List บทความที่เกี่ยวข้อง
คำถามที่ฮอตฮิตติดปากผู้สัมภาษณ์งานที่เราคุยไว้ 4 ข้อได้แก่
1. เล่าเรื่องตัวเองให้เราฟังหน่อยค่ะ
2 แล้วทำไหมถึงจะออกจากงานปัจจุบัน
3 ทำไมเราควรจ้างคุณคะ
4 คาดว่าจะทำอะไรในอีก 5 ปีข้างหน้า
คำถามเหล่านี้ตอบแบบง่ายๆ พื้นๆก็ได้ แต่จะตอบ แบบ “เป็น” แบบได้ใจ ต้องใช้เวลาในการเรียบเรียง
วันนี้มาไล่เรียงดูข้อสอบเพิ่ม จะได้ไม่รู้สึกว่าถูกขึ้นเขียง ยามถูกสัมภาษณ์เจาะใจ
5 จุดอ่อนที่สำคัญของคุณคืออะไร
นี่คือคำถามยอดนิยม เตรียมคำตอบคมๆไว้ได้เลยค่ะ
สิ่งที่อาจหลีกเลี่ยง คือคำตอบแบบแสนใสซื่อ อาทิ
“หนูเป็นคนที่ไม่ใส่ใจในรายละเอียดค่ะ”
แนวทางการตอบ น่าจะคุยประเด็นเน้นจุดอ่อนที่เราเข้าไปแก้ไขได้แล้ว เช่น
“ในอดีต ดิฉันมักประหม่าเวลาที่ต้องพูดและนำเสนอข้อมูลต่อหน้าคนจำนวนมาก จึงตั้งใจพัฒนาทักษะนี้ โดยได้เข้าเรียนเรื่องทักษะการนำเสนอ และหาโอกาสฝึกฝนมาโดยตลอด ปัจจุบันเชื่อว่าทำได้ดี แม้จะยังมีกังวลอยู่บ้างก็ตามค่ะ”
6 คุณชอบทำงานแบบไหนคะ
คำตอบที่ฟังเวิ้งว้าง ว่างเปล่า มีอาทิ
“ชอบการทำงานแบบท้าทาย” “ชอบทำงานที่ได้พบปะผู้คน” “ชอบทำงานที่ต้องใช้ความรู้ความสามารถ”
เตรียมคำตอบที่เฉพาะเจาะจง และถือโอกาสเล่าให้ฟังถึงประเด็นที่โยงใยกับงานที่เราสนใจ น่าจะทำแต้มเพิ่มได้ไม่ยาก เช่น
“ผมชอบทำงานเป็นทีม เพราะปัจจุบันการทำงานต้องอาศัยความรู้และความร่วมมือจากหลายฝ่าย เช่น การทำงานด้านการตลาด จำเป็นต้องเป็นทีมใกล้ชิดกับฝ่ายต่างๆ เช่นฝ่ายขาย ฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์ ตลอดจนฝ่ายวางแผน เป็นต้น”
7 คุณไม่ชอบทำงานแบบไหนเอ่ย
คำตอบที่มีความเสี่ยง มีอาทิ
“ดิฉันไม่ชอบทำงานที่มีขั้นตอนมาก เพราะทำให้ช้า และประสิทธิภาพต่ำ”
“ดิฉันไม่สบายใจที่ต้องทำงานในที่ๆ มี “การเมือง” มากมาย เพราะไม่โปร่งใส ไม่ได้วัดกันด้วยฝีมือ”
คำตอบเหล่านี้ถือว่ามีความเสี่ยงเพราะ ไม่ว่าองค์กรไหนๆ ก็คงมี “ขั้นตอน” หรือ “การเมือง” บ้างไม่มากก็น้อย
เมื่อบอกว่าเบื่อหน่าย ไม่ชอบเรื่องที่อาจมีในองค์กรเขาเช่นกัน จึงมีความเป็นไปได้สูงว่าผู้ถามจะเริ่มระแวงแคลงใจว่า เมื่อมาเจอเจ้า “ขั้นตอน” “การเมือง” หรือไม่ว่าสิ่งใดที่เราเลือกตอบ ในองค์กรของเขา เรามิถอดใจให้เขากลุ้มใจหรืออย่างไร
ดังนั้นหากอยากได้งานใหม่นี้ อาจระมัดระวัง เลือกตอบ เลี่ยงใช้ประเด็นที่เห็นว่าไม่เสี่ยงมาก เช่น
“ดิฉันชอบงานที่ทำปัจจุบัน แต่การที่เป็นองค์กรเล็ก รับผิดชอบงานหลายอย่าง ส่งผลให้ไม่สามารถมุ่งทุ่มเทให้เป็นผู้รู้จริงเฉพาะด้านได้ ประเด็นที่ไม่สบายใจ คือ การยังไม่ได้ใช้ศักยภาพของตัวเองอย่างเต็มที่”
8 เพื่อนๆคุณมักอธิบายว่าคุณเป็นคนอย่างไร
คำตอบที่เสียดายโอกาส อาจเป็น
“เพื่อนๆ มักเห็นว่าดิฉันเป็นคนมีความอดทนสูง”
ที่น่าเสียดายคือ จังหวะนี้ถือเป็นอีกหนึ่งโอกาสที่จะใช้คำตอบโน้มน้าว โยงใย ให้เห็นว่าเรามีจุดแข็ง ที่แซงโค้งคู่แข่งที่อยากแย่งงานนี้ไปจากเรา
คำตอบที่เจ๋งกว่า น่าจะเป็น
“คนที่รู้จักดิฉันดีมักมีความเห็นว่าดิฉันมีความมุ่งมั่น อดทน อาทิ เพื่อนที่ทำงานให้สมญานามว่า “หญิงอึด”ตัวอย่างเช่น เคยต้องขอข้อมูลที่บริษัทต้องการด่วนจากหน่วยงานของรัฐแห่งหนึ่ง ต้องใช้ความพยายามติดต่อ ขอร้อง จนในที่สุดเจ้าหน้าที่ใจอ่อน ให้ความร่วมมือ จนบริษัทมีข้อมูลครบถ้วนในการตัดสินใจ”
9 คุณต้องการเงินเดือนเท่าไร
เมื่อไปสัมภาษณ์งาน อย่างไรๆก็คงต้องเตรียมตอบคำถามนี้
คำตอบแบบที่ควรหลีกเลี่ยง คือ
“เอ่อ...คือ เท่าไหร่ก็ได้ แล้วแต่จะพิจารณาค่ะ”
เพราะฟังดูอ่อนโยนติดอ่อนแอไปเล็กน้อย
คนยุคใหม่ต้องทำตัว “สวยเลือกได้” แบบอ่อนนอก แข็งใน
หากยังไม่ถึงเวลาต่อรองตัวเลขชัดเจน อาจมาในแนว
“ดิฉันเชื่อว่าบริษัท...เป็นองค์กรชั้นนำระดับแนวหน้า คงมีระดับเงินเดือนที่เป็นมาตรฐานในอุตสาหกรรมเวชภัณฑ์
เงินเดือนที่ได้อยู่ปัจจุบันคือ...บาท จึงคาดหวังว่าในความรับผิดชอบใหม่ จะได้เพิ่มประมาณ...เปอร์เซ็นต์”
โดยเว้นที่ไว้เผื่อเจรจา ซึ่งถือเป็นเรื่องธรรมดาของการหางาน
คำถามยังมีอีกมากมาย วิธีง่ายๆในการเตรียมตอบข้อสอบ คือ ตอบโดยเข้าไปนั่งในใจเขา แทนการนึกถึงแต่ตัวเราว่าต้องการอะไร
ที่สำคัญ การตอบอย่างเข้าใจใส้พุงของผู้ถาม ด้วยศิลปะของผู้เชี่ยวชาญโดยทำการบ้านมาก่อน ต่างจากการหลอกเขา ซึ่งเท่ากับหลอกตัวเอง
โกงข้อสอบ แม้ได้คะแนนดี แต่โลกนี้...ไม่มีความลับค่ะ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น