10 มีนาคม 2554

เมื่อวัยรุ่น วุ่นเรื่องเงิน

ความรักกับเงินตราผสมกลมกลืนกันจนแยกไม่ออก โดยเฉพาะวัยรุ่นที่ใช้เงินซื้อทุกอย่าง แต่แหล่งเงินนั้นมาจาก "ตู้ ATM ประจำบ้าน" จะทำอย่างไรกันดี

พฤติกรรมจับจ่ายมือเติบไม่ได้กำลังระบาดในกลุ่มคนวัยทำงาน หรือผู้ประสบความสำเร็จด้านการเงินเท่านั้น ปัจจุบันกระแสทุนและวัตถุนิยมกลับสร้างนักช้อปเลือดใหม่ขึ้นมากมาย แต่ที่ลดน้อยถอยลงไปคือตัวเลขอายุของนักช้อปเหล่านี้


เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ดร.รัชดา ธนาดิเรก ส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์ ออกตัวเป็นแกนนำจัดสัมมนา "เงินในกระเป๋า กับรักของเรา" ณ โรงแรมรอยัล ซิตี้ โดยเชิญ สุพิชา สอนดำริห์ บก.นิตยสารคลีโอ และอุไรวรรณ นพคุณ เจ้าของร้านอาหาร "อัธยาศัยดี" มาร่วมให้ความรู้แก่น้องๆ วัยรุ่นนักเรียนหญิงกว่า 200 คน จากโรงเรียนต่างๆ


เหตุแห่งการเสียเงินนั้นมีหลากหลายอย่าง อันที่จริงทุกกิจกรรมที่ทำล้วนดูดดึงเงินออกจากกระเป๋าได้ทั้งสิ้น ตั้งแต่ก้าวแรกที่ออกจากบ้านก็ต้องเสียค่ารถโดยสารแล้ว โทรศัพท์นัดเพื่อน กินข้าวนอกบ้าน ซื้อของ ซื้อเสื้อผ้า เที่ยวกับแฟน ซื้อขนม แชทบีบี เล่นอินเทอร์เน็ตบนมือถือ นานัปการ


อุไรวรรณ เล่าเกี่ยวกับเส้นทางที่จะนำพาวัยรุ่นไปสู่การเที่ยวเตร่ จากประสบการณ์ตรงซึ่งพบเจอเมื่อครั้งอดีตก่อนจะกลับลำทันแล้วผันตัวเองกระทั่งประสบความสำเร็จได้ในธุรกิจร้านอาหารว่า


"เมื่อก่อนไปเที่ยว RCA แต่เด็กเดี๋ยวนี้คงไปแถวรัชดาฯ มากกว่า อายุ 15 ก็เข้าได้แล้ว ถ้าไม่มีบัตรก็จ่าย 300 เด็กบางคนต้องขอเงินพ่อแม่ไปจ่ายตรงนั้นเพื่อให้ได้อยู่ในสังคมเพื่อน ตอนไปก็มีความสุขหรอก แต่จะไม่มีความสุขตอนที่พ่อแม่ไม่ให้เงินไป เด็กบางคนอยากไปจริงๆ ก็ดิ้นไปเรื่อยๆ ก่อให้เกิดการขโมย และปัญหาในสังคมทุกวันนี้"


ด้าน ดร.รัชดา บอกว่า "น้องๆ อาจจะคิดว่าเรื่องหนี้สินเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ ยังมาไม่ถึงตัว เวลาคุณพ่อคุณแม่เป็นหนี้ก็เป็นเพราะพ่อแม่ก่อหนี้สินเอง แต่อย่าลืมนะว่า ค่าเล่าเรียน ค่าเสื้อผ้า หรือว่าเงินที่เราไปหลอกพ่อแม่ว่าเอาไปทำรายงาน ซื้อคอมพิวเตอร์ ถ้าไม่มีคอมพิวเตอร์จะทำรายงานไม่ได้บ้าง อยากได้นั่นได้นี่บ้าง ความอยากของเรามันก็สร้างภาระให้พ่อแม่ได้ น้องๆ อย่าคิดว่าหลอกขอเงินไปเที่ยวนิดๆ หน่อยๆ เป็นเรื่องเล็ก จริงๆ แล้วเป็นปัญหาของครอบครัวได้...เราเคยถามตัวเองไหมว่า ถ้าไม่มีคนอื่นให้เงินเรา จะหาเงินสักสิบบาทจากไหน"


กิจกรรมของวัยรุ่นอาจดูเหมือนสร้างความลำบากแก่กระเป๋าสตางค์ แต่จริงๆ ทุกช่วงของชีวิตล้วนมีกิจกรรมอันต้องเสียเงินเป็นกิจวัตร ใครจะเชื่อว่าความรักความห่วงใยที่ผู้หญิงมีอย่างยิ่งใหญ่จะสร้างหนี้สินได้อย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว


บก.นิตยสารคลีโอ กล่าวถึงงานวิจัยทั้งหลายที่บอกว่า ผู้หญิงวันนี้อยู่ในกลุ่มคนยากจนมากที่สุดในโลก หนึ่งคือมีอายุยืนกว่าผู้ชาย 6-7 ปี สองคือความรักที่ผู้หญิงรักจะรักแบบถวายหัว เวลาแต่งงานแล้วทำงานได้เงินมา 100 บาท จะใช้จ่ายไปกับครอบครัวถึง 80 บาท ต่างกับผู้ชายที่ใช้จ่ายกับครอบครัวเพียง 50 บาทเท่านั้น


"วันนี้ช่วงเวลาที่เรารักกันกระเป๋าสตางค์จะเป็นใบเดียวกัน อยากได้อะไรก็ซื้อให้ แต่วันหนึ่งถ้าเขาทิ้งเราไป ไปมีคนอื่น แล้วเราไม่มีเงินเก็บออมของเราเลย จะอยู่ยังไง ถ้าเราไม่มีเสรีภาพทางการเงิน ต้องไปพึ่งพาเงินคนอื่น โอกาสที่เราจะไม่ได้รับเกียรติ ศักดิ์ศรี เป็นไปได้สูง เคยไหมที่เวลาเราไปขอเงินใคร จะโดนดูถูก" ดร.รัชดา กล่าว


คล้ายว่าต้นเหตุของปัญหากำลังถูกขุดขึ้นมาเปิดเผยต่อหน้าเยาวชน แต่นั่นก็ทำให้เด็กบางคนสะดุ้งสะเทือนกับเรื่องราวของตนที่บังเอิญตรงกับสิ่งที่ผู้ใหญ่ใจดีบอกเล่า


การแก้ไขจะถูกทางได้ก็ต้องมองเห็นปัญหาเสียก่อนเพื่อจะแก้ได้ทั้งองคาพยพ ดร.รัชดาจึงให้นักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมแบ่งกลุ่มย่อย เพื่อเปิดลู่ทางเข้าถึงปัญหาได้ง่ายขึ้น หลังจากนั้นให้ร่วมกันประมวลรายรับ รายจ่าย ทั้งหมดในแต่ละเดือนแล้วถ่ายทอดลงกระดาษแผ่นใหญ่ เพื่อหาค่าความเสี่ยงว่าจะ "มี" หรือ "อด" แล้วมาแลกเปลี่ยนกัน


ผลคือส่วนใหญ่เสียเงินไปกับค่าของใช้ส่วนตัว ค่าอินเทอร์เน็ต ค่าเรียนพิเศษ (ซึ่งมีเกือบทุกกลุ่ม) ค่าดูหนัง ฟังเพลง ร้องคาราโอเกะ ซึ่งสะท้อนค่านิยมอะไรบางอย่างในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เสพสิ่งฉาบฉวย ตอบสนองความ "อยาก" มากขึ้นเช่นกัน


แต่ใช่ว่าปัญหาจะไม่มีทางออก เมื่อผลความเสี่ยงที่คิดคำนวณออกมาปรากฏว่า บางกลุ่ม "อด" ถ้าไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่าย ทางออกหลายต่อหลายทางถูกหยิบยกมาเป็น "ทางรอด" ให้แก่เยาวชนมือเติบบางกลุ่ม ซึ่งนำไปต่อยอดกับการใช้จ่ายได้ทุกช่วงวัย


"คิดให้ดีว่าสิ่งที่เราอยากได้ จำเป็นหรือไม่ แค่ไหน ? ต้องเป็นของมียี่ห้อด้วยหรือ เราซื้อของหรือเราซื้อยี่ห้อ" ดร.รัชดากล่าวอย่างห่วงใย


ภัสสรา กลิ่นเรณู นักเรียนโรงเรียนมัธยมวัดนายโรง แลกเปลี่ยนประสบการณ์ว่า "ยอมรับว่าเป็นคนใช้เงินฟุ่มเฟือยมาก อยากได้อยากมีทุกอย่าง วันนี้ได้รู้ว่า กว่าที่พ่อแม่จะได้เงินมาแต่ละบาทมันยากมาก อยากให้เพื่อนทุกคนคิดก่อนใช้ เราจำเป็นต้องใช้หรือเปล่า ถ้าไม่จำเป็นก็ตัดมันทิ้งไป เราอย่าใช้อารมณ์ซื้อของ แต่ควรใช้เหตุผลซื้อของ"


สุดท้ายก่อนซื้อของคงต้องชั่งใจสักนิดว่า "อยากได้หรือว่ามันจำเป็น"

from http://bit.ly/f5UcZH


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความยอดนิยม (ล่าสุด)

บทความยอดนิยม (1 ปีย้อนหลัง)