เมื่อเศรษฐกิจโดยรวมเริ่มฟื้นตัว ผลิตภัณฑ์เหล็กถูกคาดหมายว่าจะมีความต้องการเพิ่มสูงขึ้น จะทำให้ราคาเหล็กปรับสูงขึ้น นั่นหมายความว่าผลการดำเนินงานของผู้ประกอบการจะออกมาสวยงาม ผลลัพธ์จะสะท้อนออกมาผ่านราคาของหุ้นกลุ่มเหล็ก
ปีนี้มีการประเมินกันว่าความต้องการเหล็กทั้งโลกจะเพิ่มขึ้นอย่างน่าประทับใจเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว เนื่องจากเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว เช่นเดียวกับความต้องการใช้เหล็กในประเทศไทย โดยสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย ประเมินอัตราการเติบโตของการบริโภคเหล็กในประเทศปีนี้ว่าจะเติบโตขึ้น 9-14% หรือมีการบริโภคเหล็กราวๆ 15.5 ล้านตัน
อุตสาหกรรมที่ผลักดันให้ความต้องการเหล็กดูดีในปีนี้ ได้แก่ ก่อสร้าง โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ๆ เช่น รถไฟฟ้าสายสีม่วงและสีน้ำเงิน และอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่ยังคงมีการเติบโตสูง
"ทั้ง 2 อุตสาหกรรมมีการใช้เหล็กในปริมาณสูง ดังนั้นหากมีการขยายตัวจะทำให้อุตสาหกรรมเหล็กขยายตัวตามไปด้วย" ประสิทธิ์ รัตนกิจกมล CFA, CISA รองผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส กล่าว
สำหรับราคาเหล็ก หากอ้างอิงจาดตลาดโลก ได้ปรับตัวขึ้นมาพอสมควร โดยราคาเหล็กแผ่นรีดร้อนปรับขึ้นประมาณ 22% จากต้นปีที่ผ่านมา ส่วนราคาเหล็กเส้นขยับขึ้นมาแล้ว 12% เหตุผลที่ราคาเหล็กขยับขึ้นประสิทธิ์ อธิบายว่ามาจากต้นทุนการผลิตสินค้าสูงขึ้น (Cost push)
"สุดท้ายเมื่อต้นทุนการผลิตขยับขึ้น จะถูกผลักดันให้ราคาเหล็กต้องปรับขึ้นตาม"
โดยราคาเหล็กในประเทศไทยได้ปรับขึ้นมาแล้วเพื่อสะท้อนราคาในตลาดโลก "ปริมาณการบริโภคเหล็กของไทยถือว่าน้อยมากหากเทียบกับปริมาณกการบริโภคทั้งโลก อีกทั้งบ้านเราเป็นประเทศนำเข้าวัตถุดิบเพื่อผลิตเป็นเหล็ก ดังนั้นถ้าราคาเหล็กในตลาดโลกขยับขึ้นหรือลง ราคาเหล็กในบ้านเราก็ต้องขยับตามไปด้วย" ประสิทธิ์ กล่าว
หากพูดถึงผลิตภัณฑ์เหล็ก แบ่งออกได้ 2 ประเภท ได้แก่ เหล็กทรงแบนหรือเหล็กแผ่น และเหล็กทรงยาวหรือเหล็กเส้น โดยในปีนี้ประสิทธิ์ประเมินว่าเหล็กแผ่นจะมีอนาคตสดใสมากกว่าเหล็กเส้น เพราะว่าความต้องการใช้มีความหลากหลายกว่า เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ต้องใช้เหล็กแผ่นในปริมาณสูง
นอกจากนี้ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา SSI และ GSTEEL ยื่นเรื่องกับทางการเพื่อขอให้ใช้มาตรการภาษีต่อต้านการทุ่มตลาด (Anti-dumping) สินค้าเหล็กแผ่นเพื่อสกัดกั้นการนำเข้าเหล็กจากจีนและมาเลเซีย โดยก่อนหน้าได้มีการใช้มาตรการภาษีแบบนี้กับเหล็กแผ่นที่นำเข้ามาจาก 14 ประเทศแล้ว
"อัตราภาษีนี้อยู่ที่ระดับ 30.91 - 42.51% ซึ่งเป็นกำแพงที่ปิดกั้นการนำเข้าเหล็กของผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็กของไทย จะทำให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ๆ อย่าง SSI และ GSTEEL ได้ประโยชน์" ประสิทธิ์ เล่า
หากเป็นเช่นนี้ จะส่งผลให้ราคาขายเหล็กแผ่นปรับตัวขึ้น (ปัจจุบันอยู่แถวๆ 24 บาทต่อกิโลกรัม) เพราะหากดูราคานำเข้าวัตถุดิบ (Slab) ที่จะนำเข้ามารีดแผ่นเหล็กรีดร้อนอยู่ที่ระดับ 750 เหรียญสหรัฐต่อตัน หรือเกือบ 23 บาทต่อกิโลกรัม
"ถ้ารวมต้นทุนค่าขนส่ง ภาษี ดอกเบี้ย ราคาเหล็กก็ควรจะขยับขึ้นไปอยู่แถวๆ 26 - 27 บาทต่อกิโลกรัม" ประสิทธิ์ ประเมิน
สำหรับเหล็กเส้น ประสิทธิ์มองว่า ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจะน้อยกว่าเหล็กแผ่น เนื่องจากความต้องการเหล็กเส้นขึ้นอยู่กับอุตสาหกรรมก่อสร้างเป็นหลัก ถึงแม้จะมีสัญญาณการก่อสร้างหลายๆ โครงการในประเทศ แต่การใช้เหล็กเส้นจะค่อยเป็นค่อยไป
นั่นหมายความว่าราคาเหล็กเส้นก็จะปรับขึ้นช้าๆ "ดังนั้นในแง่ทั้งความต้องการและราคาขายของเหล็กแผ่นจะดูดีกว่าเหล็กเส้น" ประสิทธิ์ บอก
มองหุ้นกลุ่มเหล็ก
สำหรับผู้ผลิตเหล็กแผ่นที่น่าสนใจ เช่น SSI และ GSTEEL จะได้รับประโยชน์จากภาวะเชิงบวกแบบนี้ เช่นเดียวกับ CSP และ TMT ซึ่งเป็นผู้ซื้อเหล็กแล้วนำไปผลิตต่ออีกทอดหนึ่งก็จะได้รับผลพลอยได้เช่นเดียวกัน ขณะที่ผู้ผลิตเหล็กเส้นที่ได้รับประยชน์ต้องดูเป็นรายบริษัท
ยกตัวอย่างเช่น TSTH เป็นผู้ผลิตเหล็กเส้นรายใหญ่สุดในไทย ซึ่งความจริงแล้วน่าจะได้ประโยชน์ในภาวะที่ดีแบบนี้ เพียงแต่ว่าช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีการลงทุนเตาถลุงเหล็กขนาดเล็ก ซึ่งช่วงศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนนั้นประเมินว่าต้นทุนวัตถุดิบคือ สินแร่เหล็ก และ Coke จะไม่สูงเหมือนทุกวันนี้
"ในช่วง TSTH ลงทุนประเมินว่าจะได้รับประโยชน์จากโครงการนี้ โดยเฉพาะการลดต้นทุนและเพิ่มคุณภาพสินค้า แต่เมื่อโครงการนี้เริ่มดำเนินการกลับทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นตามราคาวัตถุดิบที่ถีบตัวขึ้น ทำให้ต้นทุนการผลิตเหล็กเส้นจากโรงงานแห่งนี้สูงมาก" ประสิทธิ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ประสิทธิ์มองว่าในระยะยาวแล้ว TSTH จะได้รับประโยชน์อย่างมากจากโรงงานแห่งนี้ "ในช่วงสั้นๆ พวกเขาต้องแบกรับต้นทุนไปก่อน" เขาชี้ "ผมอยากให้จับตามอง TSTH ในช่วงครึ่งหลังปีนี้ ถ้างานก่อสร้างขยายตัวทำให้ความต้องการเหล็กเส้นเพิ่มสูงขึ้นจะทำให้ราคาเหล็กเส้นปรับขึ้น โรงงานถลุงเหล็กแห่งนี้จะกลับมาทำกำไรได้"
ส่วนผู้ประกอบการเหล็กเส้นอีกแห่ง ก็คือ BSBM ซึ่งมีกระบวนการผลิตซื้อเหล็กแท่งแล้วนำมารีดเป็นเหล็กเส้น จะได้รับประโยชน์สูงสุดหรือทำกำไรได้ดีจากภาวะความต้องการเหล็กกำลังขยับขึ้น ก็ต่อเมื่อบริษัทสามารถซื้อวัตถุดิบได้ในต้นทุนต่ำแค่ไหน ซึ่งจากข้อมูลพบว่าพวกเขาสามารถซื้อวัตถุดิบได้ในราคาค่อนข้างต่ำ
"ผมเชื่อว่าในช่วงครึ่งแรกปีนี้ มาร์จิ้นในการขายของ BSBM จะอยู่ในระดับที่สูงมาก" ประสิทธิ์ บอก
สำหรับ SSI หลังจากไปซื้อโรงงานผลิตวัตถุดิบที่อังกฤษ ประสิทธิ์มองว่าเป็นดีลที่ดี เพราะในอดีตที่ผ่านมาพวกเขามีผลการดำเนินงานค่อนข้างผันผวน เนื่องจากต้องนำเข้า วัตถุดิบ คือ Slab หลายเกรดเข้ามาเพื่อผลิตเหล็กในแต่ละประเภท ทำให้ต้องสต็อกวัตถุดิบค่อนข้างเยอะ แต่ที่ผ่านมาราคาเหล็กค่อนข้างผันผวน ซึ่งตามหลักทางบัญชีบริษัทจะต้องตั้งสำรองเวลาเกิดผลขาดทุนที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการขาย หากนำวัตถุดิบนั้นมาผลิตเป็นสินค้า ทำให้งบการเงินผันผวน
ประกอบกับ SSI มีวัตถุดิบในการนำเข้ามาผลิตเหล็กทำได้ไม่เต็มที่ ถือเป็นข้อจำกัดพอสมควร ถึงแม้ว่าจะมีความสามารถในการรีดเหล็กปีละ 4 ล้านตัน แต่จากข้อจำกัดด้านวัตถุดิบทำให้การใช้กำลังการผลิตที่ทำได้ไม่เต็มที่นัก "เมื่อพวกเขามีโรงงานผลิตวัตถุดิบที่อังกฤษ ทำให้ปลดล็อกข้อจำกัดเรื่องการจัดหาวัตถุดิบได้ แต่ในระยะสั้นๆ นี้พวกเขาจะต้องแบกรับต้นทุนและค่าใช้จ่ายจากการซื้อโรงงานที่อังกฤษ คงต้องดูกันในระยะยาว"
กลยุทธ์ลงทุนหุ้นกลุ่มเหล็ก
หากนักลงทุนที่สนใจลงทุนหุ้นกลุ่มเหล็ก ประสิทธิ์แนะนำให้จับตาดูเรื่องผลการดำเนินงานเพราะโดยภาพรวมแล้วเชื่อว่าผลดำเนิงานของผู้ผลิตเหล็กจะออกมาน่าประทับใจ โดยเฉพาะตัวเลขในช่วงครึ่งแรกปีนี้ "ราคาเหล็กอยู่ในช่วงขาขึ้น ขณะที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะมีต้นทุนวัตถุดิบเมื่อปลายปีที่แล้ว ทำให้มาร์จิ้นออกมาค่อนข้างสูง"
เขามองว่าบริษัทที่ซื้อวัตถุดิบเข้ามาในราคาต่ำและมีสต็อกวัตถุดิบในระดับสูง ได้แก่ SSI, BSBM และ CSP "หุ้นเหล่านี้ นักลงทุนสามารถลงทุนด้วยการเก็งกำไรผลประกอบการครึ่งแรกปีนี้ได้" ประสิทธิ์ บอก "หุ้นเหล่านี้สามารถเก็งกำไรได้ในช่วงครึ่งแรกของปี ส่วนครึ่งหลังของปีจะต้องดูว่าพวกเขาจะมีโอกาสซื้อวัตถุดิบได้ในราคาถูกบ่อยๆ หรือไม่"
ขณะที่นักลงทุนต้องการลงทุนหุ้นที่จ่ายปันผลสม่ำเสมอ และสามารถลงทุนไปแล้วถือในระยะยาวๆ ได้ ให้มองหุ้น TMT, MCS และ CSP "กลยุทธ์ลงทุนหุ้นจ่ายปันผลแบบนี้ คือ ถ้าเห็นราคาหุ้นอ่อนตัวลงค่อยเข้าไปซื้อ" ประสิทธิ์ แนะนำ
สำหรับหุ้นเหล็กขนาดใหญ่ TSTH ประสิทธิ์มองว่าในระยะสั้นอาจจะได้รับผลกระทบจากโครงการลงทุนโรงเตาถลุงเหล็กขนาดเล็ก ที่จะเป็นปัจจัยกดดันผลการดำเนินงาน แต่หากทุกอย่างเข้าที่เข้าทางจะกลายเป็นบริษัทที่มีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจระยะยาว
เช่นเดียวกับ SSI หากมองการดำเนินธุรกิจในระยะยาวจะมีศักยภาพมาก และจะเป็นบริษัทที่มีการเติบโตด้านผลการดำเนินงานที่น่าประทับใจ แต่ในระยะสั้นๆ นี้อาจจะต้องแบกรับต้นทุนจากการซื้อโรงงานผลิตวัตถุดิบที่อังกฤษ "แต่มองว่าทุกอย่างได้ถูกสะท้อนเข้าไปในราคาหุ้นหมดแล้ว เพราะราคาหุ้นได้ปรับลดลงมาอย่างมาก"
ดังนั้น หากมองเป็นโอกาส ถ้านักลงทุนต้องการเน้นลงทุนหุ้นกลุ่มเหล็กและต้องการ Capital gain หวังว่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ก็ต้องจับตามอง SSI และ TSTH "ผมมองว่าหุ้นสองตัวนี้เป็นหุ้น Turn around แต่ก็เป็นหุ้นประเภท High Risk, High Return" ประสิทธิ์ บอก
อย่างไรก็ตาม หุ้นกลุ่มเหล็กจะมีความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง บางจังหวะสภาพคล่องอาจจะสูงแต่บางจังหวะอาจจะหายไปดื้อๆ โดยเฉพาะหุ้นที่มีมาร์เก็ตแคปขนาดกลางและเล็ก เช่น TMT, CSP, MCS หรือ BSBM ส่วนหุ้นมาร์เก็ตแคปขนาดใหญ่ เช่น SSI และ TSTH จะไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องสภาพคล่องนัก
ส่วนความเสี่ยงที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด ประสิทธิ์แนะนำให้ดูความเคลื่อนไหวราคาเหล็ก เพราะมีผลกระทบทั้งด้านผลการดำเนินงานของบริษัท และต่อจิตวิทยาของนักลงทุน "ถ้าราคาเหล็กเป็นขาขึ้น งบการเงินจะออกมาดี จิตวิทยาของนักลงทุนจะดีตามไปด้วย แต่ถ้าเมื่อไรที่ราคาเหล็กเป็นขาลงทุกอย่างจะดูไม่ดีไปหมด ดังนั้นหากจะลงทุนหุ้นกลุ่มเหล็กต้องเพิ่มความระมัดระวัง และหากข้อมูลการลงทุนยังคลุมเครือควรสอบถามมาร์เก็ตติ้งและนักวิเคราะห์"
เนื่องจากหุ้นกลุ่มเหล็กจะมีผลการดำเนินงานค่อนข้างผันผวนไปตามราคาเหล็ก ดังนั้นในการประเมินราคาหุ้นนั้นถ้าบริษัทไหนมีผลกำไรที่ดีต่อเนื่องจะใช้วิธี P/E Ratio (โดยปกติแล้วหุ้นกลุ่มเหล็กจะมี P/E Ratio ประมาณ 8-10 เท่า)
ส่วนบริษัทที่มีผลการดำเนินงานขาดทุน จะใช้วิธีการประเมินหุ้นแบบ P/BV Ratio "ดังนั้นหุ้นที่มีศักยภาพดี มี Outlook เชื่อว่า Price to Book ประมาณ 1 เท่าก็สามารถลงทุนได้ ยิ่งหุ้นที่มีราคาต่ำกว่า Book value ก็ถือว่ามีความปลอดภัยสูงขึ้น" ประสิทธิ์ อธิบาย
from http://is.gd/sWA7XN
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น