแล้ว ก็ต้องมาคิดต่อยอด"วิธีการ" และ"กิจกรรม"เพื่อนำไปสู่ความดีทั้งสี่

ซึ่งเขาสรุปออกเป็น 8 วิธีการ ที่มีทั้งด้านบวกและด้านลบ "ควรทำ" และ "ไม่ควรทำ" เช่น การเพิ่มสติ เพิ่มความพอใจ เพิ่มการมองบวก ลดการเปรียบเทียบ ลดการเอาเปรียบ เป็นต้น

“ถ้าคนเรายอมเสียเปรียบ ก็มีแต่คนรักคนชอบ ยอมเสียคำพูดที่จะทำให้คนอื่นเสียหน้า หรือรู้สึกไม่ดีกับตัวเอง ก็จะสร้างกัลยาณิมิตรที่ดี หรือลดการมองลบ บางคนคิดไปเอง คิดลบตลอดเวลา เวลาเจอเรื่องอะไรไม่เคยมองว่าตัวเองผิดจะโทษแต่คนอื่น หากลดสิ่งเหล่านี้ได้ ก็จะทำให้เกิดสิ่งดีๆ ขึ้นกับตัวเขาและองค์กร เช่น การติฉินนินทากันจะน้อยลง มีความจริงใจให้กันมากขึ้น กล้าพูดคุยกันมากขึ้น สร้างบรรยากาศในการทำงานให้ดีขึ้น มีความเข้าใจซึ่งกันและกัน เกิดความสามัคคี ข้อผิดพลาดในงานจะลดลง นำไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมาย”

ไม่เพียงการทำงานจะดีขึ้น หากยังรวมถึง"ชีวิตส่วนตัว"ของทุกคน ผู้บริหารซาบีน่าบอกว่า ก็เหมือนการได้ “ชีวิตใหม่” กลับมา เมื่อคนเกิดทัศนคติใหม่ที่ดีกับชีวิต ครอบครัวก็จะดีขึ้น สุขภาพกายใจดี อายุวัฒนะก็จะตามมา แล้วกิจกรรมไหน ที่จะสร้างสิ่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้น ไอเดียต้องเริ่มและรุกโดยพนักงาน กลายมาเป็นกิจกรรมต่อเนื่องตลอดทั้งปี

เริ่มตั้งแต่ ไตรมาสแรกของปีนี้ เขาบอกว่า “ต้องนำด้วยธรรมะ” โดยการเชิญพระนักเทศน์ มากล่อมเกลาจิตใจพนักงาน ด้วยหัวเรื่องจะเป็นประโยชน์ต่อพนักงานมากที่สุด เช่น สอนเรื่องการรู้จักพอ ไม่เอาเปรียบ เป็นต้น

ไตรมาสสอง ยังเป็นฐานกิจกรรมจากไอเดียของพนักงาน ในรูปแบบของเกมสนุกๆ เพื่อให้ทุกคนเข้าใจคำว่า “4 ดี” มากขึ้น โดยแบ่งกิจกรรมออกเป็นแต่ละฐาน มีการตั้งโจทย์ ตอบคำถามและสะสมคะแนน แม้จะเป็นกิจกรรมสั้นๆ แต่ผู้บริหารซาบีน่าบอกว่า พนักงานจะซึมซับและเข้าใจความดีทั้งสี่ไปโดยไม่รู้ตัว

ไตรมาสสาม ก็ครีเอทออกมาเป็นการทำวีทีอาร์ประกวด ภายใต้โจทย์ องค์กร 4 ดี กิจกรรมสนุกๆแบบนี้ จะช่วยสร้างการมีส่วนร่วมของพนักงานได้ไม่ยาก นั่นคือเป้าหมายของซาบีน่า เพราะอย่างที่บอกว่า สิ่งเหล่านี้ต้องให้เริ่มต้นจากพนักงาน และทีมงานทุกคนต้องเป็นคนคิดและปฏิบัติด้วยตัวเอง จึงจะนำมาสู่ความสำเร็จที่ยั่งยืนที่สุด

“การให้เขาคิดกันเองตั้งแต่ต้น จะทำให้เขาทำสิ่งเหล่านี้โดยไม่รู้สึกว่าถูกบังคับ เพราะทั้งหมดมาจากความคิดของเขาเอง ต่างกับการที่เราออกเป็นนโยบายว่าเขาต้องทำอย่างโน้นอย่างนื้ หรือสั่งให้เขาทำ ซึ่งพวกเขาก็คงไม่อยากทำ”

การเกิดขึ้นของ “4ดี” จะสร้างอะไรให้กับองค์กรบ้าง ผู้บริหารซาบีน่ายกตัวอย่างง่ายๆ ว่า สมมติในทีมหนึ่ง มีคนงานลาออกไป ทำให้อีกคนต้องทำงานมากขึ้น เขาอาจรู้สึกว่าไม่แฟร์ ไม่พอใจว่าทำไมเขาต้องทำงานมากขึ้น ขณะที่ทีมอื่นยังทำงานเท่าเดิม เขาจะเริ่มคิดไม่ดี จากนั้นก็ทำไปสู่การพูดไม่ดี ไปนินทาให้คนอื่นฟัง สุดท้ายอาการต่อต้านก็แสดงออกมา ซึ่งเขาก็คงเป็นคนดีไปไม่ได้ เพราะคิดเปรียบเทียบอยู่ตลอดเวลา ผลงานที่ทำออกมาก็จะไม่ดีตามไปด้วย

แต่หากพนักงานคนเดียวกันนี้ กลายเป็นคนคิดดี พูดดี ทำดี และเป็นคนดี สิ่งที่เกิดขึ้นเขาจะไม่มองว่าเป็นปัญหา แต่จะเปลี่ยนมุมมองใหม่ว่า การมีคนหายไป จะเป็นโอกาสให้เขาได้เรียนรู้งานเพิ่มขึ้น เพราะไม่ต้องทำผ่านคนหลายๆ คน เมื่อยอมเสียเปรียบ สุดท้ายคนที่ได้ก็คือตัวเอง ท้ายที่สุดงานก็ต้องดีขึ้น เพราะเขาทำด้วยหัวใจ

“สิ่งที่เราต้องทำคือ ทำให้สิ่งเหล่านี้เข้าไปอยู่ในจิตสำนึกของเขาให้ได้ แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่าย ก็เหมือนกับน้ำ มีสีขาวกับสีดำ เราคงไม่สามารถเปลี่ยนน้ำให้เป็นสีขาวได้ทั้งหมด สิ่งที่ทำได้คือทำให้น้ำนั้นดำน้อยที่สุด วิธีการก็คือผสมน้ำดีเข้าไปให้มากขึ้น เพื่อให้สิ่งไม่ดีมันตกตะกอนไป เรื่องนี้มันยากแน่นอน แต่ถ้าเราไม่ยอมทำ ไม่ปลูกฝังในเรื่องพวกนี้ตั้งแต่วันนี้ ผมว่าอนาคตองค์กรก็จะต้องเหนื่อย”

สิ่งนี้เองทำให้ซาบีน่าต้องเดินหน้าเต็มที่ เพื่อขับเคลื่อนวัฒนธรรม “4 ดี” ผ่านการคิดเอง ทำเองของคนแบบซาบีน่า ไม่จำเป็นต้องอาศัยที่ปรึกษามือวางอันดับหนึ่งจากที่ไหน พวกเขาไม่เคยต้องเสียเงินให้กับเรื่องพวกนี้ ด้วยเหตุผลแค่ว่า

“ให้ใครมาทำเรื่องพวกนี้ ก็คงไม่มีใครอินเท่าเราทำกันเอง”

การสร้างคนดีป้อนองค์กร ยังเกิดขึ้นควบคู่ไปกับการกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) ที่ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการผลิตชุดชั้นในราคาไม่แพงสำหรับผู้ป่วยมะเร็งเต้านม การทำ CSR กับเด็ก ๆ ผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ที่สอนเรื่องการออม การรักษ์โลก ก่อนขยายต่อสู่ “มูลนิธิคุณแม่จินตนา” เพื่อมุ่งมั่นทำกิจกรรมเพื่อสังคมได้ชัดเจนมากขึ้น

สำหรับบุญชัย องค์กรที่ดี ไม่ต่างจากโรงเรียนที่เด็กเข้าไปเรียนแล้วรู้สึกประทับใจ แม้หน้าที่หลักคือการมาเรียนหนังสือ แต่โรงเรียนยังให้ความสุขกับเด็กในมุมอื่น เช่น มีกิจกรรมให้ทำ ได้เจอเพื่อนดีๆ คุณครูที่น่ารัก เลิกเรียนก็ไม่อยากกลับบ้าน

เป้าหมายของผู้บริหารก็คือต้องทำให้ “ซาบีน่า” เป็นสถานที่แห่งความสุข ที่พนักงานทุกคนจะประทับใจ .

from http://bit.ly/dNqIhC


1 ความคิดเห็น:

บทความยอดนิยม (ล่าสุด)

บทความยอดนิยม (1 ปีย้อนหลัง)