Pages

Pages

16 พฤษภาคม 2554

เฉลยข้อสอบสัมภาษณ์งาน 3

List บทความที่เกี่ยวข้อง
  • เฉลยข้อสอบสัมภาษณ์งาน (1) Link
  • เฉลยข้อสอบสัมภาษณ์งาน (2) Link
  • เฉลยข้อสอบสัมภาษณ์งาน (3) Link



เราเคยคุยกันเรื่องแนวทางการเตรียมตัวเตรียมใจให้คำตอบยามไปสมัครงาน ไม่ว่าจะเป็นมือใหม่ หรือท่านที่เห็นว่าได้เวลาต้องขยับขยาย ย้ายงาน

ย้ายหน้าที่ โดยมีผู้อ่านหลายท่าน ได้สอบถามเพิ่มเติมถึงบางประเด็นอย่างเจาะจง ว่าจะหาที่ลงอย่างไร ขอให้ขยายความ

สัปดาห์นี้จึงขออนุญาตเล่าเพิ่มเติมถึงหัวข้อหนึ่ง ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์กับท่านผู้อ่านโดยรวมค่ะ

“คุณอยากเป็นอะไรใน 5 ปีข้างหน้า”

อูลาล่า! เตรียมหาคำตอบไว้ได้เลยค่ะ

ก่อนอื่นใด ไม่ว่าใครจะมาถามเราเรื่องนี้หรือไม่ เราก็ควรตอบตัวเองได้ ไม่ต้องรอให้ใครมาไล่เรียงเหมือนถูกขึ้นเขียง ได้แต่ตอบเสียงอ่อยๆ เพราะไม่ค่อยเคยใช้เวลา “ค้นหาตัวเอง”

ใช่เลยค่ะ หัวใจคือ ต้องค้นหาตัวเองให้พบ จะได้ไม่เป็นมนุษย์สายพันธุ์ผักตบ ที่ลอยฟ่องล่องไป ไหลเอื่อยเรื่อยๆ ตามกระแสน้ำ ค่ำไหนนอนนั่น ทิ้งฝันไว้ที่ฝั่ง ฟากที่เหมือนแสนห่างไกล เพราะจำไม่ได้ว่าเคยคิดอยากเป็นอะไร

ลองหาเวลาตั้งหลัก พักจากความวุ่นวาย ตอบตัวเองให้ได้ว่า

เราให้ความสำคัญเรื่องอะไร เป้าหมายชีวิตคืออะไร

เป้าหมายเรื่องงานที่จะสอดประสานกับเป้าหมายชีวิต และสิ่งที่เราให้ความสำคัญคืออะไร

ต้องทำอะไรเพื่อให้ได้เป้าหมายนั้น

สำหรับมือใหม่ในการทำงาน หากตอบไม่ได้ทันที ไม่ต้องกังวลค่ะ เพราะคนทำงานรุ่นเก๋าจำนวนไม่น้อย ก็มิได้ค่อยเคยไล่เรียง หรือเลียบเคียงถามตนเองเช่นเดียวกัน

แม้เราได้ถามตนเองอย่างตั้งอกตั้งใจ คำตอบก็ไม่ได้มาง่ายๆ ตลอดจนหากได้คำตอบแล้ว เมื่อกาลเวลาพ้นผ่าน คำตอบอาจเปลี่ยนไปตามสภาวะแห่งความเป็นจริง เพราะชีวิตไม่เคยนิ่ง

เอาเป็นว่า เมื่อได้แนวทางแล้ว จะวางหมากอย่างไรดี เมื่อต้องตอบคำถามนี้ตอนที่ถูกสัมภาษณ์

ประเด็นแรก คือ การตอบแบบหลอก กลอกกลิ้งไปมา เป็นวิธีที่อาจทำให้ได้ความสำเร็จระยะสั้น แต่ในระยะยาว ที่เราหลอกใครๆ ไว้ ไม่น่าจะปิดมิด ทั้งหลอกใครอาจหลอกไหว แต่หลอกตัวเองได้ไม่น่าสนุก

แต่ ตอบอย่างไร้ศิลปะ กะว่าฉันแน่ ฉันเป็นของฉันเช่นนี้ ถามจริงตอบตรง พี่รับได้ก็ดี รับไม่ได้ ก็...ปัญหาของพี่ ก็ถือเป็นวิธีหนึ่งในการรับมือกับคำถาม เหมาะกับกรณีที่ไม่ง้องาน จึงไม่ต้องทำการบ้าน ไม่ต้องเตรียม ไม่ต้องไตร่ตรองให้เปลืองสมอง เพราะที่บ้านเลี้ยงผมได้จนแก่ครับ

ดังนั้น ศิลปะของความ "พอดี" เป็นศิลปะที่คนทำงานต้องเรียนรู้ เพราะต้องใช้ศิลปะนี้อีกมากมายนักในชีวิต

ความพอดีในการตอบคำถามนี้ มีข้อแนะนำคือ



1. เข้าใจว่าผู้สัมภาษณ์ต้องการได้ข้อมูลใดจากการถามคำถามนี้

ผู้ถาม คงอยากได้ข้อมูลหลายชั้น ที่กลั่นได้จากคำถามเดียว

- คนนี้เห็นเราเป็นทางผ่านหรือไม่ จะต้องเหนื่อยกายเหนื่อยใจหาคนใหม่ในอนาคตอันใกล้หรือไม่ ฟังได้จากฝันอีก 5 ปี เช่น ตอบว่า พี่ขา หนูอยากมีกิจการเป็นของตนเองภายใน 5 ปี ผู้สัมภาษณ์คงฟันธงง่ายว่า ขอให้ไปที่ชอบๆ ขอบคุณครับ

- ผู้สัมภาษณ์อยากรู้ว่าสิ่งที่ผู้สมัครฝันใฝ่ ไปได้เหมาะไหมกับงานนี้

อาทิ งานนี้เป็นงานวางแผน งานวิเคราะห์ แต่น้องหนู "อยากทำงานกับคนหมู่มาก ได้พบปะผู้คน ได้ดูแลลูกค้า" ท่านคงแนะนำว่าหางานที่เหมาะกับแนวหนู ดูจะไปได้ไกลกว่า

- ผู้สัมภาษณ์อยากเข้าใจพฤติกรรมของผู้ถูกสัมภาษณ์ว่าวางแผนเป็นไหม มองไกลหรือไม่ มุ่งมั่นขนาดไหน

การตอบอย่างหนักแน่น หรือเลื่อนลอย ฝอยฟุ้ง ล้วนสะท้อนตัวตนคนพูด

ดังนั้น หากทำการบ้านและช่างสังเกตผู้ถาม เราน่าจะสามารถวางขอบเขตการตอบได้พอเหมาะ โดยทั้งเจาะใจผู้สัมภาษณ์ และไม่ต้องใช้ศาสตร์ของการด้นสด หรือโป้ปดหมดทุกข์

ทำการบ้าน เช่น หากเป็นตำแหน่งการขาย หรือ ขยายธุรกิจ ผู้ครองตำแหน่งคงต้องกล้าก้าว กล้ารุก กล้าบุกไปข้างหน้า กล้าฟันธง

ยิ่งทำความเข้าใจบทบาทของผู้สัมภาษณ์ ยิ่งอ่านสถานการณ์ได้ขาด เช่น ท่านเป็นผู้รับผิดชอบเป้าหมายการขยายธุรกิจ ทั้งมีลีลาที่ดูรวดเร็ว มุ่งมั่น ตรงประเด็น เมื่อตอบ กรุณาอย่าพิรี้พิไร ไม่ต้องเลียบค่าย อ้อมคู

"ผมหวังว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า จะเป็นผู้ที่มีส่วนสำคัญในการขยายธุรกิจของบริษัท โดยใช้ประสบการณ์ด้านการขายเป็นพื้นฐานของการเข้าใจลูกค้า ตลาด และคู่แข่ง ทั้งในปัจจุบันและอนาคตอย่างรู้จริง"

หากผู้ถามเป็นฝ่ายบุคคล ดูลีลาอารี ไม่รุกไล่ ใส่ใจความรู้สึก ผู้ตอบอาจเสริมประเด็นเรื่องคน ปนไปอย่างกลมกลืน อาทิ

"ผมหวังว่าในอีก 5 ปี จะช่วยนำพาทีมพัฒนาธุรกิจไปสู่ความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน ต้องทำงานร่วมกับฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างระบบที่จะรองรับการเติบโต จะได้สามารถขยายงานอย่างมีรากฐานที่มั่นคง และยืนยงในอนาคต"



2. เน้นการเรียนรู้และพัฒนา

ในโลกปัจจุบันของการทำงาน ทุกคนอยู่เฉยกับที่ไม่ได้ โดยเฉพาะเรื่องความรู้ ความชำนาญ ตลอดจนวิชาการที่ไม่เคยอยู่นิ่ง วิ่งหนีเราตลอด

ดังนั้น พลาดยาก หากตอบคำถามนี้ โดยเน้นประเด็นการพัฒนา อย่างไม่จำเป็นต้องฟันธงขาด แบบเทกระจาดว่า

“ผมมองตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขายไว้ในอีก 5 ปีข้างหน้า” (โดยลืมนึกไปว่าผู้สัมภาษณ์อยู่ในตำแหน่งนี้ และยังไม่มีทีท่าว่าจะได้เลื่อนไปที่ใดในอนาคตอันใกล้)

โดยอาจตอบแบบแสดงความจริงใจว่า “ผมอาจไม่สามารถกำหนดได้ว่าจะอยู่ในตำแหน่งใดใน 5 ปี แต่ที่ตั้งใจอยากทำเต็มที่ คือเพิ่มทักษะและความเชี่ยวชาญในการขาย ตลอดจนการบริหารทีมขาย เพื่อในอนาคตจะได้มีโอกาสเป็นหัวหน้างานที่มีประสบการณ์ช่ำชอง ทั้งด้านเนื้องานและการบริหารคน” เป็นต้น

ย้ำอีกครั้งว่า ทั้งหมดที่เราคุยกัน มิได้เน้นการปดหรือปิดบัง แต่ฉลาดเลือกประเด็น ฉลาดพูด และฉลาดอารมณ์ เพื่อเข้าถึงผู้ฟัง ให้ได้ทั้งใจ และได้ทั้งงาน

เพราะการแข่งขันวันนี้ เก่งงานและรู้ตัวของตนคนเดียว น่าจะเหี่ยวแห้งหัวโต

ต้องเสริมความอ่อนนอก แต่แกร่งใน ทั้งเก่งคน เก่งโน้มน้าวจิตใจ...ไปไหนๆ วงไม่แตกค่ะ



ที่มา http://is.gd/VsYJCd


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น